Monday, December 28, 2009

เปิดสารพัดวิธีทุจริตงบไทยเข้มแข็ง สธ. นักการเมือง-บิ๊กขรก.เปิดช่อง-นัดพ่อค้ากินข้าว เรียกสินบน80ล้าน

เปิดสารพัดวิธีทุจริตงบไทยเข้มแข็ง กระทรวงสาธารณสุข นักการเมือง-บิ๊กขรก.เปิดช่อง-นัดพ่อค้ากินข้าว เรียกสินบน80ล้าน

ทันทีที่ทีมมือปราบโกง นำทีมโดย นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข เปิดแถลงข่าวผลการสอบสวนความไม่ชอบมาพากลของโครงการไทยเข้มแข็ง สาวไส้ความผิดทั้งนักการเมือง และข้าราชการประจำ ร่วมยกกระบิ มีคนผิดทั้งที่มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน และไม่มีเอี่ยวทุจริต แต่บกพร่องต่อหน้าที่ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ที่ทำเนียบรัฐบาล
ภาพรวมของความผิดแบ่งได้ ดังนี้

1.นัดฮั้วเรียกเงินรถพยาบาลคันละ 1 แสนบาท

ผลตรวจสอบพบว่าจากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าได้มีการพยายามเจรจาเพื่อ เตรียมการให้มีการฮั้วกันจริง โดยมีนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นัดบริษัทรถยนต์ 2 บริษัท มารับประทานอาหารค่ำที่ภัตตาคารไดนาสตี้งโรงแรมเซนทารา ลาดพร้าว ช่วงค่ำของวันที่ 17 สิงหาคม 2552

นพ.บรรลุกล่าวยืนยันว่า มีผู้ประกอบการรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งที่ได้ร่วมในการทานอาหารมื้อนั้น ได้ทำหนังสือยืนยันมายังคณะกรรมการ รวมทั้งมาให้ถ้อยคำต่อกรรมการตรวจสอบด้วยว่ามีนักการเมืองคนใดร่วมทานอาหาร บ้าง โดยระบุชัดเจนว่า นายมานิต และนางศิริวรรณ ได้มีการเจรจาเรียกรับผลประโยชน์ คันละ 1 แสนบาท รวม 800 คัน เป็นเงิน 80 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีมูลความผิดทางอาญาด้วย ผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด

2.ยูวี แฟน ทำเป็นขบวนการ สอบ 5 คน ผิดตั้งแต่อดีตปลัด กระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงสาธารณสุข ผอ.สบภ.มีเอี่ยว

สำหรับยูวี แฟน พบเงื่อนงำความผิดปกติมากมาย ทำอย่างเป็นขบวนการทั้งในและนอก กระทรวงสาธารณสุข มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าผู้สั่งการเรื่องนี้โดยตรง คือ

1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัด มีมูลเหตุจูงใจ คือ มีการสั่งนโยบายโครงการเร่งรัดหยุดวัณโรค ที่ขัดต่อหลักวิชาการให้รับผู้ป่วยในโรงพยาบาล 14 วัน ซึ่งเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล และสั่งให้ทำห้องแยกโรคพร้อมมีเครื่องฟอกอากาศที่ใช้รังสียูวี ราคาสูงถึงห้องละ 250,750 บาท จึงเป็นเหตุให้โรงพยาบาลต่างๆ ใช้เป็นข้ออ้างในการจัดซื้อยูวี แฟน
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัด กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะดูแลโครงการไทยเข้มแข็งภาพรวม
3.น่าเชื่อว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อาจมีส่วนโดยตรงหรืออ้อมในการสั่งบรรจุยูวี แฟน ในโครงการไทยเข้มแข็ง โดยมีนพ.กฤษฎา มนูญวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นนำไปส่งให้กับ นพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผู้อำนวยการ สบภ. สอดคล้องกับที่ นพ.สุชาติ มีบันทึกชัดเจนว่าเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
4.นอกจากนี้ยังพบว่ามีการจัดซื้อยูวี แฟน ที่ใช้งบฯอื่น โดย นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ สาธารณสุขนิเทศ ขณะนั้น ขอให้โรงพยาบาลใน จ.นครศรีธรรมราช จัดซื้อยูวี แฟน ราคาเครื่องละ 99,000 บาท และน่าจะเป็นสินค้ายอมแมว ไม่ใช่ของนอก
5.พบว่ามี 3 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ซื้อยูวี แฟน ที่มีการล็อกสเปคในราคาเครื่องละ 40,000 บาท ขณะที่สถาบันทรวงอกผลิตได้ในราคาต้นทุน 2,000-5,000 บาท และมีผู้บริหารพาครอบครัวไปทัศนศึกษาที่นิวซีแลนด์ ขณะที่โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่นกลับปฏิเสธไม่ขอรับยูวี แฟน ที่ อบจ. ขอนแก่น ได้จัดซื้อให้ฟรี เมื่อปี 2550 เพราะพิจารณาแล้วไม่คุ้มค่าบำรุงรักษา

