Thursday, November 4, 2010

เปิดเงื่อนงำใน สตช.ผูกปิ่นโต"ขาใหญ่" รายเดียวทำอาหารเลี้ยงตำรวจหลักสูตรสารวัตร-ผกก.7 ปี 70.8 ล้าน

เปิดเงื่อนงำใน สตช.ผูกปิ่นโต"ขาใหญ่" รายเดียวทำอาหารเลี้ยงตำรวจหลักสูตรสารวัตร-ผกก.7 ปี 70.8 ล้าน

การจ้างเอกชนทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการอบรม หลักสูตรสารวัตร ผู้กำกับการ และหลักสูตรต่างๆของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แม้มีเม็ดเงินไม่มากในแต่ละปี แต่กำลังถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส เมื่อพบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจได้ว่าจ้างเอกชนคือนางกัลยา นภธนภักดี มาตลอด 7 ปี ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้รวมวงเงินกว่า 70.8 ล้านบาท

"ทีมข่าวเจาะ" นำรายละเอียดมานำเสนอดังนี้

ในช่วงปีงบประมาณ 2553 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เป็นต้นมา) จำนวน 8 ครั้ง ได้แก่

1 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับการรุ่นที่ 68 จำนวน 160 คน วงเงิน 2,624,000 บาท เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2552
2 จ้างทำงานประกอบอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับการรุ่นที่ 70 จำนวน 180 คน วงเงิน2,952,000 บาท เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2552
3 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรสารวัตร รุ่นที่ 100 จำนวน 160 คน วงเงิน 1,632,000 บาท เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2553
4 จ้างประกอบอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรสารวัตรรุ่นที่ 101จำนวน160คน วงเงิน 1,632,000 บาท เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2553
5 จ้างประกอบอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับการรุ่นที่ 73 วงเงิน 2,624,000 บาท เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553
6 จ้างประกอบอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร บตส.รุ่นที่31จำนวน120คน วงเงิน 1,968,000 บาท เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2553
7 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับการรุ่นที่75จำนวน 170คน วงเงิน 2,788,000 บาท เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2553
8 ล่าสุดจ้างประกอบอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรสารวัตรรุ่นที่ 102 จำนวน 220คน วงเงิน 2,244,000 บาท เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2553

ก่อนหน้านี้ในปีงบประมาณ 2552 ได้แก่

1 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรสารวัตรรุ่นที่ 97 จำนวน 160 คน วงเงิน 1,632,000 บาท 13 ก.พ. 2552
2 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับการ รุ่นที่ 66 จำนวน 160 คน วงเงิน 3,520,000 บาท 5 มี.ค. 2552
3 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรสารวัตร รุ่นที่ 98 จำนวน 172 คน1,754,400 บาท 24 เม.ย. 2552
4 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูงรุ่นที่30 จำนวน129คน วงเงิน 2,115,600 บาท 16 ก.ค. 2552

ปีงบประมาณ 2551 ได้แก่

1 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับการ รุ่นที่ 60 จำนวน 160 คน วงเงิน 2,640,000 บาท 28 ธ.ค. 2550
2 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับ รุ่นที่ 61 จำนวน 160 คน วงเงิน 2,640,000 บาท 11 ม.ค. 2551
3 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจ รุ่น 29 จำนวน 120 คน วงเงิน 1,584,000 บาท 14 ก.พ. 2551
4 จ้างทำงานอาหารเลี้ยงผู้อบรมผู้กำกับการ รุ่นที่ 62 จำนวน 160 คน วงเงิน 2,640,000 บาท 24 เม.ย. 2551
5 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้าอบรมหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 28 จำนวน 120 คน วงเงิน 1,962,000 บาท 16 พ.ค. 2551
6 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้กับการ รุ่นที่ 63 จำนวน 160 คน วงเงิน2,640,000 บาท 22 พ.ค. 2551
7 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรสารวัตรรุ่นที่ 96 จำนวน 160 คน วงเงิน 1,305,600 บาท 13 มิ.ย. 2551

ส่วนปีอื่นๆ อาทิ ปีงบประมาณ 2550

1 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับการรุ่นที่ 56 จำนวน 160 คน วงเงิน 2,640,000 บาท 24 พ.ย. 2549
2 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรสารวัตร รุ่นที่ 94 จำนวน 160 คน วงเงิน 1,286,400 บาท 2 ก.พ. 2550
3 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้กำกับการ รุ่นที่ 57 จำนวน 160 คน วงเงิน 2,640,000 บาท 22 มี.ค. 2550
4 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูงรุ่นที่ 27 จำนวน 120 คน วงเงิน 1,962,000 บาท 4 พ.ค. 2550
5 จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับการรุ่นที่ 58 จำนวน 160 คน วงเงิน 2,640,000 บาท 29 พ.ค. 2550
6 จ้างทำอาหารเลีย้งผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับรุ่นที่59 จำนวน 161 คน วงเงิน 2,656,500 บาท 7 มิ.ย. 2550

ปี 2547

จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 24 จำนวน 83 คน วงเงิน 1,095,600 บาท 20 พ.ค. 2547
จ้างทำอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรสารวัตร รุ่นที่ 85 จำนวน160คน วงเงิน1,305,600บาท วันที่ 18 พ.ย. 2547 สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ

ปี 2549

อาทิ จ้างประกอบอาหารเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรสารวัตรรุ่นที่ 87จำนวน 160 คน ตั้งแต่ 1,305,600 บาท 28 ม.ค. 2548

ประชาชาติธุรกิจ, 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Tuesday, November 2, 2010

เจาะงบฯพีอาร์5องค์กรอิสระ"ผู้ตรวจการแผ่นดิน"สนุกมือบ.เดียวกวาด31.8ล-กกต.สะพัด400ล.ก่อนเลือกตั้ง

มิใช่แค่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะกรณีการจัดซื้อรถประจำตำแหน่ง

การใช้งบประมาณทำประชาสัมพันธ์ก็ถูกตั้งคำถามด้วยเหมือนกันโดยเฉพาะผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

"มติชนออนไลน์" ตรวจสอบพบว่า ในระหว่างปี 2548 -2550 ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้งบฯพีอาร์มากสุดถึง 41,609,221 บาท ผ่านเอเจนซี 6 แห่ง ได้แก่

บริษัท แบรนด์ คอนเนคชั่นส์ จำกัด, บริษัท ครีเอทีฟ จูช จีวัน จำกัด, บริษัท เอ็กซ์เทนเตอร์ จำกัด ,บริษัท พับบลิค จำกัด, บริษัท วิไลเซ็นเตอรแอนอ์ซันส์ จำกัด, บริษัท วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด และ บริษัท คาเธ่ย์อัลลายแอนซ์ จำกัด

เอเจนซี่ที่ได้รับงบฯมากสุด บริษัท แบรนด์ คอนเนคชั่นส์ จำกัด จำนวน 3 ครั้ง รวมเงิน 31,809,048 บาท แบ่งเป็นจ้างประชาสัมพันธ์ วันที่ 30 ก.ย. 2548 วงเงิน 14,481,485 บาท ,วันที่ 27 มี.ค. 2549 วงเงิน 16,129,751 บาท , วันที่ 15 ม.ค. 2550 วงเงิน 1,197,812 บาท

ส่วนอีก 5 บริษัท บริษัทละ 1 ครั้ง ได้แก่
บริษัท ครีเอทีฟ จูช จีวัน จำกัด วันที่ 30 มี.ค. 2548 วงเงิน 5 ล้านบาท ,
บริษัท เอ็กซ์เทนเตอร์ จำกัด วันที่ 4 ก.ค. 2548 วงเงิน 959,255 บาท ,
บริษัท พับบลิค จำกัด วันที่ 13 ก.ย. 2548 วงเงิน 850,918 บาท ,
บริษัท วิไลเซ็นเตอร์ แอนด์ ซันส์ จำกัด วันที่ 11 พ.ย. 2548 วงเงิน 642,000 บาท,
บริษัท วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด วันที่ 14 ก.พ. 2549 วงเงิน 948,000 บาท
และ บริษัท คาเธ่ย์อัลลายแอนซ์ จำกัด วันที่ 30 พ.ค. 2550 วงเงิน 1,400,000 บาท

ทั้งนี้ บริษัท แบรนด์ คอนเนคชั่นส์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 19 สิงหาคม 2545 ทุน 5,000,000 บาท ที่ตั้งเลขที่ 208 อาคาร208 วายเลสโร้ด ชั้น 16 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีนางอิชยา สันติตระกูล (ล่าสุดเพิ่มก่อตั้งบริษัท แอดสเปซ มีเดีย จำกัด) และ นายประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ ถือหุ้นใหญ่

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงเลือกตั้งปี 2548-2550 ใช้งบฯประชาสัมพันธ์กว่า 400ล้านบาท แต่หลังเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปลายปี 2550 เป็นต้นมา ใช้งบประมาณโฆษณาทั้งหมด 11,700,000 บาท
แบ่งเป็น

จัดทำสารคดีสั้น 10 กรณีคดีฮาฯ สมาคมศิลปินตลก (ประเทศไทย) 1,500,000 บาท 2 มิ.ย. 2553
ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ บริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด 1,200,000 บาท 11 ม.ค. 2553
ประชาสัมพันธ์ตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ บริษัท โอ้ มาย กรีน จำกัด 1,200,000 บาท 26 ม.ค. 2553
ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ บริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด 1,000,000 บาท 25 ก.พ. 2553
ประชาสัมพันธ์ตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ บริษัท บีลิงค์ มีเดีย จำกัด 1,800,000 บาท 24 มิ.ย. 2552
ประชาสัมพันธ์ตามโครงการประชาสัมพันธ์ฯ บริษัท อินดิเพนเด็นท์ นิวส์ เซ็นเตอร์ จำกัด 1,000,000 บาท 13 ส.ค. 2552
ประชาสัมพันธ์ตามโครงการประชาสัมพันธ์ฯ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) 1,000,000 บาท 17 ส.ค. 2552
ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) 1,500,000 บาท 27 ก.พ. 2552
ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย 1,500,000 บาท 5 มิ.ย. 2552

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ในปีงบประมาณ 2553 จ้างเอกชนทำพีอาร์ทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 18 เม.ย. 2553 บริษัท ซี.เอ.อินโฟ มีเดีย จำกัด (นางอารญารัตน์ ชาญชัยณรงค์ ถือหุ้นใหญ่) ผลิตสปอตผ่านรายการโทรทัศน์ วงเงิน 1,470,000 บาท ครั้งที่สอง วันที่ 4 ส.ค. 2553 ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีเฮ้าส์โปรดักส์ชั่น ผลิตรายการโทรทัศน์ วงเงิน 1,816,272 บาท

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อน "คลิปปลิวว่อน" จ้าง บริษัท โนวาอินเตอร์แอ็ด จำกัด (นายกรณ์ชัย และนางชนิกา กรณี ถือหุ้นใหญ่) ผลิตและเผยแพร่สปอตวิทยุโทรทัศน์ วงเงิน 7,877,340 บาท วันที่ 15 ต.ค. 2551

ศาลปกครอง

ในช่วงปี 2550 จ้าง บริษัท ดิอายส์ จำกัด ผลิตสปอตโทรทัศน์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปี ศาลปกครอง วงเงิน 1,600,000 บาท วันที่ 13 ก.พ. 2550

กล่าวสำหรับสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในช่วงก่อนหน้านี้ไม่พบข้อมูลการว่าจ้างแต่อย่างใด

สรุปในบรรดาองค์กรอิสระทั้งหมดผู้ตรวจการแผ่นดินใช้งบฯพีอาร์มากที่สุด

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน ได้แก่ นายปราโมทย์ โชติมงคล นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ และนายศรีราชา เจริญพานิช

ผู้ตรวจการชุดแรกคือ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ และ นายพิเชต สุนทรพิพิธ

มติชน, 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Sunday, October 31, 2010

เปิดจะๆ ค่าตอบแทน"บริวาร-องคาพยพ"ศาลรธน.ปีละกว่า 20ล้าน แต่งตั้ง"เครือญาติ พวกพ้อง คนรู้ใจ?

