Sunday, July 25, 2010

จับพิรุธ"เรือเหาะ"ส่อเป็น"เรือเหี่ยว" เผยเจอรูรั่ว จ่อส่งซ่อมก่อนใช้!

จับพิรุธ"เรือเหาะ"ส่อเป็น"เรือเหี่ยว" เผยเจอรูรั่ว จ่อส่งซ่อมก่อนใช้!

มีรายงานจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ระบุว่า กองทัพบกได้ลงนามตรวจรับเรือเหาะตรวจการณ์ "สกายดรากอน" ที่สั่งซื้อมาในราคา 350 ล้านบาทแล้ว ทั้งๆ ที่ยังพบปัญหาอีกหลายประการ โดยเฉพาะรูรั่ว ถึงขนาดอาจต้องส่งซ่อมหรือขอเปลี่ยนลำใหม่จากทางบริษัทผู้จำหน่ายโดยที่ยังไม่ได้เริ่มใช้ แม้จะสั่งซื้อมานานกว่า 1 ปีแล้วก็ตาม

เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ก.ค.2553 ที่ท่าอากาศยานปัตตานี หรือสนามบินบ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะและระบบตรวจการณ์ทางอากาศของกองทัพบก (ทบ.) ได้ลงนามตรวจรับเรือเหาะทั้งระบบแล้ว หลังจากได้นำเรือเหาะขึ้นบินทดสอบเป็นครั้งสุดท้ายพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำที่ติดตั้งกล้องจับภาพระยะไกล โดยมีการเชื่อมสัญญาณภาพมายังเครื่องรับสัญญาณภาคพื้น

การตรวจรับครั้งนี้เป็นการตรวจรับเฉพาะในส่วนของเฮลิคอปเตอร์กับกล้องจับภาพเท่านั้น เนื่องจากส่วนของตัวเรือเหาะ (บอลลูน) คณะกรรมการได้ตรวจรับไปแล้วเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา

มีข่าวว่า ตามกำหนดการเดิม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันศุกร์ที่ 23 ก.ค.ด้วย เพื่อตรวจรับเรือเหาะทั้งระบบด้วยตนเอง แต่เมื่อถึงเวลาได้ยกเลิกกำหนดการเดินทางอย่างกระทันหัน และมอบหมายให้ พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายส่งกำลังบำรุง (ผช.เสธ.ทบ.ฝกบ.) เป็นผู้ตรวจรับเรือเหาะแทน

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า การตรวจรับเรือเหาะครั้งนี้มีความพยายามดำเนินการให้เสร็จสิ้น ก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์ จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.2553 ทำให้ทางกองทัพบกต้องเร่งรีบดำเนินการรับมอบเรือเหาะ แม้ว่าอุปกรณ์หลายๆ ส่วนโดยเฉพาะตัว "บอลลูน" จะยังอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งานจริงก็ตามที

มีรายงานว่า จากการทดสอบเรือเหาะทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะครั้งล่าสุด พบว่าเรือเหาะมีรอยรั่วซึมหลายจุด ส่งผลให้ไม่สามารถบินสูง 10,000 ฟิต (3 กิโลเมตร) ได้ตามที่กำหนดในสเปค คณะกรรมการของกองทัพบกจึงได้ประชุมร่วมกับตัวแทนของบริษัทผู้จัดจำหน่าย และเสนอให้ทางบริษัทนำเรือเหาะลำใหม่มาเปลี่ยนให้กองทัพบกไทย แต่เบื้องต้นทางบริษัทอ้างว่า หากต้องการลำใหม่จะต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน จึงเสนอให้ส่งซ่อม

ด้วยเหตุนี้แม้คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะของกองทัพบกจะตรวจรับเรือเหาะทั้งระบบแล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้งานจริงได้ เพราะต้องรอซ่อมแซมตัวเรือเหาะหรือเปลี่ยนเรือเหาะลำใหม่เสียก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน หรือถ้าจะนำขึ้นบิน ก็ต้องบินเฉพาะบริเวณเหนือค่ายทหาร หากบินออกไปด้านนอกจะเสี่ยงอันตรายมาก เนื่องจากระบบเรือเหาะทำเพดานบินได้แค่ 3,000 ฟิต (1 กิโลเมตร)

