Monday, December 28, 2009

เปิดสารพัดวิธีทุจริตงบไทยเข้มแข็ง สธ. นักการเมือง-บิ๊กขรก.เปิดช่อง-นัดพ่อค้ากินข้าว เรียกสินบน80ล้าน

เปิดสารพัดวิธีทุจริตงบไทยเข้มแข็ง กระทรวงสาธารณสุข นักการเมือง-บิ๊กขรก.เปิดช่อง-นัดพ่อค้ากินข้าว เรียกสินบน80ล้าน

ทันทีที่ทีมมือปราบโกง นำทีมโดย นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข เปิดแถลงข่าวผลการสอบสวนความไม่ชอบมาพากลของโครงการไทยเข้มแข็ง สาวไส้ความผิดทั้งนักการเมือง และข้าราชการประจำ ร่วมยกกระบิ มีคนผิดทั้งที่มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน และไม่มีเอี่ยวทุจริต แต่บกพร่องต่อหน้าที่ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ที่ทำเนียบรัฐบาล
ภาพรวมของความผิดแบ่งได้ ดังนี้

1.นัดฮั้วเรียกเงินรถพยาบาลคันละ 1 แสนบาท

ผลตรวจสอบพบว่าจากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าได้มีการพยายามเจรจาเพื่อ เตรียมการให้มีการฮั้วกันจริง โดยมีนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นัดบริษัทรถยนต์ 2 บริษัท มารับประทานอาหารค่ำที่ภัตตาคารไดนาสตี้งโรงแรมเซนทารา ลาดพร้าว ช่วงค่ำของวันที่ 17 สิงหาคม 2552

นพ.บรรลุกล่าวยืนยันว่า มีผู้ประกอบการรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งที่ได้ร่วมในการทานอาหารมื้อนั้น ได้ทำหนังสือยืนยันมายังคณะกรรมการ รวมทั้งมาให้ถ้อยคำต่อกรรมการตรวจสอบด้วยว่ามีนักการเมืองคนใดร่วมทานอาหาร บ้าง โดยระบุชัดเจนว่า นายมานิต และนางศิริวรรณ ได้มีการเจรจาเรียกรับผลประโยชน์ คันละ 1 แสนบาท รวม 800 คัน เป็นเงิน 80 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีมูลความผิดทางอาญาด้วย ผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด

2.ยูวี แฟน ทำเป็นขบวนการ สอบ 5 คน ผิดตั้งแต่อดีตปลัด กระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงสาธารณสุข ผอ.สบภ.มีเอี่ยว

สำหรับยูวี แฟน พบเงื่อนงำความผิดปกติมากมาย ทำอย่างเป็นขบวนการทั้งในและนอก กระทรวงสาธารณสุข มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าผู้สั่งการเรื่องนี้โดยตรง คือ

1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัด มีมูลเหตุจูงใจ คือ มีการสั่งนโยบายโครงการเร่งรัดหยุดวัณโรค ที่ขัดต่อหลักวิชาการให้รับผู้ป่วยในโรงพยาบาล 14 วัน ซึ่งเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล และสั่งให้ทำห้องแยกโรคพร้อมมีเครื่องฟอกอากาศที่ใช้รังสียูวี ราคาสูงถึงห้องละ 250,750 บาท จึงเป็นเหตุให้โรงพยาบาลต่างๆ ใช้เป็นข้ออ้างในการจัดซื้อยูวี แฟน
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัด กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะดูแลโครงการไทยเข้มแข็งภาพรวม
3.น่าเชื่อว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อาจมีส่วนโดยตรงหรืออ้อมในการสั่งบรรจุยูวี แฟน ในโครงการไทยเข้มแข็ง โดยมีนพ.กฤษฎา มนูญวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นนำไปส่งให้กับ นพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผู้อำนวยการ สบภ. สอดคล้องกับที่ นพ.สุชาติ มีบันทึกชัดเจนว่าเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
4.นอกจากนี้ยังพบว่ามีการจัดซื้อยูวี แฟน ที่ใช้งบฯอื่น โดย นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ สาธารณสุขนิเทศ ขณะนั้น ขอให้โรงพยาบาลใน จ.นครศรีธรรมราช จัดซื้อยูวี แฟน ราคาเครื่องละ 99,000 บาท และน่าจะเป็นสินค้ายอมแมว ไม่ใช่ของนอก
5.พบว่ามี 3 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ซื้อยูวี แฟน ที่มีการล็อกสเปคในราคาเครื่องละ 40,000 บาท ขณะที่สถาบันทรวงอกผลิตได้ในราคาต้นทุน 2,000-5,000 บาท และมีผู้บริหารพาครอบครัวไปทัศนศึกษาที่นิวซีแลนด์ ขณะที่โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่นกลับปฏิเสธไม่ขอรับยูวี แฟน ที่ อบจ. ขอนแก่น ได้จัดซื้อให้ฟรี เมื่อปี 2550 เพราะพิจารณาแล้วไม่คุ้มค่าบำรุงรักษา

3.มั่วงบฯก่อสร้าง รมช.กระทรวงสาธารณสุขล้วงลูกชัดเจน

เอกสารผลการสอบสวนระบุว่า 60% ของงบประมาณไทยเข้มแข็งทั้งหมด เป็นงบฯก่อสร้าง พบว่ามีการจัดสรรมั่วแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา สาเหตุเพราะไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย หลักเกณฑ์ และไม่มีการตั้งคณะกรรมการดูแลพิเศษ ส่งผลให้การจัด สรรงบฯกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ เห็นได้ชัดเจน โดยมีโรงพยาบาลศูนย์ ทั่วไป และศูนย์ความเป็นเลิศ รวม 115 แห่ง ที่ได้งบฯก่อสร้างมากกว่าโรงพยาบาลชุมชนที่ได้เพียง 235 แห่ง จากทั้งหมด 735 แห่ง และสถานีอนามัย 9,762 แห่งทั่วประเทศรวมกัน

ที่สำคัญ ยังพบว่านายมานิตลงไปล้วงลูกด้วยตนเอง จัดสรงบฯสร้างอาคารถึง 5 หลัง ที่โรงพยาบาลราชบุรี ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลต้องการเพียง 2 หลังเท่านั้น และยังต้องทุบอาคารเก่าอีกหลายหลังด้วย มีการกดดันผู้อำนวยการโรงพยาบาลจนต้องถูกย้ายในที่สุด

นอกจากนี้ ราคากลางที่ตั้งไว้สูงเกินเหตุ ทั้งที่มีผลการประมูลก่อสร้างต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้มาก ก็ไม่ยอมปรับลดราคาลง ส่อเจตนาว่าไม่สุจริต เปิดช่องให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ ยังมีอาคารแบบเดียวกันแต่ราคาต่างกัน อาทิ

1.อาคารผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ สูง 5 ชั้น ตั้งราคา 168-185 ล้านบาท แต่มีประวัติที่โรงพยาบาลท่าศาลา เคยสร้างจริงในปี 2552 ใช้งบฯเพียง 128 ล้านบาท
2.อาคารพักพยาบา สูง 3 ชั้น ขนาด 24 ห้อง ตั้งงบประมาณ 9.57 ล้านบาท แต่มีประวัติสร้างจริงเพียง 7 ล้านบาท
3.เสาธงสูง 20 เมตร ตั้งงบฯ 495,000 บาท แต่มีราคากลางเพียง 367,700 บาท และควรเลือกเสาธงแบบสูง 12 เมตร มีราคาเพียง 119,700 บาทเท่านั้น


4.กรมการแพทย์ตั้งราคาครุภัณฑ์แพงผิดปกติ

กรมการแพทย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 7,500 ล้านบาท แต่พบว่ามีการตั้งราคาครุภัณฑ์และงบฯก่อสร้างแพงเกินจริงหลายหลายการเมื่อ เปรียบเทียบกับครุภัณฑ์การแพทย์ของโรงพยาบาลอื่นๆ ในโครงการไทยเข้มแข็งด้วยกันเอง ส่อไปในทางทุจริต เปิดทางให้มีการแสงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลเลิดสิน

1.เครื่องเอ็กซเรย์ส่องตรวจระบบดิจิตอล (Digital Fluoroscopy) ของโรงพยาบาลนพรัตน์ และศูนย์มะเร็ง ชลบุรี ตั้งงบฯไว้ที่ 15 ล้านบาท ขณะที่เครื่องชนิดเดียวกันของโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ตั้งราคาเพียง 8 ล้านบาท
2.เครื่องควบคุมการทำงานของหัวใจ ของโรงพยาบาลเลิดสิน ตั้งงบฯไว้ 9.2 ล้านบาท ขณะที่โรงพยาบาลแห่งนี้เคยจัดซื้อเพียง 3.5 ล้านบาทเท่านั้น
3.เครื่องใส่แร่อัตโนมัติปริมาณรังสีสูง ของสถาบันมะเร็งฯ ตั้งงบฯไว้ 27 ล้านบาท ขณะที่ศูนย์มะเร็ง ลพบุรี เคยจัดซื้อเมื่อปี 2550 ราคาเพียง 19.2 ล้านบาท
4.เครื่องจัดเก็บระบบข้อมูลเฉพาะทางการแพทย์ด้วยคอมพิวเตอร์ สถาบันมะเร็งฯ ตั้งงบฯ 60 ล้านบาท ขณะที่ศูนย์มะเร็งอุบลราชบุรี และโรงพยาบาลศูนย์หลายแห่งเคยจัดซื้อในราคาเพียง 15-30 ล้านบาท เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของบทสรุปความผิดโครงการไทยเข้มแข็งที่ว่า "ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง" ของทีมสอบสวนของ นพ.บรรลุ ส่วนใครจะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร..คงต้องยกคำของ นพ.บรรลุ ที่ทิ้งท้ายไว้ว่า

สรุปผลชี้มูลผู้เกี่ยวข้อง

นักการเมือง 4 ราย

1.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บกพร่องต่อหน้าที่
2.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีพฤติกรรมส่อทุจริต ล้วงลูก ดึงงบฯเข้า จ.ราชบุรี และนัดกินข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาล รวมถึงเครื่องพ่นฆ่ายุงลาย
3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการ มีพฤติกรรมส่อทุจริต โดยนัดกินข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล
4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตแบบระบบปิด (ยูวี-แฟน)

ข้าราชการประจำ 8 ราย


1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข บกพร่องต่อหน้าที่ เปิดช่องให้เกิดการทุจริต
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณสูง
3.นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปรับปรุงแบบแผนทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริต
4.นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ อนุมัติจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต
5.นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการ สบภ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟน
6.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บกพร่องต่อหน้าที่ในสมัยเป็นรองปลัด กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ สบภ.
7.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ รับผิดชอบโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ปัดความรับผิดชอบ
8.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6 ให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟน ราคาแพง ขณะดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์

มติชนออนไลน์, 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

"หมอบรรลุ" แถลงผลสอบไทยเข้มแข็งจี้ 4นักการเมือง 8ขรก.รับผิดชอบส่อโกง "วิทยา-มานิต-แม่เลี้ยงติ๊ก-กฤษดา"

"หมอบรรลุ" แถลงผลสอบไทยเข้มแข็งจี้4นักการเมือง-8ขรก.รับผิดชอบส่อโกง "วิทยา-มานิต-แม่เลี้ยงติ๊ก-กฤษดา"

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.บรรลุ ศิริพานิช ในฐานประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกรรมการ ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ. และมอบหลักฐาน จำนวน 4,733 แผ่น ให้นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้กรรมการตรวจสอบฯ หลังใช้เวลาสอบสวนนานร่วม 2 เดือน
จากนั้นเวลา 14.20 น. นพ.บรรลุ ได้เปิดแถลงข่าวรายงานผลการตรวจสอบให้สื่อมวลชนรับทราบ โดยนพ.บรรลุ แถลงว่า ผลการสอบสวนโดยภาพรวมพบว่า การจัดตั้งงบประมาณ มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า "ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง" ที่น่าจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขอตั้งงบประมาณทั้งสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์การแพทย์ และรถพยาบาล มีความผิดพลาดมากมาย การกระจายตัวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และราคาที่ตั้งไว้สูงเกินสมควร โดยหลายรายการตั้งราคาไว้สูงมาก และมีพฤติกรรมบางประการที่ส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หากไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แทนที่จะทำให้ ไทยเข้มแข็ง สมเจตนารมณ์ จะกลับทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง

นพ.บรรลุ กล่าวว่า สรุปประเด็นสำคัญดังนี้

1.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง มุ่งเน้นการสร้างความเจริญในตัวจังหวัด แทนที่จะกระจายสู่อำเภอรอบนอก ทำให้ช่องว่างของคุณภาพบริการสาธารณสุขระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอรอบนอกถ่างกว้างขึ้น ประชาชนต้องหลั่งไหลเข้าไปรับบริการในตัวจังหวัดมากขึ้น สร้างทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ เพิ่มความเสี่ยงระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะกรณีป่วยหนัก

2.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง มีความกระจุกตัวในบางจังหวัด ในลักษณะ มือใครยาวสาวได้สาวเอา เช่น จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดอยู่แล้วถึง 3 โรง และยังมีโรงพยาบาลศูนย์อยู่อีก 1 โรง ทั้งที่ส่วนใหญ่ จังหวัดหนึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดเพียงแห่งเดียว ขณะที่ บางจังหวัดซึ่งขาดแคลนกลับได้รับการจัดสรรน้อย

3.งบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์ มีการจัดซื้อสิ่งไม่จำเป็น และราคาแพงจำนวนมาก นอกจากเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว ยังเป็นภาระในการบำรุงรักษาในอนาคต ครุภัณฑ์บางอย่าง หน่วยงานมิได้ต้องการหรือขอมา กลับจัดสรรให้โดยส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนั้น ครุภัณฑ์การแพทย์เหล่านี้ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