3.มั่วงบฯก่อสร้าง รมช.กระทรวงสาธารณสุขล้วงลูกชัดเจน

เอกสารผลการสอบสวนระบุว่า 60% ของงบประมาณไทยเข้มแข็งทั้งหมด เป็นงบฯก่อสร้าง พบว่ามีการจัดสรรมั่วแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา สาเหตุเพราะไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย หลักเกณฑ์ และไม่มีการตั้งคณะกรรมการดูแลพิเศษ ส่งผลให้การจัด สรรงบฯกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ เห็นได้ชัดเจน โดยมีโรงพยาบาลศูนย์ ทั่วไป และศูนย์ความเป็นเลิศ รวม 115 แห่ง ที่ได้งบฯก่อสร้างมากกว่าโรงพยาบาลชุมชนที่ได้เพียง 235 แห่ง จากทั้งหมด 735 แห่ง และสถานีอนามัย 9,762 แห่งทั่วประเทศรวมกัน

ที่สำคัญ ยังพบว่านายมานิตลงไปล้วงลูกด้วยตนเอง จัดสรงบฯสร้างอาคารถึง 5 หลัง ที่โรงพยาบาลราชบุรี ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลต้องการเพียง 2 หลังเท่านั้น และยังต้องทุบอาคารเก่าอีกหลายหลังด้วย มีการกดดันผู้อำนวยการโรงพยาบาลจนต้องถูกย้ายในที่สุด

นอกจากนี้ ราคากลางที่ตั้งไว้สูงเกินเหตุ ทั้งที่มีผลการประมูลก่อสร้างต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้มาก ก็ไม่ยอมปรับลดราคาลง ส่อเจตนาว่าไม่สุจริต เปิดช่องให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ ยังมีอาคารแบบเดียวกันแต่ราคาต่างกัน อาทิ

1.อาคารผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ สูง 5 ชั้น ตั้งราคา 168-185 ล้านบาท แต่มีประวัติที่โรงพยาบาลท่าศาลา เคยสร้างจริงในปี 2552 ใช้งบฯเพียง 128 ล้านบาท
2.อาคารพักพยาบา สูง 3 ชั้น ขนาด 24 ห้อง ตั้งงบประมาณ 9.57 ล้านบาท แต่มีประวัติสร้างจริงเพียง 7 ล้านบาท
3.เสาธงสูง 20 เมตร ตั้งงบฯ 495,000 บาท แต่มีราคากลางเพียง 367,700 บาท และควรเลือกเสาธงแบบสูง 12 เมตร มีราคาเพียง 119,700 บาทเท่านั้น


4.กรมการแพทย์ตั้งราคาครุภัณฑ์แพงผิดปกติ

กรมการแพทย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 7,500 ล้านบาท แต่พบว่ามีการตั้งราคาครุภัณฑ์และงบฯก่อสร้างแพงเกินจริงหลายหลายการเมื่อ เปรียบเทียบกับครุภัณฑ์การแพทย์ของโรงพยาบาลอื่นๆ ในโครงการไทยเข้มแข็งด้วยกันเอง ส่อไปในทางทุจริต เปิดทางให้มีการแสงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลเลิดสิน

1.เครื่องเอ็กซเรย์ส่องตรวจระบบดิจิตอล (Digital Fluoroscopy) ของโรงพยาบาลนพรัตน์ และศูนย์มะเร็ง ชลบุรี ตั้งงบฯไว้ที่ 15 ล้านบาท ขณะที่เครื่องชนิดเดียวกันของโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ตั้งราคาเพียง 8 ล้านบาท
2.เครื่องควบคุมการทำงานของหัวใจ ของโรงพยาบาลเลิดสิน ตั้งงบฯไว้ 9.2 ล้านบาท ขณะที่โรงพยาบาลแห่งนี้เคยจัดซื้อเพียง 3.5 ล้านบาทเท่านั้น
3.เครื่องใส่แร่อัตโนมัติปริมาณรังสีสูง ของสถาบันมะเร็งฯ ตั้งงบฯไว้ 27 ล้านบาท ขณะที่ศูนย์มะเร็ง ลพบุรี เคยจัดซื้อเมื่อปี 2550 ราคาเพียง 19.2 ล้านบาท
4.เครื่องจัดเก็บระบบข้อมูลเฉพาะทางการแพทย์ด้วยคอมพิวเตอร์ สถาบันมะเร็งฯ ตั้งงบฯ 60 ล้านบาท ขณะที่ศูนย์มะเร็งอุบลราชบุรี และโรงพยาบาลศูนย์หลายแห่งเคยจัดซื้อในราคาเพียง 15-30 ล้านบาท เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของบทสรุปความผิดโครงการไทยเข้มแข็งที่ว่า "ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง" ของทีมสอบสวนของ นพ.บรรลุ ส่วนใครจะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร..คงต้องยกคำของ นพ.บรรลุ ที่ทิ้งท้ายไว้ว่า

สรุปผลชี้มูลผู้เกี่ยวข้อง

นักการเมือง 4 ราย

1.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บกพร่องต่อหน้าที่
2.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีพฤติกรรมส่อทุจริต ล้วงลูก ดึงงบฯเข้า จ.ราชบุรี และนัดกินข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาล รวมถึงเครื่องพ่นฆ่ายุงลาย
3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการ มีพฤติกรรมส่อทุจริต โดยนัดกินข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล
4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตแบบระบบปิด (ยูวี-แฟน)

ข้าราชการประจำ 8 ราย


1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข บกพร่องต่อหน้าที่ เปิดช่องให้เกิดการทุจริต
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณสูง
3.นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปรับปรุงแบบแผนทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริต
4.นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ อนุมัติจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต
5.นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการ สบภ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟน
6.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บกพร่องต่อหน้าที่ในสมัยเป็นรองปลัด กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ สบภ.
7.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ รับผิดชอบโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ปัดความรับผิดชอบ
8.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6 ให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟน ราคาแพง ขณะดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์

มติชนออนไลน์, 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

"หมอบรรลุ" แถลงผลสอบไทยเข้มแข็งจี้ 4นักการเมือง 8ขรก.รับผิดชอบส่อโกง "วิทยา-มานิต-แม่เลี้ยงติ๊ก-กฤษดา"

"หมอบรรลุ" แถลงผลสอบไทยเข้มแข็งจี้4นักการเมือง-8ขรก.รับผิดชอบส่อโกง "วิทยา-มานิต-แม่เลี้ยงติ๊ก-กฤษดา"

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.บรรลุ ศิริพานิช ในฐานประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกรรมการ ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ. และมอบหลักฐาน จำนวน 4,733 แผ่น ให้นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้กรรมการตรวจสอบฯ หลังใช้เวลาสอบสวนนานร่วม 2 เดือน
จากนั้นเวลา 14.20 น. นพ.บรรลุ ได้เปิดแถลงข่าวรายงานผลการตรวจสอบให้สื่อมวลชนรับทราบ โดยนพ.บรรลุ แถลงว่า ผลการสอบสวนโดยภาพรวมพบว่า การจัดตั้งงบประมาณ มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า "ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง" ที่น่าจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขอตั้งงบประมาณทั้งสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์การแพทย์ และรถพยาบาล มีความผิดพลาดมากมาย การกระจายตัวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และราคาที่ตั้งไว้สูงเกินสมควร โดยหลายรายการตั้งราคาไว้สูงมาก และมีพฤติกรรมบางประการที่ส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หากไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แทนที่จะทำให้ ไทยเข้มแข็ง สมเจตนารมณ์ จะกลับทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง

นพ.บรรลุ กล่าวว่า สรุปประเด็นสำคัญดังนี้

1.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง มุ่งเน้นการสร้างความเจริญในตัวจังหวัด แทนที่จะกระจายสู่อำเภอรอบนอก ทำให้ช่องว่างของคุณภาพบริการสาธารณสุขระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอรอบนอกถ่างกว้างขึ้น ประชาชนต้องหลั่งไหลเข้าไปรับบริการในตัวจังหวัดมากขึ้น สร้างทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ เพิ่มความเสี่ยงระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะกรณีป่วยหนัก

2.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง มีความกระจุกตัวในบางจังหวัด ในลักษณะ มือใครยาวสาวได้สาวเอา เช่น จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดอยู่แล้วถึง 3 โรง และยังมีโรงพยาบาลศูนย์อยู่อีก 1 โรง ทั้งที่ส่วนใหญ่ จังหวัดหนึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดเพียงแห่งเดียว ขณะที่ บางจังหวัดซึ่งขาดแคลนกลับได้รับการจัดสรรน้อย

3.งบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์ มีการจัดซื้อสิ่งไม่จำเป็น และราคาแพงจำนวนมาก นอกจากเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว ยังเป็นภาระในการบำรุงรักษาในอนาคต ครุภัณฑ์บางอย่าง หน่วยงานมิได้ต้องการหรือขอมา กลับจัดสรรให้โดยส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนั้น ครุภัณฑ์การแพทย์เหล่านี้ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

4.งบประมาณส่วนใหญ่ มุ่งเน้นที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การแพทย์ โดยงบประมาณสำหรับการสร้างและพัฒนาบุคลากรไม่ได้สัดส่วน ทำให้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เงินจำนวนมากจัดซื้อจัดจ้างไว้ ใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า

นพ.บรรลุ กล่าวว่า สาเหตุของความบกพร่องผิดพลาด ส่อไปในทางจะทำให้เกิดทุจริต สรุปสาระใหญ่ๆ ได้ 2 ประการ ได้แก่ 1.ข้าราชการประจำอ่อนแอ ปลัดกระทรวงและรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายขาดความรับผิดชอบ ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เท่าที่ควร โครงการใหญ่ขนาดนี้ ปลัดกระทรวงควรลงไปดูแลเอง และควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ รวมทั้งควรมีการกำหนดนโยบาย และหลักเกณฑ์การพิจารณา ทั้งในเรื่องการกระจายงบประมาณอย่างเหมาะสม และการพิจารณากำหนดราคาที่สมควร กลับปล่อยปละละเลย ให้รองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย (รองปลัดฝ่ายบริหาร) ซึ่งอ่อนประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถไม่พอเพียง

"รวมทั้งไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่เท่าที่ควร ปล่อยให้เป็นภาระของสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) ซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานภายใน มีผู้ปฏิบัติงานเพียง 53 คน มีแพทย์คนเดียว รับผิดชอบงานใหญ่ขนาดนี้ ในขณะที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบการกำกับดูแลของรองปลัดกระทรวงฝ่ายบริหาร มีข้าราชการปฎิบัติงานทั้งสิ้น 283 คน กลับปัดความรับผิดชอบ อ้างว่ามีหน้าที่เพียงตรวจสอบยอดและหมวดเงินให้ตรงตามที่ได้รับจัดสรรเท่านั้น" นพ.บรรลุ กล่าว

