Sunday, March 29, 2009

สุเทพ เทือกสุบรรณ โอน "ศรีสุบรรณฟาร์ม" ให้ลูก 11 ปีทรัพย์สินวูบ 100 ล้าน

สุเทพ เทือกสุบรรณ โอน "ศรีสุบรรณฟาร์ม" ให้ลูก 11 ปีทรัพย์สินวูบ 100 ล้าน

คอลัมน์ แกะขุมทรัพย์รัฐมนตรี

เชื่อหรือไม่ ทรัพย์สินของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้จัดการรัฐบาล ลดลงกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงเวลา 11 ปี

ก่อนหน้านี้วันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 นายสุเทพแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า มีทรัพย์สิน 200,548,883 บาท หนี้สิน 89,878,080 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 110,706,803 บาท ขณะที่บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 3 คน นายแทน เทือกสุบรรณ อายุ 17 ปี นางสาวน้ำตาล เทือกสุบรรณ อายุ 15 ปี และเด็กหญิง น้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ อายุ 14 ปี มีทรัพย์สิน 82,629,857 บาท

อีก 4 ปีต่อมาตอนพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคม วันที่ 18 พฤศจิกายน 2544 แจ้งว่า มีทรัพย์สิน 166,533,498 บาท หนี้สิน 54,650,012 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 111,883,486 บาท บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 2 คน (นายแทนบรรลุนิติภาวะแล้ว) มีทรัพย์สิน 25,892,596 บาท

ตอนเป็น ส.ส.สุราษฎร์ธานี วันที่ 22 มกราคม 2551 แจ้งว่า มีทรัพย์สิน 103,159,459 บาท หนี้สิน 64,340,993 บาท รวมทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 38,818,466 บาท

ตอนรับตำแหน่งรองนายกฯ วันที่ 22 ธันวาคม 2551 แจ้งว่า มีทรัพย์สิน 98,255,536 บาท แบ่งเป็นเงินฝาก 12,829,066 บาท เงินลงทุนมูลค่า 100 บาท ที่ดิน 50 แปลง 79,451,250 บาท คอนโดมิเนียมในแขวงลาดยาว เขตบางเขน 1 ห้อง และบ้านพัก ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 2 หลัง รวมมูลค่า 5.9 ล้าน

หนี้สิน 58,332,269 บาท แบ่งเป็นเงินเบิกเกินบัญชี 2,041,320 บาท, เงินกู้ธนาคาร 49,955,635 บาท และหนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ 6,335,313 บาท เบ็ดเสร็จมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 39,923,267 บาท

หากเปรียบเทียบเฉพาะนายสุเทพเห็นได้ว่าทรัพย์สินลดลงจากปี 2540 ประมาณ 100 ล้านบาท



ถ้าเปรียบเทียบเฉพาะเงินลงทุน 2 ครั้งล่าสุด พบว่าเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 นายสุเทพแจ้งว่า มีเงินลงทุน 10 รายการ ประกอบด้วยหุ้น N-PARK จำนวน 1,000,000 หุ้น มูลค่า ณ วันแสดงบัญชี 160,000 บาท, หุ้น NFC 1,480 หุ้น มูลค่า 2,012 บาท, หุ้น NSM 2,500,000 หุ้น มูลค่า 525,000 บาท, บริษัท นิวพีเรียลโฮเต็ล 1,000 หุ้น 10,000 บาท, บริษัท เอสทีเอกรุ๊ป จำกัด 10 หุ้น 100 บาท, บริษัท สารินพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด 665,239 หุ้น มูลค่า 6,652,390 บาท, ธนาคารเอเชีย 30,000 หุ้น 300,000 บาท, บริษัทอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด 50,000 หุ้น 500,000 บาท, บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 5,000 หุ้น 50,000 บาท และบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด 50,000 หุ้น มูลค่า 5 ล้านบาท

ตอนรับตำแหน่งรองนายกฯ วันที่ 22 ธันวาคม 2551 มีเงินลงทุนหุ้นบริษัท เอส.ที.เอ.กรุ๊ป จำกัด 10 หุ้น มูลค่า 100 บาท

เห็นได้ว่าเงินลงทุนอีก 9 รายการหายไป โดยเฉพาะบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ธุรกิจฟาร์มกุ้งใน จ.สุราษฎร์ธานี ถุงเงินของนายสุเทพ

"ประชาชาติธุรกิจ" ตรวจสอบพบข้อมูลดังนี้ บริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ก่อตั้งวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 30 ล้านบาท นายสุเทพถือหุ้นใหญ่ร่วมกับบุตร 3 คน ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 200 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 73/6-7 หมู่ที่ 2 ต.พุนพิน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

ผู้ ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2550 นายสุเทพ 201,000 หุ้น มีลูก 3 คนร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย นายแทน เทือกสุบรรณ 598,334 หุ้น น.ส.น้ำตาล เทือกสุบรรณ 598,333 หุ้น น.ส.น้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ 598,333 หุ้น จากทั้งหมด 2,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท

วันที่ 29 ตุลาคม 2550 นายสุเทพลดสัดส่วนเหลือ 50,000 หุ้น อีก 151,000 หุ้น โอนให้ลูก 3 คน คนละ 50,000 หุ้น ที่เหลือ 1,000 หุ้น โอนให้นายชีวิต พรพานิช ทนายความ กระทั่งวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 นายสุเทพโอนหุ้นให้ นายแทน 16,668 หุ้น นางสาวน้ำตาลและนางสาวน้ำทิพย์คนละ 16,666 หุ้น

เท่ากับนายสุเทพไม่มีเงินลงทุนใน "ศรีสุบรรณฟาร์ม" อีกต่อไป


ขณะที่เงินลงทุนในรายการอื่นไม่พบว่าถูกโอนไปให้ใคร ?

กล่าวสำหรับบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ผลประกอบการปี 2550 มีรายได้ 562.7 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 6.5 ล้านบาท มีสินทรัพย์ 748.8 ล้านบาท หนี้สิน 516.9 ล้านบาท ในปี 2551นายสุเทพบริจาคเงินให้ประชาธิปัตย์ 8 ล้านบาท นายแทน 8.5 ล้านบาท

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4092

Thursday, March 26, 2009

"หลังบ้าน" ไพฑูรย์ แก้วทอง โอนหุ้น 3 ตลบให้ "ลูกจ้าง" ?

"หลังบ้าน" ไพฑูรย์ แก้วทอง โอนหุ้น 3 ตลบให้ "ลูกจ้าง" ?

คอลัมน์ แกะขุมทรัพย์รัฐมนตรี

นายไพฑูรย์ แก้วทอง ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนรับตำแหน่ง ส.ส.แบบสัดส่วนกลุ่ม 2 วันที่ 22 มกราคม 2551 ระบุว่า มีทรัพย์สิน 84,662,620 บาท เป็นเงินลงทุน 4 รายการ ในจำนวนนี้ได้แก่ หุ้นบริษัท วิเศษคอนกรีต จำกัด 3,000 หุ้น มูลค่า 300,000 บาท

นางอัจฉราภรณ์ แก้วทอง ภรรยา มีทรัพย์สิน 202,645,420 บาท เป็นเงินลงทุน 3 รายการ ในจำนวนนี้ได้แก่ หุ้นบริษัท ก.ตฤณพัฒน์ จำกัด 300 หุ้น มูลค่า 300,000 บาท และบริษัท นราพัฒน์-พัชรา จำกัด 1,000 หุ้น มูลค่า 100,000 บาท

นายไพฑูรย์ยื่นบัญชีต่อ ป.ป.ช. ตอนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วันที่ 22 ธันวาคม 2551 ระบุว่ามีทรัพย์สิน 72,535,166 บาท นางอัจฉราภรณ์มี 201,767,792 บาท รวม 2 คน 274,302,958 บาท

ทั้งสองคนแจ้งว่าไม่มีเงินลงทุนแต่ อย่างใด

"ประชาชาติธุรกิจ" ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 นายไพฑูรย์ได้โอนหุ้นบริษัท วิเศษคอนกรีต จำกัด ให้นางสาวพัชราภรณ์ แก้วทอง และนางสาวพัชราภรณ์โอนต่อให้นายวรากร แก้วทอง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551

