Friday, January 8, 2010

ถึงคราว "เซียนรับเหมา" เกยตื้น โอนหุ้น 100 ล้าน - จัดซื้อรถพยาบาลฉาว

ถึงคราว "เซียนรับเหมา" เกยตื้น โอนหุ้น 100 ล้าน - จัดซื้อรถพยาบาลฉาว

ผลสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีน.พ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน นำไปสู่การประกาศลาออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของ นายวิทยา แก้วภราดัย ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทย อาจไขก๊อกเป็นรายที่สอง

...เอาเข้าจริงแล้ว การแสดงสปิริตของรัฐมนตรี เป็นไปก็เพื่อการรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรักษากฎเหล็ก 9 ข้อที่นายกฯเป็นคนประกาศตั้งแต่ต้นว่า "ความรับผิดชอบทางการเมือง ต้องอยู่เหนือความรับผิดทางกฏหมาย"
แต่นั่นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะยังมีโครงการไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาอีกมหาศาล
กล่าวเฉพาะนายมานิต มิใช่พัวพันกับการจัดซื้อรถฉาว 800 คันตามผลสอบของ น.พ.บรรลุเท่านั้น

หากแต่ก่อนหน้านี้ยังถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติจากความเป็นรัฐมนตรี หรือไม่กรณีถือหุ้นบริษัทที่รับสัมปทานหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ
และยังถูกเปิดโปงกรณีโอนหุ้นธุรกิจให้ลูก 3 คนอย่างมีเงื่อนงำก่อนนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเพียงไม่กี่วัน

"ประชาชาติธุรกิจ"แกะรอยปูมหลังของเขาดังนี้

นายมานิตเป็น ส.ส.ราชบุรี สามีของนางกอบกุล เครือญาตินายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นเจ้าของกิจการ 6 แห่ง

1.หจก.ท่าราบก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง ก่อตั้งวันที่ 27 เมษายน 2530 ทุน 100 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 48 หมู่ที่ 5 ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี นายมานิตมีเงินลงทุน 36 ล้านบาท ลูก 2 คน 42 ล้านบาท
2.บริษัท มาลัยดอกรัก จำกัด บริการขนส่ง ก่อตั้งวันที่ 29 กันยายน 2532 ทุน 1 ล้านบาท นายมานิตถือหุ้น 100 หุ้น มูลค่า 1 แสนบาท คู่สมรส 600 หุ้น มูลค่า 6 แสนบาท
3.บริษัท เอ็ม.เค.อาร์ มอเตอร์ จำกัด รับเหมาก่อสร้างและให้เช่ารถยนต์ ก่อตั้งวันที่ 4 ธันวาคม 2539 ทุน 20 ล้านบาท นายมานิตถือหุ้น 169,100 หุ้น มูลค่า 16,910,000 บาท ลูก 2 คน ถือหุ้น 20,000 หุ้น มูลค่า 2 ล้านบาท
4.บริษัท ส.กอบชัยการช่าง จำกัด รับเหมาก่อสร้างถนน ก่อตั้งวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ทุน 30 ล้านบาท นายมานิต ถือหุ้น 5,100 หุ้น มูลค่า 5.1 ล้านบาท คู่สมรส 6,000 หุ้น มูลค่า 6 ล้านบาท นายสุทธิชัย ธรรมประมวล (ที่ปรึกษานายมานิต) ถือหุ้น ใหญ่ 55% นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ 5% นายเกชา ศักดิ์สมบุญ ส.ว.ราชบุรี 2%
5.บริษัท เพชรเมืองราช จำกัด ตลาดสดขายผัก ผลไม้ ก่อตั้งวันที่ 13 ตุลาคม 2548 ทุน 5 ล้านบาท นายมานิตและคู่สมรสถือหุ้นคนละ 11,199 หุ้น มูลค่า 1,119,900 บาท ลูก 2 คนถือหุ้น คนละ 9,119 หุ้น มูลค่า 911,900 บาท
และ 6. บริษัท ริช เรสซิเดนซ์ จำกัด 1,200 หุ้น มูลค่า 120,000 หุ้น

ทั้งนี้ กิจการรับเหมา หจก.ท่าราบก่อสร้าง สร้างรายได้มากสุดปีละประมาณ 300 ล้านบาท

ไม่รวมเงินลงทุน ในบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด ,บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด ,บมจ.หลักทรัพย์ ไซรัส ,บมจ.หลักทรัพย์ เค.จี.อ. , และสถาบันการเงินชุมชน ต.ดอนตะโก รวมมูลค่า 12.5 ล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่า "ก่อน" และ "หลัง" เป็นรัฐมนตรี นายมานิตและนางกุลภรรยา (เสียชีวิตแล้ว) ได้โอนหุ้นจำนวน 5 บริษัทให้นางสาวกุลวลี นพอมรบดี บุตรสาวคนโต และ นางสาวพวงทอง คุณาชีวะ พี่สาว รวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท

