Saturday, March 6, 2010

แกะพิรุธ เครื่อง"จีที 200-อัลฟ่า 6" "ปู่จิ้น"ซื้อเงียบจาก บ.เครือนักการเมือง 100 ล้าน หล่นกระเป๋าใคร

แกะพิรุธ เครื่อง"จีที 200-อัลฟ่า 6" "ปู่จิ้น"ซื้อเงียบจาก บ.เครือนักการเมือง 100 ล้าน หล่นกระเป๋าใคร? (ตอน 1)

วันที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา 12:35:04 น.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แกะรอยปมจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด- สารเสพติด จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ของหน่วยงานรัฐ พบกระทรวงมหาดไทยของ ปู่จิ้น - ชวรัตน์ ชาญวีรกูล สั่งซื้อ 3 ลอตกว่า 500 เครื่อง ราคาไม่เท่ากัน คิดส่วนต่างราคาเป็นเงินถึง 100 ล้านบาท พิรุธเอกชน 2 รายเป็นเครือข่ายเดียวกันของนักการเมืองดัง

กรณีเครื่องตรวจวัตถุระยะไกล Global Technical (จีที 200) กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงหรือไม่

ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี สั่งให้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เป็นเจ้าภาพในการระดมผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นข้อยุติและยอมรับจากทุกฝ่ายถ้าผลพิสูจน์ออกมาแล้วใช้ไม่ได้ ก็ต้องตรวจสอบว่าการจัดซื้อมีความโปร่งใส "ถ้าหากว่ามันใช้ไม่ได้คงต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปอีกครั้ง แต่เฉพาะกรณีของจีทีจะมีหลายยี่ห้อที่มีลักษณะคล้ายๆกันอยู่เฉพาะจีทีจะมีลูกค้าอยู่ เป็น 10 ประเทศ มีการซื้อกันค่อนข้างแพร่หลายพอควรทั้งที่เป็นจีทีและยี่ห้ออื่นๆ ของไทยมียี่ห้อจีทีกับอัลฟ่า-6" นายกฯกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาตั้งข้อสงสัยว่าไม่มีประสิทธิภาพ มีความผิดพลาดในการตรวจหาวัตถุระเบิด ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก อีกทั้งหลายประเทศเลิกใช้แล้ว

ขณะที่คุณหญิงพรทิพย์ โรจน์สุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ผู้มีประสบการณ์ตรงกับเครื่อง จีที 200 ออกมาตอบโต้ว่าเครื่องมือชนิดนี้มีความแม่นยำสูงมาก โอกาสผิดพลาดมาจาก 2 ปัจจัยคือ 1.ผู้ใช้มีความเหนื่อยล้า กับ 2.ใส่การ์ดผิดชนิด "เนื่องจากจีที 200 ใช้พลังสนามแม่เหล็กจากตัวคนใช้เพื่อค้นหาสนามแม่เหล็กของสสารที่ต้องการตรวจจับ ด้วยเหตุนี้คนใช้งานต้องมีร่างกายพร้อม ถ้าเหนื่อยล้า อดนอน หรือไปดื่มเหล้ามาจะใช้ไม่ได้ผลเลย" หมอพรทิพย์กล่าว


มีหน่วยงานหลายแห่งถูกระบุว่า สั่งซื้อ จีที 200 และ อัลฟ่า 6ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมศุลกากร
ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนั้นนายวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองอธิบดีกรมการปกครองออกมายอมรับว่า ได้สั่งซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 จำนวน 726 เครื่อง ราคาเครื่องละ 7.2 แสนบาท เพื่อส่งมอบให้อำเภอตามแนวชายแดนได้ใช้ตรวจหายาเสพติดโดยนำเข้าจากประเทศอังกฤษ ซึ่งผลดำเนินการได้ผลน่าพอใจ สามารถตรวจสอบทะลุฝาผนังกำแพงได้ระยะทางถึง 200 เมตร

ล่าสุด "ประชาชาติธุรกิจ"ตรวจสอบพบหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยจัดซื้อ อัลฟา-6 อย่างน้อย 3 ครั้ง
ครั้งแรกจัดซื้อโดยกรมการปกครอง เมื่อวันที่12 มี.ค.2552จำนวน 63 เครื่อง วงเงิน 33,450,000 บาท จากบริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ตกราคาเครื่องละ 530,952 บาท
ครั้งที่ 2จัดซื้อโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ที่ทำการปกครองจังหวัดภูเก็ต)เมื่อวันที่27 ก.ค. 2552จำนวน 2 เครื่อง วงเงิน1,100,000บาทจากบริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง ตกราคาเครื่องละ 550,000 บาท
ครั้งที่ 3 จัดซื้อลอตใหญ่โดยกรมการปกครอง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2552 จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน349,430,500 บาทจาก บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด ตกราคาเครื่องละ 729,500 บาท (ราคาใกล้เคียงกับที่นายวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ชี้แจงกับสื่อมวลชน)
จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด มีความเชื่อมโยงกันโดยผู้ถือหุ้นอย่างน้อย1 คนถือหุ้น เป็นกรรมการทั้ง 2 บริษัท บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด แจ้งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่าขายเครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนบริษัท เปรโตกรุงเทพฯ จำกัด ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง(อ่านข้อมูลประกอบด้านล่าง) น่าสังเกตว่า การจัดซื้อครั้งที่ 3 มีราคาสูงว่าครั้งแรกกับครั้งที่ 2เครื่องละประมาณ 2 แสนบาท เท่ากับมีส่วนต่างเกิดขึ้นเกือบ 100 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2551กองพลาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งซื้อ เครื่อง อัลฟ่า 6 จำนวน 4 เครื่องจาก บริษัท เอ เอส แอล เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด (ของนางธัญจิรา สมบูรณ์ศิลป์)ในราคา 1,960,000 บาท หรือเครื่องละ 490,000 บาท เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวเดินทางไป ตรวจสอบที่ตั้งบริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เลขที่ 151/135 หมู่ 9 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพฯพบว่าอยู่ในหมู่บ้านราชพฤกษ์ ย่านพุทธมณฑล สาย 2 มีป้ายเขียนข้อความเป็นบริษัทยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด แต่ภายในบ้านไม่ได้แสดงว่าขายเครื่องปรับอากาศแต่อย่างใด
(ตอนหน้า เปิดข้อมูลการจัดซื้อ เครื่อง จีที 200 ของกองทัพบก แบบละเอียดยิบ ? )
.........