ขณะเดียวกันวันที่ 17 ธันวาคม 2551 นางอัจฉราภรณ์โอนหุ้นบริษัท ก.ตฤณพัฒน์ จำกัด ไปให้นางสาวศิริพรรณ ทับงาม และวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ได้โอนหุ้นบริษัท นราพัฒน์-พัชรา จำกัด ไปให้นางสาวผ่องนรา ม่วงประเสริฐ

ทั้งนี้ บริษัท ก.ตฤณพัฒน์ จำกัด ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ผู้ถือหุ้น วันที่ 30 เมษายน 2551 นางอุมาพร แก้วทอง 200 หุ้น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ส.ส.พิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ บุตรชายนายไพฑูรย์ 200 หุ้น นายพูนทรัพย์ แก้วทอง ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร บุตรชายนายไพฑูรย์ 100 หุ้น นางสาวพัชราภรณ์ แก้วทอง บุตรสาวนายไพฑูรย์ 100 หุ้น และนางอัจฉราภรณ์ แก้วทอง 300 หุ้น (30% ของทุนจดทะเบียน)

วันที่ 17 ธันวาคม 2551 มีการ เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก นางอัจฉราภรณ์โอนหุ้นให้นางสาวศิริพรรณ ทับงาม เพียงคนเดียว ครั้งที่สอง นางอุมาพรโอนหุ้นให้นางปิยวรรณ กลัดแก้ว, นายนราพัฒน์โอนหุ้นให้ นายสุรชัย อึ่งทอง, นายพูนทรัพย์โอนหุ้นให้นางสาวสุรีย์พร ปัญญางาม และนางสาวพัชราภรณ์โอนหุ้นให้นางวิริณี แก้วทอง

หลังจากนั้นวันที่ 19 มกราคม 2552 เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นอีกครั้ง นางปิยวรรณ กลัดแก้ว ถือหุ้นใหญ่ 500 หุ้น นายจิรภัทร ขวัญคง 400 หุ้น และนายวรศักดิ์ แก้วทอง 100 หุ้น (ตูตารางประกอบ) ทั้งนางปิยวรรณและนายจิรภัทร อยู่บ้านเลขที่ 180 ถ.เทศบาลรังสรรค์ใต้ เขตจตุจักร ซึ่งเป็นบ้านของนายไพฑูรย์ แก้วทอง


บริษัท นราพัฒน์-พัชรา จำกัด ทำร้านอาหาร ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ทุนจดทะเบียน 500,000 บาท ผู้ถือหุ้น วันที่ 29 เมษายน 2551 นางอัจฉราภรณ์ แก้วทอง 1,000 หุ้น (20% ของทุนจดทะเบียน) นายนราพัฒน์ 1,000 หุ้น นางสาวพัชราภรณ์ 1,000 หุ้น นายพูนทรัพย์ 1,000 หุ้น นางสาวอรุณี นาคสู่สุข 980 หุ้น นายจักรพันธ์และ นางวิสาลักษณ์ นาคสู่สุข คนละ 10 หุ้น รวม 5,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท

วันที่ 26 ธันวาคม 2551 เปลี่ยนแปลง ผู้ถือหุ้น 4 คน นางอัจฉราภรณ์โอนหุ้นให้นางสาวผ่องนภา ม่วงประเสริฐ, นายนราพัฒน์โอนหุ้นให้นางข้าวทิพย์ ม่วงประเสริฐ, นางสาวพัชราภรณ์โอนหุ้นให้นางธัญวรัตน์ สนเปี่ยม และนายพูนทรัพย์โอนหุ้นให้นางสาวบุญธรรม มาสาสตร์ ส่วนผู้ถือหุ้นอีก 3 คนไม่เปลี่ยนแปลง

"ศิริพรรณ ทับงาม" ถือหุ้น 15 ล้าน

นางสาวศิริพรรณ ทับงาม ผู้ได้รับโอนหุ้นบริษัท ก.ตฤณพัฒน์ จำกัด จากนางอัจฉราภรณ์ แก้วทอง เป็นใคร ?

จากการตรวจสอบพบว่า นางสาว ศิริพรรณ อายุ 57 ปี มีสถานะโสด อยู่บ้านเลขที่ 91/546 หมู่ 2 ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี (หมู่บ้านมณีรินทร์) ทำงานอยู่ในบริษัทสระหลวงก่อสร้าง

วันที่ 23 มีนาคม 2552 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 91/546 พบว่าเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น สีส้มอิฐ ทางเข้าบ้านและทางเท้าปูด้วยกระเบื้องไม่เหมือนบ้านละแวกใกล้เคียง (ในรูป)


ผู้สื่อข่าวสอบถามคนอาศัยอยู่ในบ้าน ได้คำตอบว่า น.ส.ศิริพรรณไม่อยู่บ้าน

นอก จากนี้ยังพบว่า นางสาวศิริพรรณถือหุ้นบริษัทรับเหมา เครือข่ายนายไพฑูรย์ แก้วทอง อีก 2 บริษัท คือบริษัท ก.นราพัฒน์ จำกัด จำนวน 4,500 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท มูลค่า 4.5 ล้านบาท และบริษัท สระหลวงก่อสร้าง จำกัด 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท มูลค่า 10 ล้านบาท

ทั้ง 2 บริษัทได้รับโอนจากนางสาวพัชราภรณ์ แก้วทอง บุตรสาวนายไพฑูรย์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4091

Tuesday, March 24, 2009

"ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์" โอน 5 บริษัทก่อนนั่งเก้าอี้ รมต. 6 วัน

"ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์" โอน 5 บริษัทก่อนนั่งเก้าอี้ รมต. 6 วัน

คอลัมน์ แกะขุมทรัพย์รัฐมนตรี

มิใช่ นายมานิต นพอมรบดี เพียงคนเดียวที่โอนหุ้นให้ลูกและพี่สาว นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็โอนหุ้นให้พี่สาวเหมือนกัน

แม้ต่างกันตรงมูลค่าหุ้นก็ตาม

ทั้งนี้ นายชัยวุฒิยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนเป็น ส.ส.วันที่ 22 มกราคม 2551 ระบุว่า มีทรัพย์สิน 72,223,893 บาท นางวรวรรณคู่สมรส 9,179,602 บาท บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 705,126 บาท รวม 82,108,622 บาท ในจำนวนนี้มีเงินลงทุน 3,810,668 บาท ของคู่สมรส (พันธบัตร) 720,000 บาท รวม 4,530,668 บาท หนี้สินรวม 29,644,168 บาท

นายชัยวุฒิแจ้งว่ามีเงินลงทุน 5 ใน 10 รายการ มูลค่า 2,382,000 บาท ได้แก่

บริษัท บาร์โค้ด แอนด์ ไอดี ซิสเต็มส์ จำกัด 9,000 หุ้น มูลค่า 900,000 บาท (คิดเป็น 9% ของทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท), บริษัท ตั้งคิมเชียงพัฒนา จำกัด 300 หุ้น มูลค่า 300,000 บาท, บริษัท ฑิฆัมพรแลนด์ จำกัด 300 หุ้น มูลค่า 300,000 บาท, หจก.โรงน้ำแข็งรุ่งโรจน์รักษา 832,000 บาท, บริษัท ตาก จังหวัดพาณิชย์ จำกัด 10,000 หุ้น มูลค่า 50,000 บาท

ในการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินตอนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ วันที่ 22 ธันวาคม 2551 นายชัยวุฒิแจ้งว่ามีทรัพย์สิน 68,042,051 บาท คู่สมรส 11,965,660 บาท บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 776,203 บาท รวม 80,783,915 บาท มีเงินลงทุน 1,426,996 บาท โดยไม่ปรากฏว่ามีเงินลงทุนใน 5 บริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะที่ภริยามีเงินลงทุนจำนวนเท่าเดิม ทั้งสองคนมีหนี้สินรวม 32,056,154 บาท