ยกเว้นบริษัท ริช เรสซิเดนท์ จำกัด ซึ่งแจ้งเลิกกิจการ

ทรัพย์สินของนายมานิตที่แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ (ป.ป.ช.) 2 ครั้งตอนเป็น ส.ส. จำนวน 423.3 ล้านบาท และตอนเป็นรัฐมนตรีจึงลดลงถึง 122.9 ล้านบาท ในช่วงเวลาแค่ 11 เดือน

ขณะที่ หจก.ท่าราบก่อสร้าง (ซึ่งมีลูกสาวและพี่สาวถือหุ้นใหญ่) ได้เข้ารับเหมาก่อสร้างถนนในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และ ราชบุรี สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และรับเหมาขุดลอกแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงต่อมานับสิบสัญญามูลค่านับร้อยล้านบาท

ทำให้ไม่มีปัญหาข้อกฏหมายในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

อย่างไรก็ตาม ในการจัดซื้อรถพยาบาลจำนวน 800 คัน ผลการสอบสวนของน.พ.บรรลุ ระบุว่า นายมานิต นายสุทธิชัย ธรรมประมวล ที่ปรึกษานายมานิต ( เพื่อนและหุ้นส่วนธุรกิจในบริษัท ส.กอบชัยการช่าง จำกัด) และพวก ได้เรียกผู้ประกอบการรถพยาบาลรายใหญ่ 2 ราย ไปพบที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว ก่อนสรุปว่าน่าเชื่อว่ามีความพยายาม "ฮั้ว"จัดซื้อรถพยาบาลดังกล่าว

ทำให้อดนึกถึงงานรับเหมาที่บริษัทของนายมานิตเป็นคู่สัญญาไม่ได้ว่า จะมีปัญหาเหมือนกรณีจัดซื้อรถพยาบาล 800 คันหรือไม่ ?

ประชาชาติธุรกิจ, 3 มกราคม 2553

Monday, January 4, 2010

เปิดผลสอบชุดหมอบรรลุ น้ำขึ้นให้รีบตัก (ตอน 1)

เปิดผลสอบชุดหมอบรรลุ น้ำขึ้นให้รีบตัก (ตอน 1)

หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็ง ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี นำเอกสารรายงานผลการสอบสวนเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล "มติชน" จึงได้คัดย่อสาระสำคัญในรายงานมานำเสนอเป็นตอนต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบสำหรับผู้อ่านที่สนใจและติดตามในประเด็นดังกล่าว ดังนี้

ผลการพิจารณา แยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.สำนักงานปลัด สธ. 2.กรมการแพทย์
สำนักงานปลัด สธ. พบความผิดปกติ ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ

1.สิ่งก่อสร้าง


-การบริหารจัดการ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ไม่มีกระบวนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ไม่มีการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และหลักเกณฑ์ตามที่ควร และไม่มีคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ ที่จำเป็นเพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการให้เป็นไปตามนโยบาย

ยุทธศาสตร์และหลักเกณฑ์ ปล่อยให้มีการดำเนินการตามอำเภอใจ ในลักษณะ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" หรือในลักษณะ "น้ำขึ้นให้รีบตัก" และมีการแทรกแซงจากทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูงโดยมิชอบ

-ผลการจัดสรรเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม ไม่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ไม่สามารถแก้ปัญหาของระบบบริการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต หลายแห่งได้รับงบประมาณเกินความจำเป็นในขณะที่หน่วยงานที่ขาดแคลนไม่ได้รับงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลทำให้เพิ่มปัญหาแทนที่จะแก้ปัญหา หลายแห่งจะได้อาคารที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และเป็นภาระแก่การบำรุงรักษา ขณะที่หลายแห่งไม่ได้รับอาคารที่จำเป็น

-ราคาสิ่งก่อสร้างที่กำหนดไว้ มีจำนวนมากที่สูงเกินความเป็นจริงไปมาก โดยน่าสงสัยว่าหน่วยงานและบุคคลที่มีหน้าที่ในการกำหนดราคา จะดำเนินการโดยไม่ถูกต้องและไม่สุจริต เพื่อเปิดทางให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

-มีการแทรกแซงการดำเนินการโดยผู้มีอำนาจ ดังกรณีตัวอย่างใน จ.ราชบุรี

-ความบกพร่อง ผิดพลาดที่เกิดขึ้น น่าจะเกิดจากการขาดความรู้ความสามารถ การขาดความเอาใจใส่ เจตนาปล่อยปละละเลย เพื่อเปิดทางให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบทั้งในการดึงงบประมาณลงพื้นที่ และการตั้งราคาไว้สูงเกินสมควร