4.งบประมาณส่วนใหญ่ มุ่งเน้นที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การแพทย์ โดยงบประมาณสำหรับการสร้างและพัฒนาบุคลากรไม่ได้สัดส่วน ทำให้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เงินจำนวนมากจัดซื้อจัดจ้างไว้ ใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า

นพ.บรรลุ กล่าวว่า สาเหตุของความบกพร่องผิดพลาด ส่อไปในทางจะทำให้เกิดทุจริต สรุปสาระใหญ่ๆ ได้ 2 ประการ ได้แก่ 1.ข้าราชการประจำอ่อนแอ ปลัดกระทรวงและรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายขาดความรับผิดชอบ ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เท่าที่ควร โครงการใหญ่ขนาดนี้ ปลัดกระทรวงควรลงไปดูแลเอง และควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ รวมทั้งควรมีการกำหนดนโยบาย และหลักเกณฑ์การพิจารณา ทั้งในเรื่องการกระจายงบประมาณอย่างเหมาะสม และการพิจารณากำหนดราคาที่สมควร กลับปล่อยปละละเลย ให้รองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย (รองปลัดฝ่ายบริหาร) ซึ่งอ่อนประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถไม่พอเพียง

"รวมทั้งไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่เท่าที่ควร ปล่อยให้เป็นภาระของสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) ซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานภายใน มีผู้ปฏิบัติงานเพียง 53 คน มีแพทย์คนเดียว รับผิดชอบงานใหญ่ขนาดนี้ ในขณะที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบการกำกับดูแลของรองปลัดกระทรวงฝ่ายบริหาร มีข้าราชการปฎิบัติงานทั้งสิ้น 283 คน กลับปัดความรับผิดชอบ อ้างว่ามีหน้าที่เพียงตรวจสอบยอดและหมวดเงินให้ตรงตามที่ได้รับจัดสรรเท่านั้น" นพ.บรรลุ กล่าว

นพ.บรรลุ กล่าวว่า การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่เป็นผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยตนเอง ประกอบกับการไม่มีคณะกรรมการมาร่วมพิจารณา และไม่มีเกณฑ์วางไว้ งานจึงไม่มีระบบ ใครจะของบอย่างไรก็ขอจะเปลี่ยนอย่างไรก็เปลี่ยน ตามใจของผู้มีอำนาจ นอกจากแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบและขาดความรู้ความสามารถแล้ว ยังส่อเจตนาไม่สุจริต เอื้อให้มีการกระทำตามใจชอบ และเปิดทางให้มีการทุจริตด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวว่า สำหรับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่อาจปัดความรับผิดชอบในความบกพร่อง ส่อเจตนาไม่สุจริต และการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในสธ. ได้ ส่วนนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง และไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ของตน รวมทั้งน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาลด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ควรมีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง รายการครุภัณฑ์การแพทย์ และรายการรถพยาบาล ทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมอื่นๆ โดยเฉพาะกรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะต้องได้สัดส่วนเหมาะสมกัน ทั้งนี้ ควรดำเนินการโดยมุ่งคุณภาพ เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างแท้จริง มิใช่ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง และสร้างปัญหาในระยะยาว โดยปลัด สธ. จะต้องลงมาเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง มีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างสมเหตุสมผล โปร่งใส ใช้บุคลากร สธ. ที่มีคุณภาพซึ่งมีอยู่มากช่วยกันทำ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน

2.ควรมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องทั้งที่ยังรับราชการและที่เกษียณอายุไปแล้ว ในกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดที่ได้ทำมา เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

3.ควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม "กฎเหล็ก 9 ข้อ" ของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ที่แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ "เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด" และข้อ 9 ที่ระบุว่า "ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย"

นพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการและกรรมการฯ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีความผิดชัดเจน แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

ฝ่ายข้าราชการการเมือง มี 4 ราย ได้แก่
1.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงสาธารณสุข ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในสธ.ในฐานะเจ้ากระทรวง
2.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมที่ส่อในการทุจริต คือ ไม่ดูแลโครงการไทยเข้มแข็งแต่ล้วงลูกดึงงบเข้าจังหวัดราชบุรี และนัดทานข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาล รวมถึงเครื่องพ่นฆ่ายุงลาย
3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตโดยนัดทานข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล และ
4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดเป็นผู้ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตแบบระบบปิด(ยูวี แฟน)

นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนข้าราชการประจำ มี 8 ราย ได้แก่
1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดสธ. ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะโครงการใหญ่ที่มีงบประมาณมากระดับ8.6 หมื่นล้านบาทกลับไม่ดูแลด้วยตนเอง เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดสธ. ฐานความผิดไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณมาก โดยให้สำนักงานสาธารณสุขภูมิภาคที่มีผู้ทำงานกว่า 50 คนดูแล โครงการใหญ่ขนาดนี้ เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
3.นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขณะนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ฐานความผิดที่มีการปรับปรุงแบบแผนทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
4. นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ฐานความผิดจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต
5.นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยูวีแฟน

นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนรายที่ 6-8 พบว่า บกพร่องต่อหน้าที่แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีการทุจริต คือ
6.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ในปัจจุบัน ฐานความผิดที่สมัยเป็นรองปลัดสธ.รับผิดชอบสบภ. แต่โครงการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของพญ.ศิริพรดูแล แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้
7.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ฐานความผิดที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็งแต่ปัดความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น อ้างว่าทำหน้าที่เพียงการตรวจสอบยอดการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น
8.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 6 สมัยนั้นดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ ฐานความผิดให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนราคาแพง

"หมอชนบท"พอใจผลสอบสวน


นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุด นพ.บรรลุ อย่างมาก ที่สามารถหาคนผิดได้ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของนักการเมืองที่ส่อทุจริต เพราะยืนยันมาตลอดว่ามีนักการเมืองพัวพัน 100% อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามดูผลการลงโทษคนผิดต่อไป

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า ฝากถึงนายกรัฐมนตรี ให้ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติก่อนการเมืองภายในพรรคและความอยู่รอดของรัฐบาล ส่วนการเดินหน้าต่อของโครงการไทยเข้มแข็งนั้น ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ควรจัดตามยุทธศาสตร์สุขภาพของประเทศ ไม่ใช่จัดตามพื้นที่ของนักการเมือง และต้องปรับเปลี่ยนคณะกรรมการที่มีคนนอก สธ.ที่สังคมให้ความเชื่อถือมาช่วยให้ความเห็นเช่น ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เป็นต้น

มติชนออนไลน์, 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สอบไทยเข้มแข็ง 8 ข้าราชการ 4 นักการเมืองทุจริต

สอบไทยเข้มแข็ง 8 ข้าราชการ 4 นักการเมืองทุจริต

"หมอบรรลุ"เผยผล สอบไทยเข้มแข็งมี 8 ข้าราชการประจำ 4 นักการเมือง เกี่ยวปัญหาส่อทุจริต แนะนายกรัฐมนตรีรื้อไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข

นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะกรรมการ ได้แถลงข่าวผลสรุปการตรวจสอบหลังจากได้เข้ารายงานต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ พร้อมมอบพยานหลักฐานจำนวน 4,733 หน้า โดย นพ.บรรลุ กล่าวว่า ผลการสอบสวนโดยรวม พบว่า การจัดตั้งงบประมาณดังกล่าว มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง เช่น การขอตั้งงบประมาณทั้งสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาล มีความผิดพลาดมากมาย การกระจายตัวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และราคาที่ตั้งไว้สูงเกินสมควร โดยหลายรายการตั้งราคาไว้สูงมาก และมีพฤติกรรมบางประการที่ส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หากไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แทนที่จะทำให้ไทยเข้มแข็งสมเจตนารมณ์ จะกลับทำให้ประเทศชาติอ่อนแอล

นพ.บรรลุ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหา คือ

1.งบประมาณสิ่งก่อสร้างเป็นการมุ่งเน้นการสร้างความเจริญในตัวจังหวัด แทนที่จะกระจายสู่อำเภอรอบนอก ทำให้ช่องว่างของคุณภาพบริการสาธารณสุขระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอรอบนอกถ่าง กว่างขึ้น ประชาชนต้องรั่วไหลเข้าไปรับบริการในตัวจังหวัดมากขึ้น สร้างทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเพิ่มความเสี่ยงระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะกรณีป่วยหนัก

2.งบประมาณสิ่งก่อสร้างมีความกระจุกตัวในบางจังหวัดในลักษณะมือใครสาวได้สาวเอา เช่น จังหวัดราชบุรี ที่มีโรงพยาบาลระดับจังหวัดอยู่แล้วถึง 3 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง ทั้งที่จังหวัดหนึ่งจะมีโรงพยาบาลจังหวัดเพียงแห่เดียวขณะที่บางจังหวัดซึ่ง ขาดแคลนกับได้รับการจัดสรรน้อย

3.งบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์มีการจัดซื้อ สิ่งไม่จำเป็นและราคาแพงจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว ยังเป็นภาระในการบำรุงรักษาในอนาคต นอกจากนี้ครุภัณฑ์บางอย่างหน่วยงานไม่ได้ต้องการหรือขอมา แต่กลับจัดสรรให้โดยส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนั้นครุภัณฑ์การแพทย์เหล่านี้ล้วนแต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

และ 4.งบประมาณส่วนใหญ่ มุ่งเน้นที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การแพทย์ โดยงบประมาณสำหรับการสร้างและพัฒนาบุคลากรไม่ได้สัดส่วน ทำให้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เงินจำนวนมากจัดซื้อจัดจ้างไว้ ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า


นพ.บรรลุ กล่าวต่อว่า ส่วนเหตุของความบกพร่องผิดพลาดที่ส่อไปในทางจะทำให้เกิดการทุจริตนั้น คณะกรรมาการฯ ได้สรุปสาระใหญ่ๆ ได้ 2 ประการ ได้แก่ 1.ข้าราชการประจำอ่อนแอ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายขาดความรับผิดชอบ ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เท่าที่ควร ซึ่งโครงการใหญ่ขนาดนี้ปลัดกระทรวงควรลงไปดูแลเอง และควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ รวมทั้งควรมีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การพิจารณา แต่กลับปล่อยปละละเลยให้รองปลัดฝ่ายบริหารที่ได้รับมอบหมายที่อ่อนต่อ ประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ รวมทั้งไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่เท่าที่ควร โดยปล่อยให้เป็นภาระของสำนักบริหารสาธารณสุขส่วนภูมิภาค (สบภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใน มีผู้ปฏิบัติงานเพียง 53 คน มีแพทย์คนเดียวแต่ต้องรับผิดชอบงานโครงการใหญ่ ในขณะที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบการกำกับดูแลของรองปลัดฝ่ายบริหาร มีข้าราชการปฏิบัติงานทั้งสิ้น 283 คน กลับปัดความรับผิดชอบ อ้างว่ามีหน้าที่เพียงตรวจสอบยอดและหมาดเงินให้ตรงตามที่ได้รับการจัดสรร เท่านั้น

การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ลงมารับผิดชอบโดยตรง งานจึงไม่มีระบบ ใครจะขออย่างไรก็ขอ จะเปลี่ยนอย่างไรก็เปลี่ยน ตามใจของผู้มีอำนาจ นอกจากแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบแล้ว ยังส่อเจตนาไม่สุจริต เอื้อให้มีการกระทำตามใจชอบ และเปิดทางให้มีการทุจริตด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาทั้งหมดเห็นว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ในความบกพร่องที่เกิดขึ้น ส่อเจตนาไม่สุจริตเช่นกัน และยังเป็นการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ได้ ส่วนนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง และไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ตนเอง รวมทั้งน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาลด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากผลสรุปสอบดังกล่าวแล้ว ทางคณะกรรมการฯ ยังมีข้อเสนอต่อนากยกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจากนี้ คือ ควรให้มีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ และรถพยาบาล ทั้งในส่วนสำนักปลัด กรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากรที่ต้องได้สัดส่วนเหมาะสมเพื่อให้ความเข้มแข็ง ต่อประเทศ ไม่ใช่ทำให้เกิดปัญหาระยะยาวตามมา และปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง มีหลักเกณฑ์วิธีการอย่างเหมาะสม โปร่งใส และต้องมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่ยังรับราชการและเกษียณอายุไปแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป และควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะข้อ 2 เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด และข้อ 9 ที่ระบุว่า ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย

ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวว่า รายงานสอบสวนนี้ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ส่วนจะส่งไปยัง ปปช.หรือไม่นั้น อาจมีบางเรื่องที่ต้องส่งไป แต่ทั้งนี้ก็ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี สำหรับรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโครงการไทยเข้มแข็งนี้ในส่วนข้า ราชการประจำมี 8 คน คือ 1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2. พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3. นายกษิณ วิเศษสิทธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน 4.นพ.สุชาติ เลาหบริพัตร อดีต ผอ.สำนักบริหารสาธารณสุขส่วนภูมิ 5.นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 6. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และ 7.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสด์ อดีตผู้ตรวจราชการเขต 6 สำหรับในส่วนข้าราชการการเมืองนั้น มี 4คน ได้แก่ 1.นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข 2.นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข 3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู และ 4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารมว.สธ.