ถ้าไม่มีกรณี นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไปยุ่มย่ามในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

จนทำให้ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีคำสั่งปลดฟ้าผ่า นายพสิษฐ์ ออกจากตำแหน่ง เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร

คนทั่วไป คงไม่รู้ว่า บริวารและองคาพยพในศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยใครบ้าง ?

ปัจจุบันคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อีก 8 คนประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายนุรักษ์ มาประณีต นายบุญส่ง กุลบุปผา นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯ ฉบับแก้ไขล่าสุด

เงินเดือนประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 64,000 บาท บวก เงินประจำตำแหน่งอีก 50,000 บาท

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 62,000 บาท บวก เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท

รวมเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ทั้งประธานและตุลาการอีก 8 คน ตกเดือนละ 9.5 แสนบาท ปีหนึ่งก็ตกประมาณ 11.4 ล้านบาท ตัวเลขนี้ยังไม่รวมสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกหลายรายการ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยังมีบริวารและองคาพยพของประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการอีก 8 คน อีกหลายรายการดังนี้

ทั้งนี้ ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งบุคลากรประธานศาลรัฐธรรมนูญและ ตุลาการฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันล้วนลงนามประกาศโดย นายชัช ชลวร กำหนดให้ตุลาการฯ 9 คน มีสิทธิแต่งตั้งบุคลากรมาช่วยงานดังต่อไปนี้

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 1 คน เงินเดือนรวม 69,910 บาท เลขานุการ 1 คน เงินเดือน 47,100 บาท ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน เงินเดือน 30,000 บาท ผู้ช่วยเลขานุการ 1 คน เงินเดือนตามวุฒิการศึกษาตั้งแต่ 16,000-22,000 บาท คนขับรถ 1 คน เงินเดือน 11,300 บาท เป็นต้น

คำนวณแล้ว จะต้องจ่ายเงินเดือน ให้แก่ ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยเลขานุการ คนขับรถ ประจำประธานศาลรัฐธรรมนูญ เดือนกว่า 229,000 บาท/ เดือน

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 1 คน เงินเดือนรวม 55,000 บาท เลขานุการ 1 คน ผู้เชี่ยวชาญไม่เกิน 2 คน ผู้ช่วยเลขานุการ 1 คน คนขับรถ 1 คน โดยใช้อัตราเงินเดือนเช่นเดียวกับบุคลากรประจำประธานศาลรัฐธรรมนูญ

คำนวนเงินเดือนของบรรดา ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยเลขานุการ คนขับรถ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละคนเกือบ 2 แสนบาท รวม 8 คน ก็ตกเดือนละ 1.5 ล้าน

เบ็ดเสร็จแล้ว ต้องจ่ายเป็นค่าบริวารให้แก่ ประธานและตุลาการ รวม 9 คน รวมกว่า 1 ล้าน 7 แสนบาท ปีหนึ่งก็จ่าย 20. 4 ล้าน

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตที่ปรึกษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา การคัดสรรคนเข้ามารับตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นเลขานุการหรือที่ปรึกษานั้น เท่าที่ทราบก็คือไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว เป็นดุลพินิจของผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละคนที่จะตั้งใครมาก็ได้

"ผมเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งในช่วงของ การบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ทำให้ทราบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่คนที่ตั้ง "นักวิชาการ" เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลืองานด้านวิชาการและให้คำปรึกษาทางวิชาการ ส่วนคนอื่นตั้งใครมาก็ไม่ทราบ ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมาก่อน

แต่จากข้อมูลที่ได้รับทราบ คนเหล่านั้นมีบางคนที่เป็น "เครือญาติ" บางคนก็มีความสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ เมื่อตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งก็มีเงินค่าตอบแทน บางคนเอาลูกหลานตัวเองมาเป็นเลขานุการก็เคยมีมาแล้ว" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

เมื่อพิจารณาผ่าน ผลงานสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ คำวินิจฉัย จะพบว่า ปี 2551 เขียนคำวินิจฉัย 26 เรื่อง ปี 2552 เขียนคำวินิจฉัย 20 เรื่อง ปี 2553 จนถึงปัจจุบันเขียนคำวินิจฉัย เพียง 7 เรื่อง ต้นทุนต่อคำวินิจฉัย 1 ฉบับ จึงสูงมาก

แต่ปัญหาไม่ใช่ ถูกหรือแพง หรือ วัดกันที่ปริมาณคำวินิจฉัย ประเด็นคือ คุณค่าของคำวินิจฉัยต่างหาก !!!

ตามหลักการแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ดี จะต้องกอรปด้วยหลักกฎหมาย หลักวิชาการ และข้อเท็จจริง ครบถ้วน ถ้าตุลาการไม่มีเวลาศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบก็ต้องมีที่ปรึกษาและผู้เชี่ยว ชาญที่มีความรู้ความสามารถ ครบเครื่อง

เหลียวดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย้อนหลังไปถึงปี 2541 อาจได้คำตอบว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยยังต้องการเวลาพัฒนา อีกหลายทศวรรษ

มติชน, วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เปิดรสนิยม"รถตำแหน่ง"ก.ก.5 องค์กรอิสระกว่า100ล.3ยี่ห้อดังยอดฮิต-3แห่งซื้อจากบ.เดียวกัน

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย กรณีรถประจำตำแหน่งของกรรมการองค์การอิสระ

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ยี่ห้ออะไรได้รับความนิยมมากสุด?

"มติชนออนไลน์" รวบรวมมานำเสนอดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญ 13 คัน แบ่งเป็น

ครั้งแรกประจำตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและรถประจำตำแหน่งตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คัน ในราคา 9.5 ล้านบาท จากห้างหุ้นส่วนจำกัด พันทวี ออโต้ มาสเตอร์ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2548

ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2548 ประจำตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (รถยนต์LEXURES300) จำนวน 10 คัน ราคา 30 ล้านบาท จากบริษัท เล็กซ์ซัส กรุงเทพ จำกัด

ยังมีรถตู้ยี่ห้อ Volkswagen รุ่น Caravelle 2.5 TDI แบบ 11 ที่นั่ง สีบรอนซ์เงิน (8E8E) จำนวน 3 คัน โดย 2 คันแรก ราคา 5,980,000 บาท เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2549 จาก บริษัท ยนตรกิจอินเตอร์เซลส์ จำกัด (ตระกูลลีนุตพงษ์ เจ้าของ) และ ซื้อเพิ่มอีก 1 คัน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2549 ราคา 2,990,000 บาท จากบริษัทเดียวกัน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากการตรวจสอบพบว่า จัดซื้อยี่ห้อ Mercedes Benz 5 คัน แบ่งเป็น

จัดซื้อเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2552 1 คัน ราคา 3,690,000 บาท จากบริษัท เบนซ์ บีเคเค วิภาวดี จำกัด

จัดซื้อเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2552 จำนวน 4 คัน ราคา 13,198,000 บาท (ข้อมูลจากการชี้แจงของกรรมการสิทธิมนุษยชน) จาก บริษัท เบนซ์ บีเคเค กรุ๊ป จำกัด

อีก 2 คัน ยี่ห้อ BMW ราคา 3,250,000 บาท จากบริษัท มิลเลนเนียม จำกัด เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2552 และ ยี่ห้อ Toyota Vellire 2.4 ราคา 3,299,500 บาท จาก บริษัท TSL Auto Corporatiom จำกัด (ที เอส แอล ออโต้ คอร์ปอเรชั่น) เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2552
รวม 7 คัน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในช่วงปี 2547 มีการจัดซื้อ 3 คัน เป็นรถตู้ ยี่ห้อ VOLKSWAGEN CARAVELLE 5 ราคารวม 9,570,000 บาทจาก บริษัท ยนตรกิจอินเตอร์เซลส์ จำกัด เมื่อ 30 ก.ค. 2547

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดซื้อในช่วงเดียวกัน จำนวน 2 คัน ราคารวม 7,300,000 บาท จาก บริษัท เบนซ์ บีเคเค กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2547

สำหรับ ศาลปกครอง ยี่ห้อ Mercedes - Benz จำนวน 2 คัน ราคารวม 5,880,000 บาท จาก บริษัท เบนซ์ บีเคเค วิภาวดี จำกัด เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2549

นอกจากนี้ยังซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่งในระดับราคาลรองลงมาอีก 7 คัน ได้แก่ ยี่ห้อVOLKSWAGEN รุ่นพาสสาทโฮลายน์ จำนวน 1 คัน เป็นเงิน 1,450,000 บาท จากบริษัท ยนตรกิจอินเตอร์เซลส์ จำกัด เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2544

รถยนต์ประจำตำแหน่ง ยี่ห้อนิสสันเซฟิโร่ รุ่น 2.0L (EXE) จำนวน 3 คัน ราคา 3,294,000 บาท จากบริษัท สยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2544, ยี่ห้อ โตโยต้า camry 2.oe จำนวน 2 คัน ราคา 2,310,000 บาท จาก บริษัท เจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2546 และยี่ห้อนิสสัน เซฟิโร่ ราคา 1,200,000 บาท จาก บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2546

จากข้อมูลเท่ากับ เลกซ์ซัส , Mercedes Benz และ Volkswagen ได้รับความนิยมมากสุด

ดีลเลอร์ที่ได้รับการจัดซื้อมากสุดคือ บริษัท เบนซ์ บีเคเค วิภาวดี จำกัด จากศาลปกครอง , กกต. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

รวม 5 องค์กรกว่า 100 ล้านบาท

มติชน, 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เปิดข้อมูลละเอียดยิบ"งบฯทัวร์นอก"สนง.ศาลยุติธรรม ปีเดียวเที่ยว17ครั้ง-เกือบครึ่งพึ่งบริการบ.เดียว

นอกจากการจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่งนับร้อยล้านบาทขององค์กรอิสระที่กลาย เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นการนำผู้เข้าอบอรมไปทัวร์ต่างประเทศของสำนักงานศาลยุติธรรมก็ที่น่าสนใจเช่นกัน

"มติชนออนไลน์"ตรวจสอบพบว่าตั้งแต่ปี เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาจนถึงเดือนกันยายน (สิ้นปีงบประมาณ 2553) สำนักงานศาลยุติธรรมนำผู้เข้าอบรมไปดูงานต่างประเทศถึง17ครั้ง รวมเป็นเงิน 37.5 ล้านบาท ผ่านตัวแทน 9 บริษัท

บริษัทที่ได้รับการว่าจ้างมากสุดคือ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด จำนวน 7 ครั้ง เป็นเงิน 14.7 ล้านบาท

รองลงมาเป็นบริษัท รอยัล ฮอลิเดย์ จำกัด 2 ครั้ง วงเงิน 3,190,550 บาท

สกาเดีย แอร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด จำกัด 2 ครั้ง 3,877,790 บาท

บริษัท ศรัทธาทัวร์ จำกัด 1 ครั้ง จำนวน 1,754,800 บาท

บริษัท ไพรม์ แวลู ทัวร์ จำกัด (ประเทศไทย) 1 ครั้ง จำนวน 2,502,000 บาท

บริษัท ยูนิตี้ 2000 ทัวร์ จำกัด 1 ครั้ง วงเงิน 4,463,750 บาท

บริษัท ยู.อี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 1 ครั้ง วงเงิน 3,516,570 บาท

บริษัท มิสเตอร์ ฮอลิเดย์ จำกัด 1ครั้ง วงเงิน 2,068,000 บาท

และ บริษัท ยูนิไทย แทรเวิล จำกัด 1 ครั้ง วงเงิน 1,380,000 บาท

การพาผู้อบรมไปดูงานต่างประเทศมีรายละเอียดดังนี้

1.บริการนำผู้เข้ารับการอบรมโงาน บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 2,515,500 บาท 26 ก.พ. 2553

2.บริการนำผู้เข้าอบรมศึกษาดูงาน บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 2,483,000 บาท 5 มี.ค. 2553

3.บริการนำผู้รับการอบรมศึกษาดูงาน บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวลกรุ๊ป จำกัด 3,377,500 บาท 9 มี.ค.2553

4.บริการนำผู้รับการอบรมศึกษาดูงาน บริษัท รอยัล ฮอลิเดย์ จำกัด 1,637,000 บาท 19 มี.ค. 2553

