Tuesday, April 20, 2010

ปูดนายหน้า "น" เร่ขายจีที 200 เสนอเงินใต้โต๊ะ"เครื่องละแสน"

ปูดนายหน้า "น" เร่ขายจีที 200 เสนอเงินใต้โต๊ะ"เครื่องละแสน"

แฉขบวนการนายหน้าเร่ขาย "จีที 200" พบเคยเดินสายให้ทดลองใช้ใน ตชด.-นิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ราคาแค่ 4-7 แสน แถมเสนอเงินใต้โต๊ะเครื่องละแสน ดีเอสไอปูดนายหน้าเป็นผู้หญิง ชื่อเล่น "น" รู้จักกันดีในแวดวงค้าอาวุธ ด้าน "บิ๊กบัง" เปิดใจจัดซื้อโปร่งใส เครื่องละ 1.2 ล้านไม่แพง หากเทียบกับชีวิตกำลังพล ยันไม่มีทุจริต เหตุเงินแค่ 2 ล้าน ไม่ต้องถึง ผบ.ทบ. อ้างไม่รู้จักกระทั่งชื่อบริษัทตัวแทนจำหน่าย

แม้จะมีคำยืนยันจากกองทัพบก ว่า การจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายปี รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง จำนวน 757 เครื่อง เป็นไปอย่างโปร่งใส และพร้อมให้ตรวจสอบก็ตาม แต่จากการเสาะหาข้อมูลของ "กรุงเทพธุรกิจ" พบว่ามีกลุ่มบุคคลพยายามเสนอขายเครื่องมือตรวจระเบิดชนิดนี้ให้แก่หน่วยงาน ด้านความมั่นคงหลายหน่วยงาน และมีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่บางหน่วยเพื่อแลกกับการจัดซื้อล็อตใหญ่ ด้วย

แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายตำรวจ ระดับสูงจากสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า การเสนอขายเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ให้แก่หน่วยงานในสังกัด ตร.นั้น หน่วยงานแรกที่ได้รับการเสนอจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยคือกองบัญชาการ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

"มีการนำมาเสนอครั้งแรกเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีสถานการณ์ในภาคใต้ ตชด.จึงเป็นหน่วยที่น่าจะมีความจำเป็นมากที่สุดในสมัยนั้น" แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวคนเดิมเผยต่อว่า ตัวแทนจำหน่ายที่มาติดต่อกับ ตชด.เป็นสุภาพสตรี และเสนอให้นำเครื่อง จีที 200 ไปทดลองใช้ โดยมีนายตำรวจระดับสูงของ ตร.ท่านหนึ่งแนะนำมาอีกที โดยราคาในขณะนั้นเครื่องละประมาณ 400,000 บาท และสุภาพสตรีที่เข้ามาติดต่อมีข้อเสนอว่า หากทางหน่วยตัดสินใจจัดซื้อ จะมีงบสำหรับช่วยเหลือด้านสวัสดิการของหน่วยด้วย

"ผมนำไปทดลองใช้ดูระยะหนึ่งก็ เห็นว่าไม่น่าจะ ใช้ได้ และตัวเครื่องก็ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ จึงปฏิเสธที่จะจัดซื้อ หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป" แหล่งข่าวกล่าว

ข้อเสนอยั่วใจ-ใต้โต๊ะเครื่อง ละแสน

ขณะที่นายตำรวจระดับสูงอีกผู้หนึ่ง ซึ่งเคยรับราชการในสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (สนว.ตร.) ให้ข้อมูลคล้ายๆ กันว่า ทางหน่วยเคยได้รับการเสนอให้จัดซื้อเครื่อง จีที 200 เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ขณะนั้นราคาเครื่องละ 700,000 บาท โดยคนที่มาติดต่อยื่นเงื่อนไขว่า หากจัดซื้อจริง และซื้อล็อตใหญ่ไปใช้ในภารกิจภาคใต้ จะมีค่าคอมมิชชั่นให้เครื่องละ 100,000 บาท