-มีผู้สมควรต้องรับผิดชอบกับความบกพร่อง ผิดพลาดและการดำเนินการที่ไม่สุจริต เปิดทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ ดังนี้ อดีตปลัด สธ. (นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์) อดีตรองปลัด สธ. (พญ.ศิริพร กัญชนะ) ได้รับมอบหมายโดยตรงให้รับผิดชอบโครงการ ปลัด สธ. (นพ.ไพจิตร์ วราชิต) รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค (สบภ.) สมัยเป็นรองปลัด สธ. นพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผอ.สบภ. ผอ.กองแบบแผน สำนักงานปลัด สธ.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น ซึ่งมีหน้าที่กำหนดราคากลาง และกำหนดราคากลางที่สูงเกินสมควรมาก ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบโครงการก่อนเสนอผู้มีอำนาจลงนามถึงสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายมานิต นพอมรบดี) ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แทรกแซงการดำเนินงานและโยกย้ายข้าราชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายวิทยา แก้วภราดัย) ไม่อาจปัดความรับผิดชอบในความผิดพลาด

2.ครุภัณฑ์การแพทย์ มี 12 รายการ ได้แก่

-เครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด(Automate Blood Chemistry) และเครื่องตรวจนับเม็ดเลือดอัตโนมัติ เป็นครุภัณฑ์การแพทย์ที่ไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้อ เพราะบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือนี้ จะนำเครื่องมือไปติดตั้งไว้ในโรงพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่า แต่มีบริษัทไปติดต่อโรงพยาบาลต่างๆ ให้ทำคำของบประมาณโดยส่งสเปคให้ และบางโรงพยาบาลถูกเร่งรัดข่มขู่ให้จัดทำคำขอ บริษัทดังกล่าวคือบริษัท Imed มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งคือ นพ.เศรษฐพันธ์ อัตถากรวัฒน์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ นพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผอ.สบภ.ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำคำของบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์ทั้งหมดกว่า 7,000 รายการ

-เครื่องช่วยหายใจมีการจัดสรรเกินความจำเป็น ทำให้ราคาแพงโดยใช่เหตุ และไม่ตรงกับความต้องการ เช่น รพ.ป่าโมก รพ.โพธิ์ทอง รพ.ไชโย และ รพ.แสวงหา จ.อ่างทอง ไม่มีอายุรแพทย์ แต่ได้รับจัดสรรเครื่องช่วยหายใจชนิดวัดความจุปอดได้ ส่วน รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ต้องการเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพราะไฟฟ้าดับบ่อย แต่ไม่ได้ กลับได้เครื่องช่วยหายใจแบบหย่าเครื่องอัตโนมัติแทน รพ.สกลนคร ต้องการเครื่องช่วยหายใจชนิดธรรมดา 6 เครื่อง แต่กลับได้ชนิดวัดความจุปอด 3 เครื่อง ทำให้เปิดไอซียูเพิ่มอีก 6 เตียงไม่ได้

-เครื่องดมยาสลบมีการจัดสรรเครื่องที่มีระบบการทำงานสูงเกินความจำเป็น ทำให้ราคาแพงโดยใช่เหตุ เช่น รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย รพ.สมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ รพ.สมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา รพ.สมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก รพ.หลังสวน จ.ชุมพร, รพ.พาน จ.เชียงราย ได้รับจัดสรรเครื่องแบบมีระบบวัดความลึกของการสลบ (BIS Monitor) ซึ่งโดยทั่วไปไม่มีความจำเป็น แต่ทำให้ราคาแพงเกินเหตุ บางโรงพยาบาล เช่น รพ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี รพ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้รับเครื่องดมยาสลบแบบมีเครื่องบันทึกการใช้ยาของวิสัญญีแพทย์ (Electronic Charting) ซึ่งโดยทั่วไปไม่มีความจำเป็นและทำให้ราคาแพงโดยใช่เหตุ

-เครื่องควบคุมการทำงานของหัวใจกลาง(Central Monitor) มีการจัดทำคำของบประมาณในราคาแพงเกินสมควร และแตกต่างกันมาก 3-10 ล้านบาท และมีการระบุข้อความที่เข้าข่ายเป็นการล็อคสเปคเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทที่ครองตลาดอยู่เดิม คือข้อความว่าต้อง "เชื่อมต่อกับระบบเดิมได้"

-เครื่องเอ็กซเรย์เต้านม(Mammogram) มีการจัดสรรเครื่องแบบดิจิตอล ในราคาแตกต่างกันมาก 17-28 ล้านบาท เครื่องแบบดังกล่าวราคาแพงกว่าแบบฟิล์ม 3-5.6 เท่า โดยที่คณะทำงานด้านบริการป้องกันโรคของสหรัฐมีคำแนะนำว่าเครื่องทั้ง 2 แบบ ให้ผลลัพธ์การทำงานไม่แตกต่างกัน เพราะแบบดิจิตอลที่มีราคาแพงมาก ไม่มีผลต่อการลดอัตราตายจากโรคมะเร็งเต้านม

-เครื่องสลายนิ่วไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้อ

-เครื่องพ่นยุงติดรถยนต์มีการเขียนโครงการจัดซื้อในลักษณะเร่งรัดผิดสังเกต โดยกำหนดสเปคที่อาจไม่เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ และตั้งราคาสูงเกินสมควร บริษัทจำหน่ายเครื่องเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ รมช.สธ.