5.บริการนำผู้เข้ารับการศึกษาอรมศึกษาดูงาน บริษัท รอยัล ฮอลิเดย์ จำกัด 1,553,550 บาท 19 มี.ค. 2553

6.บริการนำผู้รับการอบรมศึกษาดูงาน บริษัท ศรัทธาทัวร์ จำกัด 1,754,800 บาท 25 มี.ค. 2553

7.บริการนำผู้ช่วยฯศึกษาดูงาน บริษัท ไพรม์ แวลู ทัวร์ จำกัด (ประเทศไทย) 2,502,000 บาท 25 มี.ค. 2553

8.บริการนำผู้อบรมดูงาน บริษัท สกาเดีย แอร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด 1,085,000 บาท 22 เม.ย. 2553

9.บริการนำผู้เข้าอบรมดูงาน บริษัท สกาเดีย แอร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด 2,792,790 บาท 22 เม.ย. 2553

10.บริการนำผู้เข้ารับอบรมศึกษาดูงาน บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 2,535,000 บาท 12 เม.ย.2553

11.บริการนำเข้าอบรมศึกษาต่างประเทศ บริษัท ยูนิตี้ 2000 ทัวร์ จำกัด 4,463,750 บาท 27 พ.ค. 2553

12.นำผู้เข้าอบรมศึกษาดูงานต่างประเทศ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 1,459,350 บาท 27 พ.ค. 2553

13.บริการนำผู้อบรมดูงานต่างประเทศ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป 1,428,300 บาท 27 พ.ค. 2553

14.นำผู้เข้าอบรมดูงานต่างประเทศ บริษัท ยู.อี อินเตอร์เนชั่นแนล 3,516,570 บาท 22 มิ.ย. 2553

15.บริการนำผุ้เข้าอบรมศึกษาดูงานต่างประเทศ บริษัท มิสเตอร์ ฮอลิเดย์ จำกัด 2,068,000 บาท 12 ก.ค. 2553

16.บริการนำเข้าผู้เข้าอบรมศึกษาดูงานต่างประเทศ บริษัท ยูนิไทย แทรเวิล จำกัด 1,380,000 บาท 11 ส.ค. 2553

17.ศึกษาดูงานต่างประเทศฯ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 974,840 บาท 3 ก.ย. 2553

ทั้งนี้ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด ก่อตั้งวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ที่ตั้ง 253 อาคารออริเฟรมอโศกทาวเวอร์ ( ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ นายอรรถวุฒิ์ และ นางศิริฐา สุทธาศวิน เป็นเจ้าของ

บริษัท รอยัล ฮอลิเดย์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 10 กันยายน 2547 ทุน 2,500,000 บาท ที่ตั้ง 48/5-6 ชั้น 3 ซอยรุ่งเรือง ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ นางสาวนพมาศ ยืนยง นายราฆพ บัณฑิตย์ นางกณภา ปรักกมะกุล ถือหุ้นใหญ่

บริษัท ยูนิตี้ 2000 ทัวร์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 19 มกราคม 2537 ทุน 5,000,000 บาทที่ตั้งเลขที่ 365 ซอยอาคารสงเคราะห์ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ นายภมร ภมรรัตนกุล นายพัลลภ สนั่นวัฒนานนท์ นางพิกุล ภมรรัตนกุล นางสาวดวงใจ คงธนะรุ่ง นางสาวศรีสมร อิ่มสุขสันต์ ถือหุ้นใหญ่

บริษัท สกาเดีย แอร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด ที่จดทะเบียนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 ทุน 5,000,000 บาท ที่ตั้ง 9/9 หมู่ที่ 10 ถนนราชพฤกษ์ แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ มีนายไมตรี โสภะ นางณฐพร บุญยิ่ง นางทิพยาภรณ์ ล่าฟ้าเริงรณ เป็นกรรมการ

ส่วนบริษัท ยู.อี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 ทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท ที่ตั้ง 113/8 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ วิโมกข์เจริญสุข นางสาวสุนิดา วิโมกข์เจริญสุข นางสาวสมลักษณ์ เต็มภูวภัทร ถือหุ้นใหญ่

มติชน, 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Saturday, October 2, 2010

'ไตรรงค์'เซ็นขายข้าวล้านตัน 'เอ็มที'ขยับเลื่อนเวลาส่งมอบ

'ไตรรงค์'เซ็นขายข้าวล้านตัน 'เอ็มที'ขยับเลื่อนเวลาส่งมอบ

"ไตรรงค์" เซ็นขายข้าวล้านตันให้บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรดแล้ว ก่อนบินเปิดแน่บไปไนจีเรีย-เซเนกัล หลังถ่วงเวลาให้บริษัทหาแบงก์ค้ำประกันนานกว่าครึ่งเดือน วงการค้าข้าวหึ่ง "มร.เฉิน" ปล่อยข้าวเหนียว 10% ลอตแรกที่คลังสกลนครให้ผู้ซื้อภายในประเทศแล้ว ขณะที่ มร.เฉินออกมายอมรับ 60 วันขนข้าวไม่ทัน อ้างให้รัฐวิสาหกิจจีนคู่สัญญาทำหนังสือขอขยายเวลารับมอบข้าวออกไปอีก

นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กขช. ได้เซ็น "อนุมัติ" ให้จำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ตามที่คณะอนุกรรมการระบายข้าวที่มีนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอไป โดยการเซ็นอนุมัติครั้งนี้เป็นการเซ็นก่อนที่นาย ไตรรงค์จะนำคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปเจรจาขายข้าวให้กับรัฐบาลไนจีเรีย-เซเนกัล มีกำหนดจะเดินทางกลับประเทศในวันที่ 5 ตุลาคม 2553

ส่วนกรณีที่ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมากกว่า 1 ล้านตันให้กับบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด โดยไม่มีการเปิดประมูลท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า บริษัทเอ็มทีฯเป็นใคร เนื่องจากไม่มีใครรู้จักในวงการค้าข้าวมาก่อนนั้น นายมนัสกล่าวว่า บริษัทเอ็มทีฯเป็นผู้ซื้อข้าวรายหนึ่งที่เข้ามาดำเนินการตามขั้นตอน มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมายืนยัน ทั้งจากจีน-สิงคโปร์-บรูไน

ทางคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารก็ได้สอบถึงที่มาของออร์เดอร์นั้นพบว่า "น่าเชื่อถือ" แต่คงไม่ถึงขั้นตรวจสอบไปยังสถานทูตเพราะบริษัทผู้ซื้อข้าวไม่ใช่คู่สัญญาของรัฐบาลโดยตรง ส่วนกรณีที่บริษัทเม้งไต๋ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทเอ็มทีฯมีคดีฟ้องร้องกับธนาคารนั้น "ผมไม่ทราบ ไม่ได้ลงตรวจสอบละเอียดขนาดนั้น แต่บริษัทเม้งไต๋ไม่ได้เกี่ยวกับซื้อข้าวครั้งนี้" แต่ตามหลักเกณฑ์การขายข้าวบริษัทจะต้องนำหลักทรัพย์มาวางค้ำประกัน 5% ของมูลค่าข้าว หากซื้อทั้งข้าวจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ก็ต้องทำสัญญาวางค้ำประกัน 2 ฉบับ

"บริษัทเอ็มทีฯจะดำเนินการทำสัญญาซื้อข้าวใน 10 วัน หลังจากได้รับแจ้งจาก กรมการค้าต่างประเทศ แต่นี่ผมยังไม่ได้แจ้งบริษัทไหนเลย เพราะท่านไตรรงค์เพิ่งอนุมัติวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 กันยายน) หลังจากนั้นไม่จำเป็นต้องมาทำพร้อมกันทั้งหมด อาจจะทยอยมาก็ได้ แต่ต้องแจ้งเจตนามาว่า จะทำสัญญาก่อน ถ้าไม่มาก็โดนหยึดหลักทรัพย์ แล้วเราจะเอาข้าวไปขายต่อ โดยราคาที่ขายให้เป็นราคา Ex Warehouse ไม่รวมค่าปรับปรุง ค่าขนส่ง" นายมนัสกล่าว

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตจากวงการค้าข้าวว่า การขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมากกว่า 1 ล้านตันให้กับบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรดนั้น ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นการขายเพื่อการส่งออก แต่บริษัทเอ็มทีฯโดยมิสเตอร์เฉิน หรือนายจุ้งเชียง เฉิน กรรมการผู้จัดการบริษัท กลับเปิดตัวทั้งกับโรงสีข้าว-ผู้ส่งออกเสนอที่จะขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจำนวนมากกว่า 2 ล้านตันให้ ซึ่งถือเป็นการผิดเงื่อนไขการซื้อขายข้าว พร้อมกันนี้ยังมีรายงานข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาว่า บริษัทเม้งไต๋ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (99.99%) ในบริษัทเอ็มทีฯมีคดีความฟ้องร้องในเรื่องการโกงข้าวกับธนาคารอยู่ด้วย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากจังหวัดสกลนครเข้ามาว่า ในวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาโรงสีข้าวในท้องที่ที่ติดต่อซื้อข้าวเหนียว 10% จาก "มิสเตอร์เฉิน" ได้นำรถไปรับข้าวที่คลังศรีสกล จนถึงเวลา 17.00 น. มีการส่ง Fax เอกสารจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ให้เปิดคลัง ซึ่งบรรจุข้าวสารเหนียว 10% ปริมาณ 85,000 กระสอบ โดยขายกระสอบละ 2,450 บาท จากราคาที่ซื้อมาจากรัฐบาล 2,000 บาท เท่ากับกำไร 450 บาท/กระสอบ รวมปริมาณ 38 ล้านบาท โดยผู้ซื้อจะทยอยรับมอบข้าวไปจนครบ 85,000 กระสอบ ภายใน 1 เดือน ไม่จำเป็นต้องขนส่งไปในคราวเดียว สามารถแบ่งจ่ายข้าวในแต่ละครั้งเป็นงวด ๆ ได้

"การเปิดคลังขายข้าวเหนียว 10% ครั้งนี้น่าสงสัยมาก เพราะบริษัทเอ็มทีฯคงไม่สามารถทำสัญญาซื้อข้าวกับ อคส.ทันภายใน 2 วัน ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ และท่านไตรรงค์ก็เพิ่งเซ็นอนุมัติให้ขายข้าวได้ในวันที่ 24 กันยายน เข้าใจว่าบริษัทเอ็มทีฯคงจะหมุนเงินก่อน ด้วยการเลือกขายข้าวเหนียวที่ราคาดี เพราะคนซื้อข้าวขาว 5% กับข้าวปทุมธานียังไม่ได้รับการติดต่อให้ไปขนข้าวในคลัง อ.ต.ก./อคส.จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทเอ็มทีฯอาจจะขอรับมอบข้าวก่อนทำสัญญาหรือไม่เพราะไม่สามารถหาหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันข้าวมากกว่า 1 ล้านตันคราวเดียวกันได้หมด นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อมือขวาของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯในอดีตออกมาช่วยขายข้าวให้ด้วย"

ล่าสุดผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ติดต่อไปยังนายจุ้งเซียง เฉิน กรรมการบริหาร บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด และบริษัทเม้งไต๋ จำกัด แจ้งว่า วันนี้ (28 กันยายน) กำลังเข้าพบกับผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) เพื่อขอเลขที่สัญญา ซึ่งจะนำไปขอหนังสือหลักทรัพย์ค้ำประกัน (L/G) จากสถาบันการเงินหลายแห่ง แต่ว่าทางกระทรวงพาณิชย์เกรงว่าจะกระทบต่อราคาตลาดจึงให้ดำเนินการอย่างเงียบ ๆ และเป็นความลับ

"หลังจากได้เลขสัญญาเพื่อออก L/G แล้วก็ยังต้องรอก่อน ผมขนข้าวทันทีไม่ได้ ต้องรอให้รัฐวิสาหกิจจีนทำหนังสือมาถึงรัฐบาลไทยขอให้ขยายระยะเวลารับมอบข้าวเพราะขนไม่ทัน ผมซื้อข้าว 1.1 ล้านตัน ก็ต้องขน 60 วัน จะซื้อ 1.6 ล้านตัน ก็ต้องขน 60 วัน ทางรัฐวิสาหกิจจีนออร์เดอร์มา ผมทำหน้าที่แค่ซื้อหน้าคลัง ส่งของลงเรือก็จบแล้ว เป็นคนกลางเท่านั้น ส่วนเรื่องแบล็กลิสต์กับธนาคารไทยพาณิชย์เป็นความลับของธนาคารกับลูกค้า" นายเฉินกล่าว