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการระบุว่า นายมานิต ส่อว่าจะมีการฮั้วรถพยาบาลมีหลักฐานอย่างไร นพ.บรรลุ กล่าวว่า กรณีการจัดซื้อรถพยาบาลผู้สื่อข่าวได้นำเสนอปัญหาการฮั้วก่อน และจากการสอบสวนของคณะกรรมการพบว่า มีข้อเท็จจริง คือมีการหารือร่วมกันระหว่างผู้จัดสรรรถพยาบาล บริษัทจำหน่ายและล็อบบี้ยิส และยังพบว่าในการหารือดังกล่าวมีนายมานิตและนางศิริวรรณอยู่ในวงการหารือ จึงเชื่อว่ามีการฮั้วรถพยาบาล ทั้งนี้จึงต้องเข้าใจว่า การสอบสวนเป็นเรื่องยากเพราะยังไม่มีการทุจริต เป็นเพียงแต่ส่อทุจริต จึงต้องใช้เวลาสอบสวน

กรุงเทพธุรกิจ, 28 ธันวาคม 2552

Tuesday, October 13, 2009

ผลสอบสธ.ชี้ชัดยัดไส้ซื้อครุภัณฑ์ ฟันข้าราชการไร้เงานักการเมือง

ผลสอบสธ.ชี้ชัดยัดไส้ซื้อครุภัณฑ์ ฟันข้าราชการไร้เงานักการเมือง

สธ. เผยผลสอบ "โครงการไทยเข้มแข็ง" พบยัดไส้จัดซื้อจริง รพ.ไม่ได้ขอ ทั้งยูวีแฟน เครื่องดมยาสลบ เครื่องช่วยหายใจ โดยเฉพาะเครื่องตรวจชีวเคมีในเลือดจัดซื้อถึง 40 เครื่องๆ ละ 3 ล้านบาท เผยข้าราชการมีเอี่ยว แต่ขออุบชื่อ "ไอ้โม่ง" ก่อน พร้อมตั้ง คกก.สอบวินัย ด้าน "วิทยา" รับมีบีบให้ลาออกจาก รมว.สธ.จริง แต่ชี้แจง พรรคเข้าใจ ขอเวลา 1 วันหารือตั้งคณะกรรมการคนนอก ด้าน "หมอเกรียง" ผิดหวัง ผลสอบฟันแค่ข้าราชการประจำ ไม่มีนักการเมืองเอี่ยว

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 6 รายการ และคณะกรรมการทบทวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวผลการตรวจสอบ ภายหลังจากที่ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข มีคำสั่งแต่งตั้งและให้สรุปภายใน 2 สัปดาห์

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ผลการตรวจสอบหลังดำเนินการ 1 สัปดาห์ได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ
1.มีการจัดสรรครุภัณฑ์บางรายการที่ไม่ตรงกับความต้องการ และไม่มีคำขอแต่กลับมีการจัดสรรให้ เช่น เครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงอัลตราไวโอเลตระบบยูวี-แฟน
2.มีการจัดสรรเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และไม่เหมาะสม เช่น เครื่องดมยาสลบ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจชีวเคมีในเลือด ซึ่งไม่จำเป็นสำหรับโรงพยาบาลชุมชน แต่กลับมีรายการจัดซื้อ
3.สิ่งก่อสร้าง ซึ่งพบว่ามีการจัดสรรงบประมาณให้สูงกว่าที่เคยก่อสร้างมาจากการประเมิน เช่น อาคารพักพยาบาล 24 ห้อง ที่มีการวางงบประมาณที่มากกว่าราคากลาง ซึ่งมีเหตุผลจากการประเมินราคาในอนาคตทำให้ราคาสูงกล่าวปกติ ดังนั้นในประเด็นนี้จึงให้ทบทวนหามาตรการคำนวณให้สมเหตุ สมผลมากกว่านี้ โดยให้หน่วยงานภายนอกมาร่วมคำนวณราคารวมกับกองแบบแผน


"หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบข้อเท็จ จริงเพื่อให้ทราบว่ามีบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความบกพร่องในการจัดซื้อที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องสอบสวนต่อไปว่า เกิดโดยเจตนา หรือความไม่รอบคอบ แต่เพื่อความเป็นธรรมและปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบ สวนขึ้นเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ และให้โอกาสบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงก่อนที่จะมีการเปิดเผยชื่อบุคคล เหล่านั้นได้ ดังนั้นใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเป็นแค่การตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น"

สั่งทุกจังหวัดทบทวนรายการจัดซื้อ

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดไปทบทวนรายการ จัดซื้อในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และให้ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ทบทวนรายการจัดซื้อในโรงพยาบาลชุมชน และ นพ.วีรพงษ์ เพ่งวานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฉะเชิงเทรา ทบทวนรายการจัดซื้อใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และศูนย์ และในอีก 2 สัปดาห์ จะเชิญคณะกรรมการทั้งหมดมาประชุมกันใหม่เพื่อพิจารณารายละเอียดการจัดซื้อใน โครงการไทยเข้มแข็งทั้งหมด

ส่วนผลสอบสวนมีข้าราชการและนักการเมืองเกี่ยว ข้องกี่คน นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จึงยังไม่สามารถลงรายละเอียดในตอนนี้ได้ แต่ยอมรับว่ามีผู้เกี่ยวข้องหลายคน ซึ่งจะสอบสวนให้เร็วที่สุด หลังจากคณะกรรมการชุด นพ.เสรี ชี้แล้วว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้น และนำเสนอรายงานผลสอบมายังตนเพื่อเร่งตั้ง คณะกรรมการสอบต่อไป

ต่อข้อซักถามว่า การจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์มีใบสั่งจากการเมืองจริงหรือไม่ นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า "คงเป็นที่รับทราบว่ามีข้าราชการระดับ ผอ.ไปให้ข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาฯ ซึ่งก็มีคนที่เกี่ยวข้องจริง"

ชี้มีแค่ข้าราชการพัวพัน

ด้าน นพ.เสรี หงษ์หยก ประธานคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 6 รายการ กล่าวว่า ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเพียงแค่เรียกข้าราชการ และสรุปเฉพาะแค่ ข้าราชการเท่านั้น และลูกจ้างในกระทรวงมาชี้แจงเท่านั้น ส่วนคนนอกไม่มีสิทธิเรียกมาให้ข้อมูลได้ ดังนั้นกรณีที่เป็นข่าวอักษรย่อก่อนหน้านี้ จึงไม่มีสิทธิเรียกมาสอบได้ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ยืนยันว่า มีรายการจัดซื้อที่ไม่ตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะเครื่องตรวจสารเคมีในเลือดมูลค่า 3 ล้านบาท ที่ไม่จำเป็น ไม่มีการขอแต่กลับมีการสั่งจัดซื้อให้กับโรงพยาบาลเล็กขนาด 30 เตียงถึง 40 แห่ง จึงมีการตั้งคำถาม รวมทั้งเครื่องยูวี-แฟนและเครื่องดมยาสลบ ที่เป็นหลักฐานชัดเจน

ตั้งกรรมการคนนอกตรวจซ้ำ

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ผลสอบโครงการไทยเข้มแข็งสธ.ว่า ขอเวลาอีก 1 วันเพื่อพูดคุยกับ นพ.เสรี หงษ์หยก ก่อน และจึงจะพิจารณาว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการคนนอกเพื่อสอบสวนหรือไม่ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงการตรวจของคณะกรรมการทุกชุด โดยให้ทำงานเป็นอิสระ ส่วนที่การไม่มีเปิดเผยรายชื่อผู้ที่พัวพันปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในครั้ง นี้นั้น เป็นไปตามฝ่ายกฎหมายสธ.แนะนำเพื่อให้คนเกี่ยวข้องได้ชี้แจงก่อน

หมอชนบทผิดหวังผลสอบ

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก เพราะเหมือนว่าพูดไม่หมด เนื่องจากผลการสอบไม่มีถึงฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง จึงรู้สึกไม่สบายใจ และคลางแคลงใจ กังวลว่าในสุดเรื่องนี้จะสาวไม่ถึงต้นตอที่สั่งดำเนินการ แต่ก็เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติ ตราบใดที่ผู้มีอำนาจในระดับล่างทำงานให้ผู้มีอำนาจในระดับบน ก็จะยังมีความเกรงกันอยู่ ดังนั้น จึงเสนอว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการกลางที่เป็นคนนอกเข้ามาตรวจสอบ เช่นเดียวกับกรณีสอบทุจริตยา

สำหรับผู้ที่เหมาะมาเป็นประธานคณะกรรมการกลาง เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้นั้น ตนยังเห็นว่า นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นผู้ที่มีความเหมาะสม เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุขมานาน เป็นคนมีความรู้ มีบารมี เกียรติภูมิน่าเชื่อถือ หากผลสอบของ นพ.บรรลุ ระบุว่า ฝ่ายการเมืองไม่มีส่วนเกี่ยวตนก็จะเชื่อ แต่เมื่อการสอบยังดำเนินการโดยคนในกระทรวง ตนจึงไม่เชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบนี้

"ผมสงสัยว่า ทำไมผลสอบในครั้งนี้ ไม่มีการพูดถึงฝ่ายการเมืองเลย ทั้งๆ ก็มีการให้ข้อมูลฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาฯ และมีการรับรู้เป็นวงกว้าง แต่กรรมการชุดนี้กลับไม่รู้และไม่พูดถึงเลย" ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

ครม.แต่งตั้งซี9-10สธ.

นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 8 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นายจักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายมานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค นายนรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายสมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นอธิบดีกรมอนามัย นพ.เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง นาย

ทนงสรรค์ สุธาธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง นายสถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง และนางวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

นพ.ภูมินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังได้อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำรงตำแหน่งระดับ 10 จำนวน 3 ราย คือ นายศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ นางชุติมา กาญจนวงศ์ และนายศุภชัย ไพบูลย์ผล ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงพลังงานอีก 1 ราย คือ น.ส.นันธิกา ทังสุพาณิช ผู้อำนวยการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน เป็นผู้ตรวจราชการ

พท.ตั้งคณะ กก.เงาบี้ทุจริตรายกระทรวง

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรค ถึงการตั้งคณะกรรมการติดตามการทุจริตของรัฐบาลรายกระทรวง ว่า แกนนำพรรคเสนอให้มีคณะกรรมการเงาติดตามรายกระทรวงการทุจริตและทำงานผิด กฎหมาย รวมถึงการใช้งบไทยเข้มแข็งโดยให้ ส.ส.เข้าชื่อว่าอยากเป็นกรรมการชุดไหน

ทั้งนี้ กรรมการชุดดังกล่าวจะเริ่มติดตามการตรวจสอบงบชุมชนพอเพียง รวมทั้งโครงการไทยเข้มแข็ง ที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุข ที่รัฐมนตรีบอกว่ายังไม่มีการโกงเพราะยังไม่ได้อนุมัติเป็นการพูดจาตามพรรค ประชาธิปัตย์ ทั้งที่มีการยัดไส้ครุภัณฑ์ซึ่งถือว่าโกงไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่นายกฯ กลับถามหาใบเสร็จ คิดว่าสุดท้ายคงไม่พ้นข้าราชการ ทั้งนี้การทำงานของคณะกรรมการเริ่มดำเนินการสัปดาห์หน้า

กรุงเทพธุรกิจ, วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Sunday, October 4, 2009

แพทย์ชนบทปูด 4 ข้อส่อทุจริต ซื้อเครื่องมือแพทย์ไทยเข้มแข็ง

แพทย์ชนบทปูด 4 ข้อส่อทุจริต ซื้อเครื่องมือแพทย์ไทยเข้มแข็ง

"แพทย์ชนบท" ออกโรงแฉไทยเข้มแข็งซ้ำ 4 ประเด็นส่อเค้าทุจริต เสนอรื้อโครงการใหม่ เชื่อประหยัดงบได้หมื่นล้าน ปูดค่าหัวคิวซื้อรถหวอ 1,000 คันๆ ละ 1 แสนบาท ราคากลางก่อสร้างเพิ่ม 20-50% ชี้ "ยูวี-แฟน" ตัวแทนจำหน่ายสนิทเมียนักการเมืองชื่อดัง ด้าน "วิทยา" รายงานโครงการไทยเข้มแข็งส่งกลิ่นให้ นายกฯ ทราบแล้ว ยันยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รายงานนายกรัฐมนตรีเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบมาพากลโครงการภาย ใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2) หรือ "SP2" มูลค่า 86,685.61 ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลต (UV-FAN) ว่า เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีเข้าใจว่ามีการประมูลจัดซื้อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้อธิบายข้อเท็จจริงว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการทุจริตตนก็ทราบจากนักข่าว ไม่มีใครร้องเรียนมายังตนโดยตรง ซึ่งนายกฯก็รับทราบ แต่ก็ไม่ได้ให้คำแนะนำใดๆ

แต่ยืนยันว่า การติดตามการทุจริตยังมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คอยตรวจสอบอยู่แล้ว ส่วนกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ก็ได้ตั้งคณะกรรมการอีก 1 ชุด ในการพิจารณาการจัดซื้อ โดยมีตัวแทนจาก รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน สสจ. ตัวแทนผู้ตรวจกระทรวง ร่วมดำเนินการทบทวนเพื่อความโปร่งใส และเรื่องนี้อาจให้คณะกรรมการตรวจสอบดูก่อน ก่อนที่จะดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตที่มีรายชื่อบริษัท จำหน่ายในเอกสารแนบท้าย เรื่องนี้จะจริงหรือเปล่ายังไม่รู้ ต้องตามดูว่าออกมาจากจังหวัดใด ว่าเป็นแบบใด มีใครเอาชื่อไปใส่หรือเปล่า ต้องไปตามข้อมูลจากผู้ที่นำมาเผยแพร่ เพราะหากไปแกล้งคนดีๆ ก็จะเสียหาย ตนไม่อยากใครเป็นเหยื่อ คนดีๆ ต้องได้รับการปกป้อง

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ควรมีการทบทวนดังนี้

1.ราคาการก่อสร้างอาคาร ซึ่งมีราคากลางสูงเพิ่มขึ้น 30-50% จากราคาการก่อสร้างในปี 2551
ดังนั้นน่าจะมีการรื้อและทบทวนโครงการใหม่ หากทำได้จะประหยัดงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท เช่น อาคารหอพักพยาบาลที่สเปคเดียวกันจากเดิมราคากลาง 6.67 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 9.57 ล้านบาท