-เครื่องทำลายเชื้อด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด (ยูวี-แฟน) มีการจัดสรรให้ รพ.ชุมชนแห่งละ 1 เครื่อง รวม 800 เครื่อง ในราคาสูงเกินสมควร มีผู้เกี่ยวข้องในการสั่งการมาก

-รถปิคอัพดับเบิลแค็บ 320 คันราคาแพงเกินสมควร คันละ 1.72 แสนบาท และรถปิคอัพแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อีก 42 คัน ซึ่งแพงเกินสมควรคันละ 1 แสนบาท รวมมูลค่าที่แพงเกินสมควร 59.24 ล้านบาท

-รถพยาบาลมีความพยายาม "ฮั้ว" ซึ่งหากฮั้วสำเร็จจะทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณคันละ 1 แสนบาท รวม 800 คัน มูลค่า 80 ล้านบาท โดยอาจมีการลดคุณภาพอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ประจำรถ ซึ่งเป็นการไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย

-ยูนิตทำฟัน 400 เครื่องจากสถาบันพระบรมราชชนก ราคายูนิตละ 6 แสนบาท เทียบกับที่จัดสรรให้สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ยูนิตละ 415,000 บาท จึงแพงกว่ายูนิตละ 185,000 บาท รวมแพงเกินสมควร 74 ล้านบาท

ครุภัณฑ์ทั้ง 12 รายการ หากมีการทบทวนจะประหยัดงบประมาณได้ 719.74 ล้านบาท และป้องกันการสูญเสียในอนาคตได้ 645-1,308 ล้านบาท

3.รถพยาบาล

-มีการเสนอของบประมาณเพื่อจัดซื้อรถพยาบาล 800 คัน ในโครงการไทยเข้มแข็งจริง

-น่าเชื่อว่ามีการไปร่วมกินอาหารเย็นกันที่ภัตตาคารไดแนสตี้ในโรงแรมเซนทารา ลาดพร้าว เมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2552 จริง โดยผู้ร่วมกินอาหาร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรถพยาบาลรายใหญ่ในประเทศไทย ทั้ง 2 ราย (บริษัท พูลภัณฑ์พัฒนา จำกัด 2 คน และบริษัท สุพรีม โปรดักส์ จำกัด 2 คน) นายสุทธิชัย ธรรมประมวล ที่ปรึกษา รมช.สธ. นายมานิต นพอมรบดี รมช. และนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เลขานุการ รมว.สธ.

-น่าเชื่อว่าในการกินอาหารในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว มีความพยายามในการเจรจาให้มีการฮั้วกันเรื่องการจัดซื้อรถพยาบาลจริงด้วยเหตุผลดังนี้

1.แม้คำให้การของผู้บริหารระดับสูงของ สธ.จะเป็นเพียง "พยานบอกเล่า" แต่เนื้อหาสาระสำคัญตรงกันกับคำบอกเล่าของพยานในเหตุการณ์จริงทุกประการ ทั้งเรื่องชื่อบริษัทรถที่มีการไปขอล็อคโควต้า ชื่อล็อบบี้ยิสต์ที่ทำหน้าที่เจรจา วิธีการฮั้ว จำนวนเงินผลประโยชน์ต่อคันที่ขอ และการแจ้งว่าถ้าไม่ร่วม "ฮั้ว" ก็จะไม่มีโอกาสได้งานนี้ เป็นต้น

2.นางศิริวรรณ ยอมรับว่าได้ไปพบปะ รมช.สธ.ในห้องอาหารดังกล่าว ในวันเวลาดังกล่าวจริง

3.นายมานิต ยอมรับว่าได้ไปที่ภัตตาคารไดแนสตี้โรงแรมเซนทารา ลาดพร้าว ในวัน-เวลา ตามข่าวจริง และได้พบกับนางศิริวรรณจริง แม้จะอ้างว่าไปพบเพื่อนเก่าชื่อนายวิจิตร และไม่ได้พบนายสุทธิชัย ก็ไม่น่าเชื่อ เพราะอ้างว่านายวิจิตร ไปขอพบถึงหน้าห้อง แต่ไม่ได้ให้เข้าพบ และได้นัดพบตอนเย็นหลังเลิกงานแทน โดยที่นายมานิตย้ำว่า ปกติตนจะกลับพื้นที่ราชบุรีเป็นประจำทุกวัน เว้นเฉพาะเมื่อมีภารกิจจำเป็น เมื่อเพื่อนเก่ามาขอพบถึงหน้าห้องกลับไม่ให้เข้าพบ แต่นัดให้ไปพบตอนเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่ตนจะกลับราชบุรี การที่ต้องเดินทางไปที่โรงแรมเซนทารา ลาดพร้าวเวลาหัวค่ำ ย่อมต้องเสียเวลามาก เพราะบริเวณนั้นรถติดมาก เมื่อไปพบก็อ้างว่าพบกันเพียง 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งผิดวิสัย สำหรับนายสุทธิชัย นายมานิต รับว่าเป็นเพื่อนที่สนิทกันมาก เพราะเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน ในคณะและแผนกเดียวกัน เมื่อเรียนจบยังมาทำงานด้วยกันและมีที่ทำการบริษัทอยู่สถานที่เดียวกัน เมื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ได้แต่งตั้งให้นายสุทธิชัยเป็นที่ปรึกษา แต่น่าแปลกที่มอบหมายงานทางการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งนายสุทธิชัยไม่มีความรู้ความชำนาญให้ทำ คือ เรื่องวัคซีนไข้สมองอักเสบ เจอี และเรื่องโรคชิคุนกุนยา

