Saturday, August 29, 2009

ผีซ้ำด้ำพลอย (น้ำลดตอผุด) ที่ สตง

ผีซ้ำด้ำพลอย (น้ำลดตอผุด?) ที่ สตง

โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

การที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการแต่งตั้งนายอภิชัย ล้อไพบูลย์ทรัพย์ จากผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานการตรวจเเงินแผ่นดิน(สตง.)ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 2 ระดับ 9 ตั้งแต่มีนาคม 2549 อาจมองได้ว่า มีลักษณะคล้ายผีซ้ำด้ำพลอย

เพราะที่ผ่านมาได้เกิดเรื่องอื้อฉาวใน สตง.อย่างต่อเนื่อง มีการร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน สตง.จำนวนมาก จนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน โดยเฉพาะกรณีการกล่าวหาว่า อมตั๋วเครื่องบินของการบินไทยไปให้ลูกสาวและน้องสาว

หนึ่งในจำนวนเรื่องที่ร้องเรียนนั้น มีกล่าวหาว่า มีการเล่นพรรคเล่นพวกในการแต่งตั้งโยกย้าย และยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง 4 คดี ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณมาแล้ว 2 คดี คือ

1. เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งน.ส.สุมิตรา เนตรสว่าง จากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน สตง.(ส่วนกลาง)ไปเป็นนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 กลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สตง.ภูมิภาคที่ 1 ตั้งแต่มีนาคม 2549 (หมายเลขแดงที่ 88/2552)

2.เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนายอภิชัย ล้อไพบูลย์ทรัพย์(หมายเลขแดงที่ 1357/2552)

ทั้งสองคดีเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คือไม่ทำตามมติคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ ซึ่งพิจารณาเสนอแต่งตั้งบุคคลทั้งสองตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ได้กำหนดไว้

แต่คุณหญิงจารุวรรณอ้างว่า บุคคลทั้งสองคุณสมบัติไม่เหมาะสม

ผลคดีถึงที่สุดจะเป็นอย่างไร กรณีมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจคือ ข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองกลางได้จากการไต่สวนและสรุปไว้ในคำพิพากษา ที่คุณหญิงจารวรรณอ้างเป็นเหตุไม่ยอมแต่งตั้งนายอภิชัยเป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ดังนี้

1.นายอภิชัยไม่เคยดำรงตำแหน่งนิติกรมาก่อน ซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมายตามโครงสร้างใหม่ ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยตรง เนื่องจากต้องรับผิดชอบงานบริหารราชการทุกด้านของสำนัก ควบคุม ตรวจสอบ กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา ตีความและวินิจฉัยข้อกฎหมายฯลฯ

2.นายอภิชัยไม่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง ของสำนักงาน ก.พ.หรือหลักสูตรที่สำนักงาน ก.พ.รับรอง ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย (ตามโครงสร้างเดิมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547) ตามมาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามคำพิพากษาสรุปว่า นายอภิชัยสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2531 และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆจนเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย (นักบริหาร 9) ตามโครงสร้างเดิมซึ่งมีหน้าที่ตรวจพิจารณาวิเคราะห์กฎหมาย และดำเนินการเกี่ยวกับคดี ตลอดจนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการให้เหมาะสม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวถึงวันที่ 9 มีนาคม 2549

ส่วนนายชูวิทย์ นุชถาวรซึ่งคุณหญิงจารุวรรณแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมายแทนนายอภิชัย (ทั้งที่คณะกรรมการไม่ได้เสนอ) สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2548

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านกฎหมายของนายอภิชัยและนายชูวิทย์แล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (นายอภิชัย) มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านกฎหมายโดยตรงมากกว่าผู้ร้องสอด (นายชูวิทย์)

ส่วนข้ออ้างว่า นายอภิชัยขาดคุณสมบัติ เนื่องจากไม่ได้เข้ารับการอบรมนักบริหารระดับสูงนั้น การแต่งตั้งบุคคลให้เป็นผู้อำนายการสำนักงานกฎหมายตามโครงสร้างใหม่ ไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ต้องผ่านการอบรมนักบริหารระดับสูงมาแล้วแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน เมื่อตรวจสอบประวัติของนายชูวิทย์แล้ว ปรากฏว่าไม่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงมาก่อน เช่นเดียวกับนายอภิชัย

ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า นายอภิชัยและนายชูวิทย์ได้รับการแต่งตั้งให้ระดับ 9 พร้อมกันเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ประกอบกับในขณะนายอภิชัยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย ตามโครงสร้างเดิม ก็ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ 1 ขั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 แสดงให้เห็นว่า มีผลการปฏิบัติงานจากการประเมินในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายในระดับดีเด่น

ข้ออ้างของคุณหญิงจารุวรรณที่เห็นว่า นายชูวิทย์มีความรู้ ความสามารถ และความอาวุโส ที่เหมาะสมมากกว่าจึงมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้

ดูข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาแล้ว ทำให้ลังเลว่า ผีซ้ำด้ำพลอยหรือน้ำลดตอผุดกันแน่

มติชนออนไลน์ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Friday, August 21, 2009

ลับ ลวง แพะ ชุมชนพอเพียง ปชป.เล่นกล "การเมือง"

ลับ ลวง แพะ ชุมชนพอเพียง ปชป.เล่นกล "การเมือง"

ถามว่าการลาออกของ รองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ จากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน และประธานอนุกรรมการอำนวยการโครงการกลางคัน พร้อมหลีกทางให้ มีชัย วีระไวทยะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการและเครือข่ายองค์ความรู้ของโครงการ เจ้าของฉายา "ถุงยางมีชัย" ให้ขึ้นมานั่งแทน

เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีทุจริต "โครงการชุมชนพอเพียง" หรือไม่

มองเผินๆ ก็อาจจะใช่

"กอร์ปศักดิ์" ให้เหตุผลถึงการลุกออกจากเก้าอี้ว่า เป็นเพราะถูกการเมืองเล่นงาน หากเขายังอยู่ในตำแหน่งต่อไป ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หรือฝ่ายที่มองการเมืองต่างกันออกไป ก็จะพยายามทำทุกวิถีทางให้กระทบกระเทือนกับโครงการนี้ ซึ่งตนยอมไม่ได้

"วันนี้ผมจึงยอมเดินออกไป เพื่อผลประโยชน์ของโครงการ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของผม"

ส่วนการตรวจสอบการทุจริต เขาให้น้ำหนักกับการทำงานของกองปราบปราม รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อุตส่าห์เดินเข้าไปขอให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.ส่งทีมงานเข้ามาตรวจสอบด้วยตัวเอง

ภาพที่ออกตามสื่อ หลัง "กอร์ปศักดิ์" ทิ้งเก้าอี้ จึงดูดี มีความรับผิดชอบสูงส่งตามมาตรฐาน "ประชาธิปัตย์" แต่ใครจะรู้ว่า "หลังฉาก" มีการวางหมากไว้ 2-3 ชั้น ตามสไตล์การเล่นการเมืองของคน ปชป.ที่ไม่เคยคิดอะไรเพียง "ชั้นเดียว"

อย่าลืมว่า โครงการชุมชนพอเพียงเริ่มส่งกลิ่นตุๆ ออกมาราวต้นเดือนกรกฎาคม หลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทยเปิดเผยถึงความผิดปกติการใช้งบประมาณจัดซื้อ "ตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์" ในหลายๆ ชุมชนทั่ว กทม. ทั้งราคาแพงเกินจริง สินค้าด้อยคุณภาพ ที่สำคัญมีนักการเมืองท้องถิ่นของ "พรรคการเมืองเก่าแก่" เข้าไปชี้นำให้ซื้อสินค้าบางประเภท ในลักษณะ "ล็อคสเปค"

เวลานั้น "กอร์ปศักดิ์" ต้องออกมาชี้แจงเป็นพัลวัน ทั้งความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับ ชุมชน (สพช.) บางคน กับบางบริษัทเอกชน

รวมถึงกรณี "น้องชาย" ที่อุตส่าห์ดึงมาช่วยงาน รับเงินเดือนเพียง 4 หมื่นบาท ทั้งที่เคยเป็นทั้ง ส.ว. และ ส.ส. จากข้อกล่าวหาว่า พาญาติพี่น้องเข้ามา "กอบโกย" เพื่อ "ผลประโยชน์" ของตัวเอง เช่นเดียวกับเจ้าตัวเคยตั้งเป็นข้อหาทิ่มแทง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี สมัยยังเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อการตรวจสอบจากฝ่ายตรงข้ามเข้มข้นขึ้น รัฐบาลก็พยายามแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการทุจริตชุมชนพอเพียง ให้ เจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน

จากนั้น "กอร์ปศักดิ์" ก็มอบหมายให้ สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผอ.สพช.ไปแจ้งความต่อกองปราบปราม ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่อาวุโส สพช. 3 ราย ที่สงสัยว่าไปมีส่วนกับการทุจริต ก่อนที่เจ้าตัวเดินเข้าไปขอให้ สตง.ตรวจสอบ พร้อมแถลงข่าววางมือจากโครงการ ในที่สุด

บทที่แกนนำรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์บางคนวางเอาไว้ เกือบจะ "สมบูรณ์แบบ"

หากไม่มีคนไปแอบเห็นว่า ข้อมูลที่ไปแจ้งให้ "กองปราบฯ-สตง." เข้ามาตรวจสอบ ไม่เกี่ยวข้องกับ "ตู้น้ำโซลาร์เซลล์" หรือสินค้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ถูกตรวจสอบอย่างหนัก


และไม่เกี่ยวข้องกับ "บริษัทเอกชน" บางบริษัท ที่มี "สัมพันธ์พิเศษ" กับ "บิ๊กเบิ้ม" บางคนในรัฐบาล แม้แต่น้อย

แต่เป็นเรื่อง "โครงการจัดซื้อปุ๋ยชีวภาพ" ซึ่งสมาชิก ปชป.พยายามชี้เป้าว่า มีอดีตนายใหญ่ใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรีบางคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และกล่าวหาว่า มีการทุจริตใน 11 จังหวัดทั่วภาคเหนือและภาคอีสาน ล้วนๆ!!!

รัฐบาลแทบทุกยุคทุกสมัย มีวิธีการที่ "ง่ายที่สุด" ในการ "ตอบโต้" การตรวจสอบจากฝ่ายตรงข้าม ด้วยการ "ดิสเครดิต" ตัวผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล

ซึ่งครั้งนี้ไม่เพียงฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบางฝ่ายที่ออกมาร่วมตรวจสอบการทุจริตไป "ตามหน้าที่" แต่กลับถูกมือมืดไปปล่อยข่าวใน ปชป.ว่า

"ออกมาตีรัฐบาล เพราะเสียผลประโยชน์"

ที่ผ่านมา ความไม่ชอบมาพากลในโครงการชุมชนพอเพียงมีการร้องเรียนเข้ามากว่า 200 ชุมชน จากทั้งหมด 8.8 หมื่นชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ อนุมัติไปแล้ว 2.1 หมื่นโครงการ โอนเงินไปแล้ว 5,000 ล้านบาท เบิกจ่ายจริงราวๆ 2,000 ล้านบาท

คำถามคือ หากต้องการสร้างภาพว่าตัวเอง "สะอาด" เหตุใด "กอร์ปศักดิ์" จึงไม่ให้หน่วยงานอื่นเข้ามาสอบโครงการที่ตนถูกกล่าวหาก่อน

อย่าอ้างว่า รอผลสอบของคณะกรรม การชุด "เจริญ" ที่จะสรุปในวันที่ 21 ส.ค.นี้ เพราะใครก็รู้ว่า ฟันแค่นักการเมืองตัวเล็กๆ เท่านั้น

ไม่แตะ "ตู้น้ำ" แต่ไปไล่บี้กับ "ปุ๋ยชีวภาพ"

ไม่รู้ว่าใครบางคนคิดอะไร จึงออกมาเหน็บแนมฝ่ายที่ออกมาตรวจสอบการโกงกินภาษีประชาชน ว่า "เขียนกันสนุก"

"คุณชายสะอาด" ต้องอยู่เหนือการตรวจสอบ??

มติชนรายวัน วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11486

Wednesday, August 19, 2009

ข้อหา...ทุจริตแบบ พอเพียง ? จี้ใจ "มาร์ค" สะกดจุด "ปชป."

ข้อหา...ทุจริตแบบ พอเพียง ? จี้ใจ "มาร์ค" สะกดจุด "ปชป."

คงไม่มีวาระใดสะเทือนใจ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มากเท่าโครงการ "ชุมชนพอเพียง" ที่มีเสียงว่าลือ-อ้าง-อาจจะมีการ "ทุจริต"

เพราะเงินหลวงแม้ตกน้ำไม่ไหล- ตกไฟไม่ไหม้ เรื่องจึงบานปลาย จาก 88 โครงการ เพิ่มเป็นหลายร้อยโครงการที่อยู่ในลักษณะอาจมี "มลทิน"

แม้ "ประธาน" โครงการจะพยายามใช้ความสงบ สยบความเคลื่อนไหว แต่นับวันเรื่องราวโครงการชุมชนพอเพียง จะถูกกล่าวถึงวันละหลายเวลา หลายฝ่าย จนคึกคักโครมคราม เขย่าพรรคประชาธิปัตย์จนเสียขวัญ

"ผมเสียใจแน่นอนที่ทำให้มีปัญหากับโครงการอย่างนี้ และไม่พอใจอย่างมากที่มีคนหากินกับเรื่องแบบนี้ และจะเดินหน้าตรวจสอบ ในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีข่าวออกมาว่ายังไม่มี หลักฐาน ผมก็ได้ส่งหลักฐานให้เพิ่มแล้ว เพราะมีคนร้องมา ไม่มีการที่จะไปฟอกใครทั้งสิ้น"

เสียงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศกร้าวกึกก้องจากตึกไทยคู่ฟ้า สั่นสะเทือนไปถึงห้องทำงานของรองนายกรัฐมนตรี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และคณะที่อยู่ในระหว่างการสาง-ซ่อน เรื่องอื้อฉาวในโครงการชุมชนพอเพียง

เสียงเค้น-บีบ-บี้ ให้ผู้รับผิดชอบหน้าซื่อ-ตาใส อย่าง นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการชุมชนพอเพียง สังเวยมรสุม "ทุจริต" ที่พัดผ่านพรรคประชาธิปัตย์ราวกับพายุฤดูฝน

เพราะแกนนำคนสำคัญของ พรรคประชาธิปัตย์ ย้อนศร "กอร์ปศักดิ์" นักค้นข้อมูล "หุ้น" และนักคณิตศาสตร์ตัวยง เรื่อง "ลงทุน" ด้วยการเข้าไป "ค้น" ประวัติของ "สุมิท" เห็นประวัติแล้วต้องยอมจำนน ปล่อยให้มีการกดดันทั้งทางตรง-ทางอ้อม ผลักให้ "สุมิท" พ้นจากตำแหน่ง-ตามธรรมชาติ

นั่นอาจเป็นเพราะ ตัวตนที่แท้ของ "สุมิท แช่มประสิทธิ์" ผอ.สพช.ผู้นี้ ไม่ธรรมดา ? (อ่านประกอบ เปิดตัวตน สุมิท แช่มประสิทธิ์ (www.prachachat.net)

ปมปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน? ที่พรรคประชาธิปัตย์รังเกียจ-รำคาญ กำลังคืบคลานท้าทายกฎเหล็ก 9 ข้อของคณะรัฐมนตรีคณะที่ 59 ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว พร้อมพุ่งเข้าทำลายภาพลักษณ์เรื่องความซื่อสัตย์-สุจริต ที่ "นายกฯอภิสิทธิ์" หวงแหนและเชื่อมั่น

ประสบการณ์และคมเขี้ยวการเมือง ของพรรคเก่าแก่-อนุรักษนิยมกว่า 63 ปี ถูกลากพาให้เปลี่ยนแปลง ตามวัน-เวลา และกาละ-เงื่อนไข

คลื่นกระแสความนิยมที่เคยพุ่งสูงสุด เมื่อคราวประกาศ ?กฎเหล็ก 9 ข้อ? ถูกปรับลดระดับ ลดความน่าเชื่อถือ แทบตกจากบัลลังก์อำนาจ เพราะเรื่องทุจริตร้อนในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยเหตุแห่งปลากระป๋องเน่าที่ติดฉลาก พาดพิง-พัวพัน ถึงตัว นายวิฑูรย์ นามบุตร อดีตรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจนต้องปล่อยเก้าอี้ร้อนพ้นมือ