ผู้ถือหุ้น 2 บริษัท - เครือข่ายเดียวกัน
บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่24 กรกฎาคม 2540ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ไฟฟ้า ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทที่ตั้งเลขที่ 151/135 หมู่ 9 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพฯ

นายศิริพงษ์ บวรวัฒนะ และ นายวรวิทย์ บวรรัตนะ ถือหุ้นใหญ่ในช่วงก่อตั้ง
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 (ก่อนทำสัญญาจัดซื้อครั้งแรก) นายณธกรภูชัชวนิชกุล ถือกหุ้นใฆย่ 29,750 หุ้น นายวรวิทย์ บวนรัตนะ 5,875 หุ้น นายชูเกียรติ ภูชัชวนิชกุล24,275 หุ้นนายคำนึง สุพรรณ์ 15,000 หุ้นนายเฉลิมพล กาญจนากร 15,000 หุ้นนายชาญเดช ภูชัชวนิชกุล 10,000 หุ้นและนายสนิตย์ ลหายเจริญ 100 หุ้นมีนายชูเกียรติ ภูชัชวนิชกุล เป็นกรรมการ
จากการตวรจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดเป็นผู้ขายกล้องวีดีโอกระดุม จำนวน 115 ชุดวงงเน6.7 ล้านบาท ให้ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขายกล้องตรวจจับรังสีความร้อนติดตั้งประกอบปืน M 16ให้กรมการทหารช่าง จังหวัดราชบุรีวงเงิน9 ล้านบาท เมื่อวันที่30 กันายน2552 อีกด้วย
ส่วนบริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด ก่อตั้งวันที่18 ตุลาคม 2536ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาทที่ตั้งเลขที่580/1 ซอยรามคำแหง 39 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯเดิมบริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิงจำกัด ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับ นายดำรงค์ รัตนลีลาศ และนายอดุลย์ ฉายรัตน์ และนายสมศักดิ์ เอกเอื้อมณี
วันที่ 24 มีนาคม 2551 นางฉัตรแก้ว คชเสนี นางกชกรณ์ พิบูลย์ธรรมศักดิ์ถือหกุ้นคนละ 350, 000 หุ้น นางสาวภัคจิรา รัชกิจประการ250,000 หุ้นนายพิบูลยอัฑฒ์ หฤหรรษ์ปราการ นางสาวจันทวรัจฉร์ จันทรศารทูล นางศุภวรรณ รัชกิจประการ นางสาวรุ่งรัศมี โชคอนันต์ตระกูล นายวิชัย แซ่โก คนละ 60,000 หุ้นและนางสรัญธร จันทรโชติ คนละ 50,000 หุ้น มีนายพิทักษ์ รัชกิจประการ และนางส่าวภัคจิรา รัชกิจประการ เป็นกรรมการ
วันที่ 30 มีนาคม 2552 นายพิทักษ์ รัชกิจประการ นางกชกรณ์ พิบูลย์ธรรมศักดิ์ถือหุ้นใหญ่ คนละ 350,000 หุ้นนายประทีป มนตรี 250,000 หุ้นส่วนคนอื่นไม่เปลี่ยนแปลง นายประทีป มนตรี เป็นกรรมการ
วันที่ 6 มิถุนายน 2552 (ก่อนทำสัญญากับกรมการปกครอง)นายประทีป มนตรีถือหุ้นใหญ่ 700,000 หุ้น นายชูเกียรติ ภูชัชวนิชกุล ถือ 300,000 หุ้นและ นายพิบูลยอัฑฒ์ หฤหรรษ์ปราการ ถือหุ้น 300,000 หุ้น นายประทีป มนตรี เป็นกรรมการ

จาการตรวจสอบพบว่าหน่วยงานที่ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่
โครงการจ้างเหมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณแหลมโพธิ์ทะเลสาบสงขลา ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ร่วมกับ บริษัท อส.ซี.เอส.ดีเวลลอปเม้นท์ วงเงิน 47.5 ล้านบาท (ปี2547)ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
งานปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะเทศบาลเมืองชุมพรระยะที่2วงเงิน55.8 ล้านบาท(ปี 2548)เทศบาลเมืองชุมพร
งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ของเทศบาลเมืองชุมพร วงเงิน53.6 ล้านบาท(ปี 2549)
ก่อสร้างโรงเรียนอนุบาลในฝันเทศบาลนครหาดใหญวงเงิน 38.4 ล้านบาท(ปี 2550)
ทั้งนี้ บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง นั้นเคยบริจาคเงินให้พรรคราษฎร ขณะนายวัฒนา อัศวเหม เป็นหัวหน้าพรรคและเคยเป็นผู้บริจาคเงินให้ประชาธิปัตย์เมื่อหลายปีก่อนอีกด้วย ..........