ประชาชาติธุรกิจ, 30 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4249

Tuesday, September 21, 2010

สะพัดวงการส่งออก เครือข่าย"วังน้ำยม"เร่ขายข้าวรัฐ 2 ล้านตัน กะฟันกำไร 6 พันล้าน ให้จ่ายล่วงหน้า10%

สะพัดวงการส่งออก เครือข่าย"วังน้ำยม"เร่ขายข้าวรัฐ 2 ล้านตัน กะฟันกำไร 6 พันล้าน ให้จ่ายล่วงหน้า10%

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 อ้างว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกและโรงสีหลายรายได้รับการติดต่อโดยตรงจากบริษัทเม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนลเทรด จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งได้รับอนุมติใจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้ซื้อข้าวจากสต็อกของรัฐ เกือบ 2 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นซื้อข้าวจากโกดังขององค์การตลาดเพื่อเกษตร(อ.ต.ก.) จำนวน 1.1 ล้านตันและโกดังขององค์การคลังสินค้า(อคส. )อีกเกือบ 1 ล้านตัน


แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีตัวแทนค้าขายข้าว(หย๋ง)ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นของบริษัทเม้งไต๋ฯ เสนอให้ขายข้าวต่อที่ได้รับการอนุมัติเป็นรายคลังในราคาที่สูงกว่าประมูลซื้อได้จากภาครัฐ อาทิ ข้าวขาว 5% ในตันละ 1.34-1.35 หมื่นบาท สูงกว่าราคาที่รัฐอนุมัติขายที่ตันละ 1.2 หมื่นบาท ข้าวเหนียว 10% ในราคาตันละ 2.3-2.5 หมื่นบาท สูงกว่าราคาที่รัฐขายที่ตันละ 2 หมื่นบาท ข้าวหอมปทุมธานี ราคาตันละ 1.85-1.9 หมื่นบาท ที่ซื้อจากรัฐบาลตันละ 1.68 หมื่นบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ศซื้อข้าวจากรัฐกำไรส่วนต่างตันละ 1,000-3,000 บาท ถ้าบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด สามารถขายข้าวรัฐที่ซื้อมาได้ทั้งหมดเกือบ 2 ล้านตันจะมีกำไร 2,000-6,000 ล้านบาท


แหล่งข่าวกล่าวว่า บริษัทเม้งไต๋ ฯได้วางเงื่อนไขให้ผู้ซื้อต้องวางเงินค้ำประกันค่าข้าว 10% ซึ่งเชื่อว่า เป็นการระดมเงินเพื่อนำไปวางค้ำประกันค่าข้าว 5% ที่จะครบกำหนดทำสัญญาซื้อขายและวางเงินค้ำประกันที่จะครบกำหนด 10 วันภายในกลางสัปดาห์นี้


"ที่น่าวิตกคือข้าวจำนวนมากไม่น่าจะจัดส่งได้ทันตามเงื่อนไขภายใน 60 วัน เพราะจะทำให้ตัวเลขการส่งออกต่อเดือนสูงถึง 1 ล้านตันจากปกติส่งออกได้ 6-7 แสนตันเท่านั้น ทำให้วงการวิตกเรื่องการนำข้าวออกเวียนภายในประเทศเพื่อทำกำไรและไม่ผิดเงื่อนไขรัฐ แต่จะกระทบต่อราคาข้าวในประเทศอย่างมาก เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งตรวจสอบ และทราบในวงการว่ าเม้งไต๋ ฯมีการร่วมทุนกับบริษัทกว่างต่ง เซ้งไท่ ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กไม่น่าจะส่งออกได้จำนวนเป็นล้านตันต่อเดือน และการส่งออกไปจีนก็ไม่ต้องเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต(LC) จะใช้การเก็บเงินหลังรับมอบข้าวแล้ว "แหล่งข่าวกล่าว


แหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกที่ได้รับการอนุมัติซื้อข้าวจากรัฐ 3-4 รายได้ทำหนังสือขอเพิ่มระยะเวลาการขนย้ายข้าวจากเดิม 60 วันเป็น 150 วัน และบางรายขอเลื่อนการวางเงินค้ำประกันไปอีก 1 สัปดาห์อ้างเอกสารไม่ครบ


นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ายังไม่รับทราบเรื่องดังกล่าว และไม่เชื่อว่า บริษัทได้ข้าวรัฐจะนำไปขายต่อ เพราะก่อนอนุมัติขายก็ต้องมีใเอกสารคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งราคาข้าวที่อนุมัติขายก็ใกล้เคียงกับราคาตลาด ตอนที่อนุมัติข้าว 5% ราคาตันละ 12,000 บาท ราคาตลาด 12,800 บาท ไม่กระทบต่อราคาในตลาดและรัฐลดภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ 720 บาท/ตัน/เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 มีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท หนึ่งในคณะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามคือ น.ส.ภาวินี จารุมนต์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มครอบครัว"เทพสุทิน"ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม พรรคภูมิใจไทย ต้นสังกัดของนางพรทิวา นาคาสัย โดยน.ส.ภาวินีและครอบครัว"จารุมนต์" เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัทของครอบครัว"เทพสุทิน"หลายบริษัท เช่น


บริษัท ดี แลนด์ เพอร์เฟคที่ นายเทิดไท-น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน บุตรชายและบุตรสาวของนายสมศักดิ์ เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท(ประกอบธุรกิจโรงแรม บาร์ คาราโอเกะ) โดย มีน.ส.ภาวินี จารุมนต์ เป็นผู้ถือหุ้น,


บริษัท เมก้า แลนด์ ประกอบธุรกิจค้าทอง มีนายเทิดไท เทพสุทินและ นายภเชศ จารุมนต์ เป็นกรรมการผู้อำนาจของบริษัท ทั้งนี้ ยังมี นายเทิดไท เทพสุทิน น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน นางพร เทพสุทิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ น.ส.ธราพัน จารุมนต์ และนายภเชศ จารมนต์ เป็นผู้ถือหุ้น

นอกจากนั้นนายสุนทร จารุมนต์ ยังเป็นกรรมการบริหารสนามกีฬาไก่ชนเทิดไท อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการซึ่งเป็นสนามไก่ชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไไทยของครอบครัว"เทพสุทิน"ด้วย


มติชนออนไลน์, 21 กันยายน พ.ศ. 2553

เปิดหลักฐานเครือข่ายกลุ่มวังน้ำยมเร่งสะสมทุน กินรวบประมูลข้าว -มันเส้นมูลค่า15,000 ล้าน

เปิดหลักฐานเครือข่ายกลุ่มวังน้ำยมเร่งสะสมทุน กินรวบประมูลข้าว -มันเส้นมูลค่า15,000 ล้าน

กลุ่มวังน้ำยมที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน (อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพราะคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งการยุบพรรค) เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกับกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ จัดตั้งพรรคภูมิใจไทยในช่วงที่มีการพลิกขั้วเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปลายปี 2551


อย่างไรก็ตามทั้งกลุ่มนายเนวิน และกลุ่มนายสมศักดิ์ ได้ขีดเส้นแบ่งอาณาจักรในการครอบครองอำนาจกันอย่างชัดเจน

กลุ่มนายเนวินนั้นยึดหัวหาดที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม


ขณะที่กลุ่มวังน้ำยมของนายสมศักดิ์ยึดกระทรวงพาณิชย์เป็นฐานที่มั่น และส่งนางพรทิวา นาคาสัย เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวง


แน่นอนว่า กระทรวงพาณิชย์อุดมด้วยผลประโยชน์มากมายโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่อยู่ในมือของรัฐจำนวนมหาศาลอันเกิดจากรับซื้อตามโครงการแทรกแซงราคาพืชผลสารพัดโครงการ


เมื่อเป็นเช่นนี้ มีหรือที่นักการเมืองมือเก๋าและรู้เส้นทางทำกินเป็นอย่างดีจะปล่อยให้โอกาสหลุดลอย จึงมีข่าวอื้อฉาวในกระทรวงนี้เป็นระยะๆ


ล่าสุดพบว่า การขายข้าวของรัฐที่ฝากไว้กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 1.5 ล้านตันมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 และการประมูลมันเส้นในสต็อกของรัฐบาลกว่า 250,251 ตัน มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาทตามนโยบายการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/52 เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 เครือข่ายกลุ่มวังน้ำยมต้นสังกัดของนางพรทิวา นาคาสัย เป็นผู้ชนะการประมูลแบบชนิดกินรวบ!!


หนึ่ง ในการขายข้าวของรัฐที่ฝากไว้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 1.5 ล้านตัน มูลค่า ประมาณ 20,000 ปรากฎว่า คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ซึ่งมีนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้พิจารณาคัดเลือกผู้เสนอซื้อ 4 ราย ได้แก่ บริษัท ไชยพร บริษัท นครหลวงค้าข้าว และบริษัท เอเชียโกลเด้นท์ไรซ์ บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ซึ่งเสนอซื้อข่าวในราคาตันละ 12,000-16,085 บาท ทั้งนี้ 3 บริษัทแรก เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่และเป็นที่รู้จักในวงการค้าข้าวเป็นอย่างดี ได้ข้าวไปเพียง 4 แสนตัน


ขณะที่ บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ซึ่งเป็นบริษัทโนเนมระบุตามบริคนห์สนธิว่ามีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท จัดตั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2551ได้รับข้าวไปถึง 1.1 ล้านตัน ซึ่งมีการอ้างว่า คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ซึ่งมีนายมนัส สร้อยพลอยได้เสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบแล้ว


แต่ผู้อำนวยการ อ.ต.ก.ยังไม่ยอมลงนามในสัญญาเนื่องจากมีผู้ส่งออก 2 รายร้องเรียนมาที่ อ.ต.ก.กล่าวหาว่า การอนุมัติขายครั้งนี้ไม่โปร่งใส และมีการทำผิดขั้นตอนการระบายข้าว คือไม่มีการเผยแพร่หรือแจ้งผู้ประกอบการว่า รัฐจะมีการระบายข้าว แต่หากมีการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจการอนุมัติก็จะเรียกเอกชนมาทำสัญญาทันที" นายมนูญรัตน์กล่าว


จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด เป็นใครมาจากไหน

หากให้บริษัทในลักษณะเช่นนี้กวาดข้าวในสต็อกของรัฐไปอยู่ในมือทั้งหมดจะเกิดการผูกขาดและการทุจริตเช่นเดียวกับบริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้งกวาดข้าวในสต็อกของรัฐไปถึง 2 ล้านตัน ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร(ขณะที่ข้าวในสต็อกของรัฐที่ยังอยู่ในมือองค์การคลังสินค้าหรืออคส. อีกกว่า 4 ล้านตัน)


จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ประกอบธุรกิจ ค้าปุ๋ย ค้าข้าว พืชผลทางการเกษตร และปรับปรุงคุณภาพข้าว มีนายจุ้ง เชียง เฉิน นางสุพรรณี เฉินและ น.ส.ภาวินี จารุมนต์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552


กุญแจสำคัญของกรณีนี้อยู่ที่ น.ส.ภาวินี จารุมนต์ ซึ่งนอกจากจะเป็นกรรมการบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรดแล้ว ยังเป็นกรรมการในบริษัท เม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วย


"มติชนออนไลน์"ตรวจสอบข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้าพบว่า น.ส.ภาวินี จารุมนต์และครอบครัว"จารุมนต์"เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทในกลุ่มของครอบครัว"เทพสุทิน"ของนายสมศักดิ์ เทพสุทินหลายบริษัท เช่น


บริษัท ดี แลนด์ เพอร์เฟคที่ นายเทิดไท-น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน บุตรชายและบุตรสาวของนายสมศักดิ์ เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท(ประกอบธุรกิจโรงแรม บาร์ คาราโอเกะ) โดย มีน.ส.ภาวินี จารุมนต์ และนายทรงยศ สำรวยแสง (ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ซิลเวอร์สยาม ร่วมกับครอบครัวจารุมนต์) ถือหุ้นรายละ 1%