4.นายสุทธิชัย ยอมรับว่าสนิทสนมกับนายมานิต เพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเรียนจบก็มาตั้งบริษัทรับเหมาด้วยกัน และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา เมื่อนายมานิตได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.สธ.โดยได้รับให้คำปรึกษาเรื่องโรคชิคุนกุนยา และเรื่องการก่อสร้างอาคารในบริเวณที่มีแผ่นดินไหวซึ่งตนเป็นวิศวกร แต่ไม่ระบุว่าที่กระทรวงหรือหน่วยงานอื่นมีการพิจารณาเรื่องอาคารสำหรับบริเวณที่มีแผ่นดินไหวในประเทศไทยหรือไม่ นายสุทธิชัยยืนยันว่าตนไม่ได้ไปที่ภัตตาคารไดแนสตี้เมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2552 อย่างไรก็ดี

นายสุทธิชัยยอมรับว่าในวันดังกล่าว นายวิจิตรซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ไปหาตนที่กระทรวงสาธารณสุข ช่วง 09.00-11.00 น. ได้พบตน แต่ไม่ได้พบนายมานิตโดยอ้างว่านายมานิตไม่อยู่ ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การของนายมานิต และนายสุทธิชัยยังยืนยันว่าไม่เคยรู้จักกับนางศิริวรรณเลย ทั้งๆ ที่ห้องที่ปรึกษาที่ตนเข้าไปทำงานเป็นประจำกับห้องทำงานของนางศิริวรรณอยู่ใกล้ๆ กัน กรณีที่อ้างว่า ทีมงานของรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย "เกาเหลา" กัน ก็ขัดต่อข้อเท็จจริงที่นางศิริวรรณได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการว่าตนได้ไปที่โรงแรมเซนทารา และเมื่อทราบว่ารัฐมนตรีช่วยกินอาหารอยู่ที่ภัตตาคารไดแนสตี้ยังได้ขึ้นไปพบและร่วมกินอาหารด้วย รวมทั้งเมื่อมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับเรื่องนี้มีการระบุชื่อย่อผู้เกี่ยวข้อง มีอักษร "ส" อยู่ด้วย นายสุทธิชัยก็เฉยๆ คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า

คำให้การของนายสุทธิชัยมีพิรุธ ไม่น่าเชื่อโดยเฉพาะเรื่องนายวิจิตรกับนายมานิต และเรื่องที่ไม่รู้จักกับนางศิริวรรณ คณะกรรมการไม่แปลกใจที่นายสุทธิชัยจะให้การว่าไม่ได้ไปที่ภัตตาคารไดแนสตี้เมื่อเย็นวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2552 สอดคล้องกับคำให้การของนายมานิต ซึ่งก็ให้การว่าไม่พบนายสุทธิชัยในห้องอาหารที่ภัตตาคารไดแนสตี้มีข้อสังเกตว่าเมื่อคณะกรรมการได้เรียกนายสุทธิชัยมาให้ถ้อยคำครั้งแรก เพื่อให้ไม่มีเวลาซักซ้อมกับนายมานิต นายสุทธิชัยอ้างติดภารกิจในต่างจังหวัด และได้ขอไปให้ถ้อยคำในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2552 แทน ซึ่งเหตุผลความจำเป็นเรื่องติดภารกิจไปปลูกต้นไม้ น่าจะไม่ใช่เหตุผลสมควร

สรุปแล้ว คณะกรรมการเชื่อว่า มีความพยายามดำเนินการเพื่อให้มีการ "ฮั้ว" การจัดซื้อรถพยาบาล 800 คัน ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจริง โดยมีการขอผลประโยชน์ คันละ 1 แสนบาท ซึ่งตรงกับการขอปรับราคารถพยาบาลที่เคยจัดซื้อได้เดิมคันละ 1.7 ล้านบาท เป็นคันละ 1.8 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีเรื่องราวปรากฏเป็นข่าว ก็อาจมีการ "ฮั้ว" สำเร็จ และวงเงินผลประโยชน์ในรายการนี้ก็สูงถึง 80 ล้านบาท

4.เครื่องยูวี-แฟน

-การของบประมาณรายการเครื่องยูวี-แฟน เป็นการจัดสรรจากส่วนกลางจริง โดยไม่มีคำขอจากหน่วยงานผู้ใช้