2.มีการร้องเรียนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เข้าไปวิ่งเต้นโครงการใหญ่ 700-800 ล้านบาท ที่ จ.พิษณุโลกและนครสวรรค์
เพราะมีโควตาบางบริษัทที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองจองไว้แล้ว กรณีนี้เป็นโจรร้องโจรทำให้ทราบข้อมูล


3. รถพยาบาล มีข้อมูลว่ามีฝ่ายการเมืองไปเจรจากับผู้จัดการศูนย์รถยนต์ที่เซ็นทรัล บางนา เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ถึงขั้นเสนอราคาให้คันละ 100,000 บาท
ทำให้ราคาจัดซื้อรถพยาบาล 1 คัน ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์สำคัญ 2 รายการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องกระตุกหัวใจ ที่เคยซื้อได้ 1.7 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1.8 ล้านบาท


4.เครื่องช่วยหายใจ หรือเครื่องดมยาสลบ ที่มีบางบริษัทให้ข้อมูลว่า มีการเปลี่ยนแปลงราคา จากเดิมราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท แต่กลับมีการตั้งราคาถึง 1.5 ล้านบาท
ซึ่งตนเกรงว่าในบางพื้นที่ไม่รู้และมีการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจที่ราคา 5-6 แสนบาท แต่ไปซื้อถึง 1.5 ล้านบาท จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์


"ถ้านายวิทยาจริงใจต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ สวนเพื่อดูรายละเอียดโครงการทั้งหมด โดยเฉพาะรายการที่ไม่ได้ขอไป แต่กลับจะให้มีการซื้อแบบปูพรมเต็มพื้นที่ว่าใครเป็นคนทำ ซึ่งหากยกเลิกได้ก็ยกเลิก" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว และว่า ควรเลือกประธานที่มาตรวจสอบเรื่องนี้ เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือไม่ควรเลือกผู้ตรวจราชการ

จี้ทบทวนจัดสรรงบใหม่

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่เสนอให้มีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งใหม่ เนื่องจากมีการจัดสรรที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ที่เห็นได้ชัดคืองบที่จัดสรรให้โรงพยาบาลศูนย์ 94 แห่ง เป็นเงินกว่า 40,000 ล้านบาท แต่งบที่จัดสรรให้โรงพยาบาลชุมชน 800 แห่ง ได้เพียงแค่ 8-9 พันล้านบาท ดังนั้นเรื่องนี้ต้องทบทวนให้กระจ่าง ไม่ใช่จัดสรรแบบสะเปะสะปะ และ ครม.ต้องกล้าตัดสินใจชะลอโครงการ เรื่องนี้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ตนจะชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภา

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลต ว่า เป็นเรื่องที่มีการสอดไส้ลงไปทั้งที่ไม่มีการร้องขอจากพื้นที่ ซึ่งตนเห็นว่าในท้ายที่สุดก็คงมีการยกเลิกโครงการนี้ไป จากการตรวจสอบบริษัทที่นำเข้าพบว่า ไม่ใช่บริษัทที่ไปเสนอราคาขายให้โรงพยาบาลตามที่เป็นข่าว แต่บริษัทที่ไปเสนอขายเป็นแค่ตัวแทน จำหน่ายเท่านั้น เท่าที่ทราบมีสายสัมพันธ์กับเมียนักการเมืองชื่อดัง

สธ.ชี้ 46 รายการแค่เสนอ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สธ. กล่าวว่า สถานีอนามัยได้งบประมาณกว่า 1.35 ล้านบาท โดย 5 แสนบาทเป็นงบปรับปรุงสถานีอนามัย ส่วนอีก 8.5 แสนบาท เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์ เดิมมีเพียง 20 กว่ารายการเท่านั้น แต่ได้เพิ่มเป็น 46 รายการ ในการทำเรื่องเสนอของงบฯนั้น หากให้ทางสถานีอนามัยกว่า 9,000 แห่งเสนอมานั้นจะต้องคีย์ข้อมูลกว่าเป็นแสนๆ รายการ ใครจะทำ ทั้งยังมีเวลาที่จำกัด

ดังนั้นจึงได้เชิญตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องมา หารือเพื่อกำหนดครุภัณฑ์ที่ควรมีการจัดซื้อ โดยพิจารณาเฉพาะรายการใหญ่ๆ ส่วนรายการครุภัณฑ์ยิบย่อยนั้นสถานีอนามัยสามารถใช้งบลงทุน สปสช. จัดซื้ออยู่แล้ว ซึ่งไม่กระทบ โดยทั้งหมดนี้จะต้องเสนอสำนักงบประมาณในกลางเดือนตุลาคมนี้ ส่วนอีก 46 รายการนั้น ไม่ให้สธ.ซื้อทั้งหมด เป็นแค่รายการให้เลือกเท่านั้น ซึ่งบางรายการยังระบุด้วยว่า ให้จัดซื้อในกรณีที่มีแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้นในการใช้เครื่องมือดังกล่าว เพราะหากจัดซื้อทั้งหมดจะต้องใช้งบหลายล้านบาท ไม่ใช่แค่หลักแสน

นพ.คำรณ ไชยสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 กล่าวว่า เหตุผลที่กำหนดราคาเครื่องยูวี-แฟน ที่ 40,000 บาท เนื่องจากไปดูราคาการจัดซื้อเมื่อปีก่อน ซึ่งมีโรงพยาบาลบางแห่งในภาคอีสานจัดซื้อ เมื่อมีการวิจารณ์ขึ้นก็ต้องบอกว่าราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคากลาง แต่เป็นราคาที่ตั้งงบฯไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับครุภัณฑ์ 46 รายการ เช่น ชุดยูนิตทำฟัน 438,000 บาท เครื่องอัลตร้าซาวด์ 5 แสนบาท เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติ ชนิด 12 ลีด พร้อมอ่านแปลผล 1.2 แสนบาท รถบรรทุกดีเซลขนาด 1 ตัน แบบมีช่องว่าด้านหลังคนขับ พร้อมหลังคาไฟเบอร์กลาส ราคา 5.6 แสนบาท ชุดอุปกรณ์ให้การรักษาทันตกรรม 1 แสนบาท ชุดกายภาพบำบัด 138,500 บาท หม้อต้มแผ่นให้ความร้อน 107,000 บาท เป็นต้น

เพื่อไทยเผยสั่งเพิ่มรายการครุภัณฑ์

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยสธ.ได้กำหนดรายการครุภัณฑ์ส่งให้สถานีอนามัย 20 รายการ ในเย็นวันศุกร์ พร้อมกำชับให้ส่งความต้องการว่าต้องการครุภัณฑ์อะไร ใน20 รายการนี้ ภายใต้วงเงินสนับสนุน 8.5 แสนบาท และให้ส่งกลับมายังสาธารณสุขจังหวัดภายในวันจันทร์ จึงเกิดการทักท้วงโดยฝ่ายค้านและข้าราชการ ระบุว่าไม่ได้สำรวจความต้องการของแพทย์สาธารณสุขโดยตรง จึงมีการระงับโครงการไป แล้วเรียกประชุม แต่ก็ไม่ได้รับฟังความเห็นจากคนที่ต้องใช้ครุภัณฑ์เหล่านี้เท่าใดนัก แล้วจึงกำหนดรายการเพิ่มเป็น 46 รายการ แล้วส่งไปยังสถานีอนามัยใหม่ แต่ 20 รายการเดิมก็ยังคงอยู่

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อดีต รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า เคยเตือนในสภาในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 2553 วาระ2 และ3 ให้ระวังการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา มีการอ้างว่า นำไปให้โรงพยาบาลในโครงการส่งเสริมสุขภาพตำบล 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งแพทย์และศูนย์สุขภาพตำบลอยากได้งบ แต่ปรากฏว่าไปยัดเยียดอุปกรณ์ให้ไม่ตรงกับความต้องการ

กรุงเทพธุรกิจ, วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

Saturday, October 3, 2009

ปมร้อน "จัดซื้อจัดจ้างไทยเข้มแข็ง" สอบเครื่องมือแพทย์เกินราคา

ปมร้อน "จัดซื้อจัดจ้างไทยเข้มแข็ง" สอบเครื่องมือแพทย์เกินราคา

เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ตัดสินใจกู้เงินเพื่อดำเนินการ "โครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2) หรือ "SP 2" หวังกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อพลิกชีวิตคนไทยด้วยการอัดเม็ดเงินนับแสนล้านบาท

การตัดสินใจแค่เริ่มต้นด้วยการกระจายงบประมาณไป ยังกระทรวงต่างๆ เพื่อจัดทำแผนใช้จ่าย หากดูเผินๆ ก็เหมือนจะราบรื่น แต่ยังไม่ถึง 3 เดือนดี ใบปลิวเปิดโปงแผนหาผลประโยชน์บนกองเงินภาษีของประชาชนก็เริ่มว่อน โดยเฉพาะที่กระทรวงสาธารณสุข

แพทย์กลุ่มเดิม (ชมรมแพทย์ชนบท) ที่เคยเปิดโปงโครงการทุจริตยา จนทำให้อดีต รมว.สาธารณสุข ต้องเข้าไปนอนในเรือนจำมาแล้ว ได้ออกมากระหน่ำด้วยการแฉข้อมูลการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์มูลค่านับหมื่นล้านบาท โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เริ่มต้นชี้ชัดที่การสอดไส้จัดซื้อ "เครื่องฆ่าเชื้อโรคแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิดยูวี-แฟน" ที่มีการจัดซื้อมากถึง 800 เครื่อง ด้วยงบประมาณ 32 ล้านบาท ตกเครื่องละ 40,000 บาท เป็นราคาที่สูงเกินจริง เพราะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องที่ผลิตโดยฝีมือแพทย์สถาบันโรคทรวงอก ตกอยู่ที่เครื่องละ 6,000 บาทเท่านั้น

กระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง ร้อนถึงหูนายกรัฐมนตรีเจ้าของโปรเจค ต้องเรียกเจ้ากระทรวง นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ชี้แจงด่วน !!!

ยังไม่ถึงสัปดาห์ดีแพทย์ชนบทออกมากระหน่ำซ้ำอีก ทั้งเครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจชีวเคมีในเลือด ลามไปถึงรถพยาบาลที่มีการกินหัวคิวถึงคันละ 100,000 บาท โดยผู้ที่มีอักษรย่อตัว ต. ที่เป็นนักการเมืองในกระทรวง พร้อมท้าด้วยว่า หากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึง 30,000 ล้านบาท

"ผมไม่ได้เสนอให้ล้มโครงการ เพียงแต่ขอให้ทบทวนให้ดี เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดประหยัดงบประมาณได้ และหากทำให้ดีเชื่อว่าจะประหยัดงบประมาณได้ถึง 30% ซึ่งจะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ ยังได้กล่าวถึง การจัดสรรงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งด้วยว่า เป็นการจัดสรรที่สวนทางนโยบายการวางระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยงบประมาณส่วนใหญ่ทุ่มไปที่การก่อสร้างที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป แต่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งสถานีอนามัยกลับจัดสรรน้อยมาก ดังนั้น ควรมีการปรับในส่วนนี้อย่างน้อยก็ควรได้ 50% ของงบประมาณ

ข้อมูลร้อนที่ออกมาทุกวัน ทำให้เจ้ากระทรวงอย่าง นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เต้นแก้ปัญหา สั่งด่วน ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อ พิจารณาความเหมาะสมและแก้ไขปัญหาโครงการไทยเข้มแข็ง และสอบสวนหาข้อเท็จจริง ที่ไม่แค่หวังแก้สถานการณ์สร้างความโปร่งใสให้โครงการดำเนินต่อไปได้เท่า นั้น แต่ยังเป็นการยืนยันภาพลักษณ์นักการเมืองน้ำดี เมืองนครศรีฯ

ขณะที่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรเองก็นั่งไม่ติดเก้าอี้ ต้องเชิญชมรมแพทย์ชนบท มาร่วมให้ข้อมูล โดย นพ.เกรียงศักดิ์ ออกมาเปิดเผยอักษรย่อเพิ่มอีกหลายตัว ทั้ง ม. ป. ล. และ ส. ซึ่งล้วนเป็นคนใกล้ชิดนักการเมืองในกระทรวงหมอทั้งสิ้น

ทั้งยังให้เพิ่มประเด็นร้อนขึ้นอีกประเด็นที่ น่าสนใจ เพราะนอกจากครุภัณฑ์ทางการแพทย์แล้ว ในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลชุมชน ปรากฏ "เสาธง" สเปคราคาต้นละเกือบ 5 แสนบาท ที่มีการถามหาถึงความจำเป็น แถมด้วยการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่กำหนดราคาต่อตารางเมตรกว่า 1,000 บาท

แม้ นพ.ดร.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จะออกมายืนยันว่า การก่อสร้างอาคาร รพ.ชุมชน ในโครงการไทยเข้มแข็ง ที่มีการสร้างเสาธงมูลค่า 4.95 แสนบาทต่อแห่งนั้น จากการสอบถามกองแบบแผนได้รับการชี้แจง ว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีเสาธงกว่า 10 แบบ ที่มีราคาแตกต่างกันตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป

สำหรับแบบล่าสุดที่เป็นประเด็นในขณะนี้นั้น ได้รับการชี้แจงว่ามีราคา 3.57 แสนบาท โดยเป็นเหล็กขนาด 20 เมตร เคลือบด้วยสารกันสนิมกัลวาไนท์ นอกจากนี้ ยังมีฐานสูงที่ต้องวางเสาเข็ม พื้นเป็นหินทรายขัด ทำให้มีราคาสูง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ปลัด สธ.คนใหม่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ได้รับคำสั่งจาก รมว.สาธารณสุข เรียกประชุมคณะกรรมการโครงการไทยเข้มแข็ง พร้อมสั่งชะลอจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์เจ้าปัญหา 6 รายการ ได้แก่ เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบยูวีหรือยูวีแฟน เครื่องช่วยหายใจ เครื่องดมยาสลบ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ หรือเซ็นทรัลโมนิเตอร์ เครื่องตรวจสารเคมีในเลือด และรถพยาบาล พร้อมส่งหนังสือเวียนแจ้งไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และแต่งตั้งให้ นพ.เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการเขต 7 เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อครุภัณฑ์เหล่านี้ กำหนดกรอบเวลา 2 สัปดาห์ รู้ผล