บริษัท เมก้า แลนด์ ประกอบธุรกิจค้าทอง มีนายเทิดไท เทพสุทินและ นายภเชศ จารุมนต์ เป็นกรรมการผู้อำนาจของบริษัท ทั้งนี้ ยังมี นายเทิดไท เทพสุทิน น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน นางพร เทพสุทิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ น.ส.ธราพัน จารุมนต์ และนายภเชศ จารมนต์ เป็นผู้ถือหุ้น


ขณะเดียวกัน ครอบครัว"เทพสุทิน" ยังจัดตั้ง หจก.เทิดไทฟาร์มซึ่งมี นายเทิดไท-น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน เป็นหุ้นส่วนใหญ่ะทุนจดทะเบียนกว่า 10 ล้านบาท

ธุรกิจที่รู้จักกันดีคือ สนามกีฬาไก่ชนเทิดไท อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสนามชนไก่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


สนามกีฬาแห่งนี้ มีนาย สุนทร จารุมนต์ ซึ่งว่ากันว่า เป็นสามีน.ส.ภาวินี เป็นกรรมการบริหาร

ในช่วงที่มีการจัด"มหกรรมพัฒนาไก่ชนไทย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 มีการนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นประธานเปิดงาน


นอกจากนั้นยังมี นายเนวิน ชิดชอบ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายอนุทิน ชาญวีรกูล มาร่วมงานอย่างพร้อมเพียง


จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เห็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นระหว่าง .ส.ภาวินี จารมนต์ กรรมการผู้อำนาจนามของบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรดได้รับสิทธิการซื้อข้าวถึง 1.1 ล้านตัน มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท(ผ่านคณะทำงานนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน)กับครอบครัว"เทพสุทิน"ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม

สอง การประมูลมันเส้นในสต็อกของรัฐบาลกว่า 250,251 ตัน มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาทก่อน


เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 บริษัท กาญจนาพันธ์ ฟาร์ม หนองลังกาฟาร์ม และ ไพรสะเดาฟาร์ม (ในเครือของบริษัท กาญจนาฟาร์ม จำกัด มีนายวิวัฒน์ -นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่) เข้าร่วมประมูล มันเส้นล็อตใหญ่กว่า 250,251 ตัน มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท จากโกดังของรัฐบาลซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/52


ปรากฏว่า บริษัททั้ง 3 ราย((จากผู้ยื่นประมูล 7 ราย)ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานดำเนินการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่มีนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานคณะทำงาน


จากนั้นเสนอเรื่องให้นางพรทิวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการตลาดมันสำปะหลังอนุมัติและนำเสนอ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง


จนกระทั่งมีการนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติเมื่อวันที่ 24 สิหงาคม 2553 ที่ผ่านมา

สำหรับความเป็นมาของ นางบุญยิ่ง นิติกาญจนานั้น คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2553 มีมติแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานางพรทิวา นาคาสัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นางบุญยิ่ง มีสามีชื่อนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จ.ราชบุรีเขต 2 สังกัดกลุ่มวังน้ำยมที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นหัวหน้ากลุ่ม

เมื่อนายสมศักดิ์แยกออกมาตั้งพรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้ให้นายวิวัฒน์ เป็นรองหัวหน้าพรรค(เนื่องจากนายสมศักดิ์ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพราะคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งการยุบพรรคไทยรักไทย) มีนางพรทิวา เป็นเลขาธิการพรรค

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นางบุญยิ่ง ภรรยานายวิวัฒน์(ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย)ได้รับแต่งตั้งเป็นกุนซือของนางพรทิวา

(ดู "แกะรอยประมูลมันเส้นฉาว "กาญจนาฟาร์ม & กาญจนพันธ์ฯ" ยึดหัวหาด กวาดเรียบ 2.5 แสนตั" ในมติชน, 13 กันยายน 2553 หรือ มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1284370023&grpid=01&catid=00)

จากพฤติการณ์ทั้ง 2 กรณี ชัดเจนว่า มีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งแม้จะยังไม่มีกฎหมายหรือข้อห้ามเป็นความผิดชัดเจน เว้นแต่จะมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือพิสูจน์ได้ว่า ผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติมีส่วนรู้เห็น สนับสนุนหรือ บงการในทั้งสองกรณี

แต่ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า พฤติการณ์ดังกล่าวาเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เพราะการที่ผู้เข้าประมูลและชนะการประมูลเป็นบริษัทในเครือของของที่ปรึกษารัฐมนตรีและบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับต้นสังกัดของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ทำให้อาจมีการ"ฮั้ว" สมยอมราคาหรือตกลงราคากัน หรือมีการใช้อิทธิพลแทรกแซงการตัดสินของคณะทำงานที่เป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ได้


นอกจากนั้น ยังเห็นชัดว่า ผู้มีอำนาจทั้งในกระทรวงพาณิชย์และในรัฐบาลพยายามปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ

จนกระทั่งสื่อมวลชนขุดคุ้ยและนำความจริงมาเปิดเผย จึงเห็นสายสัมพันธ์ของบริษัทที่เข้าประมูลกับผู้มีอำนาจทางการเมืองอย่างล่อนจ้อน


มติชนออนไลน์, 20 กันยายน พ.ศ. 2553

Sunday, July 25, 2010

จับพิรุธ"เรือเหาะ"ส่อเป็น"เรือเหี่ยว" เผยเจอรูรั่ว จ่อส่งซ่อมก่อนใช้!

จับพิรุธ"เรือเหาะ"ส่อเป็น"เรือเหี่ยว" เผยเจอรูรั่ว จ่อส่งซ่อมก่อนใช้!

มีรายงานจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ระบุว่า กองทัพบกได้ลงนามตรวจรับเรือเหาะตรวจการณ์ "สกายดรากอน" ที่สั่งซื้อมาในราคา 350 ล้านบาทแล้ว ทั้งๆ ที่ยังพบปัญหาอีกหลายประการ โดยเฉพาะรูรั่ว ถึงขนาดอาจต้องส่งซ่อมหรือขอเปลี่ยนลำใหม่จากทางบริษัทผู้จำหน่ายโดยที่ยังไม่ได้เริ่มใช้ แม้จะสั่งซื้อมานานกว่า 1 ปีแล้วก็ตาม

เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ก.ค.2553 ที่ท่าอากาศยานปัตตานี หรือสนามบินบ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะและระบบตรวจการณ์ทางอากาศของกองทัพบก (ทบ.) ได้ลงนามตรวจรับเรือเหาะทั้งระบบแล้ว หลังจากได้นำเรือเหาะขึ้นบินทดสอบเป็นครั้งสุดท้ายพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำที่ติดตั้งกล้องจับภาพระยะไกล โดยมีการเชื่อมสัญญาณภาพมายังเครื่องรับสัญญาณภาคพื้น

การตรวจรับครั้งนี้เป็นการตรวจรับเฉพาะในส่วนของเฮลิคอปเตอร์กับกล้องจับภาพเท่านั้น เนื่องจากส่วนของตัวเรือเหาะ (บอลลูน) คณะกรรมการได้ตรวจรับไปแล้วเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา

มีข่าวว่า ตามกำหนดการเดิม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันศุกร์ที่ 23 ก.ค.ด้วย เพื่อตรวจรับเรือเหาะทั้งระบบด้วยตนเอง แต่เมื่อถึงเวลาได้ยกเลิกกำหนดการเดินทางอย่างกระทันหัน และมอบหมายให้ พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายส่งกำลังบำรุง (ผช.เสธ.ทบ.ฝกบ.) เป็นผู้ตรวจรับเรือเหาะแทน

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า การตรวจรับเรือเหาะครั้งนี้มีความพยายามดำเนินการให้เสร็จสิ้น ก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์ จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.2553 ทำให้ทางกองทัพบกต้องเร่งรีบดำเนินการรับมอบเรือเหาะ แม้ว่าอุปกรณ์หลายๆ ส่วนโดยเฉพาะตัว "บอลลูน" จะยังอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งานจริงก็ตามที

มีรายงานว่า จากการทดสอบเรือเหาะทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะครั้งล่าสุด พบว่าเรือเหาะมีรอยรั่วซึมหลายจุด ส่งผลให้ไม่สามารถบินสูง 10,000 ฟิต (3 กิโลเมตร) ได้ตามที่กำหนดในสเปค คณะกรรมการของกองทัพบกจึงได้ประชุมร่วมกับตัวแทนของบริษัทผู้จัดจำหน่าย และเสนอให้ทางบริษัทนำเรือเหาะลำใหม่มาเปลี่ยนให้กองทัพบกไทย แต่เบื้องต้นทางบริษัทอ้างว่า หากต้องการลำใหม่จะต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน จึงเสนอให้ส่งซ่อม

ด้วยเหตุนี้แม้คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะของกองทัพบกจะตรวจรับเรือเหาะทั้งระบบแล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้งานจริงได้ เพราะต้องรอซ่อมแซมตัวเรือเหาะหรือเปลี่ยนเรือเหาะลำใหม่เสียก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน หรือถ้าจะนำขึ้นบิน ก็ต้องบินเฉพาะบริเวณเหนือค่ายทหาร หากบินออกไปด้านนอกจะเสี่ยงอันตรายมาก เนื่องจากระบบเรือเหาะทำเพดานบินได้แค่ 3,000 ฟิต (1 กิโลเมตร)

มีรายงานด้วยว่า ในท้ายเอกสารการตรวจรับเรือเหาะ คณะกรรรมการตรวจรับฯได้เขียนข้อเสนอเป็นความเห็นเพิ่มเติมว่า สภาพของเรือเหาะยังไม่สามารถใช้งานได้อย่าสงสมบูรณ์ จึงขอให้บริษัทนำไปตรวจสอบซ่อมปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ที่สหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ออกมาระบุว่า หากกองทัพบกลงนามตรวจรับเรือเหาะทั้งๆ ที่ยังมีปัญหา จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทันที

ย้อนรอย"เรือเหาะฉาว"

กองทัพบกโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้งบประมาณจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ทำสัญญาซื้อ “ระบบเรือเหาะตรวจการณ์” จาก บริษัทเอเรียล อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน (Arial International Cooperation) ในราคา 350 ล้านบาท โดยเรือเหาะลำนี้ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่น Aeros 40D S/N 21 หรือ สกาย ดรากอน (SKY DRAGON)

สำหรับข้อมูลจำเพาะของเรือเหาะลำนี้ คือรุ่น Aeros 40D S/N 21 (SKY DRAGON) ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร) ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ 0 -10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมง

เกณฑ์การสิ้นเปลือง ณ ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย (นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย)

ทั้งนี้ หลังจากเรือเหาะถูกส่งถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ปีที่แล้ว ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกไปฝึกการใช้งานเรือเหาะตรวจการณ์กับทางบริษัทผู้ผลิต และได้มีการก่อสร้างโรงจอดที่กองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อโรงจอดสร้างเสร็จ จึงเคลื่อนย้ายเรือเหาะไปไว้ที่โรงจอดดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 2552 และเริ่มทดลองใช้ ทว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถปฏิบัติงานจริงได้

ที่ผ่านมามีข้อสังเกตจากบุคคลในแวดวงธุรกิจเรือเหาะว่า ราคาเรือเหาะที่กองทัพจัดซื้อน่าจะแพงเกินไป เพราะเรือเหาะของบริษัทแอร์ชิป เอเซีย ที่นำเข้าและจดทะเบียนก่อนที่กองทัพจะจัดซื้อ และมีขนาดใกล้เคียงกับเรือเหาะ “สกาย ดรากอน” นั้น มีราคาเพียง 30-35 ล้านบาทเท่านั้นเอง แต่เรือเหาะของกองทัพบก เฉพาะตัวบอลลูนอ้างว่ามีราคาสูงถึง 260 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเรือเหาะตรวจการณ์ว่าอาจเป็น "สินค้ามือสอง" เพราะสั่งซื้อและได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือน ทั้งๆ ที่หากเป็นของใหม่จะต้องใช้เวลาสร้างอีกร่วม 1 ปี ขณะเดียวกันก็ยังมีกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับราคาเติมก๊าซฮีเลี่ยมที่สูงถึง 3 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เรือเหาะลำใกล้เคียงกันเติมเพียงครั้งละ 7-8 แสนบาท