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1265257568&grpid=02&catid=no

----------------------------------------------------------------

ตอน 3

วันที่ 05 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา 16:12:58 น.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แกะพิรุธเครื่อง "จีที 200" กองทัพบก "ยุคบิ๊กป๊อก" พลเอกอนุพงษ์ เหล่าจินดา ผบ.ทบ. สั่งซื้อกระจาย 466 เครื่อง จาก บริษัท "AVIA SATCOM" อันเป็นบริษัทก๊วนพลเอก นี่อาจเป็นเหตุที่ บิ๊ก ๆ ต่างออกมาปกป้อง จีที 200 อย่างออกนอกหน้า

.. ตอนที่แล้ว ประชาชาติธุรกิจแกะรอยปมจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด- สารเสพติด จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ของหน่วยงานรัฐกระทรวงมหาดไทยของ ปู่จิ้น - ชวรัตน์ ชาญวีรกูล สั่งซื้อ 3 ลอตกว่า 500 เครื่อง ราคาไม่เท่ากัน คิดส่วนต่างราคาเป็นเงินถึง 100 ล้านบาท พิรุธเอกชน 2 รายเป็นเครือข่ายเดียวกันของนักการเมืองดัง

จากการตรวจสอบ เราพบว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดซื้อเครื่องตรวจเจ้าปัญหา "อัลฟา-6"จากเอกชน 2 รายเครือข่ายเดียวกันคือบริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัดรวม 542 เครื่อง วงเงินกว่า 380 ล้านบาท

หน่วยงานทางด้านความมั่นคงอีกแห่งที่ใช้บริการเครื่องตรวจเจ้าปัญหาด้วยเหมือนกันคือกองทัพบกเพียงแต่มิใช่ "อัลฟ่า 6" หากเป็น "จีที 200" ล้วนๆ
ล่าสุด"ประชาชาติธุรกิจ"ตรวจสอบพบว่า กองทัพบกได้สั่งซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด,อาวุธและวัตถุระเบิด ยี่ห้อ "จีที 200" จากประเทศอังกฤษ อย่างน้อย8 ครั้งรวม 466 เครื่อง เป็นเงินทั้งหมด 419.5 ล้านบาท (เท่าที่ตรวจพบ)
ครั้งแรกปลายเดือนกรกฎาคม 2550 จำนวน 2 เครื่อง ๆละ 950,000 บาท เป็นเงิน 1,900,000 บาท
ครั้งที่ 2 วันที่ 18 ส.ค. 2551จำนวน 2 เครื่องๆ ละ 900,000 บาทเป็นเงิน1,800,000 บาท
ครั้งที่ 3 วันที่ 3 ก.ย. 2551จำนวน 19 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน17,100,000 บาท
ครั้งที่ 4 วันที่ 16 ก.ย. 2551จำนวน 18 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 16,200,000 บาท
ครั้งที่ 5 วันที่ 30 ก.ย. 2551 จำนวน44 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาทเป็นเงิน39,600,000 บาท
ครั้งที่ 6 วันที่ 27 ก.พ. 2552จำนวน 222 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 199,800,000 บาท
ครั้งที่ 7 วันที่8 เม.ย. 2552 จำนวน 129 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน116,100,000 บาท
ครั้งที่ 8 วันที่ 28 เม.ย. 2552 จำนวน 30 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 27,000,000 บาท
ทั้ง 8 ครั้ง เป็นการจัดซื้อผ่านบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เพียงรายเดียว

บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (AVIA SATCOM CO.,LTD.)ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2535 ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มทุนอีก 4 ครั้ง ล่าสุดวันที่ 5 มิถุนายน 2552 เพิ่มเป็น 250 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่174/68-71 หมู่ 9 ถนนวิภาวดี แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯมีนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ถือหุ้นใหญ่ 2,399,999 หุ้น จากทั้งหมด 2,500,000 หุ้น

นายสุทธิวัฒน์มีบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านอุปกรณ์สื่อสาร เทคโนโลยี ซอฟแวร์ อีกอย่างน้อย 4 บริษัท ได้แก่บริษัท ลิบราเวย์ จำกัด , บริษัท แอโรว์เทคนิค เอวิเอชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท เอวิเอ ซิสเต็ม จำกัดและบริษัท เอวิเอ ซาบ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา (ให้บริการโครงข่าวสื่อสารและอุปกรณ์ซอฟแวร์)

หุ้นส่วนธุรกิจของนายสุทธิวัฒน์ คือ พล.อ.อภิชิต กานตรัตน์ อดีตผู้ทรงวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุดเรืออากาศเอก ขจรศักดิ์ วัฒนางกูรและกลุ่มบริษัท ซาบ จากประเทศสวีเดน (ตัวแทนจัดจำหน่ายเครื่องบนกริฟเฟ่นให้กองทัพอากาศ)โดย พล.อ.อภิชิตยังเป็นกรรมการ บริษัท เอวิเอ ซาบ เทคโนโลยี จำกัดอีกแห่งหนึ่ง บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ทำการค้ากับกองทัพมานาน ตั้งแต่ปี 2542 เคยเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์วิทยุสื่อสารให้ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.)กองบัญชาการทหารสูงสุด, กรมสื่อสารทหารอากาศ กองทัพอากาศ , กรมการขนส่งทหารบก กองทัพบก นับสิบรายการ อาทิ

เครื่องมือสื่อสารเพื่อใช้ราชการกองกำลังเฉพาะกิจ 976 ไทย/อีรักวงเงิน 25.1 ล้านบาท, ชิ้นส่วนซ่อมเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 วงเงิน19.3 ล้านบาท , รถวิทยุในระบบควบคุมอากาศยานทางยุทธวิธีจำนวน39.2 ล้านบาท , ซ่อมบำรุงเรดาร์แบบเคลื่อนที่แบบgiraffe34.2 ล้านบาท, ซื้อระบบโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต(VOIP) จำนวน5.2 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากขาย "จีที 200" ให้กองทัพบกเอกชนรายนี้ยังขายเครื่องมือชนิดเดียวกันให้หน่วยงานอื่นอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่
กรมศุลกากร จำนวน 6 เครื่องเมื่อวันที่19 มิถุยายน 2552ราคา 2,560,000 บาท(เครื่องละ 426,666 บาท)
และกรมราชองครักษ์จำนวน 3 ชุด เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2552ราคา 3,600,000 บาท (ชุดละ 1,200,000 บาท)

กล่าวเฉพาะกองทัพบก เมื่อตกเป็นข่าว ดูเหมือนผู้นำระดับสูงไม่ค่อยมั่นใจกับประสิทธิภาพของเครื่องมือชนิดนี้เท่าใดนัก ไม่กล้าพูดอย่างเต็มปากเต็มคำ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลกระบวนการจัดซื้ออย่างตรงไปตรงมา