"ผมพิจารณาดูแล้วมันไม่ใช่ วิทยาศาสตร์ มันไม่มีหลักการอะไรรองรับเลย ราคาแค่แสนเดียวก็แพงมากแล้ว จึงตัดสินใจไม่ซื้อ ทางคนที่มาขายก็คะยั้นคะยอ บอกว่าถ้าซื้อจะให้เครื่องละแสน ผมก็บอกว่าเงินน่ะผมอยากได้ แต่ผมอาจจะติดคุก ผมเลยไม่เอา" นายตำรวจระดับสูง กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดี พิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า สุภาพสตรีที่เดินสายเสนอขายเครื่อง จีที 200 นั้น เป็นที่รู้จักกันดีในวงการค้าอาวุธ สุภาพสตรีรายนี้มีชื่อเล่นว่า "น" เคยไปเสนอขายเครื่อง จีที 200 และเครื่องลักษณะเดียวกันให้กับอีกหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยตำรวจ

"บิ๊กบัง"ยัน ทบ.โปร่งใส-เพิ่งรู้ชื่อบริษัท

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (อดีต ผบ.ทบ.) ซึ่งเคยอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว "เครือเนชั่น" ว่า สมัยเขาเป็น ผบ.ทบ.จัดซื้อไป 2 เครื่อง และอนุมัติอีก 24 เครื่อง แต่ว่าได้รับสินค้าในช่วงหลัง ซึ่งกระบวนการจัดซื้อเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง มีคณะกรรมการตรวจสอบได้แก่ เจ้ากรมยุทธการทหารบก เจ้ากรมกรมส่งกำลังบำรุง กรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และหน่วยที่ใช้งาน

"เรื่องราคาก็โอเค ต้องยอมรับนะว่าสมัยที่เราซื้อมันเครื่องละล้านสอง (1,200,000 บาท) แต่บริษัทผมไม่รู้จัก เพิ่งรู้ชื่อเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ผมอนุมัติในหลักการด้วยซ้ำไป ผบ.ทบ.อนุมัติในหลักการ แต่กระบวนการรายละเอียดต้องไปว่ากันจากข้างล่าง เพราะเงินแค่ 2 ล้านกว่าบาท ไม่จำเป็นที่ ผบ.ทบ.ต้องไปอนุมัติ" พล.อ.สนธิ กล่าว และว่าเรื่องราคาไม่ควรนำมาพูดกัน เพราะเทียบไม่ได้กับชีวิตกำลังพล

โพลล์ชี้ชาวบ้านสับสนข้อมูล"จี ที200"

ด้านสวนดุสิตโพล ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 โดยสุ่มตัวอย่างประชาชน 1,260 คน ระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ. ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 39.23 มีความรู้สึกสับสน ว่า จีที 200 ใช้ได้หรือไม่ได้กันแน่ เนื่องจากรัฐบาลและทหารให้ข้อมูลขัดแย้งกัน ร้อยละ 27.20 อยากรู้ข้อเท็จจริง และไม่ควรปิดบังข้อมูล ร้อยละ 19.83 ระบุว่าอยากให้ตรวจสอบที่มาที่ไปของการจัดซื้ออย่างละเอียด และร้อยละ 13.74 ระบุว่าเมื่อดูผลการทดสอบกับราคาที่ซื้อมา คิดว่าไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร

เมื่อถามว่าควรใช้เครื่องจีที 200 ต่อไปหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 52.38 บอกว่าไม่ควรใช้ เพราะผลจากการทดสอบพบว่าเครื่องไม่มีความแม่นยำพอ ไม่ควรนำชีวิตของประชาชนไปเสี่ยง ร้อยละ 25.71 ระบุว่าควรใช้ต่อไป เพราะทหารได้ออกมายืนยันแล้วว่าเครื่องนี้สามารถใช้งานได้และมีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้อยละ 21.91 ยังไม่แน่ใจ

เพื่อไทยซัดภูมิใจไทย-จี้ผ่า พิสูจน์อัลฟ่า 6

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดและสารเสพติดยี่ห้อ อัลฟ่า 6 จำนวนหลายร้อยเครื่อง มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มีกลไกการทำงานเหมือน จีที 200 ว่า ขอเรียกร้องให้ รมว.มหาดไทย สั่งยุติการใช้งานทันที เช่นเดียวเครื่องจีที 200 เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่าไม่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน

"การที่รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยมีความเห็นต่าง กับพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้ แสดงว่าไม่เชื่อถือข้อมูลที่รัฐบาลตรวจสอบเองใช่หรือไม่ ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการผ่าพิสูจน์เครื่อง อัลฟ่า 6 ทันที โดยไม่ต้องทดสอบเหมือน จีที 200 เพราะกระบวนการทดสอบชัดเจนแล้ว" นายจิรายุ กล่าว

กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ถอดรหัส"คุณหมอพร ทิพย์"ดึงดันใช้ จีที 200 "สินค้าเทวดา" ราคาสูงลิ่ว 2 ล้านต่อเครื่อง? ทั้งที่ผลทดสอบ

ถอดรหัส"คุณหมอพรทิพย์"ดึงดันใช้ จีที 200 "สินค้าเทวดา" ราคาสูงลิ่ว 2 ล้านต่อเครื่อง?