ที่สำคัญการตัดสินใจซื้อ "ระบบเรือเหาะตรวจการณ์" มาใช้ในภารกิจแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่ต้นถึงความเหมาะสมในแง่ยุทธการและความคุ้มค่า โดย อดีตนายทหารระดับสูงหลายนายอย่าง พล.อ.หาญ ลีนานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองทัพไทย ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อ "ระบบเรือเหาะตรวจการณ์" อย่างรุนแรงว่า ไร้ประโยชน์ในทางยุทธการ ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขาอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกยิงตกด้วย

(เรื่องและภาพ โดย ทีมข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา)

มติชนออนไลน์, 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280034518&grpid=01&catid=

Monday, June 21, 2010

เปิดถุงเงิน"เนวิน"พบ บ.เมีย-เครือข่ายรับเหมาถนนไร้ฝุ่น ทางหลวงภาคเหนือ อีสานอื้อ 44 โครงการ300 ล้าน

เปิดถุงเงิน"เนวิน"พบ บ.เมีย-เครือข่ายรับเหมาถนนไร้ฝุ่น-ทางหลวงภาคเหนือ-อีสานอื้อ 44 โครงการ300 ล้าน

เปิดถุงเงินล่าสุด "เนวิน-เมีย" บริษัทเครือข่ายรับเหมาถนนไร้ฝุ่น บุรีรัมย์ 4 โครงการ 85 ล้าน พ.ย52-มี.ค. 53 กวาดงานกรมทางหลวง อปท.ในอีสาน เชียงใหม่ 44 โครงการ เกือบ 300 ล้าน ขณะที่ บ.เครือรัฐมนตรีไม่น้อยหน้ฟาด100 ล้าน

โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่นของกระทรวงคมนาคมภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ไทยเข้มแข็ง)ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคภูมิใจไทย ส่อมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interests) เมื่อพบว่าผู้รับเหมาใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย เข้าไปเกี่ยวข้อด้วย อย่างน้อย 4 โครงการ รวมวงเงิน 85.5 ล้านบาท

1. โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น สายแยกทางหลวงหมายเลข 2144-บ้านคำแก้ว สำนักงานทางหลวงชนบทหนองคาย ได้ทำสัญญาว่าจ้าง หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2552 วงเงิน 16,136,000 บาท

2.โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น สายแยกทางหลวงหมายเลข 212-บ้านโนนสะแบง สำนักทางหลวงชนบทที่15 (อุดรธานี) ได้ว่าจ้าง หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2552 วงเงิน 31,080,000 บาท

3.โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น สายแยก ทล.219 บ้านหลัก (ตอนที่1) ต.หนองบอน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 5 ได้ว่าจ้าง หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2552 วงเงิน 19,882,000 บาท

4.โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น แยก ทล.219-บ้านหลัก (ตอนที่ 2 )ระยะทาง 4901 กม สำนักงานทางหลวงชนบท ได้ว่าจ้าง หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2552 วงเงิน 24,938,000 บาท

จากการตรวจสอบพบว่า หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2524 ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1.5 ล้านบาท มีหุ้นส่วน 3 คนคือ 1.นายทรงศักดิ์ ทองศรี อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนสวนกุหลาบกับนายเนวิน ชิดชอบ 2.นายเสริมศักดิ์ ทองศรี พี่ชายนายทรงศักดิ์ และ 3.นายเพิ่มพูน ทองศรี ส.ส.สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย พี่ชายนายทรงศักดิ์

ที่ตั้งเลขที่ 195 หมู่ที่ 2 ถนนโชคชัย-เดชอุดม ตำบลประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นางสาวเพชรรัตน์ ห่วงประโคน นางปัทมา ภาสดา คนละ 5 ล้านบาท และนายวิชัย ปิยมิตรธรรม ถือหุ้น 50 ล้านบาท

นอกจากงานในกรมทางหลวงชนบท ในช่วงปีงบประมาณ 2553 (เริ่มตุลาคม 2552) เป็นต้นมา จนถึงเดือนมีนาคม 2553 หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้างยังได้งานรับเหมาอื่นในกรมทางหลวงชนบทอีก 19 โครงการ รวมวงเงิน 56.8 ล้านบาท อาทิ

ก่อสร้างซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลติกคอนกรีต ถนนสายนค.3024แยกทางหลวงหมายเลข212-บ้านโนนจำปาทองอ.บึงกาฬ,เซกาจ.หนองคายระยะทาง 6.2 กิโลเมตร วงเงิน 17.3 ล้านบาท ( 25 ก.พ. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านโคกเมือง-บ้านจรเข้มาก ต.จรเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 2.4 กม. วงเงิน 8.5 ล้านบาท (2 มี.ค. 2553)

งานปรับปรุงทางแยกและจุดเชื่อมต่อสามแยก เส้นทางสายบร.3011 แยกทางหลวงหมายเลข 219-บ้านโคกขมิ้น อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.1 กม. วงเงิน 1.3 ล้านบาท (24 มี.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนสาย บ้านห้วยเสลา-บ้านโนนเสน่ห์ ต.หนองบอน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.525 กม. วงเงิน 1,898,200 บาท (29 ธ.ค. 2552)

ซ่อมสร้างถนนสาย บ้านสี่เหลี่ยม-บ้านโคกสะอาด ต.เขาคอก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ วงเงิน 1,898,600 บาท (29 ธ.ค. 2552)
ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายแยก ทล.219-บ้านโคกขมิ้น ต.โคกขมิ้น อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.6 กม. วงเงิน 1,747,000 บาท (11 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายแยก ทล.224-บ้านสายโท 6ใต้ ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.675 กม. วงเงิน 1,898,200 บาท (11 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านแท่นบัลลัง-บ้านดอนอะราง ต.ทรัพย์พระยา อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง0.7 กม. วงเงิน 1,898,600 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านผักหวาน-บ้านเจริญสุข ต.ถนนหัก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.65 กม. วงเงิน 1,898,500 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง สายบ้านสันติสุข-บ้านโคกตาด้วง ต.สำโรงใหม่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.9กม. วงเงิน 1,898,700 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายอ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์-อ.ตาพระยา-บ้านซับคะนิง ต.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ระยะทาง 0.69 กม. วงเงิน 1,900,000 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านโคกใหม่-บ้านโคกตาด้วง ต.สำโรงใหม่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.925 กม. วงเงิน 1,900,000 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านปากช่อง-บ้านหนองแวง ต.หนองแวง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.7 กม. วงเงิน 1,897,000 บาท (21 ม.ค. 2553) เป็นต้น

ไม่รวมโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวง ในจ.บุรีรัมย์ อีก 3 โครงการ รวมวงเงิน 92.4 ล้านบาท กรมทรัพยากรน้ำ 2 โครงการ ประมาณ 4 ล้านบาท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อบต.ในจ.บุรีรัมย์) 16 โครงการ วงเงินกว่า 40 ล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 290 ล้านบาท

หจก.ศรีประโคนชัยฯแจ้งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ในปี 2551 มีรายได้ 212.3 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4.2 ล้านบาท

จากการตรวจสอบพบอีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด ของนายคะแนน สุภา พ่อตานายเนวิน และมีนางกรุณา ชิดชอบ ภรรยานายเนวิน ถือหุ้น 18.1 ล้านบาท จาก 500 ล้านบาท ได้งานรับเหมาในกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ใน จ.เชียงใหม่ และ ลำพูนอย่างน้อย 3 โครงการ มูลค่า 32 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่า หจก.ท่าราบก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวนายมานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้งานรับเหมาก่อสร้างถนนไร้ฝุ่นใน จ.สมุทรสงคราม และราชบุรี อย่างน้อย 2 โครงการ มูลค่า 15.6 ล้านบาท และโครงการอื่นๆอีก 12 โครงการ

อาทิ โครงการก่อสร้างถนนลาดยาง AC สายเลียบคลองชลประทานดี 3 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 4.2 ล้านบาท (8 เม.ย. 2553) โครงการก่อสร้างขยายไหล่ทาง AC สาย สค.4011-แยก ทล.3097 - บ้านกระทุ่มแบน ระยะทาง 3.2 กม. วงเงิน 6.3 ล้านบาท (21 พ.ค. 2553) เป็นต้น
รวมทั้งสิ้น 104 ล้านบาท

มติชนออนไลน์, 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Tuesday, June 8, 2010

"บีทีเอส-เซ็นทรัล-คิง เพาเวอร์" เอี่ยวมาตรการเยียวยาพิษม็อบการเมือง ยืดอายุสัมปทาน-ชดเชยรายได้

"บีทีเอส-เซ็นทรัล-คิง เพาเวอร์" เอี่ยวมาตรการเยียวยาพิษม็อบการเมือง ยืดอายุสัมปทาน-ชดเชยรายได้

การชุมนุมทางการเมืองที่บานปลายจนเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงเทพมหานครช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจาก จะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้แล้ว ยังส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วประเทศ เนื่องจากธุรกิจหลากหลายสาขาได้รับ ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาทั้งกับผู้ประกอบการ รายใหญ่และผู้ค้ารายย่อย อาทิ การอนุมัติวงเงินชดเชยรายได้แก่พนักงาน ลูกจ้าง การจ่ายเงินสนับสนุนนายจ้าง การให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดหาพื้นที่ค้าขายใหม่ การสนับสนุนวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนผันการชำระภาษี มาตรการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

ที่น่าจับตามองคือ การที่กลุ่มทุนธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจโดยได้รับสัมปทานจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจฉวยจังหวะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐพิจารณาหาทางช่วยเหลือกิจการที่ได้รับสัมปทาน

เริ่มจาก "กลุ่มเซ็นทรัล" ของตระกูล "จิราธิวัฒน์" ยื่นข้อเสนอขอต่ออายุสัญญาเช่าที่ดิน 47 ไร่ บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน ทำเลที่ตั้งของห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ออกไปอีก 1 ปี จากสัญญาเช่า 20 ปี เป็น 21 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดสัญญาเช่าปี 2571 เลื่อนเป็น 2572 พร้อมกับขอเลื่อนการรีโนเวตอาคารออกไป เพื่อนำพื้นที่ห้างมาเปิดรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ประเด็นนี้แม้บิ๊กกระทรวงคมนาคมทั้ง "โสภณ ซารัมย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" ปลัดกระทรวงคมนาคม และ "ยุทธนา ทัพเจริญ" ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะผนึกกำลังกันรุมค้าน จึงต้องรอลุ้นว่าสุดท้ายจะได้รับส้มหล่นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมาหรือไม่

ขณะเดียวกันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ซึ่งได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เคลื่อนไหว เรียกร้องขอชดเชยรายได้จากที่ได้รับผลกระทบจากม็อบการเมือง โดยยื่นเรื่องผ่านผู้บริหาร กทม.เช่นเดียวกัน โดย "ธีระชน มโนมัยพิบูลย์" รองผู้ว่าฯ ระบุว่า ได้รับแจ้งจากบีทีเอสว่า ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมารายได้ลดลง 20% และ 50% ตามลำดับ โดยเฉลี่ยได้รับความเสียหายวันละ 12 ล้านบาท จึงต้องการของบฯเยียวยาจากภาครัฐกว่า 100 ล้านบาท

เจาะลึกลงไปไม่เฉพาะพิษม็อบคนเสื้อแดง เพราะ 2 ปีก่อนหน้านี้ช่วงที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือม็อบคนเสื้อเหลืองบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ แม้จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นเผาเมือง แต่กรณีดังกล่าวก็ส่งผลกระทบทั้งกับผู้ได้รับสัมปทานและผู้เช่าพื้นที่ในสนามบิน ซึ่งล่าสุดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "ทอท." ก็ได้ออกมาตรการเยียวยาโดยให้ยืดอายุสัมปทานเช่นเดียวกัน

"ปิยะพันธุ์ จัมปาสุต" ประธานคณะกรรมการ "ทอท." เผยว่า มติที่ประชุมบอร์ดเดือนมิถุนายน 2553 เห็นชอบแผนเยียวยาผู้ประกอบการซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและสนามบินที่อยู่ในความดูแลของ ทอท.ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง โดยให้ขยายสัญญาสัมปทานให้กับกลุ่มธุรกิจทั้งรายเล็ก รายกลาง และ รายใหญ่ รวมกว่า 150 สัญญา ดังนี้