นพ.บรรลุ กล่าวว่า การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่เป็นผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยตนเอง ประกอบกับการไม่มีคณะกรรมการมาร่วมพิจารณา และไม่มีเกณฑ์วางไว้ งานจึงไม่มีระบบ ใครจะของบอย่างไรก็ขอจะเปลี่ยนอย่างไรก็เปลี่ยน ตามใจของผู้มีอำนาจ นอกจากแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบและขาดความรู้ความสามารถแล้ว ยังส่อเจตนาไม่สุจริต เอื้อให้มีการกระทำตามใจชอบ และเปิดทางให้มีการทุจริตด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวว่า สำหรับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่อาจปัดความรับผิดชอบในความบกพร่อง ส่อเจตนาไม่สุจริต และการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในสธ. ได้ ส่วนนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง และไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ของตน รวมทั้งน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาลด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ควรมีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง รายการครุภัณฑ์การแพทย์ และรายการรถพยาบาล ทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมอื่นๆ โดยเฉพาะกรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะต้องได้สัดส่วนเหมาะสมกัน ทั้งนี้ ควรดำเนินการโดยมุ่งคุณภาพ เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างแท้จริง มิใช่ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง และสร้างปัญหาในระยะยาว โดยปลัด สธ. จะต้องลงมาเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง มีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างสมเหตุสมผล โปร่งใส ใช้บุคลากร สธ. ที่มีคุณภาพซึ่งมีอยู่มากช่วยกันทำ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน

2.ควรมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องทั้งที่ยังรับราชการและที่เกษียณอายุไปแล้ว ในกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดที่ได้ทำมา เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

3.ควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม "กฎเหล็ก 9 ข้อ" ของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ที่แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ "เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด" และข้อ 9 ที่ระบุว่า "ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย"

นพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการและกรรมการฯ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีความผิดชัดเจน แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

ฝ่ายข้าราชการการเมือง มี 4 ราย ได้แก่
1.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงสาธารณสุข ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในสธ.ในฐานะเจ้ากระทรวง
2.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมที่ส่อในการทุจริต คือ ไม่ดูแลโครงการไทยเข้มแข็งแต่ล้วงลูกดึงงบเข้าจังหวัดราชบุรี และนัดทานข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาล รวมถึงเครื่องพ่นฆ่ายุงลาย
3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตโดยนัดทานข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล และ
4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดเป็นผู้ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตแบบระบบปิด(ยูวี แฟน)

นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนข้าราชการประจำ มี 8 ราย ได้แก่
1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดสธ. ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะโครงการใหญ่ที่มีงบประมาณมากระดับ8.6 หมื่นล้านบาทกลับไม่ดูแลด้วยตนเอง เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดสธ. ฐานความผิดไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณมาก โดยให้สำนักงานสาธารณสุขภูมิภาคที่มีผู้ทำงานกว่า 50 คนดูแล โครงการใหญ่ขนาดนี้ เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
3.นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขณะนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ฐานความผิดที่มีการปรับปรุงแบบแผนทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
4. นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ฐานความผิดจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต
5.นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยูวีแฟน

นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนรายที่ 6-8 พบว่า บกพร่องต่อหน้าที่แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีการทุจริต คือ
6.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ในปัจจุบัน ฐานความผิดที่สมัยเป็นรองปลัดสธ.รับผิดชอบสบภ. แต่โครงการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของพญ.ศิริพรดูแล แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้
7.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ฐานความผิดที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็งแต่ปัดความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น อ้างว่าทำหน้าที่เพียงการตรวจสอบยอดการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น
8.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 6 สมัยนั้นดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ ฐานความผิดให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนราคาแพง

"หมอชนบท"พอใจผลสอบสวน


นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุด นพ.บรรลุ อย่างมาก ที่สามารถหาคนผิดได้ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของนักการเมืองที่ส่อทุจริต เพราะยืนยันมาตลอดว่ามีนักการเมืองพัวพัน 100% อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามดูผลการลงโทษคนผิดต่อไป

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า ฝากถึงนายกรัฐมนตรี ให้ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติก่อนการเมืองภายในพรรคและความอยู่รอดของรัฐบาล ส่วนการเดินหน้าต่อของโครงการไทยเข้มแข็งนั้น ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ควรจัดตามยุทธศาสตร์สุขภาพของประเทศ ไม่ใช่จัดตามพื้นที่ของนักการเมือง และต้องปรับเปลี่ยนคณะกรรมการที่มีคนนอก สธ.ที่สังคมให้ความเชื่อถือมาช่วยให้ความเห็นเช่น ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เป็นต้น