จากการตรวจสอบพบว่า ก่อนได้รับ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 6 วัน นายชัยวุฒิได้โอนหุ้น 4 บริษัทมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านบาท ให้นางสาวสุกันยา บรรณวัฒน์ พี่สาว ได้แก่ บริษัท ตั้งคิมเชียงพัฒนา จำกัด บริษัท ฑิฆัมพรแลนด์ จำกัด หจก.โรงน้ำแข็งรุ่งโรจน์รักษา และบริษัท ตาก จังหวัดพาณิชย์ จำกัด

และโอนหุ้นบริษัท บาร์โค้ด แอนด์ ไอดี ซิสเต็มส์ จำกัด ให้นายจิระศักดิ์ ทัศณรงค์ เจ้าของบริษัท โค้ด ทรีไนน์ จำกัด ผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์


บริษัท ตั้งคิมเชียงพัฒนา จำกัด ก่อตั้งวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 ให้เช่าอสังหา ริมทรัพย์ ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ณ วันที่ 20 เมษายน 2551 นายชัยวุฒิถือ 300 หุ้น (คิดเป็น 10% ของทุนจดทะเบียน) นางสาวสุกันยา บรรณวัฒน์ 300 หุ้น วันที่ 16 ธันวาคม 2551 นายชัยวุฒิโอนหุ้นให้นางสาวสุกันยา (ดูตารางประกอบ)

บริษัท ฑิฆัมพรแลนด์ จำกัด ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ณ วันที่ 26 เมษายน 2551 นายชัยวุฒิถือ 300 หุ้น (คิดเป็น 10% ของทุนจดทะเบียน) นางฑิฆัมพร เลาห์รุ่งโรจน์ ถือหุ้นใหญ่ 1,700 หุ้น จากทั้งหมด 3,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ในช่วงเดือนธันวาคม 2551 นายชัยวุฒิโอนหุ้นให้นางสาวสุกันยา

หจก.โรงน้ำแข็งรุ่งโรจน์รักษา ก่อตั้ง วันที่ 11 ธันวาคม 2511 ทุนจดทะเบียน 3,550,000 บาท มีหุ้นส่วน 4 คน ได้แก่ นายชัยวุฒิ 832,000 บาท (คิดเป็น 23% ของทุนจดทะเบียน) นางฑิฆัมพร เลาห์รุ่งโรจน์ 2,401,950 บาท นางสาวจริยา เล้าพาณิยช์พัตร 105,350 บาท และนายไกรสร พัววิไล 210,700 บาท ล่าสุดนายชัยวุฒิได้โอนหุ้นส่วนให้นางสาวสุกันยา

บริษัท ตาก จังหวัดพาณิชย์ จำกัด ก่อตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน 2483 ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ทุนจดทะเบียน 700,000 บาท ณ วันที่ 29 เมษายน 2551 นายชัยวุฒิถือ 10,000 หุ้น (คิดเป็น 7.14% ของทุนจดทะเบียน) ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม 2551 นายชัยวุฒิได้โอนหุ้นให้ นางสาวสุกันยา

อาจแปลกใจว่าทำไมนายชัยวุฒิถึงต้องโอนหุ้นให้นางสาวสุกันยาพี่สาว


จากการตรวจสอบพบว่า รมช. ศึกษาธิการมีลูก 4 คน

คนโตชื่อนายชัยวรรณ บรรณวัฒน์ อายุเพียง 18 ปี อาจด้วยเหตุผลนี้จึงต้องโอนหุ้นให้พี่สาว ?

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4088

ถาวร เสนเนียม โอนหุ้นปั๊มน้ำมัน-อสังหาฯ ให้ "ลูกสาว-ทนายความ"

ถาวร เสนเนียม โอนหุ้นปั๊มน้ำมัน-อสังหาฯ ให้ "ลูกสาว-ทนายความ"

คอลัมน์ แกะขุมทรัพย์รัฐมนตรี

นายถาวร เสนเนียม แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนรับตำแหน่ง ส.ส.สงขลา วันที่ 22 มกราคม 2551 ระบุว่า มีทรัพย์สิน 85,205,489 บาท โดยมีเงินลงทุน 4 รายการ มูลค่า 1,300,212 บาท ในจำนวนนี้ 4 รายการ คือ กองทุนเปิด กรุงไทย มูลค่า 175,212 บาท, หุ้นบริษัท ถาวร หาดใหญ่ปิโตรเลี่ยม จำกัด 1,000 หุ้น มูลค่า 100,000 บาท, บริษัท ภูเงิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด 10,000 หุ้น มูลค่า 1,000,000 บาท, บริษัท พีเจ ทัวร์ จำกัด 10,000 หุ้น มูลค่า 25,000 บาท หนี้สิน 5,623,587 บาท

ขณะที่ พล.ต.หญิงจันทิมา เสนเนียม ภริยามีทรัพย์สิน 26,625,759 บาท เงินลงทุน 9 รายการ มูลค่า 816,413 บาท ในจำนวนนี้ 1 รายการคือหุ้นบริษัท พีเจ ทัวร์ จำกัด 10,000 หุ้น มูลค่า 25,000 บาท ไม่มีหนี้สิน

ทั้งนี้ บริษัท ถาวร หาดใหญ่ปิโตรเลี่ยม จำกัด ประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน อยู่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท แบ่งเป็น 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท

บริษัท ภูเงิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ประกอบธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรอยู่ใน อ.เมือง จ.กระบี่ ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท แบ่งเป็น 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีนายชัยยันต์ ภิญโญธรรมโนทัย น.ส.ปะราลี ชูดวง และนายสัญญา จันทรัตน์ เป็นกรรมการ

ส่วนบริษัท พีเจ ทัวร์ จำกัด ตัวแทนขายตั๋วเครื่องบินอยู่ใน อ.เมือง จ.กระบี่ ทุนจดทะเบียนล่าสุด 1 ล้านบาท แบ่งเป็น 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ตอนรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย วันที่ 22 ธันวาคม 2551 นายถาวรมีทรัพย์สิน 81,316,823 บาท โดยมีเงินลงทุนกองทุนกรุงไทยตราสารหนี้ 193,961 บาท หนี้สิน 3,426,869 บาท

ขณะที่ พล.ต.หญิงจันทิมา มีทรัพย์สิน 27,687,218 บาท มีเงินลงทุน 786,203 บาท ไม่มีหนี้สิน และไม่มีหุ้นบริษัท พีเจ ทัวร์ จำกัดแต่อย่างใด

หากเปรียบเทียบการยื่นบัญชีทั้ง 2 ครั้งเห็นได้ว่าเงินลงทุนเปลี่ยนแปลงลดลง 1,136,461 บาท

ถามว่าหายไปไหน ?



จากการตรวจสอบพบว่า วันที่ 1 ธันวาคม 2551 นายถาวรได้โอนหุ้นบริษัท ถาวร หาดใหญ่ปิโตรเลี่ยม จำกัด ให้นางสาวณัฐกาญจน์ เสนเนียม บุตรสาว คนที่ 2, วันที่ 18 ธันวาคม 2551 โอนหุ้นบริษัท พีเจ ทัวร์ จำกัด ให้นางสาวพิมพ์จันทร์ เสนเนียม บุตรสาวคนโต และวันที่ 18 ธันวาคม 2551 โอนหุ้นบริษัท ภูเงิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ให้นายสัญญา จันทรัตน์

ณ วันที่ 30 เมษายน 2551 ผู้ถือหุ้นบริษัท ถาวร หาดใหญ่ปิโตรเลี่ยม จำกัด นายถาวร 1,000 หุ้น (คิดเป็น 5% ของทุนจดทะเบียน) นางสาวณัฐกาญจน์ เสนเนียม 11,000 หุ้น ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2551 นางสาวณัฐกาญจน์ถือหุ้น 12,00 หุ้น


บริษัท ภูเงิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2551 นายถาวร เสนเนียม 10,000 หุ้น (คิดเป็น 50% ของทุนจดทะเบียน) นางสาวปะราลี ชูดวง 9,000 หุ้น ผู้ถือหุ้นคนอื่น 5 คน คนละ 200 หุ้น, ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2551 นายสัญญา จันทรัตน์ ถือหุ้นใหญ่ 10,000 หุ้น นางสาวปะราลี ชูดวง 4,000 หุ้น นางสาวปวีณา ชูดวง และนางสาวปริยฉัตร ชูดวง คนละ 3,000 หุ้น