กลุ่ม 1 อายุสัญญา 10 ปีขึ้นไป ขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 2 ปี 26 สัญญา แบ่งเป็น 21 สัญญาที่ไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชน เข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ในจำนวนนี้มีกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บมจ.การบินไทย บจ.บางกอก ไฟลต์ เซอร์วิสเซส ของบางกอกแอร์เวย์สรวมอยู่ด้วย ส่วนรายอื่น 6 สัญญา เข้าร่วม พ.ร.บ.ร่วมทุนต้องเสนอ ครม.อีกครั้ง

กลุ่ม 2 อายุสัญญา 8 ปีขึ้นไป ได้ต่ออีก 1 ปี 8 เดือน กลุ่ม 3 อายุสัญญา 5 ปีขึ้นไป ได้ต่ออีก 1 ปี กลุ่ม 4 อายุสัญญา 3 ปีขึ้นไป ได้ต่ออีก 8 เดือน และกลุ่ม 5 อายุสัญญา 3 ปี ได้ต่ออีก 6 เดือน

เป็นการยืดอายุสัมปทานให้โดยที่ผู้ประกอบการเองไม่ได้เรียกร้อง จนถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต

"วิชัย รักศรีอักษร" ประธานกรรมการบริหาร คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เรื่องนี้เอกชนไม่ได้ขอขยายสัญญาเพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นนโยบายของภาครัฐที่เร่งปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ เร็วไป เพราะสถานการณ์ตอนนี้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นคิง เพาเวอร์ ทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าให้รอดก่อน เรื่องรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากร

พร้อมกับย้ำว่า ตั้งแต่สุวรรณภูมิเปิดบริการ คิง เพาเวอร์ฯเจอมรสุมลูกใหญ่ถล่มอย่างต่อเนื่อง จากยุคคณะมนตรีความมั่นคงเข้ามาตรวจสอบและสั่งระงับการขายสินค้าชั่วคราวโดยอ้างว่า ผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ปิดสนามบิน 9 วัน เหตุการณ์สงกรานต์เลือดเดือนเมษายน 2552 และม็อบราชประสงค์ 2553

"บริษัทหารายได้มาใช้หนี้แต่ละเดือนยังไม่พอ ถึงวันนี้เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเมืองไทยยังจะเป็นสถานที่น่าลงทุนอย่างมีอนาคต ต่อไปหรือไม่ ดังนั้นการขยายสัญญาเผื่ออนาคตอีกหลายปีข้างหน้าซึ่งไม่มีใคร คาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกนั้น จึงไม่ได้ทำให้บริษัทร่ำรวยขึ้นมาทันทีได้" วิชัยกล่าว

ไม่รวม "ดอนเมืองโทลล์เวย" ที่ส้มหล่นจากที่กรมทางหลวงต่ออายุสัมปทานให้ 11 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดสัญญาปี 2564 เป็นปี 2577 แลกกับการที่บริษัทยกเลิกการฟ้องร้องจากที่บริษัทระบุว่า ภาครัฐผิดสัญญา

ถือเป็นคนละเคส คนละเหตุการณ์ แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการต่ออายุสัมปทาน หรือไม่ก็ชดเชยรายได้คล้ายๆ กัน

ประชาชาติธุรกิจ, 07 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4216

Tuesday, April 20, 2010

ปูดนายหน้า "น" เร่ขายจีที 200 เสนอเงินใต้โต๊ะ"เครื่องละแสน"

ปูดนายหน้า "น" เร่ขายจีที 200 เสนอเงินใต้โต๊ะ"เครื่องละแสน"

แฉขบวนการนายหน้าเร่ขาย "จีที 200" พบเคยเดินสายให้ทดลองใช้ใน ตชด.-นิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ราคาแค่ 4-7 แสน แถมเสนอเงินใต้โต๊ะเครื่องละแสน ดีเอสไอปูดนายหน้าเป็นผู้หญิง ชื่อเล่น "น" รู้จักกันดีในแวดวงค้าอาวุธ ด้าน "บิ๊กบัง" เปิดใจจัดซื้อโปร่งใส เครื่องละ 1.2 ล้านไม่แพง หากเทียบกับชีวิตกำลังพล ยันไม่มีทุจริต เหตุเงินแค่ 2 ล้าน ไม่ต้องถึง ผบ.ทบ. อ้างไม่รู้จักกระทั่งชื่อบริษัทตัวแทนจำหน่าย

แม้จะมีคำยืนยันจากกองทัพบก ว่า การจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายปี รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง จำนวน 757 เครื่อง เป็นไปอย่างโปร่งใส และพร้อมให้ตรวจสอบก็ตาม แต่จากการเสาะหาข้อมูลของ "กรุงเทพธุรกิจ" พบว่ามีกลุ่มบุคคลพยายามเสนอขายเครื่องมือตรวจระเบิดชนิดนี้ให้แก่หน่วยงาน ด้านความมั่นคงหลายหน่วยงาน และมีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่บางหน่วยเพื่อแลกกับการจัดซื้อล็อตใหญ่ ด้วย

แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายตำรวจ ระดับสูงจากสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า การเสนอขายเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ให้แก่หน่วยงานในสังกัด ตร.นั้น หน่วยงานแรกที่ได้รับการเสนอจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยคือกองบัญชาการ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

"มีการนำมาเสนอครั้งแรกเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีสถานการณ์ในภาคใต้ ตชด.จึงเป็นหน่วยที่น่าจะมีความจำเป็นมากที่สุดในสมัยนั้น" แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวคนเดิมเผยต่อว่า ตัวแทนจำหน่ายที่มาติดต่อกับ ตชด.เป็นสุภาพสตรี และเสนอให้นำเครื่อง จีที 200 ไปทดลองใช้ โดยมีนายตำรวจระดับสูงของ ตร.ท่านหนึ่งแนะนำมาอีกที โดยราคาในขณะนั้นเครื่องละประมาณ 400,000 บาท และสุภาพสตรีที่เข้ามาติดต่อมีข้อเสนอว่า หากทางหน่วยตัดสินใจจัดซื้อ จะมีงบสำหรับช่วยเหลือด้านสวัสดิการของหน่วยด้วย

"ผมนำไปทดลองใช้ดูระยะหนึ่งก็ เห็นว่าไม่น่าจะ ใช้ได้ และตัวเครื่องก็ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ จึงปฏิเสธที่จะจัดซื้อ หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป" แหล่งข่าวกล่าว

ข้อเสนอยั่วใจ-ใต้โต๊ะเครื่อง ละแสน

ขณะที่นายตำรวจระดับสูงอีกผู้หนึ่ง ซึ่งเคยรับราชการในสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (สนว.ตร.) ให้ข้อมูลคล้ายๆ กันว่า ทางหน่วยเคยได้รับการเสนอให้จัดซื้อเครื่อง จีที 200 เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ขณะนั้นราคาเครื่องละ 700,000 บาท โดยคนที่มาติดต่อยื่นเงื่อนไขว่า หากจัดซื้อจริง และซื้อล็อตใหญ่ไปใช้ในภารกิจภาคใต้ จะมีค่าคอมมิชชั่นให้เครื่องละ 100,000 บาท

"ผมพิจารณาดูแล้วมันไม่ใช่ วิทยาศาสตร์ มันไม่มีหลักการอะไรรองรับเลย ราคาแค่แสนเดียวก็แพงมากแล้ว จึงตัดสินใจไม่ซื้อ ทางคนที่มาขายก็คะยั้นคะยอ บอกว่าถ้าซื้อจะให้เครื่องละแสน ผมก็บอกว่าเงินน่ะผมอยากได้ แต่ผมอาจจะติดคุก ผมเลยไม่เอา" นายตำรวจระดับสูง กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดี พิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า สุภาพสตรีที่เดินสายเสนอขายเครื่อง จีที 200 นั้น เป็นที่รู้จักกันดีในวงการค้าอาวุธ สุภาพสตรีรายนี้มีชื่อเล่นว่า "น" เคยไปเสนอขายเครื่อง จีที 200 และเครื่องลักษณะเดียวกันให้กับอีกหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยตำรวจ

"บิ๊กบัง"ยัน ทบ.โปร่งใส-เพิ่งรู้ชื่อบริษัท

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (อดีต ผบ.ทบ.) ซึ่งเคยอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว "เครือเนชั่น" ว่า สมัยเขาเป็น ผบ.ทบ.จัดซื้อไป 2 เครื่อง และอนุมัติอีก 24 เครื่อง แต่ว่าได้รับสินค้าในช่วงหลัง ซึ่งกระบวนการจัดซื้อเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง มีคณะกรรมการตรวจสอบได้แก่ เจ้ากรมยุทธการทหารบก เจ้ากรมกรมส่งกำลังบำรุง กรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และหน่วยที่ใช้งาน

"เรื่องราคาก็โอเค ต้องยอมรับนะว่าสมัยที่เราซื้อมันเครื่องละล้านสอง (1,200,000 บาท) แต่บริษัทผมไม่รู้จัก เพิ่งรู้ชื่อเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ผมอนุมัติในหลักการด้วยซ้ำไป ผบ.ทบ.อนุมัติในหลักการ แต่กระบวนการรายละเอียดต้องไปว่ากันจากข้างล่าง เพราะเงินแค่ 2 ล้านกว่าบาท ไม่จำเป็นที่ ผบ.ทบ.ต้องไปอนุมัติ" พล.อ.สนธิ กล่าว และว่าเรื่องราคาไม่ควรนำมาพูดกัน เพราะเทียบไม่ได้กับชีวิตกำลังพล

โพลล์ชี้ชาวบ้านสับสนข้อมูล"จี ที200"

ด้านสวนดุสิตโพล ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 โดยสุ่มตัวอย่างประชาชน 1,260 คน ระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ. ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 39.23 มีความรู้สึกสับสน ว่า จีที 200 ใช้ได้หรือไม่ได้กันแน่ เนื่องจากรัฐบาลและทหารให้ข้อมูลขัดแย้งกัน ร้อยละ 27.20 อยากรู้ข้อเท็จจริง และไม่ควรปิดบังข้อมูล ร้อยละ 19.83 ระบุว่าอยากให้ตรวจสอบที่มาที่ไปของการจัดซื้ออย่างละเอียด และร้อยละ 13.74 ระบุว่าเมื่อดูผลการทดสอบกับราคาที่ซื้อมา คิดว่าไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร

เมื่อถามว่าควรใช้เครื่องจีที 200 ต่อไปหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 52.38 บอกว่าไม่ควรใช้ เพราะผลจากการทดสอบพบว่าเครื่องไม่มีความแม่นยำพอ ไม่ควรนำชีวิตของประชาชนไปเสี่ยง ร้อยละ 25.71 ระบุว่าควรใช้ต่อไป เพราะทหารได้ออกมายืนยันแล้วว่าเครื่องนี้สามารถใช้งานได้และมีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้อยละ 21.91 ยังไม่แน่ใจ

เพื่อไทยซัดภูมิใจไทย-จี้ผ่า พิสูจน์อัลฟ่า 6

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดและสารเสพติดยี่ห้อ อัลฟ่า 6 จำนวนหลายร้อยเครื่อง มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มีกลไกการทำงานเหมือน จีที 200 ว่า ขอเรียกร้องให้ รมว.มหาดไทย สั่งยุติการใช้งานทันที เช่นเดียวเครื่องจีที 200 เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่าไม่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน

"การที่รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยมีความเห็นต่าง กับพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้ แสดงว่าไม่เชื่อถือข้อมูลที่รัฐบาลตรวจสอบเองใช่หรือไม่ ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการผ่าพิสูจน์เครื่อง อัลฟ่า 6 ทันที โดยไม่ต้องทดสอบเหมือน จีที 200 เพราะกระบวนการทดสอบชัดเจนแล้ว" นายจิรายุ กล่าว

กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ถอดรหัส"คุณหมอพร ทิพย์"ดึงดันใช้ จีที 200 "สินค้าเทวดา" ราคาสูงลิ่ว 2 ล้านต่อเครื่อง? ทั้งที่ผลทดสอบ

ถอดรหัส"คุณหมอพรทิพย์"ดึงดันใช้ จีที 200 "สินค้าเทวดา" ราคาสูงลิ่ว 2 ล้านต่อเครื่อง?

