Monday, June 21, 2010

เปิดถุงเงิน"เนวิน"พบ บ.เมีย-เครือข่ายรับเหมาถนนไร้ฝุ่น ทางหลวงภาคเหนือ อีสานอื้อ 44 โครงการ300 ล้าน

เปิดถุงเงิน"เนวิน"พบ บ.เมีย-เครือข่ายรับเหมาถนนไร้ฝุ่น-ทางหลวงภาคเหนือ-อีสานอื้อ 44 โครงการ300 ล้าน

เปิดถุงเงินล่าสุด "เนวิน-เมีย" บริษัทเครือข่ายรับเหมาถนนไร้ฝุ่น บุรีรัมย์ 4 โครงการ 85 ล้าน พ.ย52-มี.ค. 53 กวาดงานกรมทางหลวง อปท.ในอีสาน เชียงใหม่ 44 โครงการ เกือบ 300 ล้าน ขณะที่ บ.เครือรัฐมนตรีไม่น้อยหน้ฟาด100 ล้าน

โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่นของกระทรวงคมนาคมภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ไทยเข้มแข็ง)ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคภูมิใจไทย ส่อมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interests) เมื่อพบว่าผู้รับเหมาใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย เข้าไปเกี่ยวข้อด้วย อย่างน้อย 4 โครงการ รวมวงเงิน 85.5 ล้านบาท

1. โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น สายแยกทางหลวงหมายเลข 2144-บ้านคำแก้ว สำนักงานทางหลวงชนบทหนองคาย ได้ทำสัญญาว่าจ้าง หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2552 วงเงิน 16,136,000 บาท

2.โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น สายแยกทางหลวงหมายเลข 212-บ้านโนนสะแบง สำนักทางหลวงชนบทที่15 (อุดรธานี) ได้ว่าจ้าง หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2552 วงเงิน 31,080,000 บาท

3.โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น สายแยก ทล.219 บ้านหลัก (ตอนที่1) ต.หนองบอน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 5 ได้ว่าจ้าง หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2552 วงเงิน 19,882,000 บาท

4.โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น แยก ทล.219-บ้านหลัก (ตอนที่ 2 )ระยะทาง 4901 กม สำนักงานทางหลวงชนบท ได้ว่าจ้าง หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2552 วงเงิน 24,938,000 บาท

จากการตรวจสอบพบว่า หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้าง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2524 ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1.5 ล้านบาท มีหุ้นส่วน 3 คนคือ 1.นายทรงศักดิ์ ทองศรี อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนสวนกุหลาบกับนายเนวิน ชิดชอบ 2.นายเสริมศักดิ์ ทองศรี พี่ชายนายทรงศักดิ์ และ 3.นายเพิ่มพูน ทองศรี ส.ส.สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย พี่ชายนายทรงศักดิ์

ที่ตั้งเลขที่ 195 หมู่ที่ 2 ถนนโชคชัย-เดชอุดม ตำบลประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นางสาวเพชรรัตน์ ห่วงประโคน นางปัทมา ภาสดา คนละ 5 ล้านบาท และนายวิชัย ปิยมิตรธรรม ถือหุ้น 50 ล้านบาท

นอกจากงานในกรมทางหลวงชนบท ในช่วงปีงบประมาณ 2553 (เริ่มตุลาคม 2552) เป็นต้นมา จนถึงเดือนมีนาคม 2553 หจก.ศรีประโคนชัยก่อสร้างยังได้งานรับเหมาอื่นในกรมทางหลวงชนบทอีก 19 โครงการ รวมวงเงิน 56.8 ล้านบาท อาทิ

ก่อสร้างซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลติกคอนกรีต ถนนสายนค.3024แยกทางหลวงหมายเลข212-บ้านโนนจำปาทองอ.บึงกาฬ,เซกาจ.หนองคายระยะทาง 6.2 กิโลเมตร วงเงิน 17.3 ล้านบาท ( 25 ก.พ. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านโคกเมือง-บ้านจรเข้มาก ต.จรเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 2.4 กม. วงเงิน 8.5 ล้านบาท (2 มี.ค. 2553)

งานปรับปรุงทางแยกและจุดเชื่อมต่อสามแยก เส้นทางสายบร.3011 แยกทางหลวงหมายเลข 219-บ้านโคกขมิ้น อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.1 กม. วงเงิน 1.3 ล้านบาท (24 มี.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนสาย บ้านห้วยเสลา-บ้านโนนเสน่ห์ ต.หนองบอน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.525 กม. วงเงิน 1,898,200 บาท (29 ธ.ค. 2552)

ซ่อมสร้างถนนสาย บ้านสี่เหลี่ยม-บ้านโคกสะอาด ต.เขาคอก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ วงเงิน 1,898,600 บาท (29 ธ.ค. 2552)
ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายแยก ทล.219-บ้านโคกขมิ้น ต.โคกขมิ้น อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.6 กม. วงเงิน 1,747,000 บาท (11 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายแยก ทล.224-บ้านสายโท 6ใต้ ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.675 กม. วงเงิน 1,898,200 บาท (11 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านแท่นบัลลัง-บ้านดอนอะราง ต.ทรัพย์พระยา อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง0.7 กม. วงเงิน 1,898,600 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านผักหวาน-บ้านเจริญสุข ต.ถนนหัก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.65 กม. วงเงิน 1,898,500 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง สายบ้านสันติสุข-บ้านโคกตาด้วง ต.สำโรงใหม่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.9กม. วงเงิน 1,898,700 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายอ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์-อ.ตาพระยา-บ้านซับคะนิง ต.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ระยะทาง 0.69 กม. วงเงิน 1,900,000 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านโคกใหม่-บ้านโคกตาด้วง ต.สำโรงใหม่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.925 กม. วงเงิน 1,900,000 บาท (21 ม.ค. 2553)