นอกจากนี้ ยังให้ทบทวนโครงการไทยเข้มแข็งทั้งหมด โดยให้คณะกรรมการที่มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเร่งดำเนินการ (ยังไม่แต่งตั้ง) ทบทวนการจัดซื้อครุภัณฑ์ 7,000 รายการ รวมทั้งการก่อสร้างอาคารที่ถูกระบุว่า ใช้งบประมาณสูงกว่าราคากลางถึง 30-50% ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายรู้สึกโล่งอก เพราะโชคยังดีที่ยังเป็นแค่การเตรียมจัดซื้อ เพราะงบประมาณที่จะนำมาใช้ยังติดอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภา แม้ว่าจะมีบางพื้นที่ได้มีการประกาศประกวดราคาและจัดซื้อครุภัณฑ์บางรายการ ไปแล้ว แต่ก็ไม่มาก ไม่เช่นนั้น คงก่อให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่

ความดีครั้งนี้ต้องยกให้กับคนที่ออกมาเปิดเผย ข้อมูล เพราะแค่นี้เริ่มต้นก็ส่งกลิ่นขนาดนี้ หากปล่อยให้ประมูลโดยไม่ตรวจสอบจะฉาวขนาดไหน เพราะที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเคยอื้อฉาวการจัดซื้อมาหลายครั้ง ทั้งกรณีทุจริตยา คอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท และรถพยาบาลฉาว 232 คัน

ช่องโหว่ทำให้เกิดการยัดไส้การจัดซื้อครั้งนี้ สอบถามผู้จัดทำโครงการทราบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากสำนักงบประมาณที่ต้องการเร่งรีบดำเนินโครงการ โดยเฉพาะในส่วนการจัดซื้อครุภัณฑ์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ให้เวลา แค่ 3 วัน ในการสรุปรายการจัดซื้อทั้งหมด จึงต้องจำกัดครุภัณฑ์ 46 รายการ เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการในเวลาที่จำกัด ล่าสุดได้มีการปลดล็อกนี้แล้ว หลังเป็นข่าวส่อแววความไม่ชอบมาพากล

แต่สิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้ คือ การแต่งตั้งและโยกย้ายอธิบดีแต่ละกรม รวมถึงรองปลัดกระทรวงที่ว่างลงหลายตำแหน่งจากการเกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่ากระทรวงใดย่อมมีการแต่งตั้งที่สายใครเป็นสายใครขึ้นมา โดยมีการพยากรณ์ว่า หากอังคารนี้โผตำแหน่งลงตัว ต่างฝ่ายต่างพอใจ ปัญหาการจัดซื้อครั้งนี้ก็จะจบลงได้สวย แต่หากไม่ใช่เชื่อว่าคงมีเรื่องปวดหัวที่เป็นประเด็นร้อนฉ่าออกมาอีกหลาย ระลอก

ดวงกมล สจิรวัฒนากุล

กรุงเทพธุรกิจ, วันอาทิตย์ที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Sunday, September 27, 2009

แพทย์ชนบท จี้ตั้งกก.สอบงบไทยเข้มแข็ง ยัดเยียดร.พ.

แพทย์ชนบท จี้ตั้งกก.สอบงบไทยเข้มแข็ง ยัดเยียดร.พ.

เผยเส้นนักการเมืองล็อบบี้ยัดเยียดวัสดุ-อุปกรณ์ราคาแพงเกินจริง ล็อตใหญ่รับเละ
เหน็บ"ชวน"เคยตั้ง"หมอบรรลุ"สอบเอา"รักเกียรติ"เข้าคุก แต่ตอนนี้ ...

น.พ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า
ปัญหาของโครงการไทยเข้มแข็งของสาธารณสุขไม่ใช่อยู่ที่การล็อคสเปค

แต่อยู่ที่ ครม.อนุมัติให้ซื้อในสิ่งที่โรงพยาบาลไม่ได้ขอ
เช่น เครื่องฆ่าเชื้อด้วยยูวี ราคา 40,000 บาท ไม่มีใครขอ
เพราะราคาแค่นี้ถ้าโรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้ก็สามารถใช้เงินบำรุงจัดซื้อเองได้
ไม่รู้ว่าใครเป็นคนชงให้นักการเมือง แค่อนุมัติให้ซื้อทุกโรงพยาบาลจะเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาทแล้ว

และปัญหาใหญ่อีกอย่างคือราคาที่อนุมัติ แพงเกินไป เช่น
เครื่องช่วยหายใจราคา 1.2 ล้านบาท แต่โรงพยาบาลบางแห่งเพิ่งซื้อไป 5 แสนกว่าบาทเอง
หรือแฟลตพยาบาล ราคา 9.6 ล้านบาท แต่เมื่อต้นปี 52 โรงพยาบาลบางแห่งเปิดซองประมูลได้ราคาแค่ 6 ล้านบาทเอง
รวมทั้งเครื่องฆ่าเชื้อยูวีราคาแค่ 6,000 บาท

"จากที่ถามโรงพยาบาลบางแห่ง มีนักการเมืองในพื้นที่ติดต่ออยากได้อะไร แล้วนำไปเพิ่มราคาโดยผ่านกองแบบแผนของกระทรวงสาธารณสุข เวลาประมูลถ้ามีการฮั้วราคากันก็คงได้ราคากลางพอดี ทั้งที่ควรจะถูกกว่านั้น โครงการนี้ไม่โปร่งใสตั้งแต่แรก เพราะขาดการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการพิจารณาว่าอะไรควรซื้อไม่ควรซื้อ และจะซื้อราคาเท่าไหร่ การจัดสรรผ่านคนไม่กี่คนในส่วนกลางในช่วงที่กำลังจะตั้งปลัดกระทรวง และอธิบดีใหม่ ทำให้คนในกระทรวงฯ หลายคนอยากก้าวหน้าดำเนินการชงให้"

นายแพทย์พงศ์เทพ กล่าวด้วยว่า
สิ่งที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ควรทำหลังกลับจากประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติก็คือ
แต่งตั้งนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิชเป็นประธานกรรมการเพื่อหาข้อเท็จจริงว่าใครเป็นคนใส่ราคากลางที่ แพงขนาดนี้
และใครเป็นคนใส่เครื่องฆ่าเชื้อยูวีไปในคำขอที่เสนอครม.
และคณะกรรมการควรตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือลดราคากลางลง
จะทำให้ประหยัดงบประมาณและนำไปซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นจริงๆเพิ่มได้ อีกจำนวนมาก

"เรื่องนี้เหมือนสมัยที่คุณชวน หลีกภัยตั้งนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช สอบสวนเรื่องทุจริตยา จนนำนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคกิจสังคม เข้าคุกได้ แต่ตอนนี้ต่างกันแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอยู่พรรคประชาธิปัตย์ เท่านั้นเอง" เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 27 กันยายน 2552

Thursday, September 17, 2009

แฉเงื่อนงำซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรค ระบบอัลตราไวโอเลต 4 หมื่นแพงโหด

แฉเงื่อนงำซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรค ระบบอัลตราไวโอเลต 4 หมื่นแพงโหด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากมีการเสนอข่าวกระแสการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการภายใต้แผน ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (เอสพี) 2555 ระยะที่ 2 รอบที่ 1 โดยล่าสุด ได้รับเอกสารเกี่ยวกับ การจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรค ด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด ให้กับโรงพยาบาลชุมชนทุกจังหวัด จังหวัดละ 15 เครื่อง ราคาเครื่องละ 40,000 บาท ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการจัดซื้อในส่วนของโครงการพัฒนาระบบบริการระดับทุติยภูมิ งบฯลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง โดยมีเอกสาร 3 ใบ คือ หนังสือทางราชการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา (สสจ.) ลงบันทึกด่วนที่สุด ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2552 โดยแจ้งให้ทราบว่าสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งให้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวไอเลต ให้กับโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในจังหวัด พร้อมแนบสเปคเครื่องทำลายเชื้อโรคและใบเสนอราคาของบริษัทเอกชน ชื่อบริษัท ก่อเกียรติซัพพลาย จำกัด ที่อยู่เลขที่ 3 ซอยบางนาตราด 34 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ 102 โดยเสนอราคาเครื่องทำลายเชื้อโรค หรือ UV-FAN ในราคาเครื่องละ 40,000 บาท

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หนังสือฉบับดังกล่าวมีความผิดปกติหลายจุด คือ

1.มีการเสนอราคาเครื่องทำลายเชื้อโรคราคาเครื่องละ 40,000 บาท ซึ่งสูงผิดปกติ ซึ่งเท่าที่ทราบที่ผ่านมาสถาบันทรวงอก กรมการแพทย์ สธ. ได้ผลิตเครื่องชนิดนี้เป็นโครงการนำร่อง มีต้นทุนเครื่องละ 5,000-6,000 บาทเท่านั้น แต่ทำไม สธ.จึงกำหนดราคากลางให้สูงถึง 40,000 บาท

2.ในหนังสือฉบับดังกล่าวยังได้แนบเอกสารอีก 2 ฉบับ คือ รายละเอียดสเปคเครื่องทำลายเชื้อโรค และใบเสนอราคาของบริษัท ก่อเกียรติ ซัพพลาย จำกัด ในราคาเครื่องละ 40,000 บาท ขณะนี้เครือข่ายแพทย์ชนบทได้กระจายตัวลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดแล้ว

มติชนรายวัน, วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11514

Tuesday, September 15, 2009

น.ร.ม.กับ ผบ.ตร.

น.ร.ม.กับ ผบ.ตร.

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วยปลายเดือนสิงหาคมกับต้นเดือนกันยายนคงไม่มีข่าวใด ครองเนื้อที่ข่าวเป็นเวลานานกว่าข่าวการดำเนินการของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. กับการปฏิบัติต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่

ตำรวจไทยนั้นอยู่ในฐานะที่น่าเห็นใจ งานในภาระหน้าที่ก็หนัก เงินเดือนก็น้อย บางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ก็เสี่ยงกับอันตรายจากพวกมิจฉาชีพ ที่น่าเห็นใจและน่าน้อยใจแทนตำรวจก็ตรงที่มักจะถูกสังคมกล่าวหาว่าเป็น ผู้ร้ายเสียเองอยู่เสมอ

ตำรวจทั้งประเทศมีจำนวนมากมายกว่า 2 แสนคน ย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีเป็นของธรรมดา แต่ที่เคยคบหาสมาคมด้วยก็เห็นว่าเป็นคนดีเป็นส่วนใหญ่ คนไม่ดีนั้นมีจำนวนไม่มาก

การปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อ ผบ.ตร. จนเป็นข่าวเกรียวกราวย่อมกระทบกระเทือนต่อ"เกียรติภูมิ" ของตำรวจทั้งประเทศ ย่อมทำให้เกิดความเศร้าใจแก่ผู้ที่มีอาชีพรับราชการเป็นตำรวจจนไปถึงครอบ ครัวและญาติพี่น้องเป็นของธรรมดา ถ้าข้าราชการตำรวจทั้งประเทศมี 2 แสนคน รวมลูกเมียของตำรวจเข้าไปด้วยก็คงทำให้เกิดความสะเทือนใจแก่ตำรวจ ลูกเมีย ญาติพี่น้อง จำนวนไม่ต่ำกว่าล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย

น่าจะมีวิธีที่ปฏิบัติต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจดีกว่านี้ วิธีที่กำลังปฏิบัติต่อ ผบ.ตร. ในขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เริ่มต้นด้วยการออกข่าวว่าให้ ผบ.ตร.ลาราชการไปต่างประเทศ พร้อมทั้งให้ลาต่อไปจนถึงวันเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน เพื่อจะได้ไม่สามารถเข้าประชุมคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติได้ จู่ๆ ก็ปรากฏว่า ผบ.ตร.เดินทางกลับจากประเทศจีนในวันที่ 10 สิงหาคม เพื่อมาให้ทันวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เมื่อ ผบ.ตร.เดินทางกลับเข้าประเทศด้วยเหตุผลและภารกิจที่ต้องเดินทางไปประเทศจีน เสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำ ตามหน้าที่และวินัยก็ต้องกลับมาทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม เมื่อ ผบ.ตร.กลับมา รักษาการ ผบ.ตร.ที่ได้รับการแต่งตั้งก็พ้นไป

ต่อมา ผบ.ตร.ก็ได้รับคำสั่งให้ไปราชการภาคใต้ แล้วก็มีการแต่งตั้งรักษาราชการแทน ซึ่งสร้างความมึนงงสงสัยให้กับผู้คนจำนวนมากว่า การเดินทางไปราชการต่างจังหวัดนั้นต้องตั้งรักษาการแทนด้วยหรือ เพราะเจ้าตัวยังอยู่ในราชอาณาจักร เมื่อนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลถามว่า ถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต้องเดินทางไปราชการต่างจังหวัดจะต้องตั้งรักษา ราชการแทนด้วยหรือไม่ ก็ไม่ได้รับคำตอบ แต่ข่าวที่ออกไปก็คงกระทบต่อขวัญและกำลังใจของตำรวจอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อมีการประชุมใน ก.ต.ช. ผบ.ตร.ก็กลับมาจากต่างจังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วย เมื่อประธานเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทน ผบ.ตร.ที่จะเกษียณไปเพียงชื่อเดียว ปรากฏว่ามีกรรมการ ก.ต.ช. ผู้หนึ่งติงว่าไม่ควรเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว ในที่สุดต้องมีการลงมติ ผู้ที่ท้วงติงเสนอให้คงคะแนนลับ ประธานไม่ยอมให้ลงคะแนนลับ ให้ลงโดยเปิดเผย ผลปรากฏว่าข้อเสนอของประธานไม่ผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 ไม่ออกเสียง 2 ท่าน คือ กรรมการผู้ท้วงติงกับตัวประธานเอง