ล่าสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (บิ๊กป๊อก) ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 กรณีการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพบก โดยเฉพาะเครื่องตรวจหาสารวัตถุระเบิดจีที 200และเรือเหาะตรวจการณ์ สำหรับใช้ปฏิบัติภารกิจงานด้านความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า

"ไม่มีปัญหา ยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกทั้งหมด มีแนวทางคือว่าดีไม่ดีอย่างไรก็พิสูจน์ส่วนจะอ้างว่าการจัดซื้อสุจริตหรือทุจริตนั้น ถือเป็นคนละกรณีกัน ถ้าจะบอกว่าซื้อแล้วมีผลประโยชน์อย่างไร ก็ต้องดำเนินการ เจ้าหน้าที่ทุกส่วนของกองทัพบกพร้อมพิสูจน์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สืบสวนสอบสวนมา หากทำผิดจริงก็ปลด เราทำทุกอย่างโปร่งใสเพราะเราอยู่ในสังคม ส่วนการใช้งาน GT 200 ในตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ทำงานตามปกติ"

ขณะที่เรืออากาศเอก ขจรศักดิ์ วัฒนางกูร ผู้อำนวยการบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เครื่อง จีที 200 ที่บริษัทจำหน่ายให้หน่วยงานราชการทำงานได้ดี และไม่มีปัญหาร้องเรียน อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในเรื่องประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร ? อีกไม่นานคงรู้กัน

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1265350287&grpid=01&catid=04

Wednesday, March 3, 2010

รื้อ "สอยดาว" หลักฐานรุกป่าโผล่!

รื้อ "สอยดาว" หลักฐานรุกป่าโผล่!

หลังมือดีหมกไว้ ภาพถ่ายอากาศ สนามกอล์ฟดัง ปทส.ลุยสางคดี

ข่าวสดรายวัน, 03 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7034

ตำรวจปทส.พบหลักฐานใหม่ คดี "สนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์ฯ" โดนกล่าวหารุกพื้นที่ป่าสอยดาว เผยเจอภาพถ่ายทางอากาศ ผลการแปล ตีความ และวิเคราะห์ ที่ไม่มีในสำนวนสั่งไม่ฟ้อง ขณะทำความสะอาดหน่วยงาน จัดคัดแยกเอกสาร เผยเปรียบเทียบพื้นที่ป่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2518 มาจนถึงปี 2545 มีพื้นที่ป่าเท่าไหร่ ก่อนกลายเป็นสนามกอล์ฟ ผบก.ปทส.สั่งรื้อคดี แจ้งอัยการจังหวัดจันทบุรี ก่อนสอบพยานเพิ่มเติม


จากกรณีปัญหาการถือ ครองที่ดินของ สนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์ คลับ แอนด์ รีสอร์ท ตั้งอยู่เลขที่ 224 หมู่ 2 ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำ ร้อน จ.จันทบุรี เป็นกิจการโรงแรม และสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม มีเนื้อที่ครอบคลุมจำนวน 4,012 ไร่ เป็นของบริษัท สวนจันทบุรี จำกัด ซึ่งดูแลเรื่องที่ดิน และบริษัท จันทบุรีคันทรีคลับ จำกัด ซึ่งดูแลกิจการโรงแรมและสนามกอล์ฟ เนื่องจากเจ้าพนักงานป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ขอให้ดำเนินคดีบริษัท สวนจันทบุรีฯ กับพวก ฐานร่วมกันบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาสอยดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

โดยคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปีพ .ศ.2549 ผู้กล่าวหาคือ นายสุนทร วัชรกุลดิลก และนายสุภัทร สารรัตน์ เจ้าพนักงานป่าไม้ ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาคือ บริษัท สวนจันทบุรี จำกัด, นายประยุทธ ปุณศรี, นายธีระพงษ์ นวนวิไล, นายชาติศิริ โสภพนิช, นายชาลี โสภณพนิช, นายสมบัติ ลีสวัสดิ์ตระกูล, นายนภดล รมยะรูป, นางพิไลจิตร เริงพิทยา, และนายจินดา สอนอำพล รวมทั้งหมด 9 ราย ต่อมาอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลประกอบ อาทิ พื้นที่มีเอกสารสิทธิที่ดินล้อมรอบ เป็นพื้นที่จำแนกออกจากป่าไม้ถาวร เทศมนตรีตำบลโป่งน้ำร้อน ยืนยันว่าพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในเขตสุขาภิบาล เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่ดิน และกำนันในพื้นที่ ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยชอบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มม็อบเสื้อแดงนปช. ยังนำปัญหาการถือครองที่ดิน มาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อพาดพิงไปถึง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาสนามกอล์ฟ รวมไปถึงเจ้าของและผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะตระกูลโสภณพนิช ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ โดยจัดชุมนุมใหญ่กันบริเวณที่ตั้งของสนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์ฯ ที่ ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เมื่อปลายเดือน ม.ค.2553 ที่ผ่านมา และต่อด้วยการชุมนุมที่หน้าสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อทวงถามความคืบหน้าคดี และเรียกร้องให้นำเข้าสู่การพิจารณาคดี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. มีรายงานข่าวจาก บก.ปทส. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบคดีนี้แจ้งว่า ทางเจ้าหน้าที่พบหลักฐานเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคดีรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขาสอย ดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี โดยสืบเนื่องจากที่ กก.1 บก.ปทส. เรียกประชุมข้าราชการตำรวจในสังกัด เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรม 5 ส. ในการพัฒนาหน่วยงานให้มีความสะอาดเรียบร้อย ปรากฏว่าขณะที่คัดแยกเอกสาร เพื่อจัดเก็บให้เป็นระเบียบ ปรากฏว่าพบเห็นเอกสาร 1 ฉบับ จึงสำรวจตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า เป็นเอกสารเรื่องแปลภาพถ่ายทางอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีบริษัทสวนจันทบุรีฯ กับพวก กรณีบุกรุกยึดถือครองครองพื้นที่ป่า