กว่าจะออกมาแสดงสปิริตได้ทันเวลา เกือบทำให้พรรคประชาธิปัตย์เจียนอยู่-เจียนไป

ด้วยแม่ไม้การเมืองแบบประชาธิปัตย์ "อภิสิทธิ์" จึงตีลังกา ลอดหว่างขา รอดพ้นจากข้อครหา เรื่องกฎเหล็ก 9 ข้อมาได้อย่างหวุดหวิด

พ้นจากข้อครหาทุจริตไม่ทันข้ามเดือน พรรคประชาธิปัตย์ถูกลากไปร่วมวงคดี "ก่อการร้าย" ท้าทายตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ "กษิต ภิรมย์"

"อภิสิทธิ์? จึงเกือบติดกับดักแห่งกฎเหล็กอีกครั้ง ในวงล้อมแห่ง "พันธมิตร" ซึ่งเป็น "กรรม" ที่เคยร่วมก่อไว้กับมวลชน "เสื้อเหลือง" จากค่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

คำคม "ผมผิดอะไร" ย้อนรอยจนความยาม "ปลด" ให้ "กษิต" พ้นพันธนาการจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องรามือ เพราะมี "มือที่มองไม่เห็น" และ "ขาใหญ่" ในพรรค-นอกพรรค กระโดดเข้าปกป้อง

คำประกาศเป็นลายลักษณ์-อักษร ถูกถ่ายทอดทั่วประเทศผ่านสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทย" กับ "นายกฯอภิสิทธิ์"

มาตรฐานแบบ "อภิสิทธิ์-ประชาธิปัตย์" ที่ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองเหนือความรับผิดชอบตามกฎหมาย ถูกอรรถาธิบายอย่างยืดยาว

"กรณีของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องรอจนศาลพิพากษาถึงจะมีผลทางกฎหมาย ผมบอกว่าผมจะไม่รอถึงมาตรฐานตรงนั้น แต่ว่ามาตรฐานที่บอกว่าถ้าเป็นกรณีที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ตำรวจออกหมายเรียก แล้วแปลว่าไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ ผมคิดว่าก็ดูจะเกินเลยของมาตรฐานที่มีการปฏิบัติโดยทั่วไป

จึงเกิด คำนินทา-พงศาวดารกระซิบ ทั้งในวงใน-วงนอก กลุ่ม-ก๊ก ในพรรคร่วมรัฐบาล ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามพวกพันธมิตร ออกโรงแฉเรื่องราว กดดัน "รัฐมนตรีเสื้อเหลือง"

คำตอบ-คำอธิบายจากปาก "อภิสิทธิ์" ถูกตั้งคำถามเรื่องวาจาสิทธิ์-กฎเหล็กอย่างหนัก-หนาหู แต่เรื่องราวทั้งหมดก็ถูกลบเลือนหายไปพร้อมกับกระแส-ประเด็นร้อน-ข่าวร้าย เรื่องใหม่ ที่ถูกทยอยขุดค้นมาเปิดโปง

พฤติกรรมการเมืองแบบ "ประชาธิปัตย์" ถูกนักรัฐศาสตร์ การเมือง นำไปวิเคราะห์เฉพาะหน้าว่า ปัญหานี้แม้จะเป็นการทุจริตเชิงปฏิบัติการ ไม่ใช่การทุจริตเชิงนโยบายโจ๋งครึ่มเหมือนสมัยรัฐบาล "ทักษิณ" แต่ถ้านายกฯอภิสิทธิ์ไม่สะสางปัญหานี้อย่างจริงจัง อาจส่งผลต่อพรรคประชาธิปัตย์และตัวนายกฯอภิสิทธิ์ในระยะยาวก็เป็นได้

เพราะสังคมการเมืองไม่มีใครเคยลืมว่าในปี 2538 สมัยที่ นายชวน หลีกภัย นักการเมืองที่ "ใจซื่อ-มือสะอาด-ปราศจากทุจริต" ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะปมปัญหาแห่งคดีทุจริตและการตีความการแจก "ที่ดิน" ส.ป.ก.4-01 ว่าเป็นเหมือน "ทุนการศึกษา" ที่บังเอิญคนรวย-ก็มีสิทธิ

พรรคประชาธิปัตย์มักมีดวงชะตาได้รับอุบัติเหตุทางการเมือง ต้องเข้าไปสุ่ม-เสี่ยงกับการ "ทุจริต" และมีอันเป็นไปด้วยเหตุทางการเมืองจนต้องล้มหายตายจากฝ่ายรัฐบาล ตกไปเป็น "ฝ่ายค้าน" นานนับ 8 ปี เพราะปฐมเหตุแห่งนโยบาย "หวังดี" แต่มี ผล "ร้าย" ในทางปฏิบัติ

คราวเหตุ ส.ป.ก.4-01 "นายชวน" และคณะ ไม่สามารถถอดสลัก "นายหัว" คนใกล้ชิด "อัญชลี เทพบุตร" ให้พ้นจากปมเงื่อนผลประโยชน์ทับซ้อนได้ รัฐบาลจึงล้มลงอย่างไม่เป็นท่า

ชื่อ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ในฐานะ "ผู้จัดการรัฐบาล" เคยถูกตรา-เป็น "บาป" ติดตัวพรรคประชาธิปัตย์อย่างยาวนาน

เมื่อเกิดเหตุ "ทุจริต" ในโครงการอันเป็นมงคล ที่ชุมชนพอเพียง ชื่อ "กอร์ปศักดิ์" เพื่อนรัก-คนใกล้ชิด "อภิสิทธิ์" ยังไม่ถูกเขี่ยพ้นปมปัญหา และยังพัวพันไปถึง "สุมิท-คอนเน็กชั่น" ที่เหนือชั้นไม่ธรรมดายิ่งทำให้โครงการ "พอเพียง" มัวหมอง

ไม่แน่ว่า ประสบการณ์แห่งพงศาวดารอุบัติเหตุทางการเมืองในอดีต อาจยังคง ตามหลอนพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป จนกว่าเงื่อนปมแห่ง "ผลประโยชน์ทับซ้อน"จะถูกสะสาง

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4132

Sunday, August 16, 2009

ทุจริต พอเพียง กอร์ปศักดิ์-รัฐบาล"ติดเชื้อ" สัญญาณปรับ ครม.

ทุจริต พอเพียง กอร์ปศักดิ์-รัฐบาล"ติดเชื้อ" สัญญาณปรับ ครม.

อย่าคิดตื้นๆ ว่า หาก "สุมิท แช่มประสิทธิ์" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) แสดงความรับผิดชอบด้วยการ "ลาออก" จากตำแหน่ง จริงตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์

เรื่องทุกอย่างจะราบรื่นเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

เพราะการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เป็นเพียงแค่ "สปิริต" ไม่ใช่เกิดจากการกระทำ "ความผิด"

หากแต่โครงการชุมชนพอเพียง ได้เกิด "ผลแห่งการทุจริต" ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว

การลาออกของ "สุมิท" จะเท่ากับกลายเป็น "แรงบีบอัด" ที่ซัดเข้าใส่ "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" อย่างมากมายทวีคูณ

เพราะ "กอร์ปศักดิ์" เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่กำกับดูแลโครงการชุมชนพอเพียง

เพราะ "กอร์ปศักดิ์" เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง

เพราะ "กอร์ปศักดิ์" เป็นคณะอนุกรรมการอำนาจการโครงการชุมชนพอเพียง ที่เซ็นคำสั่งตั้ง "ตัวเอง" เลขที่ 1/2552 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552

ภาพชัดเจนว่า "อำนาจหน้าที่" ของรองนายกฯกอร์ปศักดิ์ จะทำตั้งแต่ "ภาคนโยบาย" ลงมาถึง "ภาคปฏิบัติ"

เพราะหากดูตามเอกสารลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการโครงการชุมชนพอเพียง มีการเขียนอำนาจหน้าที่ไว้หลายข้อที่สำคัญ

เป็นอำนาจหน้าที่ของ "ระดับปฏิบัติ" อาทิ

ข้อ 3 ประสานงานและกลั่นกรองและอนุมัติการจัดสรรงบประมาณ และรายงานต่อคณะกรรมการบริหารโครงการให้รับทราบ

ข้อ 4 กำกับดูแล และประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนแทนคณะกรรมการ

จริง อยู่ ในทางปฏิบัติทั้ง "กอร์ปศักดิ์" และ "สุมิท" จะพยายามเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของ สพช.หลายคน ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต

นัยหนึ่ง เพื่อกันตัวเอง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โปร่งใส ไม่มีนอกมีใน

แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้ "ภาพลักษณ์" ของทั้งหน่วยงานและตัวบุคคล ที่ถูกลาก ถูกโยง เข้ามาเกี่ยวพัน ถูกกันออกจากคำว่า "ทุจริต" ได้เลย

และยิ่งสาวลึก ยิ่งเห็นไส้ เห็นพุง

โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับ "บริษัทเอกชน" ที่รับผิดชอบนำสินค้าไปขายให้ชุมชนในลักษณะ "แพงเกินจริง"

ถามว่า คนในพรรคประชาธิปัตย์รู้จัก "ผู้บริหาร" ในบริษัทเอกชนรายดังกล่าวหรือไม่..?

