Tuesday, February 16, 2010

"3 ปีสีเขียวสะพรั่ง" "รั้ว" สวยงาม-"บ้าน" "ผุกร่อน"

"3 ปีสีเขียวสะพรั่ง" "รั้ว" สวยงาม-"บ้าน" "ผุกร่อน"

การเมืองไทยผ่านการ "รัฐประหาร-ยึดอำนาจ" เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มาเป็นเวลา 3 ปี ต้องถือได้ว่าปรากฏการณ์นั้น ทำให้กองทัพมี "อำนาจต่อรอง" ต่อ "ฝ่ายการเมือง" กลับมามีความสำคัญมากขึ้น

โดยเฉพาะในสภาวะ "การเมืองไม่นิ่ง" ที่กองทัพถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เคยเข้ามามีบทบาทในการแก้วิกฤต "การเมืองแบบไทย"

ทั้งนี้ "อำนาจต่อรอง" ของกองทัพสามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยสำคัญคือ เงินงบประมาณในการ "จัดซื้อยุทโธปกรณ์" ของแต่ละเหล่าทัพ

ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน ว่า ครม.อนุมัติให้กองทัพบกจัดซื้ออากาศยานฝึกเฮลิคอปเตอร์ขนาดเบา 16 ลำ วงเงินกว่า 1,100 ล้านบาท และโครงการซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์แบบใช้งานทั่วไประยะที่ 2 (ทบ.1395) วงเงิน 980,336,050 บาท และอนุมัติงบประมาณปี 2552 เพิ่มเติมเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 234 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมของคนเสื้อแดง

และย้อนไปเมื่อ วันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ครม.เพิ่งอนุมัติเงินงบประมาณก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณหลายโครงการ ของกระทรวงกลาโหม รวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการจัดหายานยนต์สายสรรพาวุธ วงเงิน 4,994,649,000 บาท ให้กองบัญชาการกองทัพไทย จัดหายานพาหนะและเครื่องจักรกลทดแทน วงเงิน 6,049,536,380 บาท จัดหาปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร จำนวน 14,264 กระบอก วงเงิน 976,549,671 บาท

และกองทัพเรือ จัดหาเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ แบบซีฮอว์ก วงเงิน 989,985,400 บาท พร้อมจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 3 ลำ จำนวน 1,603,177,084.27 บาท

แต่ถ้าจะให้เห็นภาพที่ชัดเจนต้องมองย้อนกลับไป 3 ปี จะพบรายละเอียดที่น่าสนใจคือ กระทรวงกลาโหมได้รับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551-2553 ทั้งสิ้น 467,319,901,100 บาท หรือ 4 แสนล้านบาท

แบ่งเป็นงบประมาณปี 2551 สมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ จำนวน 143,518,901,100 บาท โดยกองทัพบก จำนวน 70,448 ล้านบาท กองทัพเรือ จำนวน 27,839 ล้านบาท และกองทัพอากาศ จำนวน 26,819 ล้านบาท

โดยในปีงบประมาณ 2551 นี้ โครงการใหญ่ที่สำคัญของกองทัพ อาทิ กองทัพบกจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางจากยูเครน งบประมาณ 4,600 ล้านบาท รวม 96 คัน จัดซื้อกองทัพอากาศ จัดซื้อเครื่องบินขับไล่กริพเพนจากประเทศสวีเดน จำนวน 6 ลำ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท กองทัพเรือ จัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง วงเงิน 3,014 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ยังมีการอนุมัติเงินกรณีพิเศษให้แก่กองทัพในการปฏิบัติงาน อาทิ งบประมาณ 500 ล้านบาท ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ใช้ในการจัดกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแล้ว โดยให้กองทัพบกจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่มีกำลังจาก 4 เหล่าทัพ จำนวนกว่า 13,000 นาย เพื่อความพร้อมปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ตั้งหน่วยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2549-30 กันยายน 2550 และงบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท ให้ ทอ.จัดซื้อเครื่องดักฟังโทรศัพท์ นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติงบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปีงบประมาณ 2550 เพิ่มเติม (งบกลาง) เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษเป็นเงิน 2,000 ล้านบาท ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

ขณะที่งบประมาณปี 2552 กระทรวงกลาโหม ได้รับ 169,092,000,000 บาท มีโครงการสำคัญที่ ครม.อนุมัติงบประมาณ อาทิ โครงการจัดหาปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร จำนวน 13,868 กระบอก วงเงิน 964.99 ล้านบาท เพื่อให้กองทัพบกก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โดยปี 2552 ชำระจำนวน 200 ล้านบาท ปี 2553 ชำระ จำนวน 200 ล้านบาท และปี 2554 ชำระอีกจำนวน 564.993 ล้านบาท

ทั้งนี้ เงินงบประมาณปี 2552 จัดทำในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางสภาพการเมืองที่ไม่นิ่ง ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง ถือเป็นปีที่กองทัพบกได้รับการจัดสรรงบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หลายรายการ ซึ่งโครงการดังกล่าวแม้ได้รับการอนุมัติหลักการ และวงเงินงบประมาณจากรัฐบาลนายสมัครแล้ว แต่ถูกชะงักไปด้วยสภาพการเมืองและสภาพเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้โครงการส่วนใหญ่มาได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อในสมัยรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ช่วงปลายปีงบประมาณ 2552 นี้