พ.ต.อ.เทวัญ มังคละชาติกุล ผกก.1 ปทส. ตรวจสอบพิจารณาแล้ว จึงแจ้งเรื่องต่อไปยัง พล.ต.ต.มิสกวัน บัวรา ผบก.ปทส. ก่อนจะทำหนังสือแจ้งต่อไปยังอัยการจังหวัดจันทบุรี พร้อมทั้งแนบสำนวนการสอบสวนคดีที่ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทสวนจันทบุรีฯ กับพวก เพื่อแจ้งว่าได้รับเอกสารสำคัญทางคดี คือสำเนาผลการแปล ตีความ และวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายทางอากาศ จากนั้นนายสถาพร ภักดีวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม ปฏิบัติราชการแทนอัยการจังหวัดจันทบุรี จึงทำหนังสือแจ้งกับมายัง ผบก.ปทส.ให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม และให้พนักงานสอบสวนส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมต่อพนักงานอัยการภายในวันที่ 15 มี.ค.2553

รายงานข่าวแจ้งว่า หลักฐานสำคัญที่อาจนำมาสู่การดำเนินคดีบุกรุกเขาสอยดาวของสนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์ฯ ครั้งใหม่ ก็คือผลการแปล ตีความ และวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายทางอากาศที่ได้รับการแปล ตีความและวิเคราะห์ โดยเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศในปีพ.ศ.2518, พ.ศ.2539, และ พ.ศ.2545 ที่สำคัญ และอยู่ในการถือครองของสนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์ฯ มีดังนี้

เอกสารสิทธิ หรือพื้นที่ครอบครอง น.ส.3 เลขที่ 108 พ.ศ.2518 มีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 57.1 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ร้อยละ 42.9 ต่อมาปีพ.ศ.2545 พื้นที่ป่าไม้เหลือ ร้อยละ 14.3 พื้นที่สนามกอล์ฟ ร้อยละ 14.3 และเป็นพื้นที่น้ำ ร้อยละ 71.4

เอกสารสิทธิ หรือพื้นที่ครอบครอง น.ส.3 เลขที่ 109 พ.ศ.2518 มีพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 95.2 พื้นที่ทำการเกษตร ร้อยละ 4.8 พอมาปีพ.ศ.2548 พื้นที่ป่าไม้เหลือ ร้อยละ 53.6 พื้นที่สนามกอล์ฟ ร้อยละ 46.4

โฉนดที่ดินเลขที่ 674 ปีพ.ศ.2518 มีป่าไม้ ร้อยละ 71.7 พื้นที่ทำการเกษตร ร้อยละ 28.3 พอมาปีพ.ศ.2545 ป่าไม้เหลือ ร้อยละ 6.8 สนามกอล์ฟ ร้อยละ 77 และพื้นที่น้ำ ร้อยละ 16.2

โฉนด ที่ดินเลขที่ 675 ในปีพ.ศ.2518 มีป่าไม้ ร้อยละ 87.4 การเกษตร ร้อยละ 12.6 พอมาปีพ.ศ.2545 เหลือป่าไม้ ร้อยละ 41 พื้นที่ทำการเกษตร ร้อยละ 2.5 สนามกอล์ฟ ร้อยละ 42 และพื้นที่น้ำ ร้อยละ 4.5

โฉนดที่ดินเลขที่ 676 ในปีพ.ศ.2518 มีป่าไม้ร้อยละ 65.4 พื้นที่ทำการเกษตร ร้อยละ 34.6 พอมาปีพ.ศ.พ.ศ.2545 ป่าไม้ ร้อยละ 22.3 พื้นที่เกษตร ร้อยละ 48.8 สนามกอล์ฟ ร้อยละ 19.1 พื้นที่น้ำ ร้อยละ 9.8

และโฉนดที่ดินเลขที่ 678 พ.ศ.2518 มีป่าไม้ ร้อยละ 80.5 พื้นที่ทำการเกษตร ร้อยละ 19.5 พ.ศ.2545 ป่าไม้เหลือ ร้อยละ 5 พื้นที่ทำการเกษตร ร้อยละ 69.8 สนามกอล์ฟ ร้อยละ 19.5 และพื้นที่น้ำ ร้อยละ 5.7


นอกจากนี้ ยังมีเอกสารสิทธิ หรือพื้นที่ครอบครอง ที่เป็นแปลงที่เตรียมออกเอกสารสิทธิ โฉนดที่ดิน 1 (17) พ.ศ.2518 มีป่าไม้เต็มพื้นที่ พ.ศ.2545 ป่าไม้ลดเหลือร้อยละ 27.8 กลายเป็นสนามกอล์ฟ ร้อยละ 72.2, แปลงที่เตรียมออกเอกสารสิทธิ โฉนดที่ดิน 2 (15) ป่าไม้เต็มพื้นที่ พอมาปีพ.ศ.2545 ป่าไม้ลดเหลือ ร้อยละ 90.5 สนามกอล์ฟ ร้อยละ 9.5, แปลงที่เตรียมออกเอกสารสิทธิ โฉนดที่ดิน 6 (14) ป่าไม้เต็มพื้นที่ แต่ปีพ.ศ.2545 ป่าไม้ลดเหลือ ร้อยละ 81 พื้นที่น้ำ ร้อยละ 19, และ แปลงที่เตรียมออกเอกสารสิทธิ โฉนดที่ดิน 7 (13) ในปีพ.ศ.2518 ป่าไม้เต็มพื้นที่ พอมาปีพ.ศ.2545 ป่าไม้ลดเหลือ ร้อยละ 60.9 ที่เหลือเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ร้อยละ 39.1

ข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในการถือครองของสนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์ฯ แบ่งออกเป็นพื้นที่ส่วนที่เป็นสนามกอล์ฟ โรงแรม และสวนเกษตร ประกอบด้วยที่ดินแปลงใหญ่ 4 แปลง ได้แก่โฉนดที่ดินเลขที่ 674, 675, 676, และ 678 รวม 2,845 ไร่ 3 งาน 67.7 ตารางวา พื้นที่ส่วนที่ติดอยู่กับสนามกอล์ฟ โรงแรม และสวนเกษตร ไปจนถึงทางเข้าโครงการ ประกอบด้วยที่ดินแปลงย่อย จำนวน 19 แปลง รวมเนื้อที่ 642 ไร่ 2 งาน 84.6 ตารางวา และสุดท้ายเป็นพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดี จำนวน 482 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา ซึ่งถูกกล่าวหาและโต้แย้งว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาสอยดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

http://img691.imageshack.us/img691/7194/p0102030353p1.jpg

Monday, March 1, 2010

ป๋าเปรม แบงก์กรุงเทพ สนามกอล์ฟ"เขาสอยดาว" คอนเนกชั่น"อมตะ"อภิมหาทุนไทย?