บริษัท พีเจ ทัวร์ จำกัด ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2551 นายถาวร 10,000 หุ้น (คิดเป็น 10% ของทุนจดทะเบียน) พล.ต.หญิงจันทิมา 10,000 หุ้น ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2551 นางสาว พิมพ์จันทร์ถือหุ้นใหญ่ 69,990 หุ้น นางสาวชกานาฎ จันทรวงศ์ 10,000 หุ้น นางสาวณัฐกาญจน์ เสนเนียม 10,000 หุ้น นายสิทธินนท์ เสนเนียม 10,000 หุ้น นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว 100 หุ้น

นายสัญญา จันทรัตน์ ผู้ถือหุ้นบริษัท ภูเงิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในเอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นระบุว่า มีอาชีพทนายความ ส่วนนางสาวปะราลี ชูดวง จากการตรวจสอบพบว่า ถือหุ้นบริษัท อี.ซี แลนด์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ และบริษัท กระบี่ เจ เอส พี คอนสตรัคชั่น จำกัด ใน จ.กระบี่


ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4089

"มานิต" โยกหุ้น 3 ตลบ 122 ล้านให้ "ลูก-พี่สาว"

"มานิต" โยกหุ้น 3 ตลบ 122 ล้านให้ "ลูก-พี่สาว"

คอลัมน์ แกะขุมทรัพย์รัฐมนตรี

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทรัพย์สินลดลงถึง 122.9 ล้านบาท ในช่วงเวลาแค่ 11 เดือน


เงินจำนวนดังกล่าวหายไปไหน ?

"ประชาชาติธุรกิจ" ตรวจสอบข้อมูล ดังนี้

ตอน เป็น ส.ส.วันที่ 22 มกราคม 2551 นายมานิตยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่ามี 312,624,737 บาท นางกอบกุล ภริยา (เสียชีวิตแล้ว) 62,963,111 บาท บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 2 คน 47,761,812 บาท รวม 423,349,660 บาท หนี้สิน 44,174,975 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุน 6 บริษัท มูลค่า 125,491,140 บาท แบ่งเป็นของนายมานิต 71,937,440 บาท นางกอบกุล 7,729,900 บาท บุตร 45,823,800 บาท ได้แก่

1.หจก.ท่าราบก่อสร้าง นายมานิตถือหุ้น 36 ล้าน ลูก 2 คน คือ นายมานะ นพอมรบดี (ขณะอายุ 19 ปี) 21 ล้าน และ ด.ญ.กรณิศ นพอมรบดี (ขณะอายุ 14 ปี) 21 ล้าน

2.บริษัท มาลัยดอกรัก จำกัด นายมานิต ถือ 100 หุ้น มูลค่า 100,000 บาท นางกอบกุล นพอมรบดี คู่สมรส (เสียชีวิตแล้ว) 600 หุ้น มูลค่า 6 แสนบาท

3.บริษัท เอ็ม.เค.อาร์ มอเตอร์ จำกัด นายมานิต ถือ 169,100 หุ้น มูลค่า 16,910,000 บาท นายมานะ 10,000 หุ้น มูลค่า 1,000,000 บาท ด.ญ.กรณิศ 10,000 หุ้น มูลค่า 1,000,000 บาท

4.บริษัท ส.กอบชัยการช่าง จำกัด นายมานิต ถือ 5,100 หุ้น มูลค่า 5,100,000 บาท นางกอบกุล 6,000 หุ้น มูลค่า 6,000,000 บาท โดยนายสุทธิชัย ธรรมประมวล ถือหุ้นใหญ่ 55% นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ 5% นายเกชา ศักดิ์สมบุญ ส.ว.ราชบุรี 2%

5.บริษัท เพชรเมืองราช จำกัด นายมานิต ถือ 11,199 หุ้น มูลค่า 1,119,900 บาท นางกอบกุล 11,199 หุ้น มูลค่า 1,119,900 บาท นายมานะ 9,119 หุ้น มูลค่า 911,900 บาท และ ด.ญ.กรณิศ 9,119 หุ้น มูลค่า 911,900 บาท

6.ถือหุ้นร่วมกับกลุ่มนายประวิช รัตนเพียร ในบริษัท ริช เรสซิเดนท์ จำกัด 1,200 หุ้น มูลค่า 120,000 หุ้น (เลิกกิจการแล้ว)

ล่าสุดยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนเป็นรัฐมนตรีวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ระบุว่ามี 300,358,971 บาท แบ่งเป็นของนายมานิต 243,587,895 บาท นางกอบกุล 53,833,211 บาท บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 2,937,865 บาท หนี้สิน 44,373,907 บาท เป็นเงินลงทุนของนายมานิต 2,596,781 บาท ส่วนภริยาและบุตรไม่มีเงินลงทุน

เปรียบเทียบ 2 ครั้งทรัพย์สินลดลง 122,990,689 บาท เป็นเงินลงทุนลดลง 122,894,359 บาท

จากการตรวจสอบพบว่า ก่อนและหลังเป็นรัฐมนตรีนายมานิตและภริยาได้โอนหุ้นให้นางสาวกุลวลี นพอมรบดี บุตรสาว คนโต และนางสาวพวงทอง คุณาชีวะ พี่สาว 5 บริษัท

1.หจก.ท่าราบก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง ก่อตั้งวันที่ 27 เมษายน 2530 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 48 หมู่ที่ 5 ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี ระหว่างปี 2549-2551 มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ถือหุ้นหลายครั้ง

ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 นายมานิตมีเงินลงทุน 36 ล้านบาท นางสาว กุลวลี 21 ล้านบาท นายมานะ 21 ล้านบาท ด.ญ.กรณิศ (ขณะนั้น) 21 ล้านบาท และนายเล็ก ศักดิ์สมบูรณ์ 1 ล้านบาท

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 นายมานิตโอนเงินลงทุนให้นางสาวกุลวดี 35 ล้านบาท และนางพวงทอง คุณาชีวะ 1 ล้านบาท, วันที่ 18 ธันวาคม 2551 (ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรี 4 วัน) นายมานะและ ด.ญ.กรณิศโอนเงินลงทุนให้นางสาวกุลวลี ทำให้นางสาวกุลวลีกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 98 ล้านบาท กระทั่งวันที่ 23 ธันวาคม 2551 นางสาวกุลวลีได้โอนหุ้นให้นางพวงทองทั้งหมด (ดูตารางประกอบ)

2.บริษัท มาลัยดอกรัก จำกัด ประกอบธุรกิจขนส่ง ก่อตั้งวันที่ 29 กันยายน 2532 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แบ่งเป็น 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 นางกอบกุลโอนหุ้น 600 หุ้นให้นางสาวกุลวลี ส่วนนายมานิตโอนหุ้นไปให้นางพวงทอง 100 หุ้น

3.บริษัท เอ็ม.เค.อาร์ มอเตอร์ จำกัด รับเหมาก่อสร้างและให้เช่ารถยนต์ ก่อตั้งวันที่ 4 ธันวาคม 2539 ทุน 20 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 แสนหุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ณ วันที่ 30 เมษายน 2551 นายมานิต ถือหุ้น 169,100 หุ้น นางสาวกุลวลี 10,000 หุ้น นายมานะ 10,000 หุ้น ด.ญ.กรณิศ 10,000 หุ้น นายยรรยง นพอมรบดี 200 หุ้น นายคมกริช ศักดิ์สมบูรณ์ 200 หุ้น นางน้ำเงิน ศักดิ์สมบูรณ์ 500 หุ้น, วันที่ 26 พฤศจิกายน นายมานิตโอนหุ้นไปให้นางสาวกุลวลี 168,100 หุ้น และโอนให้นางพวงทอง คุณาชีวะ 1,000 หุ้น, วันที่ 19 ธันวาคม 2551 นายมานะและ ด.ญ.กรณิศได้โอนหุ้นให้พี่สาว (ดูตารางประกอบ)