การที่ผลออกมาเป็นเช่นนี้ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากทั้งกับประธาน ก.ต.ช. ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในแง่ประธาน ก.ต.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลก็เสียหาย เพราะเท่ากับทำงานไม่รอบคอบ ปกติประธานก็น่าจะทราบมาก่อนประชุมแล้วว่าข้อเสนอของตนจะได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการหรือไม่ ไม่ใช่มาทราบเพราะต้องมีการลงมติกัน อาจจะเป็นไปได้ว่าประธาน ก.ต.ช. ก็ทราบมาก่อนการประชุมแต่ต้องการให้เป็นข่าวเช่นนี้

ในแง่ตำรวจก็เท่ากับหัวหน้าตำรวจกับหัวหน้ารัฐบาลมีปัญหากันอย่างรุนแรง เพราะปกติแล้วตำรวจคงจะไม่ทำอย่างนั้นกับผู้บังคับบัญชา ทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลเสียหาย หมดความน่าเชื่อถือ เหตุการณ์ทรุดลงไปอีกเมื่อสื่อมวลชนโดยเฉพาะนักข่าวได้ไปตั้งคำถามกับผู้นำ พรรคภูมิใจไทยและได้รับคำตอบว่า ให้ไปถามเลขาธิการนายกรัฐมนตรีคือคุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงคือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ทั้งสองท่านมิได้ตอบว่าอย่างไร ไม่ว่านักข่าวจะไปถามแกนนำพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือบุตรชาย หรือผู้นำพรรคที่อยู่ข้างนอก ต่างก็ยืนยันว่าให้ไปถามรองนายกรัฐมนตรีกับเลขาธิการนายกฯ

การให้ข่าวเช่นนี้จึงทำให้เกิดข่าวลือไปต่างๆนานา ต่อมาเมื่อนักข่าวไปถามประธาน ก.ต.ช.ก็ได้รับคำตอบว่า ประธาน ก.ต.ช.ยังจะเสนอชื่อเดิมเพียงชื่อเดียว เพราะพวกที่ลงมติไม่เห็นชอบนั้นมีข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่มีข้อมูลรอบด้าน กลายเป็นการตอบโต้กันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี สร้างความงุนงงกับตำรวจทั้งประเทศ

เมื่อนายกรัฐมนตรีตอบผู้สื่อข่าวอย่างนี้เรื่องก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ ผู้คนพากันคาดเดาไปต่างๆ นานา

ความจริงแล้วนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ต.ช.น่าจะชี้แจงได้ว่า ในบรรดาตำรวจที่ดำรงตำแหน่งชั้นยศพลตำรวจเอกนั้น ผู้ที่นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาคัดเลือกแล้วนำชื่อมาเสนอนี้มีความเหมาะสมกว่า ผู้อื่นอย่างไร ทั้งในแง่ผลงาน ประวัติการทำงาน มนุษยสัมพันธ์ บารมีและการยอมรับ รวมทั้งอาวุโสในตำแหน่งที่ดำรงอยู่เมื่อเทียบกับ พล.ต.อ.คนอื่นๆ

แต่ก็ดูเหมือนว่าสื่อมวลชน และสังคมก็มิได้ติดใจสอบถามอย่างจริงจัง แม้ว่านายกรัฐมนตรีถ้าจำไม่ผิดจะได้ชี้แจงไปบ้างแล้วก็ตาม

การให้ข่าวอย่างคลุมเครืออย่างนี้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะเป็นเหตุให้ผู้คนคิดไปต่างๆ นานา

ขณะเดียวกันก็มีการตั้งกรรมการสอบสวนกรณีการใช้จ่ายเงิน 18 ล้านบาท ในงบฯการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในเวลาไล่เลี่ยกันคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีมติชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัย กับ ผบ.ตร. ในกรณีการสลายการชุมนุมที่มาล้อมอาคารรัฐสภา

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่อาจจะรู้ได้ นอกจากข้อมูลสาธารณะจากหนังสือพิมพ์

แต่รูปการและห้วงเวลาที่เรื่องต่างๆ ออกมาเป็นชุดๆ ติดๆ กันอย่างนี้ ไม่น่าจะเป็นผลดีกับฝ่ายใดเลย ทำให้สังคมมีการคาดเดา มีการวิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา

ที่สำคัญทำให้กระทบกระเทือน กับขวัญและกำลังใจของตำรวจเป็นอย่างมาก ที่ดูเหมือนกับว่าเพียงเพื่อไม่ให้ ผบ.ตร.มาประชุม ก.ต.ช.ได้เท่านั้นก็เลยมีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นกับ ผบ.ตร. ซึ่งความจริงอีกเพียง 2 สัปดาห์ก็จะเกษียณอายุแล้ว ทำไมเรื่องต่างๆ ถึงได้มาเสร็จและเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

พอมีข่าวเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งเคยเป็นประเด็นถกกันว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์หรือไม่ เรื่องนี้จะไปเกี่ยวข้องกับนายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว ความที่สังคมให้ความสำคัญกับความขัดแย้งระหว่างกรรมการ ก.ต.ช. 5-6 ท่านกับประธาน ก.ต.ช. สื่อมวลชนก็เลยเหมาเอาว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบว่ามีเหตุผลใดแต่ก็น่าสนใจว่าทำไมกรณีที่ดินที่นำเอาไปสร้าง บ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟอัลไพน์จึงได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา

ทันทีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติกล่าวโทษ ผบ.ตร. ทั้งทางอาญาและทางวินัย ผบ.ตร.ก็กล่าวกับนักข่าวว่าจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าหนังสือของ ป.ป.ช.จะมีมาถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คงหมายความว่าถ้ามีการประชุม ก.ต.ช. ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม ผบ.ตร.ก็คงจะไปประชุมซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจของนายกรัฐมนตรี

ความจริงแล้วน่าจะพิจารณาดูว่า กฎหมายที่กำหนดกระบวนการแต่งตั้ง ผบ.ตร.นั้นถูกต้อง เป็นไปตามธรรมชาติหรือไม่ เช่น นายกรัฐมนตรีควรจะลงมานั่งเป็นประธาน ก.ต.ช.เองหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล เมื่อเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้น ก็เท่ากับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล ไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้

นายกรัฐมนตรีนั้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่ควรมาเป็นผู้เสนอแต่งตั้งข้าราชการประจำ สำหรับกระทรวงอื่นๆ ก็มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเป็นผู้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีสามารถจะทักท้วงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นคนสุดท้ายได้

ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นทั้งผู้เสนอและแต่งตั้งกรรมการระดับชาติอย่างนี้แล้ว เกิดที่ประชุมไม่ผ่านให้ก็มีปัญหาในการบริหารประเทศ แต่ถ้ากรรมการต้องลงมติผ่านให้ทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีเสนอก็เท่ากับเป็นคณะ กรรมการตรายางหรือไม่ ประโยชน์ของคณะกรรมการอยู่ที่ตรงไหน

จึงน่าคิดว่าระบบที่ว่านี้เป็นระบบที่ถูกต้องหรือไม่

ประชาชาติธุรกิจ, วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4140

http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02edi05140952&sectionid=0212&day=2009-09-14

Thursday, September 3, 2009

เปิดขุมข่ายธุรกิจ-หนี้120ล.ศิริโชค โสภา wallpaper นายกฯ จนจริงหรือแกล้งจน?

เปิดขุมข่ายธุรกิจ-หนี้120ล.ศิริโชค โสภา wallpaper นายกฯ จนจริงหรือแกล้งจน?

เปิดตัวตน "ศิริโชค โสภา " เจ้าของสมญานามวอลเปเปอร์ของนายกฯอภิสิทธิ์ และโด่งดังหลังออกมาขย่มวงการสีกากี 10 ปีที่แล้ว เขาคือนักธุรกิจหนุ่ม แต่วันนี้เขามีหนี้เฉียด 120 ล้าน อยากรู้ว่าเขาจนจริง หรือ แกล้งจน ?? ...คลิกอ่านโดนพลัน

กล่าวกันว่า ถ้าเห็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นภาพข่าว ฉากหลังของนายกฯ จะต้องมี "ศิริโชค โสภา" เป็นแบล็คกราวน์ อยู่เสมอๆ

จน ส.ส. สงขลา ได้รับสมญาว่า เป็น "wallpaper" ของผู้นำ ทว่า เจ้าตัวบอกว่า ไม่สนใจ ใครจะเรียกอย่างไร

"วอลเปเปอร์ อื่น คือยืนเพื่อออกทีวีอย่างเดียว แต่ผมยืนเพื่อฟังและรับข้อมูล มันก็เลยได้มุมโดยไม่ตั้งใจ..." ศิริโชค กล่าว

แต่ใครจะเชื่อว่า ฤทธิ์เดช วอลเปเปอร์ ที่ชื่อ ศิริโชค สามารถขย่มวงการสีกากี ด้วยการแฉเรื่องการเซ็งลี้เก้าอี้ตำรวจ 2 ครั้งซ้อน จนทำเอาวงการสีกากี ปั่นป่วน

ล่าสุด ศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เปิดสงครามน้ำลาย กับ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เมื่อ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ให้ตรวจสอบภูมิหลังนายศิริโชค โดยอ้างว่าบริษัทพี่ชายนายศิริโชคมีคดีความ เกี่ยวกับการทุจริตรวม ทั้งขอให้ตรวจสอบสัญชาติบิดาของนายศิริโชคอีกด้วย

ขณะที่เจ้าตัวออกมาโต้ว่าเป็นเรื่องเก่า ไร้สาระ หากทำให้เสียหายก็จะฟ้องดำเนินคดี และบอกทำนองว่านายพร้อมพงศ์ไปเล่นหนังโป๊ หากเป็นนักการเมืองที่ไม่มีคุณธรรมก็คงเอาซีดีที่นายพร้อมพงศ์แสดงเป็น พระเอกออกมาแจกแล้ว

ศิริโชค ร้องท้าว่า ถ้าการทำธุรกิจของพี่ชาย จะเกิดปัญหาก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกันและคดีดังกล่าวก็เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย

นายศิริโชคกับนายพร้อมพงศ์จึงกลายเป็นมวยคู่ล่าสุด ก่อนหน้านี้ ศิริโชค เคยปะฉะดะกับ จักรภพ เพ็ญแข มาแล้ว

แต่หากย้อนกลับไป วีรกรรมของ ศิริโชค คือ การลอกคราบ บริษัทในเครือชินคอร์ปของ ตระกูลชินวัตร เมื่อ ส.ส. สงขลา เปิดโปงการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ และบริษัท ซีเอส คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เขาถูกเครือข่ายอดีตนายกฯขุดคุ้ยละเอียดยิบทั้งเรื่องส่วนตัวและครอบครัว

ล่าสุด ศิริโชค ถูกลูบคม อีกครั้งหลังจากเปิดโปงกรณีซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและออกมาเล่นบทพระเอก กรณีคลิปฉาวตัดต่อของนายกฯ

อย่างไรก็ตาม นอกจากมีความสามารถในเชิงตรวจสอบแล้ว กระบวนยุทธ์ในการทำธุรกิจและการสะสมทุน ก็มีความน่าสนใจ ไม่ใช่น้อย

ทั้งนี้ นายศิริโชคยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตอนรับตำแหน่ง ส.ส.วันที่ 22 มกราคม 2551 ระบุว่ามีทรัพย์สินเพียง 2 รายการ คือเงินฝากแบงก์ 1.1 ล้านบาทเศษ ที่ดินในต.ปากพลี จ.นครนายก 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่เศษ มูลค่า 3 แสนบาท รวม 1.4 ล้านบาทเศษ ไม่มีทรัพย์สินอื่น ถ้าเทียบกับ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จำนวน 172 คน ทรัพย์สินของนายศิริโชค รั้งท้ายอยู่อันดับ 165

นายศิริโชคระบุว่ามีหนี้สิน 119.2 ล้านบาท จำแนกเป็นหนี้ธนาคารไทยธนาคาร 27.5 ล้านบาท บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน 31.8 ล้านบาท กองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่ง 4 รายการ 59.8 ล้านบาท

หักลบกลบหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 117.8 ล้านบาท (เป็น 1 ใน 6 ส.ส. ประชาธิปัตย์ที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน)

หนี้ทั้งหมด เป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งศาลตัดสินตั้งแต่ปี 2543 - 2546 ซึ่งนายศิริโชคเป็นจำเลยร่วมกับ บริษัท โอเวอร์ซีส์ มารีนและห้องเย็น บริษัท สหะโสภา นางเสาวรส โสภา (นามสกุลเดิม จันทนะปุญญา) นายศิริพจน์ โสภา พี่ชาย และเครือญาติ รวม 6 ราย

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบพบว่าครอบครัวนายศิริโชคมีธุรกิจกว่า 10 บริษัท

ปี 2508 ก่อตั้งหจก.บัวไล ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ขายส่งสินค้า เช่น ข้าว แร่ ยาง ไม้ ข้าวโพดออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

ปี 2516 ก่อตั้งบริษัท โอเวอร์ซี เมอร์แคนไทล์ จำกัด (ปิดกิจการแล้ว) ทุน 1 ล้านบาท

ปี 2524 ก่อตั้งบริษัท สหะโสภา จำกัด ทุน 8 ล้านบาท ขายอาหารทะเล ที่อยู่เดียวกับบริษัท โอเวอร์ซี เมอร์แคนไทล์

ปี 2530 ก่อตั้ง บริษัท โอเวอร์ซีส์ มารีนและห้องเย็น จำกัด ทุน 100 ล้านบาท ส่งออกอาหารทะเล อยู่ในซอยทรงสะอาด ถนนวิภาวดีรังสิต