ป๋าเปรม แบงก์กรุงเทพ สนามกอล์ฟ"เขาสอยดาว" คอนเนกชั่น"อมตะ"อภิมหาทุนไทย?

จากกรณี เขายายเที่ยง ทำให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และองคมนตรี กลืนไม่เข้า คายไม่ออก แล้ว ไฟก็ลาม ไปถึง สนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ทิ่มแทงว่า การใช้กฎหมายบ้านนี้ เมืองนี้ มี "2 มาตรฐาน"

เสื้อแดงประกาศว่าพื้นที่กว่า 400 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 4,000 ไร่ ทับซ้อนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และเขตป่าไม้ถาวร และถูกร้องเรียนเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิดหรือเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แต่อย่างใด

จากเขายายเที่ยง ถึงเขาสอยดาวเป็นการรุกเข้าตี กองบัญชาการของ "กลุ่มทุนเก่าและกลุ่มอำมาตย์" เข้าอย่างจังและได้ผลดีเกินคาด
เพราะคนทั่วไป ที่ไม่ใช่ เหลือง และแดงก็เห็นกันชัดๆ ว่า...มันไม่แฟร์ !!!!

ย้อนอดีตกลับไปดู ปัญหาการบุกรุกเขาสอยดาวเกิดขึ้นตั้งแต่ 2544 ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการเกษตรฯ ของวุฒิสภา

ผลจากการเข้าตรวจสอบของกรมป่าไม้ โดย นายสุนทร วัชรกุลดิลก ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุกจริง เป็นการบุกรุกทับซ้อนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และสรุปรายชื่อพร้อมเอกสารส่งให้พนักงานสอบสวนในเดือนสิงหาคม 2546 ทว่าพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการจังหวัดจันทบุรีเมื่อกลางปี 2550
เมื่อสำนวนถึงอัยการ ปรากฏว่าอัยการตีกลับไปให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติม จนถึงขณะนี้อัยการยังไม่ได้ส่งฟ้องต่อศาลแต่อย่างใด ...

ถ้าหากตัดเรื่องการเมืองซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงหยิบมาใช้เป็นประเด็น "มุ่งทำลาย" ความน่าเชื่อถือของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยเชื่อมโยงว่ามีคอนเน็กชั่นพิเศษกับตระกูลโสภณพนิช นายทุนอันดับต้นของพรรคประชาธิปัตย์ ออกไป

มองในแง่ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะ "ผู้ถือครองหุ้น" ในสนามกอล์ฟชื่อดังแห่งนี้ กลับเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า สนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์ จดทะเบียนในนามบริษัท จันทบุรีคันทรีคลับ จำกัด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2533 ทุนเริ่มแรก 100 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มทุนอีกหลายครั้ง กระทั่งล่าสุด 300 ล้านบาท

ในช่วงก่อตั้ง
มีผู้ถือหุ้น 18 ราย ได้แก่ บริษัท สวนจันทบุรี จำกัด 490,000 หุ้น นายชาตรี โสภณพนิช 232,999 หุ้น นางสาวสุชาดา โสภณพนิช 40,000 หุ้น นายวีระ รมยะรูป 4,000 หุ้น นายชาติศิริ โสภณพนิช 30,000 หุ้น นายชาลี โสภณพนิช 30,000 หุ้น พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ 4,000 หุ้น พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ 2,000 หุ้น ม.ล.วิทยา จักรพันธ์ 20,000 หุ้น นายจินดา ศรอำพล 20,000 หุ้น เป็นต้น

ปี 2536 เพิ่มทุนเป็น 162.5 ล้านบาท ผู้ถือหุ้น 10 ราย ผู้ถือหุ้นหลัก บริษัท สวนจันทบุรี จำกัด ตระกูลโสภณพนิช และ กลุ่มอิตาเลี่ยน-ไทย ได้แก่ นายเปรมชัย กรรณสูต น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต นายอดิศร จรณะจิตต์ นางนิจพร จรณะจิตต์ นางพิไลจิตร เริงพิทยา นายสงวน จันทรานุกูล และ พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์

ปี 2539 เพิ่มทุน 200 ล้านบาท ตระกูลโสภณพนิชและตระกูลกรรณสูต ถือหุ้นใหญ่เหมือนเดิม แต่มีการกระจายหุ้นให้นักธุรกิจดังในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวนมาก อาทิ

กลุ่ม บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี ของ นายประยุทธ มหากิจศิริ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย, บริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผล จำกัด, บริษัท เมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด, บมจ.ธนายง, บมจ.ยูนิเวสท์แลนด์, กลุ่ม ซี.พี., บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, นายสมบัติ เพ็ชรตระกูล, บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป, นายวิชัย กฤษดาธานนท์, บริษัท ช.การช่าง จำกัด, พล.อ.ท.เกษม อินจัน, บมจ.กรุงเทพประกันภัย, บริษัท ลีนุตพงษ์ จำกัด, นายชาย โฆษะวิสุทธ์, นายพิทักษ์ รังษีธรรม, บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด, นายบุญเลิศ ลาภาโรจน์กิจ, กลุ่มสงวนพาณิชย์สงขลา, นายไพศาล มานะศิลป์ กลุ่มเจ้าของห้างคลังพลาซ่าในโคราช, นายบรรเลง รอบบรรเจิด เจ้าของห้างทอปแลนด์ จ.พิษณุโลก, นายเจริญ พัฒนดำรงจิตร, นายบุรินทร์ บุริสตระกุล นักธุรกิจอสังหาฯ จ.ขอนแก่น