ทั้งที่ผลทดสอบไม่ผ่าน กระทั่งนายกฯสั่งห้ามซื้อเพิ่ม แต่ทำไมหมอพรทิพย์ ถึงมั่นอกมั่นใจขนาดนั้น "ประชาชาติธุรกิจ"ตามไปดูว่าเธอนั่งทับอะไรอยู่ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ?

ภายหลังจากคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระยะไกล Global Technical (จีที 200)ซึ่งมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานได้สรุปผลว่าเครื่องจีที 200 ไม่มีประสิทธิภาพและรายงานต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553โดยนายกฯได้มอบให้คณะกรรมการฯไปทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่นำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้งานแต่ยังมีความเชื่อว่าเครื่องมือมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ต้องจัดซื้อเพิ่มเติมอีกต่อไป

ขณะที่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าเครื่องมือชนิดดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ล่าสุดออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้เครื่องจีที 200 ต่อไป แต่จะไม่สั่งซื้อเพิ่มเติม โดยอ้างว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สถาบันใช้งานได้ดีเพียงแต่ไม่ได้ใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการเก็บกู้ระเบิด

เท่ากับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่เห็นผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ชุดคุณหญิงกัลยา "ไม่มีความหมาย"

คำถามก็คือเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดหรือสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ว่าจัดซื้อเมื่อไหร่จำนวนเท่าใด และ ซื้อจากใคร?

มีเพียงข้อมูลที่หลุดรอดออกมาตามหน้าสื่อระบุว่า จัดซื้อ อัลฟ่า 6 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551จาก บริษัท เอ เอส แอล เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด (นางธัญจิรา สมบูรณ์ศิลป์ เจ้าของ ) จำนวน 2 เครื่องราคาเครื่องละ 447,000 บาท รวม 894,000 บาท

แต่ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมด

เท่าที่"ประชาชาติธุรกิจ"ตรวจสอบพบข้อมูลดังนี้

ในระหว่างเดือนกันยายน2550 - สิงหาคม 2552 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จัดซื้อเครื่องมือตรวจสอบ "ร่องรอยวัตถุระเบิด" และ "ร่องรอยสสาร" อย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่

วันที่ 14 ก.ย.2550 ซื้อเครื่องตรวจสอบร่องรอยสสารแบบพกพา จำนวน 1 เครื่องและ เครื่องมือตรวจสอบร่องรอยสสารแบบตั้งโต๊ะจำนวน 1 เครื่อง จากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่นส์ จำกัด วงเงิน 5,348,000 บาท

วันที่ 22 ต.ค. 2550 ซื้อเครื่องตรวจจับร่องรอยวัตถุระเบิดแบบพกพาจำนวน 2 เครื่องจาก บริษัท เฮอริเทจ อินเตอร์เนชั่นแนลโพร์วายเดอร์ จำกัด วงเงิน 3,980,000 บาทและ ซื้อเครื่องมือตรวจสอบร่องรอยสสารแบบพกพา จำนวน 1 เครื่องจากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด วงเงิน 1,999,000 บาท

วันที่ 25 ธ.ค. 2550 ซื้อเครื่องตรวจสอบร่องรอยสสารแบบตั้งโต๊ะยี่ห้อ SMITHSจากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่นส์ จำกัด วงเงิน 2,999,000 บาท

วันที่ 30 เม.ย. 2552 ซื้อเครื่องตรวจจับร่องรอยสสารแบบตั้งโต๊ะ ยี่ห้อ SMITHS จำนวน 1 เครื่องจากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่นส์ จำกัด วงเงิน 3,200,000 บาท