ปี 2535 ก่อตั้ง บริษัท โสภา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ทุน 10 ล้านบาท

ปี 2536 ก่อตั้งบริษัท ระยองพรอน จำกัด (ปิดกิจการปี 2547) ทุน 1 ล้านบาท และบริษัท ปราณบุรี จำกัด (ปิดกิจการปี 2547) ทุน 1 ล้านบาท ส่งออกอาหารทะเล

ปี 2538 ก่อตั้งบริษัท อินโด-ไทย ฟู้ด เทรด จำกัด ทุน 10 ล้านบาท ขายสินค้าอุปโภค บริโภค อยู่ในซอยเอกมัย ,บริษัท โอแมค ปิโตเลี่ยม จำกัด (ปิดกิจการปี 2546) ทุน 1 ล้านบาท ขายน้ำมันเชื้อเพลิง และ บริษัท ไอพีดี แลนด์ จำกัด ทุน 46 ล้านบาท รับเหมาก่อสร้าง (ล้มละลาย 29 พ.ค.2551)

กิจการเกือบทั้งหมดนายศิริโชคถือหุ้นร่วมกับแม่คือนางเสาวรส โสภา น.ส.นุชนาฎ โสภา พี่สาว และ นายศิริพจน์ โสภา พี่ชาย

ที่น่าสนใจคือนายศิริโชคเริ่มผ่องถ่ายหุ้นให้แม่และพี่ชายตั้งแต่ปี 2541 (เป็น ส.ส.ครั้งแรกปี 2544)

วันที่ 10 สิงหาคม 2541 โอนหุ้นบริษัท สหะโสภา จำกัด ให้นางเสาวรส 40 หุ้น และ นายศิริพจน์ 39 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10,000 บาท รวม 790,000 บาท และ โอนหุ้น บริษัท โอเวอร์ซีส์ มารีนและห้องเย็น จำกัด ให้นางเสาวรส และ นายศิริพจน์คนละ 5,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท รวม 10 ล้านบาท

วันที่ 10 เมษายน 2545 โอนหุ้นบริษัท โอแมค ปิโตรเลี่ยม ให้นางเสาวรส 2,800 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวม 280,000 บาท ,โอนหุ้นบริษัท ระยองพรอน ให้นางเสาวรส 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวม 1 แสนบาท และ โอนหุ้น บริษัท ปราณบุรี พรอน ให้นางเสาวรส 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวม 1 แสนบาท

นายศิริโชคจึงไม่มีหุ้นในธุรกิจอีกต่อไป และ แจ้ง ป.ป.ช.ว่า ไม่มีแม้กระทั่งรถยนต์

อย่างไรก็ตาม นักข่าวสายการเมือง ต่างเคยเห็น ศิริโชค ควบ รถปอร์เช่ Porsche สุดเท่ห์ ประชันกับ "ชายภิ" อภิมงคล โสณกุล ลูกชายหม่อมเต่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

แต่ล่าสุด หนุ่มศิริโชค เปลี่ยนมาควบ มินิ คูเปอร์สีแดง บาดตาสาวๆ

ในวงเม้าท์ของนักข่าว เคยมีการเปรียบเทียบความเค็มระหว่าง นายกฯมาร์ค กับ wallpaper ใครจะเข้มข้นกว่ากัน ?

คำตอบคือ wallpaper น่าจะเหนือกว่านายกฯ เพราะนายกฯ ยอมควักกระเป๋าตังค์จ่ายค่ากาแฟ ก่อน wallpaper แค่เสี้ยวนาที (ฮา)

---------------------------------------
บริษัท โสภา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

วันเดือนปีที่จดทะเบียน 25 มีนาคม 2535
สถานภาพกิจการ ยังดำเนินกิจการอยู่
ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน (บาท) 10,000,000
ที่ตั้ง (กระทรวง) 43/3 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
ที่ตั้ง (สบช.3) 43/3 อาคารศูนย์การค้าเฉลิมโลก ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ 0-2277-1686
ประเภทธุรกิจ 1. ขายทรัพย์สิน - บริการ (65990)
ขนาดธุรกิจ ขนาดเล็ก
ผู้มีอำนาจทำการ 1 (สบช.3) นาย ศิริพจน์ โสภา
อำนาจกรรมการ กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญ ของบริษัท
ข้อมูลรายชื่อกรรมการ
1 นาย สุวัฒน์ โสภาเสถียรพงศ์
2 นาย ศิริพจน์ โสภา

วันที่ประชุมผู้ถือหุ้น 30 เมษายน 2549 ราคาหุ้นละ 100.00 บาท

# รายชื่อผู้ถือหุ้น
1 นาย ศิริพจน์ โสภา 89.9500% ไทย 8,995 899,500.00
2 นางสาว นุชนาฏ โสภา 10.0000% ไทย 1,000 100,000.00
3 นาย พยนต์ สุวรรณพูล 0.0100% ไทย 1 100.00
4 นาง วิไล พรวิไลโชติกิจกุล 0.0100% ไทย 1 100.00
5 นางสาว เสาวรส จันทนปุณญา 0.0100% ไทย 1 100.00
6 นาย แสงชัย จันทนะเจริญสุข 0.0100% ไทย 1 100.00
7 นางสาว อาพร ทับทิม 0.0100% ไทย 1 100.00
รวม 100.0000% 10,000 1,000,000.00

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 03 กันยายน พ.ศ. 2552

Saturday, August 29, 2009

ผีซ้ำด้ำพลอย (น้ำลดตอผุด) ที่ สตง

ผีซ้ำด้ำพลอย (น้ำลดตอผุด?) ที่ สตง

โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

การที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการแต่งตั้งนายอภิชัย ล้อไพบูลย์ทรัพย์ จากผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานการตรวจเเงินแผ่นดิน(สตง.)ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 2 ระดับ 9 ตั้งแต่มีนาคม 2549 อาจมองได้ว่า มีลักษณะคล้ายผีซ้ำด้ำพลอย

เพราะที่ผ่านมาได้เกิดเรื่องอื้อฉาวใน สตง.อย่างต่อเนื่อง มีการร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน สตง.จำนวนมาก จนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน โดยเฉพาะกรณีการกล่าวหาว่า อมตั๋วเครื่องบินของการบินไทยไปให้ลูกสาวและน้องสาว

หนึ่งในจำนวนเรื่องที่ร้องเรียนนั้น มีกล่าวหาว่า มีการเล่นพรรคเล่นพวกในการแต่งตั้งโยกย้าย และยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง 4 คดี ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณมาแล้ว 2 คดี คือ

1. เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งน.ส.สุมิตรา เนตรสว่าง จากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน สตง.(ส่วนกลาง)ไปเป็นนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 กลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สตง.ภูมิภาคที่ 1 ตั้งแต่มีนาคม 2549 (หมายเลขแดงที่ 88/2552)

2.เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนายอภิชัย ล้อไพบูลย์ทรัพย์(หมายเลขแดงที่ 1357/2552)

ทั้งสองคดีเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คือไม่ทำตามมติคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ ซึ่งพิจารณาเสนอแต่งตั้งบุคคลทั้งสองตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ได้กำหนดไว้

แต่คุณหญิงจารุวรรณอ้างว่า บุคคลทั้งสองคุณสมบัติไม่เหมาะสม

ผลคดีถึงที่สุดจะเป็นอย่างไร กรณีมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจคือ ข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองกลางได้จากการไต่สวนและสรุปไว้ในคำพิพากษา ที่คุณหญิงจารวรรณอ้างเป็นเหตุไม่ยอมแต่งตั้งนายอภิชัยเป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ดังนี้

1.นายอภิชัยไม่เคยดำรงตำแหน่งนิติกรมาก่อน ซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมายตามโครงสร้างใหม่ ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยตรง เนื่องจากต้องรับผิดชอบงานบริหารราชการทุกด้านของสำนัก ควบคุม ตรวจสอบ กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา ตีความและวินิจฉัยข้อกฎหมายฯลฯ

2.นายอภิชัยไม่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง ของสำนักงาน ก.พ.หรือหลักสูตรที่สำนักงาน ก.พ.รับรอง ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย (ตามโครงสร้างเดิมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547) ตามมาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามคำพิพากษาสรุปว่า นายอภิชัยสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2531 และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆจนเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย (นักบริหาร 9) ตามโครงสร้างเดิมซึ่งมีหน้าที่ตรวจพิจารณาวิเคราะห์กฎหมาย และดำเนินการเกี่ยวกับคดี ตลอดจนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการให้เหมาะสม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวถึงวันที่ 9 มีนาคม 2549

ส่วนนายชูวิทย์ นุชถาวรซึ่งคุณหญิงจารุวรรณแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมายแทนนายอภิชัย (ทั้งที่คณะกรรมการไม่ได้เสนอ) สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2548

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านกฎหมายของนายอภิชัยและนายชูวิทย์แล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (นายอภิชัย) มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านกฎหมายโดยตรงมากกว่าผู้ร้องสอด (นายชูวิทย์)

ส่วนข้ออ้างว่า นายอภิชัยขาดคุณสมบัติ เนื่องจากไม่ได้เข้ารับการอบรมนักบริหารระดับสูงนั้น การแต่งตั้งบุคคลให้เป็นผู้อำนายการสำนักงานกฎหมายตามโครงสร้างใหม่ ไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ต้องผ่านการอบรมนักบริหารระดับสูงมาแล้วแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน เมื่อตรวจสอบประวัติของนายชูวิทย์แล้ว ปรากฏว่าไม่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงมาก่อน เช่นเดียวกับนายอภิชัย

ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า นายอภิชัยและนายชูวิทย์ได้รับการแต่งตั้งให้ระดับ 9 พร้อมกันเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ประกอบกับในขณะนายอภิชัยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย ตามโครงสร้างเดิม ก็ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ 1 ขั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 แสดงให้เห็นว่า มีผลการปฏิบัติงานจากการประเมินในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายในระดับดีเด่น

ข้ออ้างของคุณหญิงจารุวรรณที่เห็นว่า นายชูวิทย์มีความรู้ ความสามารถ และความอาวุโส ที่เหมาะสมมากกว่าจึงมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้

ดูข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาแล้ว ทำให้ลังเลว่า ผีซ้ำด้ำพลอยหรือน้ำลดตอผุดกันแน่

มติชนออนไลน์ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Friday, August 21, 2009

ลับ ลวง แพะ ชุมชนพอเพียง ปชป.เล่นกล "การเมือง"

ลับ ลวง แพะ ชุมชนพอเพียง ปชป.เล่นกล "การเมือง"

ถามว่าการลาออกของ รองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ จากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน และประธานอนุกรรมการอำนวยการโครงการกลางคัน พร้อมหลีกทางให้ มีชัย วีระไวทยะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการและเครือข่ายองค์ความรู้ของโครงการ เจ้าของฉายา "ถุงยางมีชัย" ให้ขึ้นมานั่งแทน

เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีทุจริต "โครงการชุมชนพอเพียง" หรือไม่

มองเผินๆ ก็อาจจะใช่

"กอร์ปศักดิ์" ให้เหตุผลถึงการลุกออกจากเก้าอี้ว่า เป็นเพราะถูกการเมืองเล่นงาน หากเขายังอยู่ในตำแหน่งต่อไป ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หรือฝ่ายที่มองการเมืองต่างกันออกไป ก็จะพยายามทำทุกวิถีทางให้กระทบกระเทือนกับโครงการนี้ ซึ่งตนยอมไม่ได้

"วันนี้ผมจึงยอมเดินออกไป เพื่อผลประโยชน์ของโครงการ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของผม"

ส่วนการตรวจสอบการทุจริต เขาให้น้ำหนักกับการทำงานของกองปราบปราม รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อุตส่าห์เดินเข้าไปขอให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.ส่งทีมงานเข้ามาตรวจสอบด้วยตัวเอง

ภาพที่ออกตามสื่อ หลัง "กอร์ปศักดิ์" ทิ้งเก้าอี้ จึงดูดี มีความรับผิดชอบสูงส่งตามมาตรฐาน "ประชาธิปัตย์" แต่ใครจะรู้ว่า "หลังฉาก" มีการวางหมากไว้ 2-3 ชั้น ตามสไตล์การเล่นการเมืองของคน ปชป.ที่ไม่เคยคิดอะไรเพียง "ชั้นเดียว"

อย่าลืมว่า โครงการชุมชนพอเพียงเริ่มส่งกลิ่นตุๆ ออกมาราวต้นเดือนกรกฎาคม หลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทยเปิดเผยถึงความผิดปกติการใช้งบประมาณจัดซื้อ "ตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์" ในหลายๆ ชุมชนทั่ว กทม. ทั้งราคาแพงเกินจริง สินค้าด้อยคุณภาพ ที่สำคัญมีนักการเมืองท้องถิ่นของ "พรรคการเมืองเก่าแก่" เข้าไปชี้นำให้ซื้อสินค้าบางประเภท ในลักษณะ "ล็อคสเปค"

เวลานั้น "กอร์ปศักดิ์" ต้องออกมาชี้แจงเป็นพัลวัน ทั้งความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับ ชุมชน (สพช.) บางคน กับบางบริษัทเอกชน

รวมถึงกรณี "น้องชาย" ที่อุตส่าห์ดึงมาช่วยงาน รับเงินเดือนเพียง 4 หมื่นบาท ทั้งที่เคยเป็นทั้ง ส.ว. และ ส.ส. จากข้อกล่าวหาว่า พาญาติพี่น้องเข้ามา "กอบโกย" เพื่อ "ผลประโยชน์" ของตัวเอง เช่นเดียวกับเจ้าตัวเคยตั้งเป็นข้อหาทิ่มแทง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี สมัยยังเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อการตรวจสอบจากฝ่ายตรงข้ามเข้มข้นขึ้น รัฐบาลก็พยายามแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการทุจริตชุมชนพอเพียง ให้ เจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน

จากนั้น "กอร์ปศักดิ์" ก็มอบหมายให้ สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผอ.สพช.ไปแจ้งความต่อกองปราบปราม ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่อาวุโส สพช. 3 ราย ที่สงสัยว่าไปมีส่วนกับการทุจริต ก่อนที่เจ้าตัวเดินเข้าไปขอให้ สตง.ตรวจสอบ พร้อมแถลงข่าววางมือจากโครงการ ในที่สุด

บทที่แกนนำรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์บางคนวางเอาไว้ เกือบจะ "สมบูรณ์แบบ"

หากไม่มีคนไปแอบเห็นว่า ข้อมูลที่ไปแจ้งให้ "กองปราบฯ-สตง." เข้ามาตรวจสอบ ไม่เกี่ยวข้องกับ "ตู้น้ำโซลาร์เซลล์" หรือสินค้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ถูกตรวจสอบอย่างหนัก


และไม่เกี่ยวข้องกับ "บริษัทเอกชน" บางบริษัท ที่มี "สัมพันธ์พิเศษ" กับ "บิ๊กเบิ้ม" บางคนในรัฐบาล แม้แต่น้อย

แต่เป็นเรื่อง "โครงการจัดซื้อปุ๋ยชีวภาพ" ซึ่งสมาชิก ปชป.พยายามชี้เป้าว่า มีอดีตนายใหญ่ใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรีบางคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และกล่าวหาว่า มีการทุจริตใน 11 จังหวัดทั่วภาคเหนือและภาคอีสาน ล้วนๆ!!!