4.บริษัท ส.กอบชัยการช่าง จำกัด รับเหมาก่อสร้างถนน ก่อตั้งวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ทุน 30 ล้านบาท แบ่งเป็น 30,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 นางกอบกุลและ นายมานิตได้โอนหุ้นรวม 11,000 หุ้นไปให้นางสาวกุลวลี

5.บริษัท เพชรเมืองราช จำกัด ตลาดสดขายส่งผัก ผลไม้ ก่อตั้งวันที่ 13 ตุลาคม 2548 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท แบ่งเป็น 50,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ณ วันที่ 30 เมษายน 2551 นางกอบกุล นายมานิต คนละ 11,199 หุ้น นางสาวกุลวลี นายมานะ และ ด.ญ.กรณิศ คนละ 9,119 หุ้น นายยรรยง นพอมรบดี 240 หุ้น ที่เหลือ 5 คน คนละ 1 หุ้น, วันที่ 9 ตุลาคม 2551 นางกอบกุลโอนหุ้นให้นางสาวกุลวดี ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นไม่เปลี่ยนแปลง, วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 นายมานิตโอนหุ้นให้นางสาวกุลวลี 9,682 หุ้น และโอนให้นางพวงทอง คุณาชีวะ 1,517 หุ้น ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นไม่เปลี่ยนแปลง, วันที่ 18 ธันวาคม 2551 นายมานะ และ ด.ญ.กรณิศได้โอนหุ้นให้นางสาวกุลวลีพี่สาวทั้งหมด ทำให้นางสาวกุลวลีผู้ถือหุ้นใหญ่ 48,238 หุ้น ขณะที่ นางพวงทอง คุณาชีวะ ถือ 1,517 หุ้น นายยรรยง นพอมรบดี 240 หุ้น

เบ็ดเสร็จนางพวงทองถือ หุ้น 5 บริษัท มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท ขณะที่นางสาวกุลวดีได้รับการโอนหุ้นจาก พ่อ แม่ น้องชาย และน้องสาว อีกหลาย สิบล้านบาท


หากการโอนหุ้นครั้งนี้ "ขายขาด" คำถามคือ ชำระเงินกันอย่างไร ?

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4087

"พรทิวา นาคาศัย" เงินฝากหาย 27 ล้าน โยกหุ้น "อสังหาฯ-โพไซดอน" ให้แม่

"พรทิวา นาคาศัย" เงินฝากหาย 27 ล้าน โยกหุ้น "อสังหาฯ-โพไซดอน" ให้แม่

คอลัมน์ แกะขุมทรัพย์รัฐมนตรี

ในการยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนเป็น ส.ส.ชัยนาท วันที่ 22 มกราคม 2551 นางพรทิวา นาคาศัย ระบุว่ามีทรัพย์สิน 144,272,421 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุน 8 รายการ มูลค่า 8,735,902 บาท

3 รายการเป็นหุ้นของธุรกิจครอบครัว ได้แก่ บริษัท เอ.พี.คอนส์ จำกัด 23,916 หุ้น มูลค่า 2,391,600 บาท บริษัท ณิชาบูล จำกัด 20,000 หุ้น มูลค่า 2,000,000 บาท และบริษัท รัชดา เรียลเอสเตท จำกัด 3,333 หุ้น มูลค่า 333,333 บาท รวมมูลค่า 4,724,933 บาท

อีก 5 รายการ ได้แก่ บริษัท หลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด มูลค่า 3.9 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550), บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด 23,000 บาท, กองทุนเปิดรวงข้าว 3 มูลค่า 10,000 บาท, กองทุนเปิดรวงข้าว 4 มูลค่า 20,000 บาท, กองทุนเปิดรวงข้าวทวีผล มูลค่า 10,000 บาท

นายอนุชามีทรัพย์สิน 6,581,360 บาท เป็นเงินลงทุน 2 บริษัท มูลค่า 4,392,000 บาท ได้แก่ บริษัท เอ.พี.คอนส์ จำกัด 23,920 หุ้น มูลค่า 2,392,000 บาท และบริษัท ณิชาบูล จำกัด 20,000 หุ้น มูลค่า 2,000,000 บาท บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 2 คน มีเงินฝาก 225,908 บาท

รวม 4 คน 151,079,689 บาท หนี้สิน 953,783 บาท (เฉพาะนางพรทิวา) เบ็ดเสร็จมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 150,125,906 บาท

ต่อมาในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตอนรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 22 ธันวาคม 2551 นางพรทิวาแจ้งว่ามี ทรัพย์สิน 97,391,907 บาท มีเงินลงทุนหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด 200 หุ้น มูลค่า 2,000 บาท และบริษัทหลักทรัพย์นครหลวงไทย จำกัด 500 หุ้น ไม่มีมูลค่า

ขณะที่นายอนุชามีทรัพย์สิน 2,188,058 บาท ไม่มีเงินลงทุน

บุตรไม่บรรลุนิติภาวะมีเงินฝาก 228,856 บาท

รวมทรัพย์สิน 99,808,822 บาท หนี้สิน 3,387,464 บาท (เฉพาะนางพรทิวา) แบ่งเป็นเงินเบิกเกินบัญชี และบัตรเครดิต 2,085,296 บาท หนี้เช่าซื้อรถยนต์ 1,302,168 บาท

เบ็ดเสร็จมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 96,421,358 บาท

เท่ากับในช่วงเวลา 11 เดือนหลังเป็น ส.ส.ทรัพย์สินของนางพรทิวาและสามีลดลง 51,270,867 บาท โดยเฉพาะเงินลงทุนรวม 13.1 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหุ้นของ นางพรทิวา 3 บริษัท จำนวน 47,249 หุ้น มูลค่า 4,724,933 บาท และหุ้นของ นายอนุชา 2 บริษัท จำนวน 43,920 หุ้น มูลค่า 4,392,000 บาท รวมมูลค่า 9,116,933 บาท หายไปด้วย ?

คำถามก็คือ นางพรทิวาโอนหุ้นไปให้ใคร ?

จากการตรวจสอบพบข้อมูลดังนี้

บริษัท เอ.พี.คอนส์ จำกัด ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก่อตั้งวันที่ 16 สิงหาคม 2536 มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แบ่งเป็น 100,000 หุ้น มูลค่า หุ้นละ 100 บาท นางพรทิวาถือ 23,916 หุ้น นายอนุชา 23,920 หุ้น (จำนวนหุ้นของทั้งสองคนคิดเป็นคนละ 23% ของทุนจดทะเบียน)

บริษัท ณิชาบูล จำกัด ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งวันที่ 28 ธันวาคม 2537 มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แบ่งเป็น 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ผู้ถือหุ้น ณ วันก่อตั้ง นางบุญเรือน ศักดิ์ศิริเวทย์กุล 10,000 หุ้น นางพรทิวา 20,000 หุ้น นายอนุชา 20,000 หุ้น (จำนวนหุ้นของทั้งสองคนคิดเป็นคนละ 20% ของทุนจดทะเบียน) นางบุญเรือน ศักดิ์ศิริเวทย์กุล นายสุรินทร์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล นายสุชัย ศักดิ์ศิริเวทย์กุล นายอินทัศ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล นายจรศักดิ์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล คนละ 10,000 หุ้น และนางพรทิพย์ ยงรัตนมงคล 10,000 หุ้น

บริษัท รัชดาเรียลเอสเตท จำกัด ประกอบธุรกิจสถานบริการ "โพไซดอน" ที่ตั้งเลขที่ 211/1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท แบ่งเป็น 40,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท

ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2551 จำนวน 7 คน 1.นายสุรินทร์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล 23,333 หุ้น 2.นางพรทิพย์ ยงรัตนมงคล 3,333 หุ้น 3.นางพรทิวา นาคาศัย 3,333 หุ้น (คิดเป็น 8% ของทุน จดทะเบียน) 4.นางสาวยุพดี รอดกลิ่น 1 หุ้น 5.นางบุญเรือน ศักดิ์ศิริเวทย์กุล 6,666 หุ้น 6.นายประทวน ปรีเปรม 1 หุ้น และ 7.นายสุชัย ศักดิ์ศิริเวทย์กุล 3,333 หุ้น