คงต้องบอกว่า "รู้"

เพราะ สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน บริษัทดังกล่าวเคยถูกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.ประชาธิปัตย์นั่งเป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อบัลลาสต์ ประหยัดไฟที่แพงเกินจริงมาแล้ว

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 สมัย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็น รมว.พลังงาน มี บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นเลขานุการ รมว.พลังงาน ซึ่งเป็นโครงการที่นำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ที่มีการจัดเก็บจำนวน 4 สตางค์ต่อลิตร ที่ประชาชนเติมน้ำมันมาใช้

มูลค่าโครงการครั้งนั้นราว 1,500 ล้านบาท

แต่ปรากฏว่า โครงการดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับโครงการชุมชนพอเพียง คือ "ราคาที่แพงเกินจริง-ของไม่มีคุณภาพ"

เมื่อมีการร้องเรียนจากประชาชน กระทรวงจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเพื่อหาคนผิด

แต่สุดท้ายคนที่รับผิดชอบคือ "ข้าราชการ"

ส่วน "บริษัท" ก็ลอยตัว เพราะมี "ผู้ใหญ่" ในพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งรับหน้าที่ "เคลียร์ใจ" ในทางการเมืองกับ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ให้

ความสัมพันธ์ครั้งนั้น...ลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้

จับอาการของคนในพรรคประชาธิปัตย์ ต้องบอกว่า "หวาดหวั่น" ว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ ส.ป.ก.4-01 ที่เป็น "ตราบาป" มาจนถึงวันนี้

โดย เฉพาะ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดชัดว่าโครงการดังกล่าวได้เกิดการทุจริตขึ้นแล้ว ที่สำคัญโครงการดังกล่าวเป็นชื่อ "พระราชทาน"

พร้อมประกาศไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคประชาธิปัตย์จะปกป้องคนผิด แม้จะเป็นคนในพรรคเดียวกัน

ดูเหมือนว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์จะไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก นอกจากจะต้องหาตัวคนผิด "ตัวจริง" มาลงโทษ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ยังอาจต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย

เวลานี้เริ่มมีเสียงออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ถึงอนาคตของ "กอร์ปศักดิ์" ในตำแหน่งรองนายกฯ ดังขึ้นมาเรื่อยๆ

เป็นไปได้ว่าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจจะมาเร็วกว่าที่ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" รองนายกฯ ประกาศไว้ว่าจะไม่ปรับ ครม.จนกว่าจะสิ้นปี 2552

โดย จะอาศัยเหตุการณ์ที่รุมเร้าทางการเมืองหลายๆ เรื่อง ทั้งคดีเขาพระวิหาร ที่ ป.ป.ช.เตรียมจะสรุปในอีก 1-2 เดือนนี้ หรือคดี 44 ส.ส.ถือหุ้น เป็นโจทย์ในการปรับ ครม.ไปพร้อมๆ กันเลย

"กอร์ปศักดิ์" อาจเป็นโจทก์หนึ่ง แต่คงไม่ถึงขั้นกับ "ปรับออก" จากตำแหน่ง เพราะถ้าทำเช่นนั้น เท่ากับยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น

อาจแค่ "ปรับเปลี่ยน" ไปอยู่ในตำแหน่งอื่นเท่านั้น

มติชนรายวัน วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11482

Saturday, August 8, 2009

สอบเส้นทางทุจริต 'ชุมชนพอเพียง' จากปากคำประธานชุมชน "เทพเทวี"

สอบเส้นทางทุจริต 'ชุมชนพอเพียง' จากปากคำประธานชุมชน "เทพเทวี"

โครงการ เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) หรือโครงการชุมชนพอเพียง ที่รัฐบาลมุ่งหวังกระจายเงินสู่ชุมชน เพื่อเป็นทุนต่อยอดให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ กลายเป็นชนวนสำคัญที่สั่นคลอนสถานภาพของรัฐบาล เมื่อพรรคฝ่ายค้านตรวจสอบโครงการนี้อย่างจริงจัง โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย มีผู้เกี่ยวข้องดำเนินการเป็นขบวนการ ทั้งผู้มีอำนาจในรัฐบาล นักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล ข้าราชการ และบริษัทเอกชน

"กรุงเทพธุรกิจ" ได้ลงพื้นที่ชุมชนเทพเทวี แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่มีการร้องเรียนจากชุมชน ว่า ถูกขบวนการทุจริตในโครงการชุมชนพอเพียงเข้าไปหลอกลวง และเบียดบังงบประมาณที่ทางชุมชนควรได้ไปอย่างไม่เป็นธรรม

นางมยุรี เชิดสูงเนิน ประธานชุมชนเทพเทวี กล่าวว่า เมื่อประมาณต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีนักการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) คนหนึ่งเข้าไปบอกว่า ได้งบประมาณมาจากกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ซื้อเครื่องมือประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน โดยนำโบรชัวร์สินค้ามาให้เลือก ประกอบด้วย ตู้น้ำหยอดเหรียญ เครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ เตาเผาขยะ และเครื่องผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ พร้อมบอกว่าหากชุมชนไม่เอา งบประมาณจะถูกโยกไปให้ชุมชนอื่นแทน

"ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าเป็นงบให้ฟรี ไม่รู้ว่าเป็นงบโครงการชุมชนพอเพียง จึงไม่ได้ถามรายละเอียดอะไรเลย รวมทั้งราคาสินค้า และสุดท้ายก็ตกลงเลือกเครื่องผลิตปุ๋ยกับโซลาร์เซลล์"

ยื่นเอกสาร ศพช.ให้ชาวบ้านกรอก

นอกจากนี้ ส.ข.คนดังกล่าว ยังนำเอกสารที่ด้านบนมีอักษร ศพช. 01 ซึ่งเป็นเอกสารหนังสือรายงานการประชุมประชาคม เพื่อของบประมาณจากโครงการชุมชนพอเพียง โดยเอกสารนั้นได้มีการกำหนดเครื่องหมายกำหนดให้กรอกเพียงบางข้อเท่านั้น อาทิเช่น ชื่อชุมชน จำนวนครัวเรือนและประชากร กรรมการ 9 คน คณะผู้รับผิดชอบในการเบิกจ่ายจัดทำบัญชี เป็นต้น โดยตำแหน่งที่ให้ระบุวันที่กำหนดให้ปล่อยว่างไว้

นางมยุรี กล่าวต่อว่า ขณะนั้น ไม่ได้คิดอะไร นอกจากต้องการได้อุปกรณ์มาใช้ในชุมชน เพราะคิดว่าเป็นเงินฟรีจากรัฐบาล พร้อมทั้งพยายามล่ารายชื่อลูกบ้านมาเซ็นรับรอง โดย ส.ข.คนนั้นบอกว่าแค่ 10-20 คนก็พอ เมื่อเสร็จก็ส่งเอกสารให้ไป โดยเขาบอกว่าจะไปดำเนินการให้

ชาวบ้านเปิดบัญชีแต่ไม่ได้เงิน

หลังจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ มีคนโทรศัพท์มาบอกว่าดีใจด้วยโครงการผ่านแล้ว ให้ประธานชุมชนนำกรรมการที่เป็นเหรัญญิก และกรรมการผู้รับผิดชอบโครงการไปที่ธนาคารออมสินสาขาบางกะปิ เมื่อไปถึงก็พบ ส.ข.คนดังกล่าวรออยู่พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้กรอกเอกสาร เปิดบัญชี ซึ่งจากการสังเกตเชื่อว่าคงไม่ใช่เจ้าหน้าที่ธนาคาร เพราะแค่กำกับให้ชาวบ้านกรอกเอกสารแล้วเข้าคิวยื่นเรื่องตามปกติ