อาทิ โครงการจัดหายานยนต์สายสรรพาวุธ ชนิดรถยนต์บรรทุกขนาด 2 ตันครึ่ง แบบ 4x4 ยี่ห้ออีซูซุ รุ่น FST จำนวน 1,474 คัน วงเงิน 4,994,649,000 บาท เวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2555 โครงการจัดหาอากาศยานฝึก โดยการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขนาดเบา จำนวน 16 ลำ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2555 วงเงิน 1,197,993,366 บาท แบ่งเป็นปี 2552 จำนวน 320 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 320 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 480 ล้านบาท และปี 2555 จำนวน 78 ล้านบาท โครงการซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์แบบใช้งานทั่วไประยะที่ 2 (ทบ.1395) ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2554 วงเงิน 980,336,050 บาท แบ่งเป็นปี 2552 จำนวน 200 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 400 ล้านบาท และปี 2554 จำนวน 380 ล้านบาท

ครม.ยังอนุมัติโครงการใหญ่ให้ทุกเหล่าทัพ อาทิ กองทัพเรือ อนุมัติโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำของเฮลิคอปเตอร์ปราบ เรือดำน้ำแบบ SEA HAWK วงเงิน 989,985,400 บาท เวลาดำเนินการ 3 ปี งบฯปี 2552 จำนวน 197,997,080 บาท งบฯปี 2553 จำนวน 386,094,306 บาท และงบฯปี 2554 จำนวน 405,894,014 บาท โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งจำนวน 3 ลำ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี วงเงิน 1,603,177,084.27 บาท งบฯปี 2552 จำนวน 314 ล้านบาท งบฯปี 2553 จำนวน 628 ล้านบาท และงบฯปี 2554 จำนวน 661,177,084.27 บาท กองทัพไทย ได้รับอนุมัติโครงการจัดหายานพาหนะและเครื่องจักรกลทดแทน ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี วงเงิน 3,049,536,380 บาท งบฯปี 2552-2553 ปีละ 610,856,800 บาท งบฯปี 2554 จำนวน 814,475,700 บาท และงบฯปี 2555 จำนวน 1,013,347,080 บาท

นอกจากนี้ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังอนุมัติเงินงบประมาณให้แก่ กอ.รมน. ในการดำเนินการตามโครงการสู้วิกฤตเศรษฐกิจด้วยปรัชญาพอเพียง โดยให้กำลังพลเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกหมู่บ้านชุมชน โดยผ่านการทำงาน 6 เดือนแรกตั้งแต่มีนาคม-สิงหาคม 2552 เสร็จสิ้นไปแล้ว วงเงินงบประมาณ 1,500 ล้านบาท และขณะนี้ กอ.รมน.กำลังเสนอของบประมาณดำเนินการอีกเป็นเวลา 1 ปี โดยแยกเป็น 2 เฟสๆ ละ 6 เดือน ซึ่งวงเงินงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท

และงบประมาณปี 2553 ที่กระทรวงกลาโหมได้รับ 154,708 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงบฯปี 2552 ลดลง 14,384 ล้านบาท แต่ยังถือเป็นหน่วยราชการอันดับ 4 ที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด และยังมีโครงการใหญ่ที่รอการอนุมัติเงินงบประมาณจากรัฐบาลหลายโครงการ อาทิ โครงการการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ เอ็มไอ 17 จากรัสเซีย ของกองทัพบก โครงการจัดซื้อเรือฟริเกตและจัดซ่อมเรือฟริเกต 6 ลำ วงเงิน 3 พันล้านบาท การปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ของเรือรบ ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น ทดแทน C-801 พร้อมลูกอาวุธปล่อยนำวิถีให้กับเรือฟริเกตชุดเรือรบหลวงเจ้าพระยา วงเงิน 1,599 ล้านบาท ของกองทัพเรือ และโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่กริพเพนของกองทัพอากาศ เฟส 2 อีก 6 ลำ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท

ทั้งหมดนี้ คืองบประมาณส่วนหนึ่งที่กองทัพได้รับในยุคที่ "สีเขียวสะพรั่ง" มีอิทธิพลต่อการเมืองไทย

แต่เป็น 3 ปี ที่ประเทศชาติบอบช้ำประสบปัญหาสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแตกแยกทางสีเสื้ออย่างชัดเจน การเมืองมีความแตกแยกทางความคิดและพร้อมที่จะระเบิดกลายเป็นความรุนแรงใน สังคม คนทุกชนชั้นประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเกิดจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง รัฐบาลต้องกู้ยืมเงินจำนวนมากมากระตุ้นเศรษฐกิจ

จะมีเจ้าของบ้านคนใด บ้างที่บ้านที่ตัวเองอยู่ๆ ใน "ภาวะผุกร่อน" ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อมาซ่อมแซม แต่กลับเอาเงินส่วนหนึ่งมาใช้ปรับปรุงรั้วให้สวยงามอวดชาวบ้านชาวช่อง ถ้าจะมีก็บ้านนี้เมืองนี้นี้เอง...

วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11528 มติชนรายวัน

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol01021052&sectionid=0133&day=2009-10-02