ล่าสุดวันที่ 20 ธันวาคม 2551 (ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 2 วัน) นางพรทิวาได้โอนหุ้นบริษัท เอ.พี.คอนส์ จำกัด บริษัท ณิชาบูล จำกัด และบริษัท รัชดาเรียลเอสเตท จำกัด ไปให้ นางบุญเรือน ศักดิ์ศิริเวทย์กุล ส่วนนายอนุชาโอนหุ้น 2 บริษัท ไปให้ นางบุญเรือน ศักดิ์ศิริเวทย์กุล เช่นเดียวกัน (ดูตารางประกอบ)

ทั้งนี้ นางบุญเรือนเป็นแม่ของนางพรทิวา

ดังนั้น รมว.พาณิชย์และสามีจึงไม่มีเงินลงทุนใน 3 บริษัทดังกล่าวอีกต่อไป


กระนั้น น่าสังเกตว่า ตอนรับตำแหน่ง ส.ส.นางพรทิวาแจ้ง ป.ป.ช.ว่ามีเงินสด 800,000 บาท เงินฝาก 30,820,219 บาท นายอนุชามีเงินสด 500,000 บาท เงินฝาก 39,360 บาท

ตอนรับตำแหน่งรัฐมนตรี นางพรทิวาแจ้งว่า เงินสดเท่าเดิม เงินฝากเหลือเพียง 3,613,608 บาท ลดลง 27,206,611 บาท นายอนุชาเงินสดเท่าเดิม เงินฝาก 38,058 บาท ลดลง 1,302 บาท

ทั้งสองคนไม่มีเงินให้กู้ยืม

คำถามก็คือ การโอนหุ้นให้นางบุญเรือนเป็นการยกให้ฟรีหรือขายขาด

ถ้า "ขาย" ชำระเงินกันอย่างไร ?

ประการสำคัญ ทำไมในช่วงแค่ 11 เดือน เงินฝากของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จึงลดลงเกือบ 30 ล้าน ?

นางพรทิวาน่าจะตอบทุกคำถามได้

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4086

เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ปริศนา ! โอนหุ้นโรงแรมให้แม่ 20 ล้าน

เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ปริศนา ! โอนหุ้นโรงแรมให้แม่ 20 ล้าน

คอลัมน์ แกะขุมทรัพย์รัฐมนตรี

คนถัดมาที่โอนหุ้นให้เครือญาติก่อนนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเพียง 3 วัน คือ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคชาติไทยพัฒนา

นายเกื้อกูลเป็นเจ้าของโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ ที่ตั้งเลขที่ 27/2 หมู่ที่ 11 ถนนโรจนะ ต.กะมัง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

พ่อชื่อ "ศักดิ์" แม่ชื่อ "พัชรี" ภรรยาชื่อนางนลินี ด่านชัยวิจิตร ไม่มีบุตร

นายเกื้อกูลยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนเป็น ส.ส.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 22 มกราคม 2551 ระบุว่ามีเงินลงทุน 10 บริษัท มูลค่า 20,219,900 บาท จากทรัพย์สินทั้งหมด 44,573,681 บาท 7 ใน 10 บริษัท ได้แก่

1.บริษัท ก.กรุงศรีเคหะการเกษตร จำกัด 10,250 หุ้น มูลค่า 1,025,000 บาท คิดเป็น 17.08% ของทุนจดทะเบียน 6 ล้านบาท

2.บริษัท ก.พัชรศักดิ์ จำกัด (โรงแรมกรุงศรีริเวอร์) 165,000 หุ้น มูลค่า 16,500,000 บาท คิดเป็น 13.7% ของทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท

3.บริษัท บางไทรพัฒนาที่ดิน จำกัด 10,000 หุ้น มูลค่า 1,000,000 บาท คิดเป็น 10.5% ของทุนจดทะเบียน 9.5 ล้านบาท

4.บริษัท กรุงศรีเรียลตี้ จำกัด 1,000 หุ้น มูลค่า 100,000 บาท คิดเป็น 0.07% ของทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท

5.บริษัท ก.พัชรศักดิ์โฮลดิ้ง จำกัด 1,000 หุ้น มูลค่า 100,000 บาท คิดเป็น 10% ของทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

6.บริษัท กรุงศรีเรสซิเดนท์ จำกัด 10,000 หุ้น มูลค่า 1,000,000 บาท คิดเป็น 10% ของทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

7.บริษัท กรุงศรีพาร์ค จำกัด 1,000 หุ้น มูลค่า 100,000 บาท คิดเป็น 10% ของทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

ขณะที่นางนลินี ด่านชัยวิจิตร ภรรยา มีเงินลงทุน 27 รายการ มูลค่า 13,202,750 บาท จากทรัพย์สิน 26,979,627 บาท

1.บริษัท กรุงศรีเคหะการ จำกัด 15,000 หุ้น มูลค่า 1,500,000 บาท คิดเป็น 15% ของทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

2.บริษัท ก.พัชรศักดิ์ จำกัด 1,000 หุ้น มูลค่า 100,000 บาท คิดเป็น 0.08% ของทุนจดทะเบียน

3.บริษัท บางไทรพัฒนาที่ดิน จำกัด 5,450 หุ้น มูลค่า 545,000 บาท คิดเป็น 5.7% ของทุน จดทะเบียน

4.บริษัท กรุงศรีเรียลตี้ จำกัด 666 หุ้น มูลค่า 66,600 บาท คิดเป็น 0.04% ของทุนจดทะเบียน

5.บริษัท ก.พัชรศักดิ์โฮลดิ้ง จำกัด 666 หุ้น มูลค่า 66,600 บาท คิดเป็น 6.6% ของทุนจดทะเบียน

6.บริษัท กรุงศรีเรสซิเดนท์ จำกัด 6,660 หุ้น มูลค่า 666,000 บาท คิดเป็น 6.6% ของทุนจดทะเบียน

7.บริษัท กรุงศรีพาร์ค จำกัด 666 หุ้น มูลค่า 66,600 บาท คิดเป็น 6.6% ของทุนจดทะเบียน

8.บริษัท พฤกษพัฒน์ จำกัด 1,448 หุ้น มูลค่า 144,800 บาท คิดเป็น 48.2% ของทุน จดทะเบียน และ

9.บริษัท เกื้อทวี จำกัด 1 หุ้น มูลค่า 100 บาท
"ประชาชาติธุรกิจ" ตรวจสอบพบว่า วันที่ 19 ธันวาคม 2551 ทั้งสองคนโอนหุ้น 7 บริษัท (บริษัทที่ทั้งสองถือหุ้นร่วมกัน 6 บริษัท) มูลค่า 19,123,200 บาท ไปให้นางพัชรี ด่านชัยวิจิตร ทั้งหมด กล่าวคือ

นายเกื้อกูลโอนหุ้น บริษัท ก.กรุงศรีเคหะการเกษตร จำกัด ให้นางพัชรี จำนวน 9,050 หุ้น มูลค่า 905,000 บาท, บริษัท ก.พัชรศักดิ์ จำกัด 141,000 หุ้น มูลค่า 14,100,000 บาท, บริษัท บางไทรพัฒนาที่ดิน จำกัด 8,100 หุ้น มูลค่า 810,000 บาท, บริษัท ก.พัชรศักดิ์โฮลดิ้ง จำกัด 800 หุ้น มูลค่า 80,000 บาท, บริษัท กรุงศรีเรสซิเดนท์ จำกัด 8,000 หุ้น มูลค่า 800,000 บาท และบริษัท กรุงศรีพาร์ค จำกัด 800 หุ้น มูลค่า 80,000 บาท

รวม 6 บริษัท 167,750 หุ้น มูลค่า 16,775,000 บาท

ขณะที่นางนลินีโอนหุ้นบริษัท กรุงศรีเคหะการ จำกัด ให้นางพัชรี 13,000 หุ้น มูลค่า 1,300,000 บาท, บริษัท บางไทรพัฒนาที่ดิน จำกัด 3,550 หุ้น มูลค่า 355,000 บาท, บริษัท ก.พัชรศักดิ์โฮลดิ้ง จำกัด 466 หุ้น มูลค่า 46,600 บาท, บริษัท กรุงศรีเรสซิเดนท์ จำกัด 6,000 หุ้น มูลค่า 600,000 บาท และบริษัท กรุงศรีพาร์ค จำกัด 466 หุ้น มูลค่า 46,600 บาท

รวม 5 บริษัท 23,482 หุ้น มูลค่า 2,348,200 บาท

ล่าสุดในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินตอนรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม วันที่ 22 ธันวาคม 2551 นายเกื้อกูลแจ้งว่ามีเงินลงทุน 9 บริษัท มูลค่า 3,300,100 บาท

ขณะที่นางนลินีมีเงินลงทุน 8 บริษัท มูลค่า 663,300 บาท

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หุ้นจำนวน 191,232 หุ้น มูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท ที่นายเกื้อกูลและนางนลินี ลูกสะใภ้ โอนให้นางพัชรี โอน "ให้แบบฟรีๆ" หรือ "ขายขาด" ?