"หลังจากยื่นเอกสารครั้งแรกแล้ว ก็ออกมายืนพูดคุยกับ ส.ข.คนเดิม รออยู่ระยะหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็เอาเอกสารมาให้เซ็นอีก ซึ่งไม่ได้สังเกตว่าเป็นเอกสารอะไร จากนั้น ส.ข.ก็บอกให้กลับบ้านไปก่อนแล้วจะฝากสมุดบัญชีกับคนอื่นไปให้ ฉันก็กลับเพราะวันนั้นมีประชุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในชุมชนต่อ แต่พอได้รับสมุดบัญชีก็งง เพราะเห็นตัวเลขเงินเข้าบัญชี 5 แสนบาท แต่ก็ถูกถอนไป 5 แสนบาทเหมือนกัน เท่ากับไม่มีเงินในบัญชีแม้แต่บาทเดียว" นางมยุรี กล่าวพร้อมกับหยิบสมุดบัญชีธนาคารออมสินมาให้ผู้สื่อข่าวดู

ทั้งนี้ สมุดบัญชีดังกล่าว ระบุว่า มีเงินเข้าบัญชีในวันที่ 30/4/52 จำนวนเงิน 500,000 บาท และถอนออกในวันเดียวกัน 500,000 บาท เช่นกัน

เครื่องจักรใช้งานไม่ได้

นางมยุรี กล่าวว่า ขณะนั้น เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลแล้ว ประกอบกับมีข่าวเกิดขึ้นในภาคอีสานเกี่ยวกับการทุจริตในรูปแบบเดียวกัน จึงมีการพูดคุยเรื่องนี้ในหมู่สมาชิก แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร กระทั่งราวต้นเดือนมิถุนายน ก็มีเจ้าหน้าที่มาติดตั้งเครื่องโซลาร์เซลล์ ที่ศูนย์ชุมชน ประกอบด้วย แผงโซลาร์เซลล์ ตู้ควบคุม และแบตเตอรี่ ใช้เวลาเพียงแค่ราว 30 นาทีเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกถึงวิธีใช้ให้เลย จนถึงวันนี้ เครื่องดังกล่าวก็ไม่ได้ใช้งาน เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้

หลังจากนั้นไม่กี่วัน เครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพก็มาส่ง โดยเชื่อว่าเป็นเพียงบริษัทรับจัดส่งสินค้าเท่านั้น เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่มาชี้แจงวิธีใช้อะไร กระทั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน มีเจ้าหน้าที่บริษัทเครื่องผลิตปุ๋ยดังกล่าวมาอธิบายวิธีใช้งาน แต่กลับพบว่าไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ ส.ข. ผู้ชักจูงให้ซื้อบอกไว้ว่า สามารถผลิตปุ๋ยเป็นเม็ดได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ที่สำคัญ เครื่องดังกล่าวต้องใช้แรงงานคนหมุน แต่ปรากฏว่าเครื่องฝืดมากคนหมุนไม่ได้

นางมยุรี ได้นำผู้สื่อข่าวไปดูเครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าศูนย์ชุมชน ปรากฏว่าเป็นเครื่องจักรขนาดไม่ใหญ่นัก สูงประมาณ 1.80 ยาวประมาณ 2 เมตรกว่า มีท่อและวาล์วต่อจากตัวเครื่อง เมื่อทดลองหมุนถังหมักปรากฏว่าหนักและฝืด แม้ว่าจะไม่ได้ใส่เศษอาหารเหลือใช้ลงไป ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งอยู่บนหลังคาศูนย์ประชุม 3 แผง และมีตู้ควบคุมอยู่ภายในอาคาร สายไฟระโยงระยางไม่ได้ต่อกับอุปกรณ์ใดๆ

ตั้งข้อสังเกตเงินผ่านกระเป๋าใคร

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการของชุมชนเทพเทวี ไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ตามที่กำหนดไว้ โดยนางมยุรี อธิบายว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่มาบอกกล่าวถึงรายละเอียดโครงการ และช่วงที่ตกลงกรอกเอกสารยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นโครงการชุมชนพอเพียง นอกจากนี้ เงินที่โอนมาจากสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) ไปยังธนาคาร มีข้อสงสัยว่า บุคคลหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ถอนออก และเส้นทางเงินจากนั้นจ่ายไปยังที่ใด เพราะชุมชนหรือชาวบ้านมีแต่สมุดบัญชีที่ไม่มีตัวเงินอยู่

ก่อนหน้านี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาระบุว่า ขบวนการทุจริตดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับนักการเมืองท้องถิ่น เชื่อมโยงกับบริษัทเอกชน ที่มีความสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงใน สพช. ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล

ทั้งนี้ เส้นทางเงินที่เบิกจ่ายจาก สพช.ไปยังธนาคารยังเป็นปริศนา ว่า ใครเป็นผู้เบิกจ่าย และนำเงินออกไปจ่ายยังที่ใดบ้าง ซึ่งเส้นทางเงินนี้สามารถสาวไปถึงตัวการที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตครั้งนี้ ได้อย่างแน่นอน

.................................................

ผลสอบสพช.เจอ"ตอ"ตัวเอง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (สพช.) ตรวจสอบโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน เป็นการภายใน หลังมีปัญหาถูกชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนผ่านสื่อ กระทั่งนำมาสู่การแจ้งความกองปราบปรามร้องทุกข์ พนักงาน 3 คน เป็นลูกจ้าง 2 คน ข้าราชการ 1 คน

ผลการตรวจสอบในเบื้องต้นของ สพช.เอง ได้พบพฤติกรรมส่อทุจริตของผู้เกี่ยวข้อง แยกเป็น 2 ส่วน คือ

1.เจ้าหน้าที่ใน สพช.ที่เคยทำโครงการเอสเอ็มแอลมาก่อน รวมทั้งหมด 5 คน แต่ไม่พบว่าทั้งหมดเป็นขบวนการเดียวกัน และประเมินว่ายังไม่ถึงขั้นกระทำทุจริต แค่ "ส่อเค้า" จึงให้ทั้งหมดออกจากโครงการ และ 3 ใน 5 คนนั้น เป็นคนที่นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผอ.สพช.ได้ร้องทุกข์ ให้กองปราบเข้ามาตรวจสอบขบวนการที่ลึกลับซับซ้อนกว่านี้

2. นักการเมืองท้องถิ่น ระดับ ส.ก.และ ส.ข.ของ กทม.ที่ถูกระบุว่า อยู่ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนนี้ทางพรรค ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน แยกออกไปจาก สพช.

นอกจาก 2 ส่วนดังกล่าว การตรวจสอบก็ยังรวมไปถึงตัว "สุมิท แช่มประสิทธิ์" ที่มีข้อสงสัยถึงธุรกิจในอดีตที่ไปผูกพันกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่ถูกชาว บ้านร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งที่ประชุมบอร์ดได้ให้ นายสุมิท ชี้แจงข้อกล่าวหา และหลังจากนี้ ก็จะมีการ "ดับเบิลเช็ค" ว่าจริงอย่างที่รายงานหรือไม่

สำหรับประเด็นปัญหาที่พบเบื้องต้นมี 3 วิธีการที่ส่อทุจริต คือ

1. สวมโครงการชาวบ้าน โดยชาวบ้านส่งโครงการจริงเข้ามายังคณะกรรมการ ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ทำโครงการปลอม เตรียมไว้สวมแทน เมื่อโครงการจริงได้รับการอนุมัติตามปกติ ก็จะมีการสอดไส้เปลี่ยนโครงการของชาวบ้าน เมื่อถึงเวลาไปเบิกเงิน เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถเบิกได้ตามที่เสนอมา แต่ต้องเบิกตามโครงการปลอม ชาวบ้านจึงแจ้งกลับมาทาง สพช.