-การจัดสรรงบประมาณรายการเครื่องยูวี-แฟน เป็นการจัดสรรที่ผิดหลักเกณฑ์ เพราะราคาต่อหน่วยเพียง 40,000 บาท ขณะที่หลักเกณฑ์กำหนดว่าครุภัณฑ์การแพทย์สำหรับบริการทุติยภูมิให้มีราคาตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป ครุภัณฑ์ราคา 40,000 บาทโรงพยาบาลต่างๆ สามารถใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลจัดซื้อได้เอง

-มีการเร่งรัดให้หน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจริง ที่ จ.สงขลา โดยจังหวัดสั่งการให้ดำเนินการ "ด่วนที่สุด" โดยใช้สเปคของบริษัท ก่อเกียรติซัพพลาย จำกัดจริง ซึ่งสเปคดังกล่าวมีความบกพร่องและมีลักษณะเป็นการล็อคสเปคให้แก่สินค้าของบริษัท ก่อเกียรติซัพพลาย

-มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการให้บรรจุรายการเครื่องยูวี-แฟน เข้าในโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ ดังนี้

1.นพ.สุชาติ ได้จัดทำเอกสาร "สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการของบประมาณเครื่องฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต" หลังปรากฏเป็นข่าวครึกโครมแล้ว เอกสารดังกล่าวน่าเชื่อถือ เพราะ นพ.สุชาติได้ประชุมสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใน สบภ.และได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วก่อนเผยแพร่ สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

-นพ.กฤษดา มนูญวงษ์ ที่ปรึกษา รมว.สธ.เป็นผู้นำโครงการจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟนไปมอบให้ แต่ นพ.สุชาติแจ้งว่าจะบรรจุรายการดังกล่าวได้ต้องเป็นการสั่งการจากปลัด สธ.หรือรองปลัด สธ.ที่ได้รับมอบหมาย

-พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัด สธ. ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง ได้สั่งการให้บรรจุรายการดังกล่าวเข้าโครงการไทยเข้มแข็ง ต่อมารายการดังกล่าวถูกตัดออก เพื่อนำยอดงบประมาณรายการนี้ไปจัดสรรให้โครงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของ จ.ระยอง พญ.ศิริพร ตรวจพบจึงได้สั่งการโดยตรงกับนางจุฑารัตน์ มากคงแก้ว เจ้าหน้าที่ใน สบภ. ให้บรรจุรายการนี้กลับเข้าไปใหม่

-นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. ได้เป็นผู้ติดตามการบรรจุครุภัณฑ์รายการนี้กับ นพ.สุชาติ และเมื่อหัวหน้าฝ่ายแผนของ สบภ.คือนางศุภรดา รอดอาตม์ ได้ทักท้วงกับ นพ.สุชาติว่าผิดหลักเกณฑ์ นพ.สุชาติได้ต่อโทรศัพท์ให้คุยกับ นพ.ปราชญ์โดยตรง หลังจากพูดโทรศัพท์แล้วนางศุภรดาก็มิได้ทักท้วงเรื่องนี้อีก

คณะกรรมการพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าสาระสำคัญตามที่ นพ.สุชาติสรุปเกี่ยวกับผู้สั่งการให้บรรจุยูวี-แฟนในโครงการไทยเข้มแข็งน่าจะเป็นความจริง ด้วยเหตุผลดังนี้

ก. นอกจากความน่าเชื่อถือในกระบวนการจัดทำเอกสารแล้วเอกสารของ นพ.สุชาติ สื่อมวลชนได้นำไปลงข่าวเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ย่อมกระทบต่อชื่อเสียงของบุคคลทั้งสามคือ นพ.กฤษดา มนูญวงษ์ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ และ พญ.ศิริพร กัญชนะ อย่างมาก แต่ไม่ปรากฏว่าบุคคลออกมาปฏิเสธ หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนเอง โดยเฉพาะ นพ.กฤษดา และ พญ.ศิริพร รับว่าไม่เคยสอบถามหรือต่อว่า นพ.สุชาติ ทั้งๆ ที่รู้จักกันดี รวมทั้งเมื่อคณะกรรมการสอบถามว่าจะให้มาให้ถ้อยคำต่อหน้า นพ.สุชาติ บุคคลทั้งสองก็ปฏิเสธ และรับว่าไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองใดๆ กับ นพ.สุชาติมาก่อน สำหรับ นพ.ปราชญ์ รับว่าเป็นผู้รับ นพ.สุชาติกลับเข้ารับราชการเอง และมอบให้ทำหน้าที่สำคัญคือ ผอ.สบภ. และรับว่าได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนางศุภรดา เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมจริง

ข. พยานปากสำคัญคือ นางจุฑารัตน์ มากคงแก้ว ให้การยืนยันการสั่งการของ พญ.ศิริพรให้บรรจุรายการนี้กลับเข้าไปใหม่ ซึ่งการสั่งการดังกล่าวเป็นการสั่งการล้วงลึกถึงตัวเจ้าหน้าที่ และเป็นการสั่งการข้ามสายงาน เพราะ พญ.ศิริพรไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล สบภ. โดย พญ.ศิริพรรับว่าไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองใดๆ กับนางจุฑารัตน์มาก่อน นอกจากนี้ นางจิราภรณ์ สิงหเสนี เจ้าหน้าที่ใน สบภ.ก็ยืนยันว่า เป็นผู้บรรจุรายการนี้กลับเข้าไปใหม่ โดยต้องตัดรายการที่มียอดงบประมาณเท่ากันออกไป และเป็นการดำเนินการตามการสั่งการของนางศุภรดา รอดอาตม์ ซึ่งเป็นหัวหน้าของตน