รวมทั้ง นายนพดล พิทักษ์วาณิชย์ ผู้ขายที่ดินบนเขายายเที่ยงให้คนใกล้ชิด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ขณะที่ บริษัท สวนจันทบุรี จำกัด เดิมชื่อ บริษัท ชาเตรียนการเกษตร จำกัด ก่อตั้งวันที่ 28 กันยายน 2531 ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 200 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 400 ล้านบาท กระทั่งในปี 2543 ลดเหลือ 100 ล้านบาท


ในช่วงก่อตั้ง มีผู้ถือหุ้น 16 ราย โดยมี บริษัท ชาเตรียนโฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท จตุบุตรโฮลดิ้ง จำกัด บริษัทส่วนตัวของนายชาตรี โสภณพนิช ถือหุ้นใหญ่ 200,000 หุ้น นายสมศักดิ์ ปัฐพาณิชย์โชติ 150,000 หุ้น คนอื่น อาทิ นายบุญนำ บุญนำทรัพย์ พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ นายเดช นำศิริกุล นายธนาวุธ ศรีบุญเรือง นายจินดา ศรอำพล

ปี 2535 เครือตระกูลโสภณพนิช ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับ บริษัท อิตัลไทยโฮลดิ้ง คัมปะนี และ บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น ขณะที่ผู้ถือหุ้นอื่นไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบัน บริษัท บิ๊ก เวิลด์ สยาม จำกัด ของ นายจริยะ วงศ์ถ้วยทอง ถือหุ้น 21.4% นายชาลี โสภณพนิช 18.8% บริษัท ชาเตรียนโฮลดิ้ง จำกัด 10% บริษัท ศักดิ์สินประสิทธิ์ จำกัด ตระกูลจรณะจิตต์ 8.5% นายชาตรี โสภณพนิช 5% นายนภดล รมยะรูป 5% นายสมศักดิ์ ปัฐพาณิชย์โชติ 4.5% ตระกูลกรรณสูต 4.5%

ทั้ง บริษัท จันทบุรีคันทรีคลับ จำกัด และ บริษัท สวนจันทบุรี จำกัด มีกรรมการชุดเดียวกัน คือ นางสุชาดา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายนภดล รมยะรูป นายชาลี โสภณพนิช นายโชติชัย อรรถวิภัชน์ นายเปรมชัย กรรณสูต นางนิจพร จรณะจิตต์ นางพิไลจิตร เริงพิทยาและ นายยุทธชัย จรณะจิตต์

พิศดูรายชื่อ ทั้งหมด ก็เข้าใจได้ว่า ทำไม พวกเสื้อแดง ถึงกระเหี้ยนกระหือรือ เป็นยิ่งนัก !!!!

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 23 มกราคม 2553

รายงาน : ผลสอบสนช."สุรยุทธ์"รุกเขายายเที่ยง ผิดกฎหมายอาญา-ทำขัดรัฐธรรมนูญ

รายงาน : ผลสอบสนช."สุรยุทธ์"รุกเขายายเที่ยง ผิดกฎหมายอาญา-ทำขัดรัฐธรรมนูญ

สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี

กรุงเทพธุรกิจ 13 มกราคม 2553

การครอบครองที่ดินและสร้างบ้านพักบนเขายาย เที่ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมาธิการตำรวจและสิทธิมนุษยชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน และได้รายงานผลการพิจารณาต่อคณะกรรมาธิการการยุติธรรม การตำรวจ และสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา

ข้อเท็จจริงการครอบครองเขายายเที่ยง

ที่ดินบ้านพักเขายายเที่ยง เดิมเป็นของนายเบ้า สินนอก เนื้อที่ 22 ไร่เศษ ต่อมาเมื่อปี 2536-2537 นายเบ้าขายที่ดินให้กับนายนพดล พิทักษ์วานิชย์ ในราคา 7 แสนบาท และในปี 2540 นายนพดล ขายให้กับ พล.อ.สุรฤทธิ์ จันทราทิพย์ (ขณะนั้นยศ พ.อ.) ในราคา 5 หมื่นบาท กระทั่งปี 2545 พล.อ.สุรฤทธิ์ ยกที่ดินนั้นให้กับ พ.อ.หญิง คุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ โดยเสน่หา

ข้ออ้าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

1.นายเบ้า ได้รับการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรในปี 2534 จำนวน 2 แปลงเนื้อที่ 14 ไร่ 1 แปลง และ 7 ไร่ 2 งานอีก 1 แปลง

2.ได้ครอบครองที่ดินโดยไม่ทราบว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ

3.ได้มีการครอบครองมาก่อนประกาศกฎกระทรวงเป็นป่าสงวนแห่งชาติ

4.การครอบครองก่อนวันที่ 30 มิ.ย.2549 อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์สิทธิจึงไม่ถือว่าผิดกฎหมาย

ประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณา

1.ที่ดินบ้านพัก พล.อ.สุรยุทธ์ บนเขายายเที่ยง อยู่ในเขตป่าสงวนหรือไม่

นายกฤษณะ พฤกษวัน ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดิน กรมป่าไม้ ให้ข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2550 ยอมรับว่าที่ดินบนเขายายเที่ยงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยพิจารณาจากแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ 67 (พ.ศ.2508) โดยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียน เขาเขื่อนลั่น ต.จันทึก อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

2.ที่ดินบ้านพัก พล.อ.สุรยุทธ์ บนเขายายเที่ยง อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ ตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 10 และ 17 มี.ค.2535 จำแนกการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ของประเทศ ที่ดินของ พล.อ.สุรยุทธ์ อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ โซน ซี