2. นักการเมืองท้องถิ่นชี้นำ โดยรู้กันกับบุคคลภายใน สพช. แล้วให้นำเสนอโครงการเข้ามา ที่พบ คือ การเสนอซื้อโคมไฟพลังงานทดแทน แต่โครงการนี้ยังไม่ได้มีการเบิกงบประมาณ

3. เขียนโครงการเหมือนกัน 11 จังหวัด โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อปุ๋ย กว่า 80 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทปุ๋ยของ ของอดีตบิ๊กทหาร ที่พบว่ามีการตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว และปุ๋ยถูกเก็บในโกดังรอไว้ แต่โครงการยังไม่ได้อนุมัติ

สำหรับความเสียหายในขณะนี้ สพช.สรุปว่า โครงการที่มีปัญหาทั้งหมดขณะนี้ คือ 66 โครงการ คือ การจัดซื้อตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับการอนุมัติ และจ่ายเงินไปแล้ว

"โครงการที่อนุมัติทั้งหมดแล้ว 3 หมื่นโครงการ ที่มีปัญหาเสียหายจริง เป็นโครงการที่ขอเรื่องน้ำดื่ม 1,216 ชุมชน ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 99 ชุมชน และโคมไฟที่ใช้โซลาร์เซลล์ เสนอมาทั้งหมด 174 แห่ง มีเพียง 71 ชุมชน จากโครงการทั้งหมด 8-9 หมื่นโครงการ ซึ่งเสียหายไม่ถึง 1%" บอร์ด สพช.ผู้หนึ่งระบุ

นอกจากนี้ กรณี บริษัท บีเอ็นบี อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ที่ตกเป็นจำเลยสังคม และถูกขุดคุ้ยถึงรูปแบบการทำธุรกิจ และตัวบุคคลที่เกี่ยวโยงกับฝ่ายบริหารโครงการและฝ่ายการเมืองนั้น สพช.พบว่า บริษัทนี้ไม่ได้เป็น "โบรกเกอร์" ตามที่ข่าวระบุ แต่เป็น "บริษัทผู้ผลิต" และมีตัวแทนจำหน่ายหรือเอเย่นต์หลายบริษัทวิ่งเข้ามาเอาของไปขาย เพื่อทำรายได้จากเปอร์เซ็นต์การขาย เมื่อเอเย่นต์ กระจายกันเข้าไปขายสินค้าให้ชุมชนต่างๆ บริษัทผู้ผลิตสินค้าก็ยิ่งได้รับประโยชน์มาก และเท่ากับเป็นการ "ผูกขาด" การขายอยู่รายเดียว

และในส่วนที่บริษัทเอเย่นต์ ให้ติดต่อหลังการขายหมายเลขโทรศัพท์เดียวกัน ก็ตรวจพบว่า เป็นหมายเลขติดต่อศูนย์บริการหลังการขาย ที่บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในส่วนนี้

ดังนั้น เมื่อรู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ บอร์ด สพช.จึงมีมติให้ยกเลิกสินค้าตู้น้ำโซลาร์เซลล์ ที่บริษัทบีเอ็นบีเป็นผู้ผลิตทันที รวมทั้งยกเลิกโครงการที่ต้องซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานทดแทนทั้งหมด เพื่อตัดปัญหา

ขณะที่ท่าทีของ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ในฐานะประธานบอร์ดสพช.ยอมรับข้อบกพร่องและความผิดพลาด พร้อมทั้งประกาศ "กวาดบ้านตัวเอง" รวมทั้งลุยตรวจสอบ "คนใน" ที่เกี่ยวข้องกับเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ธุรกิจทางอ้อมอย่างไร

อีกทั้งบอร์ด สพช.ยังหารือกันวิธีการแก้ปัญหาจากกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าที่เสียหายไปแล้ว รวมทั้งหาทางป้องกันความเสียหายโครงการอื่นๆ ที่อนุมัติโครงการแต่ยังไม่อนุมัติเงิน รวมทั้งโครงการที่ยังรอพิจารณา ไว้หลายแนวทาง แต่เห็นว่ายังจำเป็นต้องกำหนดกรอบโครงการให้จัดซื้ออุปกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียง และต้องเกิดประโยชน์จริงๆ

นอกจากนี้ สิ่งที่ สพช.ได้ดำเนินการเพิ่มเติม คือ ขอให้สำนักงบประมาณตรวจสอบว่าราคาอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการเสนอโครงการเข้ามา เพื่อส่งไปให้ทุกชุมชนรับรู้ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ ป้องกันปัญหาถูกหลอกขายสินค้าราคาแพงเกินจริง

กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ทุจริตชุมชนพอเพียงลามทั่วประเทศ

ทุจริตชุมชนพอเพียงลามทั่วประเทศ

ข้อมูลทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงปูดอีกหลายพื้นที่ เผย 3 บริษัทขายอุปกรณ์พลังงานทดแทนเจ้าปัญหา โผล่ชักจูงชาวบ้านที่จังหวัดน่าน ขณะที่อำนาจเจริญแฉข้าราชการ-ลูกน้องนักการเมืองใหญ่มีเอี่ยว ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ป้อง "กอร์ปศักดิ์" พร้อมส่งเรื่องให้ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางเงินบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอำนาจเจริญ ว่า มีขบวนการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยรูปแบบ คือ มีเจ้าหน้าที่จากบริษัทเอกชนติดต่อกับคนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นนายหน้าช่วยขายเครื่องผลิตปุ๋ยให้กับชุมชนต่างๆ ที่ต้องการของบประมาณจากโครงการชุมชนพอเพียง โดยอ้างว่าหากซื้อสินค้าจากบริษัทดังกล่าว จะได้รับอนุมัติโครงการอย่างรวดเร็ว ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด รวมทั้งมีข้าราชการท้องถิ่นคอยเรียกเก็บค่าหัวคิวโครงการ และล่าสุด มีผู้อ้างตัวเป็นลูกน้องนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน คอยชักส่วนแบ่งจากบรรดานายหน้าด้วย

ชาวบ้านท่ายางชุม หมู่ 8 ต.หัวตะพาน อ.หัวตะพาน เล่าว่า ชุมชนได้ตกลงกันขอทำโครงการจุดผลิตปุ๋ยชีวภาพในชุมชน แต่เมื่อส่งเรื่องไปยังหน่วยงานท้องถิ่นปรากฏว่าต้องนำกลับมาแก้ไขหลายครั้ง และเจ้าหน้าที่ยังแสดงอาการไม่พอใจ โดยเมื่อสอบถามชุมชนอื่น ซึ่งตกลงซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยคนละบริษัทกัน กลับพบว่าเอกสารผ่านอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ เครื่องผลิตปุ๋ยมีการผลิตจากโรงงานในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียงหลายแห่ง ทำให้มีการแข่งขันกันเสนอราคาให้กับชุมชน และยังมีการเสนอผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากขบวนการเบิกจ่ายเงินไม่ได้อยู่ที่ชุมชน แต่อยู่ที่ส่วนราชการ

แหล่งข่าวในพื้นที่ กล่าวว่า ชุมชนได้ของบประมาณซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยตามกรอบวงเงิน 2 แสนบาท โดยพ่อค้าที่มาติดต่อบอกว่าราคาเครื่องจริงๆ อยู่ที่ 1.5 แสนบาท ดังนั้น จะคืนเงินให้กับชุมชน 5 หมื่นบาท แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่าคืนเงินเพียงไม่กี่พันบาท โดยพ่อค้าอ้างว่าจะต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ นายหน้า รวมทั้งกรรมการชุมชนบางคน รวมแล้วเครื่องละ 3-4 หมื่นบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการที่พ่อค้าออกใบเสร็จและที่เป็นใบส่งของให้กับชุมชน ประกอบด้วย

1.จานปั้นเม็ดขนาด 1.50 เมตร ราคา 6.5 หมื่นบาท
2.เครื่องบดวัตถุดิบมอเตอร์ 3 แรง ราคา 3.7 หมื่นบาท
3.เครื่องผสมวัตถุดิบมอเตอร์ 5 แรง 4.5 หมื่นบาท
4.เครื่องพ่นจุลินทรีย์แบบอัตโนมัติ 1.5 หมื่นบาท
5.จักรเย็บกระสอบ ราคา 1.15 หมื่นบาท
6.ถังหมักจุลินทรีย์ขนาด 200 ลิตร 1,000 บาท
7.พลั่วพร้อมรถเข็น 3,500 บาท 8. ถาดรอง 1,500 บาท
และอื่นๆ รวมกันเป็นเงิน 2 แสนบาท