รัฐบาลแทบทุกยุคทุกสมัย มีวิธีการที่ "ง่ายที่สุด" ในการ "ตอบโต้" การตรวจสอบจากฝ่ายตรงข้าม ด้วยการ "ดิสเครดิต" ตัวผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล

ซึ่งครั้งนี้ไม่เพียงฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบางฝ่ายที่ออกมาร่วมตรวจสอบการทุจริตไป "ตามหน้าที่" แต่กลับถูกมือมืดไปปล่อยข่าวใน ปชป.ว่า

"ออกมาตีรัฐบาล เพราะเสียผลประโยชน์"

ที่ผ่านมา ความไม่ชอบมาพากลในโครงการชุมชนพอเพียงมีการร้องเรียนเข้ามากว่า 200 ชุมชน จากทั้งหมด 8.8 หมื่นชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ อนุมัติไปแล้ว 2.1 หมื่นโครงการ โอนเงินไปแล้ว 5,000 ล้านบาท เบิกจ่ายจริงราวๆ 2,000 ล้านบาท

คำถามคือ หากต้องการสร้างภาพว่าตัวเอง "สะอาด" เหตุใด "กอร์ปศักดิ์" จึงไม่ให้หน่วยงานอื่นเข้ามาสอบโครงการที่ตนถูกกล่าวหาก่อน

อย่าอ้างว่า รอผลสอบของคณะกรรม การชุด "เจริญ" ที่จะสรุปในวันที่ 21 ส.ค.นี้ เพราะใครก็รู้ว่า ฟันแค่นักการเมืองตัวเล็กๆ เท่านั้น

ไม่แตะ "ตู้น้ำ" แต่ไปไล่บี้กับ "ปุ๋ยชีวภาพ"

ไม่รู้ว่าใครบางคนคิดอะไร จึงออกมาเหน็บแนมฝ่ายที่ออกมาตรวจสอบการโกงกินภาษีประชาชน ว่า "เขียนกันสนุก"

"คุณชายสะอาด" ต้องอยู่เหนือการตรวจสอบ??

มติชนรายวัน วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11486

Wednesday, August 19, 2009

ข้อหา...ทุจริตแบบ พอเพียง ? จี้ใจ "มาร์ค" สะกดจุด "ปชป."

ข้อหา...ทุจริตแบบ พอเพียง ? จี้ใจ "มาร์ค" สะกดจุด "ปชป."

คงไม่มีวาระใดสะเทือนใจ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มากเท่าโครงการ "ชุมชนพอเพียง" ที่มีเสียงว่าลือ-อ้าง-อาจจะมีการ "ทุจริต"

เพราะเงินหลวงแม้ตกน้ำไม่ไหล- ตกไฟไม่ไหม้ เรื่องจึงบานปลาย จาก 88 โครงการ เพิ่มเป็นหลายร้อยโครงการที่อยู่ในลักษณะอาจมี "มลทิน"

แม้ "ประธาน" โครงการจะพยายามใช้ความสงบ สยบความเคลื่อนไหว แต่นับวันเรื่องราวโครงการชุมชนพอเพียง จะถูกกล่าวถึงวันละหลายเวลา หลายฝ่าย จนคึกคักโครมคราม เขย่าพรรคประชาธิปัตย์จนเสียขวัญ

"ผมเสียใจแน่นอนที่ทำให้มีปัญหากับโครงการอย่างนี้ และไม่พอใจอย่างมากที่มีคนหากินกับเรื่องแบบนี้ และจะเดินหน้าตรวจสอบ ในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีข่าวออกมาว่ายังไม่มี หลักฐาน ผมก็ได้ส่งหลักฐานให้เพิ่มแล้ว เพราะมีคนร้องมา ไม่มีการที่จะไปฟอกใครทั้งสิ้น"

เสียงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศกร้าวกึกก้องจากตึกไทยคู่ฟ้า สั่นสะเทือนไปถึงห้องทำงานของรองนายกรัฐมนตรี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และคณะที่อยู่ในระหว่างการสาง-ซ่อน เรื่องอื้อฉาวในโครงการชุมชนพอเพียง

เสียงเค้น-บีบ-บี้ ให้ผู้รับผิดชอบหน้าซื่อ-ตาใส อย่าง นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการชุมชนพอเพียง สังเวยมรสุม "ทุจริต" ที่พัดผ่านพรรคประชาธิปัตย์ราวกับพายุฤดูฝน

เพราะแกนนำคนสำคัญของ พรรคประชาธิปัตย์ ย้อนศร "กอร์ปศักดิ์" นักค้นข้อมูล "หุ้น" และนักคณิตศาสตร์ตัวยง เรื่อง "ลงทุน" ด้วยการเข้าไป "ค้น" ประวัติของ "สุมิท" เห็นประวัติแล้วต้องยอมจำนน ปล่อยให้มีการกดดันทั้งทางตรง-ทางอ้อม ผลักให้ "สุมิท" พ้นจากตำแหน่ง-ตามธรรมชาติ

นั่นอาจเป็นเพราะ ตัวตนที่แท้ของ "สุมิท แช่มประสิทธิ์" ผอ.สพช.ผู้นี้ ไม่ธรรมดา ? (อ่านประกอบ เปิดตัวตน สุมิท แช่มประสิทธิ์ (www.prachachat.net)

ปมปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน? ที่พรรคประชาธิปัตย์รังเกียจ-รำคาญ กำลังคืบคลานท้าทายกฎเหล็ก 9 ข้อของคณะรัฐมนตรีคณะที่ 59 ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว พร้อมพุ่งเข้าทำลายภาพลักษณ์เรื่องความซื่อสัตย์-สุจริต ที่ "นายกฯอภิสิทธิ์" หวงแหนและเชื่อมั่น

ประสบการณ์และคมเขี้ยวการเมือง ของพรรคเก่าแก่-อนุรักษนิยมกว่า 63 ปี ถูกลากพาให้เปลี่ยนแปลง ตามวัน-เวลา และกาละ-เงื่อนไข

คลื่นกระแสความนิยมที่เคยพุ่งสูงสุด เมื่อคราวประกาศ ?กฎเหล็ก 9 ข้อ? ถูกปรับลดระดับ ลดความน่าเชื่อถือ แทบตกจากบัลลังก์อำนาจ เพราะเรื่องทุจริตร้อนในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยเหตุแห่งปลากระป๋องเน่าที่ติดฉลาก พาดพิง-พัวพัน ถึงตัว นายวิฑูรย์ นามบุตร อดีตรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจนต้องปล่อยเก้าอี้ร้อนพ้นมือ

กว่าจะออกมาแสดงสปิริตได้ทันเวลา เกือบทำให้พรรคประชาธิปัตย์เจียนอยู่-เจียนไป

ด้วยแม่ไม้การเมืองแบบประชาธิปัตย์ "อภิสิทธิ์" จึงตีลังกา ลอดหว่างขา รอดพ้นจากข้อครหา เรื่องกฎเหล็ก 9 ข้อมาได้อย่างหวุดหวิด

พ้นจากข้อครหาทุจริตไม่ทันข้ามเดือน พรรคประชาธิปัตย์ถูกลากไปร่วมวงคดี "ก่อการร้าย" ท้าทายตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ "กษิต ภิรมย์"

"อภิสิทธิ์? จึงเกือบติดกับดักแห่งกฎเหล็กอีกครั้ง ในวงล้อมแห่ง "พันธมิตร" ซึ่งเป็น "กรรม" ที่เคยร่วมก่อไว้กับมวลชน "เสื้อเหลือง" จากค่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

คำคม "ผมผิดอะไร" ย้อนรอยจนความยาม "ปลด" ให้ "กษิต" พ้นพันธนาการจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องรามือ เพราะมี "มือที่มองไม่เห็น" และ "ขาใหญ่" ในพรรค-นอกพรรค กระโดดเข้าปกป้อง

คำประกาศเป็นลายลักษณ์-อักษร ถูกถ่ายทอดทั่วประเทศผ่านสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทย" กับ "นายกฯอภิสิทธิ์"

มาตรฐานแบบ "อภิสิทธิ์-ประชาธิปัตย์" ที่ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองเหนือความรับผิดชอบตามกฎหมาย ถูกอรรถาธิบายอย่างยืดยาว

"กรณีของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องรอจนศาลพิพากษาถึงจะมีผลทางกฎหมาย ผมบอกว่าผมจะไม่รอถึงมาตรฐานตรงนั้น แต่ว่ามาตรฐานที่บอกว่าถ้าเป็นกรณีที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ตำรวจออกหมายเรียก แล้วแปลว่าไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ ผมคิดว่าก็ดูจะเกินเลยของมาตรฐานที่มีการปฏิบัติโดยทั่วไป

จึงเกิด คำนินทา-พงศาวดารกระซิบ ทั้งในวงใน-วงนอก กลุ่ม-ก๊ก ในพรรคร่วมรัฐบาล ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามพวกพันธมิตร ออกโรงแฉเรื่องราว กดดัน "รัฐมนตรีเสื้อเหลือง"

คำตอบ-คำอธิบายจากปาก "อภิสิทธิ์" ถูกตั้งคำถามเรื่องวาจาสิทธิ์-กฎเหล็กอย่างหนัก-หนาหู แต่เรื่องราวทั้งหมดก็ถูกลบเลือนหายไปพร้อมกับกระแส-ประเด็นร้อน-ข่าวร้าย เรื่องใหม่ ที่ถูกทยอยขุดค้นมาเปิดโปง

พฤติกรรมการเมืองแบบ "ประชาธิปัตย์" ถูกนักรัฐศาสตร์ การเมือง นำไปวิเคราะห์เฉพาะหน้าว่า ปัญหานี้แม้จะเป็นการทุจริตเชิงปฏิบัติการ ไม่ใช่การทุจริตเชิงนโยบายโจ๋งครึ่มเหมือนสมัยรัฐบาล "ทักษิณ" แต่ถ้านายกฯอภิสิทธิ์ไม่สะสางปัญหานี้อย่างจริงจัง อาจส่งผลต่อพรรคประชาธิปัตย์และตัวนายกฯอภิสิทธิ์ในระยะยาวก็เป็นได้

เพราะสังคมการเมืองไม่มีใครเคยลืมว่าในปี 2538 สมัยที่ นายชวน หลีกภัย นักการเมืองที่ "ใจซื่อ-มือสะอาด-ปราศจากทุจริต" ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะปมปัญหาแห่งคดีทุจริตและการตีความการแจก "ที่ดิน" ส.ป.ก.4-01 ว่าเป็นเหมือน "ทุนการศึกษา" ที่บังเอิญคนรวย-ก็มีสิทธิ

พรรคประชาธิปัตย์มักมีดวงชะตาได้รับอุบัติเหตุทางการเมือง ต้องเข้าไปสุ่ม-เสี่ยงกับการ "ทุจริต" และมีอันเป็นไปด้วยเหตุทางการเมืองจนต้องล้มหายตายจากฝ่ายรัฐบาล ตกไปเป็น "ฝ่ายค้าน" นานนับ 8 ปี เพราะปฐมเหตุแห่งนโยบาย "หวังดี" แต่มี ผล "ร้าย" ในทางปฏิบัติ

คราวเหตุ ส.ป.ก.4-01 "นายชวน" และคณะ ไม่สามารถถอดสลัก "นายหัว" คนใกล้ชิด "อัญชลี เทพบุตร" ให้พ้นจากปมเงื่อนผลประโยชน์ทับซ้อนได้ รัฐบาลจึงล้มลงอย่างไม่เป็นท่า

ชื่อ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ในฐานะ "ผู้จัดการรัฐบาล" เคยถูกตรา-เป็น "บาป" ติดตัวพรรคประชาธิปัตย์อย่างยาวนาน

เมื่อเกิดเหตุ "ทุจริต" ในโครงการอันเป็นมงคล ที่ชุมชนพอเพียง ชื่อ "กอร์ปศักดิ์" เพื่อนรัก-คนใกล้ชิด "อภิสิทธิ์" ยังไม่ถูกเขี่ยพ้นปมปัญหา และยังพัวพันไปถึง "สุมิท-คอนเน็กชั่น" ที่เหนือชั้นไม่ธรรมดายิ่งทำให้โครงการ "พอเพียง" มัวหมอง

ไม่แน่ว่า ประสบการณ์แห่งพงศาวดารอุบัติเหตุทางการเมืองในอดีต อาจยังคง ตามหลอนพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป จนกว่าเงื่อนปมแห่ง "ผลประโยชน์ทับซ้อน"จะถูกสะสาง

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4132