-นพ.สุชาติ เลาบริพัตร ได้มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2550 ถึง ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ระบุชัดเจนว่า "รมว.สธ.มีนโยบายให้การบรรจุรายการครุภัณฑ์เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด สำหรับโรงพยาบาลชุมชน ในโครงการพัฒนาระบบบริการทุติยภูมิจำนวน 800 เครื่อง ราคาเครื่องละ 40,000 บาท เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 32,000,000 บาท ภายใต้ระบบปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" ประเด็นดังกล่าวนี้ คณะกรรมการได้สอบถามผู้เกี่ยวข้อง 5 คน และ รมว.สธ.และพิจารณาแล้วมีความเห็นสรุปได้ว่า รมว.สธ.น่าจะมีส่วนรู้เห็นหรือเห็นชอบกับการบรรจุรายการเครื่องยูวี-แฟนเข้าไปในโครงการไทยเข้มแข็งจริง

-นอกจากผลประโยชน์โดยมิชอบจากการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟนแล้ว เฉพาะ นพ.ปราชญ์และ พญ.ศิริพร น่าจะมีเหตุจูงใจส่วนตน ดังนี้

1.นพ.ปราชญ์ได้มีนโยบายเร่งรัด หยุดยั้งวัณโรคโดยอ้างอย่างผิดหลักวิชา ว่า ประเทศไทยติดอันดับมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่สูงเป็นอันดับ 18 ใน 22 ประเทศในโลก และได้มอบให้สำนักตรวจราชการ สธ.จัดทำโครงการเร่งรัด หยุดยั้งวัณโรค โดย นพ.ปราชญ์ได้ไปบรรยายทางวิชาการด้วยตนเอง กำหนดให้รับผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ไว้รักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งผิดหลักวิชาการ และแนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก เพราะจะทำให้มีการแพร่เชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลมากขึ้น นโยบายดังกล่าวทำให้มีการจัดทำห้องแยกโรคตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยติดตั้งเครื่องฟอกอากาศซึ่งมีระบบทำลายเชื้อด้วยรังสียูวี โดยราคาเครื่องมือดังกล่าวพร้อมค่าบำรุงรักษาสูงถึงห้องละ 250,750 บาท และนโยบายดังกล่าว หลายจังหวัดได้นำไปอ้างเพื่อจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟนอย่างมีเงื่อนงำ นโยบายดังกล่าวน่าเชื่อว่าจะมีผลประโยชน์แอบแฝงเป็นอันมาก ควรมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

การลงไปเร่งรัดงานวัณโรคของ นพ.ปราชญ์ เป็นเรื่องผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งซึ่งเป็นโครงการใหญ่ มีความสำคัญมาก และเป็นเรื่องรับผิดชอบโดยตรงของปลัด สธ. แต่ นพ.ปราชญ์มิได้เอาใจใส่เท่าที่ควร ไม่มีการตั้งคณะกรรมการ ไม่มีการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และหลักเกณฑ์การดำเนินการทั้งเรื่องแนวทางการจัดสรรและการกำหนดราคา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรองปลัดฝ่ายบริหาร คือ พญ.ศิริพร กัญชนะ ซึ่งก็ไม่เอาใจใส่เท่าที่ควร นพ.ปราชญ์ อ้างว่ามีการประชุมติดตามเรื่องนี้ในที่ประชุมเช้าวันอังคาร ที่เรียกว่า Tuesday Breakfast Meeting เรียกย่อว่า TBM แต่ตรวจสอบจากรายงานการประชุม TBM แล้วมีการพิจารณาติดตามโครงการนี้น้อยมาก

-นพ.ปราชญ์ และ พญ.ศิริพร ได้ร่วมกันเสนอบริจาคเงินแก่ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) รวมเป็นเงิน 2 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 6.8 ล้านบาท) เพื่อเป็นค่าจ้างให้ พญ.ศิริพรไปเป็นผู้ปฏิบัติงานของโครงการดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี หลังเกษียณอายุราชการ ทั้งๆ ที่ พญ.ศิริพรเคยสมัครไปทำงานกับโครงการดังกล่าว แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก การดำเนินการดังกล่าว นพ.ปราชญ์ ได้ลงนามในหนังสือแจ้งต่อโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติโดยไม่มีอำนาจ เพราะการบริจาคเงินในลักษณะดังกล่าวแก่องค์การระหว่างประเทศเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี หนังสือที่ นพ.ปราชญ์ลงนามดังกล่าว มิได้จัดทำโดยสำนักการสาธารณสุขต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ผู้ได้ประโยชน์จากการกระทำนี้คือ พญ.ศิริพรที่จะได้ไปทำงานในโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติหลังเกษียณอายุราชการโดยใช้เงินจากภาษีอากรของประชาชนไทยเป็นเงินประมาณ 6.8 ล้านบาท และ นพ.ปราชญ์จะได้ประโยชน์จากการมีโอกาสเสนอแต่งตั้งรองปลัด สธ.ทดแทนก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการ

-การจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟนอย่างมีเงื่อนงำ ได้ดำเนินการไปแล้วในหลายจังหวัดโดยใช้งบประมาณอื่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขอนแก่น สามจังหวัดในเขตตรวจราชการที่ 12 ของ สธ. ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม และ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น โดยมีการดำเนินการที่มิชอบในลักษณะต่างๆ ดังนี้

1.สามจังหวัดในเขตตรวจราชการที่ 12 ได้แก่ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด พบความผิดปกติ เช่น มีการกำหนดสเปคที่บกพร่องและในลักษณะที่มีการล็อคสเปคให้บริษัท ก่อเกียรติซัพพลาย ดังนี้

2.น่าสงสัยว่า สินค้าที่มีการจัดซื้อและโรงพยาบาลต่างๆ ได้รับ อาจมิใช่สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ควรมีการสอบสวนเพิ่มเติมให้ได้ข้อเท็จจริงโดยกระจ่างต่อไป

3.สถาบันโรคทรวงอกได้ผลิตเครื่องดังกล่าวได้ในราคาเพียง 7,000 บาท (ต้นทุนเพียง 4,920 บาท) แต่สินค้ารายการนี้ขายในราคาสูงถึงเครื่องละ 40,000 บาท และต่อมามีการปรับปรุงการผลิตเหลือต้นทุนราว 2,000 บาท

4.สืบเนื่องจากการจัดซื้อครุภัณฑ์รายการนี้มีการไปทัศนศึกษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 14-20 ตุลาคม พ.ศ.2552 โดยผู้ร่วมคณะประกอบด้วยผู้บริหารสาธารณสุขในเขต 12 และผู้รับหน้าที่สาธารณสุขนิเทศก์ในเขต พร้อมครอบครัวโดยอ้างว่าใช้เงินส่วนตัว ซึ่งไม่น่าเชื่อเพราะพบพิรุธมากมาย น่าเชื่อว่าใช้เงินจากการจัดซื้อยูวี-แฟน

5.ผู้บริหารสาธารณสุขในเขต 12 ในส่วนกลางที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการเรื่องยูวี-แฟนในเขต ได้แก่ นพ.สมชัย ภิญโญพรพานิชย์ ผู้ตรวจราชการ นพ.คำรณ ไชยศิริ สาธารณสุขนิเทศก์ และ นพ.ธำรง สมบุญตนนท์ ผู้ทำหน้าที่สาธารณสุขนิเทศก์ แทน นพ.คำรณ ไชยศิริ ซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง

-อบจ.ขอนแก่น เคยจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟน 230 เครื่อง ในปี พ.ศ.2550 แจกจ่ายแก่โรงพยาบาลต่างๆ ใน จ.ขอนแก่น ปรากฏว่าโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นได้ส่งเครื่องดังกล่าวคืน เพราะคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล พิจารณาถึงคุณประโยชน์ ผลดี ผลเสีย ความคุ้มค่า คุ้มทุน และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแล้ว "ได้มีมติร่วมกันที่จะส่งครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนครั้งนี้คืน..."เป็นการไม่ยอมรับแม้จะให้ฟรี

กรณีดังกล่าวทำให้ในปีงบประมาณ 2552 ผอ.รพ.ขอนแก่น ไม่ยอมจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนตาม "นโยบาย" ของเขต และไม่ได้ร่วมไปกับคณะทัศนศึกษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ด้วย จากการตรวจสอบสเปคของเครื่องยูวี-แฟนที่ อบจ.ขอนแก่น จัดซื้อในปี 2550 พบความผิดปกติเช่นเดียวกัน

-จ.นครศรีธรรมราช มีการจัดซื้อตามคำร้องขอของ นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ สาธารณสุขนิเทศก์ ผู้ทำหน้าที่ตรวจราชการเขต ในโรงพยาบาลหลายแห่ง ในราคาสูงถึงเครื่องละ 99,000 บาท ซึ่งมีความผิดปกติในเรื่องสเปคและสินค้าเช่นเดียวกันแม้จะเป็นสินค้าคนละยี่ห้อกัน และซื้อจากคนละบริษัท

ทั้งนี้ นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ยังมีกรณีขอเงินจากโรงพยาบาลต่างๆ ได้แก่ พัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลละ 4 แสน-1 ล้านบาท นำไปจัดซื้อรถยนต์ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน ให้ รมว.สธ.ใช้ด้วย และต่อมา นพ.จักรกฤษณ์ ได้รับแต่งตั้งเลื่อนฐานะเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2552

มติชนออนไลน์, 30 ธันวาคม 2552