ถ้า "ขายขาด" ทำไมทรัพย์สินของ นายเกื้อกูลตอนเป็นรัฐมนตรี จึงลดลงจากตอนแจ้งบัญชีทรัพย์สินวันที่ 22 มกราคม 2551 จำนวน 3,701,463 บาท

ถ้ายกให้ฟรีๆ นายเกื้อกูลในฐานะลูกชาย คนโต ต้องเป็นลูกที่กตัญญูมากที่สุด ?

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4085

ชาติชาย พุคยาภรณ์ โอนหุ้น "ศรีปทุม" ให้ลูก 200 ล้าน ก่อนนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี 3 วัน

ชาติชาย พุคยาภรณ์ โอนหุ้น "ศรีปทุม" ให้ลูก 200 ล้าน ก่อนนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี 3 วัน

คอลัมน์ แกะขุมทรัพย์รัฐมนตรี

ก่อนจะเข้ามาเล่นการเมือง และชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย (6 ม.ค. 2544 ) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สร้างความตื่นตะลึงด้วยการโอนหุ้นธุรกิจในเครือชินคอร์ปทั้งในและนอกตลาด มูลค่าหลายพันล้านบาทให้นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย และเครือญาติใกล้ชิด

รวมทั้งโอนหุ้นอีกหลายบริษัท มูลค่าหลายพันล้านบาท ให้แม่บ้าน คนขับรถ และยาม โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ถูกครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ต่อมา พ.ต.ท. ทักษิณ ก็ต้องเผชิญกับข้อหา "ซุกหุ้น" เป็นตราประทับติดตัวมาถึงวันนี้

จากวันนั้น มิใช่แค่ อดีตนายกฯ คนที่ 23 หากแต่นักการเมืองหลายคนในยุคต่อมา ได้โอนหุ้นให้คนใกล้ชิดด้วยเหมือนกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฏเหล็กของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 269 และพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 กรณีห้ามรัฐมนตรีและคู่สมรสถือหุ้นเกิน 5%

"ประชาชาติธุรกิจ" แกะรอยการถ่ายเททรัพย์สินของรัฐมนตรีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มานำเสนอดังนี้

เริ่มจาก นายชาติชาย พุคยาภรณ์ รมว.เกษตรฯ เจ้าของมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. (22 ธันวาคม 2551) ระบุว่ามีทรัพย์สิน 491,158,386 บาท นางอลิสาคู่สมรสมี 31,664,118 บาท บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 11,070,083 บาท รวม 533,892,589 บาท หนี้สิน 15,640,068 บาท

นายชาติชายระบุว่ามีเงินลงทุน 4 รายการ มูลค่า 518,325 บาท ได้แก่กองทุนเปิดปันผลหุ้นระยะยาว JUMBO PLUS กองทุนเปิดทหารไทยโกลด์ฟัน หุ้นสามัญ บมจ.สตาร์ ซานิทารีแวร์ 100,000 หุ้น มูลค่า 100,000 บาท และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ บมจ.สตาร์ ซานิทารีแวร์ 25,000 หุ้น มูลค่า 57,500 บาท

นางอลิสามีเงินลงทุน 11 รายการ มูลค่า 11,442,968 บาท อาทิ กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง กองทุนเปิดทหารไทยธนบดี กองทุนเปิดทหารไทยพรีเมียร์ 3M7 กองทุนเปิดอยุธยาตราสารเพิ่มทรัพย์

น่าสังเกตว่าไม่มีหุ้นเครือศรีปทุมในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของนายชาติชาย

"ประชาชาติธุรกิจ" ตรวจสอบพบว่าก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 3 วัน นายชาติชายและนางอลิสา ได้โอนหุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการศึกษา จำนวน 11 บริษัท มูลค่าเกือบ 200 ล้านบาท ไปให้นายเกรียงไกร พุคยาภรณ์ บุตรชาย วัย 20 ปี ทั้งหมด ได้แก่

1.บริษัท ไทยสุริยะการเคหะและเกษตรกรรม จำกัด ประกอบธุรกิจให้เช่าอสังหาฯ ก่อตั้งวันที่ 15 พฤศจิกายน 2527 ทุน 10 ล้านบาท นายชาติชาติถือ 15,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็น 1,500,000 บาท โอนให้นายเกรียงไกร วันที่ 19 ธันวาคม 2551

2.บริษัท เอ็ม.พี.เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจสถาบันการศึกษา ก่อตั้งวันที่ 9 กันยายน 2542 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท นายชาติชายถือ 2,500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็น 250,000 บาท โอนให้นายเกรียงไกรวันที่ 19 ธันวาคม 2551

3. บริษัท ศรีปทุมการศึกษา จำกัด ก่อตั้งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ทุน 1 ล้านบาท นายชาติชายถือ 165 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท เป็น 165,000 บาท โอนให้นายเกรียงไกรวันที่ 2 ธันวาคม 2551

4.บริษัท เอส.เอ็ม.พี 1996 จำกัด ก่อตั้งวันที่ 3 ธันวาคม 2539 ทุน 320 ล้านบาท นายชาติชายถือหุ้น 2,500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็น 250,000 บาท โอนให้นายเกรียงไกรวันที่ 19 ธันวาคม 2551

5.บริษัท เอสพียู ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดิน ก่อตั้งวันที่ 6 สิงหาคม 2547 ทุน 250 ล้านบาท นายชาติชายถือ 480,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็น 48 ล้านบาท นางอลิสาถือ 20,000 หุ้น มูลค่า 2 ล้านบาท โอนให้ นายเกรียงไกรวันที่ 19 ธันวาคม 2551



6.บริษัท เอสพีที โฮลดิ้งส์ จำกัด ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดิน ก่อตั้งวันที่ 6 สิงหาคม 2547 ทุน 300 ล้านบาท นายชาติชายถือ 580,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็น 58 ล้านบาท นางอลิสาถือ 20,000 หุ้น มูลค่า 2 ล้านบาท โอนให้ นายเกรียงไกรวันที่ 19 ธันวาคม 2551



7.บริษัท เอสพีที แลนด์ จำกัด ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดิน ก่อตั้งวันที่ 17 มีนาคม 2547 ทุน 300 ล้านบาท นายชาติชายถือ 580,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็น 58 ล้านบาท นางอลิสาถือ 20,000 หุ้น มูลค่า 2 ล้านบาท โอนให้ นายเกรียงไกรวันที่ 19 ธันวาคม 2551

8.บริษัท เอสพีที พาร์ค จำกัด ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดิน ก่อตั้งวันที่ 17 มีนาคม 2547 ทุน 50 ล้านบาท นายชาติชายถือ 90,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็น 9 ล้านบาท นางอลิสาถือ 10,000 หุ้น มูลค่า 1 ล้านบาท โอนให้นายเกรียงไกรวันที่ 19 ธันวาคม 2551

9.บริษัท ไทยอโยธยาบริหารธุรกิจ จำกัด ประกอบธุรกิจสถานศึกษา ก่อตั้ง วันที่ 1 เมษายน 2539 ทุน 50 ล้านบาท นายชาติชายถือ 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10,000 บาท เป็น 10 ล้านบาท โอนให้นายเกรียงไกรวันที่ 19 ธันวาคม 2551