บริษัทเจ้าปัญหาบุกเมืองน่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดน่าน ว่า จังหวัดน่านมีการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงในลักษณะใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้น ในเขตกรุงเทพฯ โดยจากการตรวจสอบพบว่า ชุมชนในอำเภอเมืองน่านได้เสนอโครงการซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ ตลอดจนเครื่องผลิตน้ำหยอดเหรียญ และแผงโซลาร์เซลล์ จากบริษัทเดียวกันกับที่เป็นข่าวในกรุงเทพฯ

จากการตรวจสอบพบว่า ใน อ.เมืองน่าน มีหมู่บ้านที่นำเสนอโครงการเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพไม่ต่ำกว่า 10-20 หมู่บ้าน อาทิเช่น

1.บ้านผาขวาง ม.4 ต.บ่อ อ.เมืองน่าน 2.บ้านฟ้าใหม่ ม.9 ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน 3.บ้านนาท่อเด่น ม.4 ต.ถืมตอง อ.เมืองน่าน 4.บ้านกิ่งป่าห้า ม.5 ต.ถืมตอง อ.เมืองน่าน 5.บ้านศรีนาป่าน ม.1 ต.เรือง อ.เมืองน่าน 6.บ้านดอนเฟือง ม.2 ต.เรือง อ.เมืองน่าน 7.บ้านเรือง ม.3 ต.เรือง อ.เมืองน่าน 8.บ้านนางาม ม.5 ต.เรือง อ.เมืองน่าน 9.บ้านนาซาว ม.1 ต.นาซาว อ.เมืองน่าน 10.บ้านก๊อด ม.4 ต.นาซาว อ.เมืองน่าน 11.บ้านดู่เหนือ ม.1 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 12.บ้านเชียงราย ม.8 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 13.บ้านคอวัง ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 14.บ้านดู่เหนือพัฒนา ม.13 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 15.บ้านดอนมูลพัฒนา ม.13 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 16.บ้านธงใหม่พัฒนา ม.14 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 17.บ้านธงหลวง ม.1 ต.กองควาย อ.เมืองน่าน 18.บ้านครกใหม่ ม.4 ต.กองควาย อ.เมืองน่าน 19.บ้านดอนเจริญ ม.6 ต.กองควาย อ.เมืองน่าน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหมู่บ้านใน ต.สวก ต.สะเนียบ ของ อ.เมืองน่าน อีก 4-5 แห่ง ทั้งนี้ ทุกชุมชนได้ทำโครงการจัดซื้อจากบริษัท คาร์เทล เทคโนโลยี จำกัด

ชาวบ้านแฉขบวนการล็อบบี้

นายปรีชา ผาแก้ว ผู้ใหญ่บ้านผาขวาง ม.4 ต.บ่อ อ.เมืองน่าน จ.น่าน และประธานโครงการชุมชนพอเพียงบ้านผาขวาง ให้ข้อมูลว่า มีเอกชนนำข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ มาพร้อมหนังสือจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งแนบมากับแบบฟอร์มของโครงการชุมชนพอเพียง ให้ชุมชนดำเนินการจัดซื้อ ตามงบประมาณ 2.5 แสนบาท แต่สุดท้ายชุมชนปฏิเสธ

ผู้นำชุมชนรายหนึ่งใน อ.เมืองน่าน บอกว่า เชื่อว่ามีขบวนการพยายามหาผลประโยชน์จากโครงการ ซึ่งเห็นได้จากมีการนำเสนอโบรชัวร์มาพร้อมกับใบจัดซื้อจัดจ้างและใบโครงการ ตามแบบที่ทางการกำหนด และยังมีการโน้มน้าวให้ชาวบ้านขอโครงการตามที่กำหนดด้วย โดยอ้างว่าหากซื้อสินค้าดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติอย่างแน่นอน

สำหรับโบรชัวร์ที่แจกจ่ายให้กับชุมชนต่างๆ ในจังหวัดน่าน ได้แก่

1.โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ Solarbank ราคา 5 หมื่นบาท ของบริษัท เอนเนอร์ยี่ โปร เทคโนโลยี จำกัด (EPT)
2.เครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ GAS มี 3 ราคา 2 แสนบาท 2.5 แสนบาท และ 2.99 แสนบาท ยี่ห้อ Cartel ของบริษัท คาร์เทล เทคโนโลยี จำกัด
3.ระบบผลิตไบโอดีเซลรุ่น ECO-Premium ราคา 3 แสน และ 4.5 แสนบาท ยี่ห้อ EASY LINE ของบริษัท ฮีซี่ ไลน์ จำกัด
4.เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ รุ่น W-50F1 ราคา 2.5 แสนบาท แถมพัดลมไอน้ำ Cool Bank ฟรี 1 ชุด
5.เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ รุ่น W-50F2 ราคา 3 แสนบาท แถมเครื่องทำลมเย็น 2 ชุด ซึ่งเป็นของบริษัท เอนเนอร์ยี่ โปร เทคโนโลยี จำกัด
6.เตาเผาขยะประสิทธิภาพสูง ขนาด 70 กก. ราคา 1 แสนบาท
7.ตู้เก็บความเย็น Cool Bank เพื่อเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร เป็นของบริษัท เอนเนอร์ยี่ โปร เทคโนโลยี จำกัด เช่นกัน

ส.ส.ปชป.ออกโรงอุ้ม "กอร์ปศักดิ์"

ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีทุจริตโครงเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (โครงการชุมชนพอเพียง) ของพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อกระจายอำนาจสู่ชุมชน จึงเป็นเรื่องของชุมชนดำเนินการ รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการตรวจรับโครงการ ก็เป็นหน้าที่ของชุมชน

"กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่ชุมชนวัดไผ่ตัน เขตพญาไท และแฟลตทหารบก เขตสามเสน โครงการจัดซื้อตู้น้ำดื่มพลังแสงอาทิตย์ และเสาไฟฟ้า เกิดจากความไม่เข้าใจของประชาชนเอง จึงไม่เกี่ยวกับ นายกอร์ปศักดิ์ (สภาวสุ)"

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า นายกอร์ปศักดิ์ ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ เพราะตามโครงสร้างแล้ว เป็นเรื่องของชุมชนที่ต้องรับผิดชอบกันเอง ต้องให้ความเป็นธรรมกับนายกอร์ปศักดิ์ด้วย พร้อมทั้งปฏิเสธว่าการดำเนินการของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เป็นการตัดตอน เพื่อไม่ให้โยงมาถึงรัฐบาล

ส่งเรื่อง ปปง.สอบเส้นทางเงินเอกชน

นอกจากนี้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์จะรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด ยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ รวมทั้งประสานไปยังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อสั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าที่นำเสนอให้ ชุมชน

"อยากเรียกร้องให้ฝ่ายค้านช่วยค้นหาผู้ที่เข้า ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ในการหลอกลวงประชาชน หรือข่มขู่ให้เซ็นรับของ โดยอ้างว่าถ้าไม่ทำครั้งต่อไปอาจจะไม่ได้รับงบประมาณ ออกมาให้ได้รับทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันหาตัวคนผิด"

พท.นำชาวบ้านแจ้งความ


น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ถอดนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารโครงการชุมชนพอเพียงอีก 2 คนออกจากตำแหน่งในโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบทุจริต ขณะนี้ ยังไม่มีการตอบรับใดๆ จึงเกรงว่าจะมีความพยายามตัดตอน ปกปิดหลักฐาน

"จากข่าวที่ระบุว่า มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบโครงการชุมชนพอเพียง 3 คน ที่ลงไปตรวจสอบในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่า เป็นไปด้วยความโปร่งใสหรือไม่ เหตุใดจึงสั่งให้ยุติการทำงาน หรือเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบพบว่าเกี่ยวข้องกับตัวเอง"

นอกจากนี้ ข่าวที่ระบุว่า มีผู้บริหารในโครงการชุมชนพอเพียง แจ้งความที่กองปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คน ตนได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า ผู้บริหารคนดังกล่าวเพียงนำหลักฐานไปปรึกษากับตำรวจเท่านั้น ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่า เป็นข่าวที่ออกมาเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องการทุจริตหรือไม่