3.ประเด็นปัญหาที่ว่า นายเบ้าได้เข้าไปบุกรุกในที่ดินบนเขายายเที่ยงก่อนจะมีการประกาศเขตป่าสงวน แห่งชาติหรือไม่ จากภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศ กรมแผนที่ทหาร ปี 2510 (เอกสาร 4) บริเวณบ้านพัก พล.อ.สุรยุทธ์ ยังเป็นป่าไม้ยังไม่มีบุคคลใดบุกรุก ต่อมามีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2538 ที่ดินบนเขายายเที่ยงจึงมีการบุกรุกหลังจากประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ

4.ประเด็นปัญหาว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ทราบหรือไม่ว่าที่ดินบ้านพักเขายายเที่ยงเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่ง ชาติ โดยตามเอกสารหมายเลข 7 จะเห็นว่ามีข้อความเขียนไว้ว่าเป็นเขตหวงห้าม ของกระทรวงกลาโหม และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2550 ได้ความว่า พื้นที่หวงห้ามของกระทรวงกลาโหม หมายถึง เขตพื้นที่ทหาร พล.อ.สุรยุทธ์ เคยดำรงแม่ทัพภาค 2 ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ เพราะนอกเหนือจากเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว คือพื้นที่หวงห้ามของกระทรวงกลาโหม (เขตพื้นที่ทหาร)

5.ประเด็นปัญหาว่าที่ดินบ้านพักเขายายเที่ยง เป็นไปตามมติ ครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541 หรือไม่ บ้านดังกล่าวใช้เป็นที่พักตากอากาศไม่ใช่ที่อยู่ หรือที่ทำกินถาวร จึงไม่อยู่ภายใต้กฎบังคับมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.2541 ทั้งที่บ้านพักบนเขายายเที่ยงยังอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ (โซนซี) อันต้องรักษาและสงวนไว้ อาจมีราษฎรเข้าไปบุกรุกรัฐก็จะต้องจัดที่ดินทำกินให้ใหม่ และให้ราษฎรย้ายออกจากพื้นที่ ดังนั้น ที่ดินบนเขายายเที่ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์ จึงไม่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

6.ประเด็นปัญหาว่าที่ดินบ้านพักบนเขายายเที่ยง ดังกล่าว กรมป่าไม้เข้ามาจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรอาศัยอยู่จริงหรือไม่ จากการสอบถามข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินบ้านพักบนเขายายเที่ยงดังกล่าวไม่มี หลักฐานปรากฏว่ากรมป่าไม้ ได้จัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรเข้าอาศัยทำกินแต่อย่างใด

7.ประเด็นปัญหาว่า การพิสูจน์สิทธิของเกษตรกรที่อาศัยทำกิน ตามมติ ครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541 เป็นการจัดที่ดินอย่างไรตามมติ ครม.ดังกล่าว ผู้ที่จะพิสูจน์สิทธิได้จะต้องเป็นเกษตรกรที่อาศัยทำกินและตามความจำเป็น เพื่อการครองชีพเท่านั้น

8.ประเด็นปัญหาว่า ที่ดิน พล.อ.สุรยุทธ์ บนเขายายเที่ยง มีเอกสารสิทธิหรือไม่ พบว่าที่ดินและบ้านพัก พล.อ.สุรยุทธ์ มีเพียง ภทบ.5 คือหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่ดิน ที่จะนำมาอ้างสิทธิการมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองได้

9.ปัญหาว่า พล.อ.สุรยุทธ์ นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และอธิบดีกรมที่ดิน ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อใด

ตามเอกสารหมายเลขที่ 16 วันที่ 27 ธ.ค.2549 พล.อ.สุรยุทธ์ ทราบเรื่องนี้แล้ว และในวันนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ อธิบดีกรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ ด้วย เรื่องนี้เป็นข่าวแพร่หลาย และมีการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนั้น ต้องถือว่า พล.อ.สุรยุทธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และอธิบดีกรมที่ดิน ทราบเรื่องนี้ ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.2549 จนถึงวันที่ 11 ม.ค.2550

10.ประเด็นที่ว่า นายกรัฐมนตรี (สุรยุทธ์) และรัฐมนตรี (นายเกษม) เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 948/2510 นั้น รัฐมนตรีเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

บทสรุป

ป่าสงวนแห่งชาติ เป็นทรัพยากรแผ่นดินที่สงวนไว้ให้กับประชาชนใช้สอยร่วมกัน ป่าสงวนแห่งชาติจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2786/2515 (เอกสารหมายเลข 20) ป่าสงวนแห่งชาติ แม้บุคคลจะเข้าไปครอบครองก่อนประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติก็ตาม แต่ต่อมามีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติแต่ผู้ครอบครองไม้แจ้งสิทธิตามมาตรา 12 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงป่าสงวนแห่งชาติใช้บังคับถือว่าผู้ครอบครองนั้นสละ สิทธิ์หรือประโยชน์นั้น ถ้าครอบครองอยู่ต่อไปจะมีความผิดตามมาตรา 14 และมาตรา 31 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2535 (เอกสารหมายเลข 19)

นอกจากนี้ การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ จะต้องออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมาย บุคคลจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะบุคคลจะต้องทราบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เป็นกรณีกฎหมายปิดปาก

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ และ พ.อ.หญิง คุณหญิงจิตราวดี กระทำความผิดตามมาตรา 14 และมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และในเรื่องนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ถือเป็นเจ้าพนักงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเจ้าพนักงาน อธิบดีกรมป่าไม้และหัวหน้าป่าไม้เขตจังหวัดนครราชสีมา ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบหรือสั่งการให้มีการดำเนินคดีกลับปล่อยปละละเลย ให้ระยะเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสีย หายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองและทางราชการตามกฎหมายรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย

กรณีดังกล่าวเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติซึ่ง ในกรณีเดียวกันนี้ปรากฏว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีทั่วประเทศหลายร้อย หลายพันคดี แต่ปรากฏว่าที่ดินบ้านพักบนเขายายเที่ยงกลับไม่มีการดำเนินคดีใดๆ เลย ซึ่งตามมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันอัน เป็นสิทธิที่คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนทุกคน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

http://www.bangkokbiznews.com/2010/01/13/news_30140999.php?news_id=30140999