มติชนออนไลน์, 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สอบไทยเข้มแข็ง 8 ข้าราชการ 4 นักการเมืองทุจริต

สอบไทยเข้มแข็ง 8 ข้าราชการ 4 นักการเมืองทุจริต

"หมอบรรลุ"เผยผล สอบไทยเข้มแข็งมี 8 ข้าราชการประจำ 4 นักการเมือง เกี่ยวปัญหาส่อทุจริต แนะนายกรัฐมนตรีรื้อไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข

นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะกรรมการ ได้แถลงข่าวผลสรุปการตรวจสอบหลังจากได้เข้ารายงานต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ พร้อมมอบพยานหลักฐานจำนวน 4,733 หน้า โดย นพ.บรรลุ กล่าวว่า ผลการสอบสวนโดยรวม พบว่า การจัดตั้งงบประมาณดังกล่าว มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง เช่น การขอตั้งงบประมาณทั้งสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาล มีความผิดพลาดมากมาย การกระจายตัวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และราคาที่ตั้งไว้สูงเกินสมควร โดยหลายรายการตั้งราคาไว้สูงมาก และมีพฤติกรรมบางประการที่ส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หากไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แทนที่จะทำให้ไทยเข้มแข็งสมเจตนารมณ์ จะกลับทำให้ประเทศชาติอ่อนแอล

นพ.บรรลุ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหา คือ

1.งบประมาณสิ่งก่อสร้างเป็นการมุ่งเน้นการสร้างความเจริญในตัวจังหวัด แทนที่จะกระจายสู่อำเภอรอบนอก ทำให้ช่องว่างของคุณภาพบริการสาธารณสุขระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอรอบนอกถ่าง กว่างขึ้น ประชาชนต้องรั่วไหลเข้าไปรับบริการในตัวจังหวัดมากขึ้น สร้างทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเพิ่มความเสี่ยงระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะกรณีป่วยหนัก

2.งบประมาณสิ่งก่อสร้างมีความกระจุกตัวในบางจังหวัดในลักษณะมือใครสาวได้สาวเอา เช่น จังหวัดราชบุรี ที่มีโรงพยาบาลระดับจังหวัดอยู่แล้วถึง 3 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง ทั้งที่จังหวัดหนึ่งจะมีโรงพยาบาลจังหวัดเพียงแห่เดียวขณะที่บางจังหวัดซึ่ง ขาดแคลนกับได้รับการจัดสรรน้อย

3.งบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์มีการจัดซื้อ สิ่งไม่จำเป็นและราคาแพงจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว ยังเป็นภาระในการบำรุงรักษาในอนาคต นอกจากนี้ครุภัณฑ์บางอย่างหน่วยงานไม่ได้ต้องการหรือขอมา แต่กลับจัดสรรให้โดยส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนั้นครุภัณฑ์การแพทย์เหล่านี้ล้วนแต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

และ 4.งบประมาณส่วนใหญ่ มุ่งเน้นที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การแพทย์ โดยงบประมาณสำหรับการสร้างและพัฒนาบุคลากรไม่ได้สัดส่วน ทำให้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เงินจำนวนมากจัดซื้อจัดจ้างไว้ ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า