10.บริษัท เอ็ม.พี.ทาวน์ จำกัด ประกอบธุรกิจหอพักให้เช่า ก่อตั้งวันที่ 11 มกราคม 2536 ทุน 3 ล้านบาท นายชาติชายถือ 400 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็น 40,000 บาท โอนให้นายเกรียงไกร วันที่ 19 ธันวาคม 2551

11.บริษัท อุบลชาติ จำกัด ประกอบธุรกิจหอพักให้เช่า ก่อตั้งวันที่ 13 มิถุนายน 2538 ทุน 20 ล้านบาท นายชาติชายถือ 35,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็น 3,500,000 บาท นางอลิสาถือ 5,000 หุ้น มูลค่า 500,000 บาท โอนให้นายเกรียงไกรวันที่ 19 ธันวาคม 2551

รวมหุ้นที่นายชาติชายโอนให้นาย เกรียงไกร 11 บริษัท จำนวน 1,786,565 หุ้น มูลค่า 188,705,000 บาท นางอลิสา 5 บริษัท จำนวน 75,000 หุ้น มูลค่า 7,500,000 บาท เบ็ดเสร็จ 2 คน 196,205,000 บาท

ทำให้นายเกรียงไกรจากเด็กหนุ่มกลายเป็นเสี่ย 200 ล้านในทันที

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4084

คุณหญิงกัลยา-สามี โอนหุ้นให้ลูก-คนใกล้ชิด 400 ล้าน

คุณหญิงกัลยา-สามี โอนหุ้นให้ลูก-คนใกล้ชิด 400 ล้าน

คอลัมน์ แกะขุมทรัพย์รัฐมนตรี

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนเป็น ส.ส.วันที่ 22 มกราคม 2551 ระบุว่ามีเงินลงทุน 15 รายการ มูลค่า 24,756,471 บาท จากทรัพย์สิน 67,558,929 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุน บริษัท วัฒนโชติ จำกัด 285 หุ้น มูลค่า 285,000 บาท

ขณะที่นายโชติมีเงินลงทุน 22 รายการ มูลค่า 458,414,980 บาท จากทรัพย์สิน 554,484,248 บาท ในจำนวนนี้ บริษัท วัฒนโชติ จำกัด 328,142 หุ้น มูลค่า 328.1 ล้านบาท

ตอนเข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ วันที่ 22 ธันวาคม 2551 คุณหญิงกัลยาแจ้งว่ามีเงินลงทุน 19,484,684 บาท จากทรัพย์สินรวม 59,169,834 บาท นายโชติมีเงินลงทุน 61,591,122 บาท จากทรัพย์สินรวม 429,692,003 บาท

เมื่อเปรียบเทียบการยื่นบัญชี 2 ครั้ง เงินลงทุนลดลง 402,095,645 บาท

จากการตรวจสอบพบว่า ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเพียงไม่กี่วัน คุณหญิงกัลยาและนายโชติได้โอนไปให้บุตรสาวและคนใกล้ชิดอย่างน้อย 5 บริษัท ได้แก่

1.บริษัท วัฒนโชติ จำกัด ประกอบธุรกิจเข้าเป็นผู้ถือหุ้น ก่อตั้งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2513 ทุนจดทะเบียนล่าสุด 820 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 820,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 28 มีนาคม 2551 คุณหญิงกัลยาถือ 285 หุ้น นายโชติ โสภณพนิช สามีถือ 328,142 หุ้น

วันที่ 15 ธันวาคม 2551 คุณหญิงกัลยาได้โอนหุ้นจำนวน 285 หุ้นไปให้นางสาวสุภณา ขณะที่นายโชติลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 40,742 หุ้น อีก 287,400 หุ้นโอนไปให้บุตรสาว 3 คน คือ นางสาว สุภณา โสภณพนิช (อายุ 32 ปี) นางโชติยา อาฮูยา (อายุ 36 ปี) และนางสาวกิติยา โสภณพนิช (อายุ 29 ปี) คนละ 95,800 หุ้น (ดูตารางประกอบ)


2.บริษัท วัฒนเชิดชู จำกัด ประกอบธุรกิจลงทุนในกิจการอื่น ก่อตั้งวันที่ 22 มกราคม 2513 ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ณ วันที่ 29 เมษายน 2551 นายโชติถือ 360 หุ้น หลังจากนั้นวันที่ 15 ธันวาคม 2551 โอนไปให้นางสาวอรุวรรณ เตียวตรานนท์

3.บริษัท ศุภราชรีสอร์ท จำกัด ประกอบธุรกิจให้เช่าด้านอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งวันที่ 15 กันยายน 2548 ทุนจดทะเบียน 67.1 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 671,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ณ วันที่ 30 เมษายน 2550 นายโชติถือ 49,000 หุ้น วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 นายโชติโอนไปให้บริษัท วัฒนโชติ จำกัด ทั้งหมด

4.บริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ทุนจดทะเบียน 716 ล้านบาท แบ่งเป็น 7,160,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ณ วันที่ 27 เมษายน 2550 นายโชติถือ 1,000,000 หุ้น วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 (หลังจากคุณหญิงกัลยาเป็น ส.ส.) นายโชติโอนหุ้นให้บุตรสาว 3 คน นางสาวสุภณา โสภณพนิช นางโชติยา อาฮูยา และนางกิติยา โสภณพนิช คนละ 330,000 หุ้น และโอนให้บริษัท ซี.เอส.แคปปิตอล จำกัด 10,000 หุ้น

5.บริษัท เค.ดับบลิว ซี.คลังสินค้า จำกัด ประกอบธุรกิจให้เช่าโกดังคลังสินค้า ก่อตั้งวันที่ 13 กันยายน 2534 ทุนจดทะเบียน 5.5 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 55,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2551 นายโชติ ถือหุ้น 5,759 หุ้น นายเสถียร สิริสวัสดิ์ 1,008 หุ้น นายอังคณี วรทรัพย์ 995 หุ้น

วันที่ 19 ธันวาคม 2551 นายโชติ ลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 2,750 หุ้น อีก 3,009 หุ้น โอนไปให้นายอังคณี วรทรัพย์ อยู่บ้านเลขที่ 53 ซอยแสงเงิน ถ.สุขุมวิท 55 แขวงคลองเตย เขตพระโขนง

หากคิดเฉพาะมูลค่าหุ้นที่บุตรสาว 3 คนได้รับโอนรวมมูลค่า 386 ล้านบาท

ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

สัญญาปริศนา ! ลูกกู้ยืมเงินพ่อ

เงื่อนปมประการหนึ่งคือตอนรับตำแหน่ง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ วันที่ 22 ธันวาคม 2551 คุณหญิงกัลยาแจ้ง ป.ป.ช.ระบุว่า นายโชติสามีมีเงินให้กู้ยืมแก่บุตรสาว 3 คน คนละ 95.8 ล้านบาท รวม 287.4 ล้านบาท โดยทำหนังสือสัญญากู้เงิน 3 ฉบับ ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2551 (วันเดียวกับการโอนหุ้นบริษัท วัฒนโชติ จำกัด ให้บุตรสาว 3 คน) และระบุว่าผู้กู้เสียดอกเบี้ย 3%

เมื่อนำจำนวนเงินดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับมูลค่าหุ้นที่นายโชติโอนหุ้นบริษัท วัฒนโชติ จำกัด ให้บุตรสาว 3 คน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 คนละ 95,800 หุ้น มูลค่าคนละ 95.8 ล้านบาท รวม 287.4 ล้านบาท พบว่าเป็นตัวเลขสอดคล้องกัน

เป็นไปได้ว่า เงินกู้ยืมดังกล่าวมีที่มาจากบุตรสาวได้รับโอนหุ้นจากบิดานั่นเอง ?

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 (หลังจากคุณหญิงกัลยาได้เป็น ส.ส.) นายโชติได้โอนหุ้นบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ให้บุตรสาว 3 คน คือ นางสาวสุภณา นางโชติยา และนางกิติยา มูลค่าคนละ 33 ล้านบาท รวม 99 ล้านบาท

กรณีนี้หากกระทำในลักษณะเดียวกัน ทำไมจึงไม่ทำสัญญากู้ยืมเงิน และไม่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ?

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4090