มีรายงานด้วยว่า ในท้ายเอกสารการตรวจรับเรือเหาะ คณะกรรรมการตรวจรับฯได้เขียนข้อเสนอเป็นความเห็นเพิ่มเติมว่า สภาพของเรือเหาะยังไม่สามารถใช้งานได้อย่าสงสมบูรณ์ จึงขอให้บริษัทนำไปตรวจสอบซ่อมปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ที่สหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ออกมาระบุว่า หากกองทัพบกลงนามตรวจรับเรือเหาะทั้งๆ ที่ยังมีปัญหา จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทันที

ย้อนรอย"เรือเหาะฉาว"

กองทัพบกโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้งบประมาณจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ทำสัญญาซื้อ “ระบบเรือเหาะตรวจการณ์” จาก บริษัทเอเรียล อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน (Arial International Cooperation) ในราคา 350 ล้านบาท โดยเรือเหาะลำนี้ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่น Aeros 40D S/N 21 หรือ สกาย ดรากอน (SKY DRAGON)

สำหรับข้อมูลจำเพาะของเรือเหาะลำนี้ คือรุ่น Aeros 40D S/N 21 (SKY DRAGON) ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร) ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ 0 -10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมง

เกณฑ์การสิ้นเปลือง ณ ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย (นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย)

ทั้งนี้ หลังจากเรือเหาะถูกส่งถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ปีที่แล้ว ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกไปฝึกการใช้งานเรือเหาะตรวจการณ์กับทางบริษัทผู้ผลิต และได้มีการก่อสร้างโรงจอดที่กองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อโรงจอดสร้างเสร็จ จึงเคลื่อนย้ายเรือเหาะไปไว้ที่โรงจอดดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 2552 และเริ่มทดลองใช้ ทว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถปฏิบัติงานจริงได้

ที่ผ่านมามีข้อสังเกตจากบุคคลในแวดวงธุรกิจเรือเหาะว่า ราคาเรือเหาะที่กองทัพจัดซื้อน่าจะแพงเกินไป เพราะเรือเหาะของบริษัทแอร์ชิป เอเซีย ที่นำเข้าและจดทะเบียนก่อนที่กองทัพจะจัดซื้อ และมีขนาดใกล้เคียงกับเรือเหาะ “สกาย ดรากอน” นั้น มีราคาเพียง 30-35 ล้านบาทเท่านั้นเอง แต่เรือเหาะของกองทัพบก เฉพาะตัวบอลลูนอ้างว่ามีราคาสูงถึง 260 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเรือเหาะตรวจการณ์ว่าอาจเป็น "สินค้ามือสอง" เพราะสั่งซื้อและได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือน ทั้งๆ ที่หากเป็นของใหม่จะต้องใช้เวลาสร้างอีกร่วม 1 ปี ขณะเดียวกันก็ยังมีกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับราคาเติมก๊าซฮีเลี่ยมที่สูงถึง 3 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เรือเหาะลำใกล้เคียงกันเติมเพียงครั้งละ 7-8 แสนบาท

ที่สำคัญการตัดสินใจซื้อ "ระบบเรือเหาะตรวจการณ์" มาใช้ในภารกิจแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่ต้นถึงความเหมาะสมในแง่ยุทธการและความคุ้มค่า โดย อดีตนายทหารระดับสูงหลายนายอย่าง พล.อ.หาญ ลีนานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองทัพไทย ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อ "ระบบเรือเหาะตรวจการณ์" อย่างรุนแรงว่า ไร้ประโยชน์ในทางยุทธการ ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขาอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกยิงตกด้วย

(เรื่องและภาพ โดย ทีมข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา)

มติชนออนไลน์, 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280034518&grpid=01&catid=