วันที่ 26 ส.ค. 2552 ซื้อเครื่องตรวจวิเคราะห์วัตถุต้องสงสัย จำนวน 1 เครื่องจากบริษัทแอดวานซ์ เอวิโอนิคส์ แอนด์ เอวิเอชั่น จำกัด (นายเอนก จงเสถียร เป็นกรรมการ -นางสาวอรวรรณ ศรีสุข ถือหุ้นใหญ่ นายเอนกเป็นผู้บริจาคเงินให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง)วงเงิน 1,900,000 บาท

น่าสังเกตว่าเป็นการจัดซื้อจากเอกชน คือบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่นส์ จำกัด เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีนายธงชัย ล่ำซำ ถือหุ้นใหญ่ อยู่ในเครือข่ายเดียวกับบริษัทผู้จำหน่ายหวยออนไลน์ชื่อดังซึ่งกำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

และยังพบว่าบางรายการ อาทิ เครื่องมือตรวจสอบร่องรอยสสารแบบพกพา จำนวน 1 เครื่องจากบริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด วงเงิน 1,999,000 บาท,เครื่องตรวจจับร่องรอยวัตถุระเบิดแบบพกพาจำนวน 2 เครื่องจาก บริษัท เฮอริเทจ อินเตอร์เนชั่นแนลโพร์วายเดอร์ จำกัด วงเงิน 3,980,000 บาทและ เครื่องตรวจวิเคราะห์วัตถุต้องสงสัย จำนวน 1 เครื่องจากบริษัทแอดวานซ์ เอวิโอนิคส์ แอนด์ เอวิเอชั่น จำกัด วงเงิน 1,900,000 บาท

หากคิดราคาเฉลี่ยต่อเครื่อง ตกเครื่องละเกือบ 2 ล้านบาท

ถ้าเทียบกับการจัดซื้อเครื่อง จีที 200 ในหน่วยงานอื่นอย่างกรมสรรพาวุธกองทัพบก จัดซื้อ เกือบ 500 เครื่องเครื่องละ 900,000 บาท (จัดซื้อจำนวนมาก)กรมราชองครักษ์ ที่จัดซื้อ จีที 200เพียง 3 เครื่อง เครื่องละ 1.2 ล้านบาท

เท่ากับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จัดซื้อในราคาสูงกว่าหน่วยงานอื่น (ถ้าเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน)
แทบไม่มีใครรับรู้ข้อมูลดังกล่าว และเข้าไปตรวจสอบว่าผิดปกติหรือไม่
ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ออกมาการันตีถึงประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 ในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ว่าใช้งานได้ดีคล้ายเป็นสินค้าเทวดา
ขณะเดียวกันก็อดคิดไม่ได้ว่า "คุณหญิงหมอ" กำลังนั่งทับอะไรอยู่หรือไม่?

ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์, วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา 11:24:02 น.

ฉาวไม่เลิก อุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวเขื่อน 40 ล้าน สตง. สอบพบพิรุธอื้อซ่า ร้องป.ป.ช. ตรวจสอบด่วน

ฉาวไม่เลิก อุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวเขื่อน 40 ล้าน สตง. สอบพบพิรุธอื้อซ่า ร้องป.ป.ช. ตรวจสอบด่วน

ฉาวอีกแล้ว อุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวสำหรับเขื่อน กรมชลประทาน มูลค่า 40 ล้านบาท ร้องเรียนป.ป.ช. สอบ ส่อล็อกสเปกเอื้อบริษัทเอกชน แถมพบพฤติกรรมปลอมเอกสาร เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ฮั้ว แฉเคยร้องไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ แต่เรื่องเงียบ ก่อนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบ พบพิรุธอื้อ

ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ผู้บริหาร บริษัท จีโนแมทซ์ จำกัด ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีอุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวสำหรับเขื่อนของกรมชลประทาน กระทรวงเกตรฯ มูลค่า 40 ล้านมีพฤติกรรมล็อกสเปก ผิดพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)

หนังสือร้องเรียนระบุว่ากรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศเรื่อง ประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จ้างจัดหาอุปกรณ์ตรวจวัดพฤติกรรมแผ่นดินไหว สำหรับเขื่อนที่มีความเสี่ยงสูง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552 โดยกำหนดรับฟังคำชี้แจงในวันที่ 4 มกราคม 2553 ยื่นเอกสารประกวดราคาจ้างฯ ในวันที่ 15 มกราคม 2553 และกำหนดเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 28 มกราคม 2553