ด้านนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตที่ออกมามากมายขณะนี้ ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐไปข่มขู่ผู้ที่ให้ข้อมูลจากชุมชนต่างๆ ซึ่งในวันที่ 9 ส.ค. (วันนี้) จะนำผู้ที่ถูกข่มขู่ไปแจ้งความไว้ที่ สน.ลาดพร้าว เพื่อลงบันทึกประจำวัน ป้องกันการถูกข่มขู่ รวมทั้งแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการดังกล่าว เพราะเกรงว่าท้ายที่สุด จะถูกใส่ร้ายว่ามีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

บุญจง ยังภท.ไม่เกี่ยวทุจริต


ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึง การตรวจสอบโครงการชุมชนพอเพียงของรัฐบาล ว่า โครงการนี้มีจุดประสงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และถ้าพบการทุจริตก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องตรวจสอบความไม่ถูกต้อง

ส่วนกรณีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่างจังหวัด อาจจะหาผลประโยชน์ในโครงการดังกล่าว โดยการโน้มน้าวชาวบ้านให้ซื้อสินค้าของบริษัทเอกชนที่เสนอผลประโยชน์ให้นั้น ตนเชื่อว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแต่มีไม่มาก ดังนั้น นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ต้องเข้าไปดูโครงการนี้

"ผมยืนยันว่า ไม่มีคนของพรรคภูมิใจไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการนี้แน่นอน เพราะถ้ามี ส.ส.ในพื้นที่ต้องรายงานกลับมา และถ้าโครงการนี้พบว่ามีการทุจริตต้องมีการรับผิดชอบ"

กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Monday, August 3, 2009

เมซไซอะฯ "ประจวบ สังขาว" รหัสลับสู่การยุบ "ปชป."

เมซไซอะฯ "ประจวบ สังขาว" รหัสลับสู่การยุบ "ปชป." กรณี 258 ล้าน รายงานเท็จ กกต.

กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกตรวจสอบกรณีการรับเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จำนวนกว่า 258 ล้านบาท เงียบหายไปนาน

แต่ล่าสุด (28 กรกฎาคม 2552) "ประจวบ สังขาว" อดีตเจ้าของบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ได้โผล่ไปให้การกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

คำพูดหรือคำให้การของ dead man walking คนนี้ จึงมีโอกาสนำไปสู่การตัดสินอนาคตพรรคประชาธิปัตย์ หากพิสูจน์ได้ว่าอะไรคือความจริง

ย้อนไปเมื่อครั้งที่นายสมัคร สุนทรเวช ยังเป็นนายกรัฐมนตรี มีการสร้างข่าวขึ้นมาว่า พรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค มีการรับเงินจากทีพีไอฯเพื่อนำไปสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯขับไล่ รัฐบาล

เอกสารฉบับหนึ่งระบุว่า ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยา บริษัททีพีไอฯได้โอนเงินให้กลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนกว่า 250 ล้านบาท มีการเหวี่ยงแหไปโดน "น้องแหม่ม" น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.เขต 1 จ.พัทลุง ประชาธิปัตย์ ลูกสาวของนาย สุพัฒน์ อดีต ส.ส. จนต้องลุกขึ้นมากล่าว กลางสภาด้วยเสียงสะอื้นว่า "ท่านไม่สงสารดิฉันบ้างเหรอคะ"

ต่อมามีการขยายผลจากความไม่น่าเชื่อถือของ ส.ส.พรรคพลังประชาชน จนมาพบหลักฐานการโอนเงินจากบริษัททีพีไอฯ มายังบริษัทเมซไซอะฯ จำนวนเงินกว่า 258 ล้านบาท

จิ๊กซอว์สำคัญคือ นายประจวบ เจ้าของ บริษัทเมซไซอะฯ ได้เอาเงินดังกล่าวโอนไปยังบัญชีน้องชายของกรรมการบริหารพรรค, น้องของภริยากรรมการบริหารพรรค และภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนของกรรมการบริหารพรรค

ซึ่งนอกจากนี้ยัง มีคนเล็กคนน้อย อาทิ ผู้สมัคร ส.ส.อีกเยอะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หรือใกล้ชิดหลายครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1.9 ล้านบาท โดยไม่เก็บไว้แม้แต่บาทเดียว

มีการตั้งข้อสงสัยว่า การโอนเงินครั้งละไม่เกิน 1.9 ล้านบาทนี้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอก เงิน (ปปง.) ใช่หรือไม่ แล้วเหตุใดนายประจวบจึงนำเงินที่ทีพีไอฯยืนยันว่าเป็นเงินจ้างทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ โอนไปให้ คนใกล้ชิดพรรคประชาธิปัตย์จนหมด โดยไม่เก็บไว้ใช้เลย

นี่คือที่มาของปมเงินล่องหน 258 ล้าน

แต่ในระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์ยังตอบข้อสงสัยอะไรไม่ได้ ระเบิดอีกลูกก็ตามมา เมื่อมีการพบว่าพรรคประชาธิปัตย์ นำเงินจำนวน 23 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งพรรค ประชาธิปัตย์ได้รับการจัดสรรจาก กกต. ในปี 2548 ไปว่าจ้างบริษัทเมซไซอะฯของนายประจวบให้เข้ามาทำบิลบอร์ดป้าย หาเสียง

แต่ต่อมาปรากฏว่าเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองได้ว่าจ้างบริษัทเมซไซอะฯ ทำป้ายประชาสัมพันธ์เมื่อปี 2548 แต่นายประจวบให้การว่าไม่มีการว่าจ้าง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางและไม่มีการทำสัญญาใดๆ เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์มาขอร้องให้ออกใบเสร็จ

ล่าสุดสารวัตรเฉลิมยังนำนายประจวบไปให้ถ้อยคำต่ออนุกรรมการไต่สวนสำนวนเงินบริจาค 258 ล้านบาท และเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2548 โดยกล่าวหาว่ามีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

นี่คือจุดเริ่มต้นของการตั้งข้อหารายงานเท็จต่อ กกต. จากกรณีป้ายหาเสียงลม

นายไทกร พลสุวรรณา ผู้เคยเข้าออกพรรคประชาธิปัตย์มาหลายปี ก่อนที่จะลาออกมา เคยให้ความเห็นว่า

"เป็นความโชคดีของฝ่ายค้านที่เขาต้องการเล่นงานบริษัทตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านมองว่า นายประชัยเป็นศัตรูกับทักษิณ เพราะเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่แทนที่จะตกได้ปลาดุก กลับได้ปลาวาฬ"

ในส่วนของนายประจวบที่นายไทกร บอกว่าก็เป็นแค่เด็กในพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่ง เป็นคนอีสานมากินกาแฟสูบบุหรี่ที่พรรค แล้วก็มาของานพรรคทำ เมื่อตกเป็นข่าวคราวก็ได้หลบซ่อนตัวลึกลับมาตั้งแต่ต้นปี โทรศัพท์ไปก็ไม่รับสาย

ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมยังกล่าวด้วยว่า ได้รับทราบจากผู้ใหญ่ที่ดูแลนายประจวบว่าได้เปลี่ยนชื่อเป็น "นายคณาปติ"

"ก่อนหน้านี้นายประจวบได้เข้าไปให้การเพิ่มต่อดีเอสไอเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา และโทรศัพท์มายืนยัน กับผมว่าได้ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เช่นที่เคยให้การไว้ เพียงแต่ว่ามี รายละเอียดของเนื้อหาสาระเพิ่มเติม เล็กน้อย ดังนั้นเมื่อนายประจวบซึ่งเป็นพยานปากสำคัญมาให้การต่อ กกต.แล้ว ก็คิดว่าน่าจะสรุปได้เร็วๆ นี้"

"ขณะนี้นายประจวบก็ยังอยู่ในความ ดูแลของนายทหารนอกราชการคนหนึ่ง ซึ่งการมาให้การต่อ กกต. เขาก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของตัวเองเหมือนกัน แต่คงคิดได้ว่าความกลัวทำให้คนเสื่อม และผมก็คิดว่าคำให้การของนายประจวบคงจะเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะหากเขาไม่มีเจตนาที่จะทำให้ความจริงปรากฏ ก็คงไม่มาให้การกับ กกต. และเมื่อพยานสำคัญคือผม และนายประจวบมาให้การแล้ว ละครก็ใกล้จะจบแล้ว ขอให้ติดตามดู"

แต่กระนั้นเสียงกระซิบจาก ส.ส. ในพรรคประชาธิปัตย์ ก็แว่วมาว่า...ถึงยุบพรรคก็เปลี่ยนชื่อใหม่ได้

ประชาชาติธุรกิจ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4128