นพ.บรรลุ กล่าวต่อว่า ส่วนเหตุของความบกพร่องผิดพลาดที่ส่อไปในทางจะทำให้เกิดการทุจริตนั้น คณะกรรมาการฯ ได้สรุปสาระใหญ่ๆ ได้ 2 ประการ ได้แก่ 1.ข้าราชการประจำอ่อนแอ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายขาดความรับผิดชอบ ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เท่าที่ควร ซึ่งโครงการใหญ่ขนาดนี้ปลัดกระทรวงควรลงไปดูแลเอง และควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ รวมทั้งควรมีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การพิจารณา แต่กลับปล่อยปละละเลยให้รองปลัดฝ่ายบริหารที่ได้รับมอบหมายที่อ่อนต่อ ประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ รวมทั้งไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่เท่าที่ควร โดยปล่อยให้เป็นภาระของสำนักบริหารสาธารณสุขส่วนภูมิภาค (สบภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใน มีผู้ปฏิบัติงานเพียง 53 คน มีแพทย์คนเดียวแต่ต้องรับผิดชอบงานโครงการใหญ่ ในขณะที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบการกำกับดูแลของรองปลัดฝ่ายบริหาร มีข้าราชการปฏิบัติงานทั้งสิ้น 283 คน กลับปัดความรับผิดชอบ อ้างว่ามีหน้าที่เพียงตรวจสอบยอดและหมาดเงินให้ตรงตามที่ได้รับการจัดสรร เท่านั้น

การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ลงมารับผิดชอบโดยตรง งานจึงไม่มีระบบ ใครจะขออย่างไรก็ขอ จะเปลี่ยนอย่างไรก็เปลี่ยน ตามใจของผู้มีอำนาจ นอกจากแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบแล้ว ยังส่อเจตนาไม่สุจริต เอื้อให้มีการกระทำตามใจชอบ และเปิดทางให้มีการทุจริตด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาทั้งหมดเห็นว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ในความบกพร่องที่เกิดขึ้น ส่อเจตนาไม่สุจริตเช่นกัน และยังเป็นการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ได้ ส่วนนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง และไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ตนเอง รวมทั้งน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาลด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากผลสรุปสอบดังกล่าวแล้ว ทางคณะกรรมการฯ ยังมีข้อเสนอต่อนากยกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจากนี้ คือ ควรให้มีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ และรถพยาบาล ทั้งในส่วนสำนักปลัด กรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากรที่ต้องได้สัดส่วนเหมาะสมเพื่อให้ความเข้มแข็ง ต่อประเทศ ไม่ใช่ทำให้เกิดปัญหาระยะยาวตามมา และปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง มีหลักเกณฑ์วิธีการอย่างเหมาะสม โปร่งใส และต้องมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่ยังรับราชการและเกษียณอายุไปแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป และควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะข้อ 2 เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด และข้อ 9 ที่ระบุว่า ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย

ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวว่า รายงานสอบสวนนี้ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ส่วนจะส่งไปยัง ปปช.หรือไม่นั้น อาจมีบางเรื่องที่ต้องส่งไป แต่ทั้งนี้ก็ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี สำหรับรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโครงการไทยเข้มแข็งนี้ในส่วนข้า ราชการประจำมี 8 คน คือ 1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2. พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3. นายกษิณ วิเศษสิทธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน 4.นพ.สุชาติ เลาหบริพัตร อดีต ผอ.สำนักบริหารสาธารณสุขส่วนภูมิ 5.นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 6. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และ 7.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสด์ อดีตผู้ตรวจราชการเขต 6 สำหรับในส่วนข้าราชการการเมืองนั้น มี 4คน ได้แก่ 1.นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข 2.นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข 3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู และ 4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารมว.สธ.

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการระบุว่า นายมานิต ส่อว่าจะมีการฮั้วรถพยาบาลมีหลักฐานอย่างไร นพ.บรรลุ กล่าวว่า กรณีการจัดซื้อรถพยาบาลผู้สื่อข่าวได้นำเสนอปัญหาการฮั้วก่อน และจากการสอบสวนของคณะกรรมการพบว่า มีข้อเท็จจริง คือมีการหารือร่วมกันระหว่างผู้จัดสรรรถพยาบาล บริษัทจำหน่ายและล็อบบี้ยิส และยังพบว่าในการหารือดังกล่าวมีนายมานิตและนางศิริวรรณอยู่ในวงการหารือ จึงเชื่อว่ามีการฮั้วรถพยาบาล ทั้งนี้จึงต้องเข้าใจว่า การสอบสวนเป็นเรื่องยากเพราะยังไม่มีการทุจริต เป็นเพียงแต่ส่อทุจริต จึงต้องใช้เวลาสอบสวน

กรุงเทพธุรกิจ, 28 ธันวาคม 2552