ทั้งที่ผลทดสอบไม่ผ่าน กระทั่งนายกฯสั่งห้ามซื้อเพิ่ม แต่ทำไมหมอพรทิพย์ ถึงมั่นอกมั่นใจขนาดนั้น "ประชาชาติธุรกิจ"ตามไปดูว่าเธอนั่งทับอะไรอยู่ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ?

ภายหลังจากคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระยะไกล Global Technical (จีที 200)ซึ่งมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานได้สรุปผลว่าเครื่องจีที 200 ไม่มีประสิทธิภาพและรายงานต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553โดยนายกฯได้มอบให้คณะกรรมการฯไปทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่นำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้งานแต่ยังมีความเชื่อว่าเครื่องมือมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ต้องจัดซื้อเพิ่มเติมอีกต่อไป

ขณะที่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าเครื่องมือชนิดดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ล่าสุดออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้เครื่องจีที 200 ต่อไป แต่จะไม่สั่งซื้อเพิ่มเติม โดยอ้างว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สถาบันใช้งานได้ดีเพียงแต่ไม่ได้ใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการเก็บกู้ระเบิด

เท่ากับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่เห็นผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ชุดคุณหญิงกัลยา "ไม่มีความหมาย"

คำถามก็คือเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดหรือสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ว่าจัดซื้อเมื่อไหร่จำนวนเท่าใด และ ซื้อจากใคร?

มีเพียงข้อมูลที่หลุดรอดออกมาตามหน้าสื่อระบุว่า จัดซื้อ อัลฟ่า 6 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551จาก บริษัท เอ เอส แอล เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด (นางธัญจิรา สมบูรณ์ศิลป์ เจ้าของ ) จำนวน 2 เครื่องราคาเครื่องละ 447,000 บาท รวม 894,000 บาท

แต่ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมด

เท่าที่"ประชาชาติธุรกิจ"ตรวจสอบพบข้อมูลดังนี้

ในระหว่างเดือนกันยายน2550 - สิงหาคม 2552 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จัดซื้อเครื่องมือตรวจสอบ "ร่องรอยวัตถุระเบิด" และ "ร่องรอยสสาร" อย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่

วันที่ 14 ก.ย.2550 ซื้อเครื่องตรวจสอบร่องรอยสสารแบบพกพา จำนวน 1 เครื่องและ เครื่องมือตรวจสอบร่องรอยสสารแบบตั้งโต๊ะจำนวน 1 เครื่อง จากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่นส์ จำกัด วงเงิน 5,348,000 บาท

วันที่ 22 ต.ค. 2550 ซื้อเครื่องตรวจจับร่องรอยวัตถุระเบิดแบบพกพาจำนวน 2 เครื่องจาก บริษัท เฮอริเทจ อินเตอร์เนชั่นแนลโพร์วายเดอร์ จำกัด วงเงิน 3,980,000 บาทและ ซื้อเครื่องมือตรวจสอบร่องรอยสสารแบบพกพา จำนวน 1 เครื่องจากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด วงเงิน 1,999,000 บาท

วันที่ 25 ธ.ค. 2550 ซื้อเครื่องตรวจสอบร่องรอยสสารแบบตั้งโต๊ะยี่ห้อ SMITHSจากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่นส์ จำกัด วงเงิน 2,999,000 บาท

วันที่ 30 เม.ย. 2552 ซื้อเครื่องตรวจจับร่องรอยสสารแบบตั้งโต๊ะ ยี่ห้อ SMITHS จำนวน 1 เครื่องจากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่นส์ จำกัด วงเงิน 3,200,000 บาท

วันที่ 26 ส.ค. 2552 ซื้อเครื่องตรวจวิเคราะห์วัตถุต้องสงสัย จำนวน 1 เครื่องจากบริษัทแอดวานซ์ เอวิโอนิคส์ แอนด์ เอวิเอชั่น จำกัด (นายเอนก จงเสถียร เป็นกรรมการ -นางสาวอรวรรณ ศรีสุข ถือหุ้นใหญ่ นายเอนกเป็นผู้บริจาคเงินให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง)วงเงิน 1,900,000 บาท

น่าสังเกตว่าเป็นการจัดซื้อจากเอกชน คือบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่นส์ จำกัด เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีนายธงชัย ล่ำซำ ถือหุ้นใหญ่ อยู่ในเครือข่ายเดียวกับบริษัทผู้จำหน่ายหวยออนไลน์ชื่อดังซึ่งกำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

และยังพบว่าบางรายการ อาทิ เครื่องมือตรวจสอบร่องรอยสสารแบบพกพา จำนวน 1 เครื่องจากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด วงเงิน 1,999,000 บาท,เครื่องตรวจจับร่องรอยวัตถุระเบิดแบบพกพาจำนวน 2 เครื่องจาก บริษัท เฮอริเทจ อินเตอร์เนชั่นแนลโพร์วายเดอร์ จำกัด วงเงิน 3,980,000 บาทและ เครื่องตรวจวิเคราะห์วัตถุต้องสงสัย จำนวน 1 เครื่องจากบริษัทแอดวานซ์ เอวิโอนิคส์ แอนด์ เอวิเอชั่น จำกัด วงเงิน 1,900,000 บาท

หากคิดราคาเฉลี่ยต่อเครื่อง ตกเครื่องละเกือบ 2 ล้านบาท

ถ้าเทียบกับการจัดซื้อเครื่อง จีที 200 ในหน่วยงานอื่นอย่างกรมสรรพาวุธกองทัพบก จัดซื้อ เกือบ 500 เครื่องเครื่องละ 900,000 บาท (จัดซื้อจำนวนมาก)กรมราชองครักษ์ ที่จัดซื้อ จีที 200เพียง 3 เครื่อง เครื่องละ 1.2 ล้านบาท

เท่ากับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จัดซื้อในราคาสูงกว่าหน่วยงานอื่น (ถ้าเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน)
แทบไม่มีใครรับรู้ข้อมูลดังกล่าว และเข้าไปตรวจสอบว่าผิดปกติหรือไม่
ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ออกมาการันตีถึงประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 ในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ว่าใช้งานได้ดีคล้ายเป็นสินค้าเทวดา
ขณะเดียวกันก็อดคิดไม่ได้ว่า "คุณหญิงหมอ" กำลังนั่งทับอะไรอยู่หรือไม่?

ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์, วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา 11:24:02 น.

ฉาวไม่เลิก อุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวเขื่อน 40 ล้าน สตง. สอบพบพิรุธอื้อซ่า ร้องป.ป.ช. ตรวจสอบด่วน

ฉาวไม่เลิก อุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวเขื่อน 40 ล้าน สตง. สอบพบพิรุธอื้อซ่า ร้องป.ป.ช. ตรวจสอบด่วน

ฉาวอีกแล้ว อุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวสำหรับเขื่อน กรมชลประทาน มูลค่า 40 ล้านบาท ร้องเรียนป.ป.ช. สอบ ส่อล็อกสเปกเอื้อบริษัทเอกชน แถมพบพฤติกรรมปลอมเอกสาร เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ฮั้ว แฉเคยร้องไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ แต่เรื่องเงียบ ก่อนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบ พบพิรุธอื้อ

ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ผู้บริหาร บริษัท จีโนแมทซ์ จำกัด ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีอุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวสำหรับเขื่อนของกรมชลประทาน กระทรวงเกตรฯ มูลค่า 40 ล้านมีพฤติกรรมล็อกสเปก ผิดพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)

หนังสือร้องเรียนระบุว่ากรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศเรื่อง ประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จ้างจัดหาอุปกรณ์ตรวจวัดพฤติกรรมแผ่นดินไหว สำหรับเขื่อนที่มีความเสี่ยงสูง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552 โดยกำหนดรับฟังคำชี้แจงในวันที่ 4 มกราคม 2553 ยื่นเอกสารประกวดราคาจ้างฯ ในวันที่ 15 มกราคม 2553 และกำหนดเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 28 มกราคม 2553

ทั้งนี้โครงการจัดหาอุปกรณ์ตรวจวัดพฤติกรรมแผ่นดินไหวดังกล่าว มีความสำคัญและใช้เงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากถึง 40 ล้านบาท แต่มีการดำเนินการส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ไม่เปิดโอกาสให้มีการเสนอราคาแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเฉพาะรายให้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีรายละเอียดแห่งการกระทำที่เชื่อว่าเป็นความผิด

พฤติกรรมที่ส่อถึงความไม่โปร่งใส ได้แก่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 กรมชลประทานได้ประกาศประกวดราคาจ้างฯ กำหนดเงื่อนไขเฉพาะและข้อกำหนดทางเทคนิคของอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมแผ่นดินไหวโดยผู้เสนอราคาต้องมีจอแสดงผลแบบ LCD สี แบบตัวเลข ซึ่งจอแสดงผลดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ของยี่ห้อ Nanomatric มีเพียงรายเดียวที่มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ประกอบกับผลิตภัณฑ์ LCD สีของยี่ห้อ Nanomatric ได้ถูกผูกขาดการเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยบริษัท นีโอ ไดแด็กติก จำกัด จึงไม่อาจจำหน่ายให้กับผู้เสนอราคารายอื่นได้อีก

ดังนั้น การกำหนดอุปกรณ์เครื่องมือเป็นจอแสดงผล LCD สี จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีพฤติกรรมเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าเสนอราคาเฉพาะราย ถือว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 10, ข้อ 15 และเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 11, 12 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว ส่งรายงานการสอบสวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 14, 15

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 บริษัท เอ็ม จี เอส อิควิพเม้นท์ จำกัด ได้ยื่นเอกสารประกวดราคาฯต่อคณะกรรมการประกวดราคา โดยปลอมเอกสารและยื่นเอกสารอันเป็นเท็จ กล่าวคือ ปลอมแปลงหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายของบริษัท ES&S จำกัด ซึ่งบริษัท ES&S จำกัด ได้ยืนยันว่าไม่เคยแต่งตั้งให้บริษัท เอ็ม จี เอส อิควิพเม้นท์ จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Grulap และ Kelunji และได้ปลอมแปลงเอกสารแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งบริษัทมีเฉพาะจอ LCD ขาวดำ ให้เป็นจอแสดงผล LCD สี โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางส่วนในแคตตาล็อก จึงได้มีการร้องขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริง

กรณีดังกล่าว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่ามีการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวจริง
ทั้งนี้ การปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อให้มีผู้ยื่นเอกสารประกวดราคาที่มีคุณสมบัติครบมากกว่า 1 ราย เพราะหากมีผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติครบเพียงรายเดียว การประกวดราคาก็จะถูกยกเลิกไป

ดังนั้น จึงเป็นการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท นีโอ ไดแด็กติก จำกัด ซึ่งต่อมาบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ชนะการประกวดราคา (มีผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคาเพียง 2 ราย คือ บริษัท นีโอ ไดแด็กติก จำกัด และบริษัท เอ็ม จี เอส อิควิพเม้นท์ จำกัด)กรณีดังกล่าว ได้ถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐ (สตง.) และพบว่ามีมูล จึงน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง

การปลอมแปลงหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายและปลอมแปลงเอกสารแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ของบริษัท ES&S จำกัด เป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจตัดรายชื่อผู้เสนอราคาออกจากประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคาและดำเนินการให้เป็นผู้ทิ้งงาน บทลงโทษดังกล่าวมีผลไปถึงกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย

และยังเป็นการใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 และเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่เจ้าพนักงานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด อีกด้วย

กรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล ให้ถือว่า กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนานดำเนินงานของนิติบุคคล เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วยตามมาตรา 9 และขอให้ดำเนินการสอบสวนผู้บริหารของบริษัททั้งสอง

จาก พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เสนอราคาซึ่งเป็นนิติบุคคลและผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจดำเนินงานของนิติบุคคลดังกล่าว มีพฤติการณ์น่าเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญา จึงขอร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิด เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษและป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก อันจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและประหยัดเงินภาษีของประชาชนเป็นประโยชน์สูงสุดของทางราชการต่อไป

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 เมษายน พ.ศ. 2553