ทั้งนี้โครงการจัดหาอุปกรณ์ตรวจวัดพฤติกรรมแผ่นดินไหวดังกล่าว มีความสำคัญและใช้เงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากถึง 40 ล้านบาท แต่มีการดำเนินการส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ไม่เปิดโอกาสให้มีการเสนอราคาแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเฉพาะรายให้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีรายละเอียดแห่งการกระทำที่เชื่อว่าเป็นความผิด

พฤติกรรมที่ส่อถึงความไม่โปร่งใส ได้แก่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 กรมชลประทานได้ประกาศประกวดราคาจ้างฯ กำหนดเงื่อนไขเฉพาะและข้อกำหนดทางเทคนิคของอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมแผ่นดินไหวโดยผู้เสนอราคาต้องมีจอแสดงผลแบบ LCD สี แบบตัวเลข ซึ่งจอแสดงผลดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ของยี่ห้อ Nanomatric มีเพียงรายเดียวที่มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ประกอบกับผลิตภัณฑ์ LCD สีของยี่ห้อ Nanomatric ได้ถูกผูกขาดการเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยบริษัท นีโอ ไดแด็กติก จำกัด จึงไม่อาจจำหน่ายให้กับผู้เสนอราคารายอื่นได้อีก

ดังนั้น การกำหนดอุปกรณ์เครื่องมือเป็นจอแสดงผล LCD สี จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีพฤติกรรมเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าเสนอราคาเฉพาะราย ถือว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 10, ข้อ 15 และเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 11, 12 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว ส่งรายงานการสอบสวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 14, 15

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 บริษัท เอ็ม จี เอส อิควิพเม้นท์ จำกัด ได้ยื่นเอกสารประกวดราคาฯต่อคณะกรรมการประกวดราคา โดยปลอมเอกสารและยื่นเอกสารอันเป็นเท็จ กล่าวคือ ปลอมแปลงหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายของบริษัท ES&S จำกัด ซึ่งบริษัท ES&S จำกัด ได้ยืนยันว่าไม่เคยแต่งตั้งให้บริษัท เอ็ม จี เอส อิควิพเม้นท์ จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Grulap และ Kelunji และได้ปลอมแปลงเอกสารแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งบริษัทมีเฉพาะจอ LCD ขาวดำ ให้เป็นจอแสดงผล LCD สี โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางส่วนในแคตตาล็อก จึงได้มีการร้องขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริง

กรณีดังกล่าว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่ามีการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวจริง
ทั้งนี้ การปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อให้มีผู้ยื่นเอกสารประกวดราคาที่มีคุณสมบัติครบมากกว่า 1 ราย เพราะหากมีผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติครบเพียงรายเดียว การประกวดราคาก็จะถูกยกเลิกไป

ดังนั้น จึงเป็นการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท นีโอ ไดแด็กติก จำกัด ซึ่งต่อมาบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ชนะการประกวดราคา (มีผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคาเพียง 2 ราย คือ บริษัท นีโอ ไดแด็กติก จำกัด และบริษัท เอ็ม จี เอส อิควิพเม้นท์ จำกัด)กรณีดังกล่าว ได้ถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐ (สตง.) และพบว่ามีมูล จึงน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง

การปลอมแปลงหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายและปลอมแปลงเอกสารแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ของบริษัท ES&S จำกัด เป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจตัดรายชื่อผู้เสนอราคาออกจากประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคาและดำเนินการให้เป็นผู้ทิ้งงาน บทลงโทษดังกล่าวมีผลไปถึงกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย

และยังเป็นการใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 และเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่เจ้าพนักงานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด อีกด้วย

กรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล ให้ถือว่า กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนานดำเนินงานของนิติบุคคล เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วยตามมาตรา 9 และขอให้ดำเนินการสอบสวนผู้บริหารของบริษัททั้งสอง

จาก พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เสนอราคาซึ่งเป็นนิติบุคคลและผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจดำเนินงานของนิติบุคคลดังกล่าว มีพฤติการณ์น่าเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญา จึงขอร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิด เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษและป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก อันจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและประหยัดเงินภาษีของประชาชนเป็นประโยชน์สูงสุดของทางราชการต่อไป

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 เมษายน พ.ศ. 2553