ซ่อมสร้างถนนลาดยาง AC สายบ้านปากช่อง-บ้านหนองแวง ต.หนองแวง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 0.7 กม. วงเงิน 1,897,000 บาท (21 ม.ค. 2553) เป็นต้น

ไม่รวมโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวง ในจ.บุรีรัมย์ อีก 3 โครงการ รวมวงเงิน 92.4 ล้านบาท กรมทรัพยากรน้ำ 2 โครงการ ประมาณ 4 ล้านบาท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อบต.ในจ.บุรีรัมย์) 16 โครงการ วงเงินกว่า 40 ล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 290 ล้านบาท

หจก.ศรีประโคนชัยฯแจ้งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ในปี 2551 มีรายได้ 212.3 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4.2 ล้านบาท

จากการตรวจสอบพบอีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด ของนายคะแนน สุภา พ่อตานายเนวิน และมีนางกรุณา ชิดชอบ ภรรยานายเนวิน ถือหุ้น 18.1 ล้านบาท จาก 500 ล้านบาท ได้งานรับเหมาในกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ใน จ.เชียงใหม่ และ ลำพูนอย่างน้อย 3 โครงการ มูลค่า 32 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่า หจก.ท่าราบก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวนายมานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้งานรับเหมาก่อสร้างถนนไร้ฝุ่นใน จ.สมุทรสงคราม และราชบุรี อย่างน้อย 2 โครงการ มูลค่า 15.6 ล้านบาท และโครงการอื่นๆอีก 12 โครงการ

อาทิ โครงการก่อสร้างถนนลาดยาง AC สายเลียบคลองชลประทานดี 3 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 4.2 ล้านบาท (8 เม.ย. 2553) โครงการก่อสร้างขยายไหล่ทาง AC สาย สค.4011-แยก ทล.3097 - บ้านกระทุ่มแบน ระยะทาง 3.2 กม. วงเงิน 6.3 ล้านบาท (21 พ.ค. 2553) เป็นต้น
รวมทั้งสิ้น 104 ล้านบาท

มติชนออนไลน์, 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Tuesday, June 8, 2010

"บีทีเอส-เซ็นทรัล-คิง เพาเวอร์" เอี่ยวมาตรการเยียวยาพิษม็อบการเมือง ยืดอายุสัมปทาน-ชดเชยรายได้

"บีทีเอส-เซ็นทรัล-คิง เพาเวอร์" เอี่ยวมาตรการเยียวยาพิษม็อบการเมือง ยืดอายุสัมปทาน-ชดเชยรายได้

การชุมนุมทางการเมืองที่บานปลายจนเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงเทพมหานครช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจาก จะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้แล้ว ยังส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วประเทศ เนื่องจากธุรกิจหลากหลายสาขาได้รับ ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาทั้งกับผู้ประกอบการ รายใหญ่และผู้ค้ารายย่อย อาทิ การอนุมัติวงเงินชดเชยรายได้แก่พนักงาน ลูกจ้าง การจ่ายเงินสนับสนุนนายจ้าง การให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดหาพื้นที่ค้าขายใหม่ การสนับสนุนวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนผันการชำระภาษี มาตรการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

ที่น่าจับตามองคือ การที่กลุ่มทุนธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจโดยได้รับสัมปทานจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจฉวยจังหวะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐพิจารณาหาทางช่วยเหลือกิจการที่ได้รับสัมปทาน

เริ่มจาก "กลุ่มเซ็นทรัล" ของตระกูล "จิราธิวัฒน์" ยื่นข้อเสนอขอต่ออายุสัญญาเช่าที่ดิน 47 ไร่ บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน ทำเลที่ตั้งของห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ออกไปอีก 1 ปี จากสัญญาเช่า 20 ปี เป็น 21 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดสัญญาเช่าปี 2571 เลื่อนเป็น 2572 พร้อมกับขอเลื่อนการรีโนเวตอาคารออกไป เพื่อนำพื้นที่ห้างมาเปิดรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ประเด็นนี้แม้บิ๊กกระทรวงคมนาคมทั้ง "โสภณ ซารัมย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" ปลัดกระทรวงคมนาคม และ "ยุทธนา ทัพเจริญ" ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะผนึกกำลังกันรุมค้าน จึงต้องรอลุ้นว่าสุดท้ายจะได้รับส้มหล่นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมาหรือไม่

ขณะเดียวกันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ซึ่งได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เคลื่อนไหว เรียกร้องขอชดเชยรายได้จากที่ได้รับผลกระทบจากม็อบการเมือง โดยยื่นเรื่องผ่านผู้บริหาร กทม.เช่นเดียวกัน โดย "ธีระชน มโนมัยพิบูลย์" รองผู้ว่าฯ ระบุว่า ได้รับแจ้งจากบีทีเอสว่า ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมารายได้ลดลง 20% และ 50% ตามลำดับ โดยเฉลี่ยได้รับความเสียหายวันละ 12 ล้านบาท จึงต้องการของบฯเยียวยาจากภาครัฐกว่า 100 ล้านบาท

เจาะลึกลงไปไม่เฉพาะพิษม็อบคนเสื้อแดง เพราะ 2 ปีก่อนหน้านี้ช่วงที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือม็อบคนเสื้อเหลืองบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ แม้จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นเผาเมือง แต่กรณีดังกล่าวก็ส่งผลกระทบทั้งกับผู้ได้รับสัมปทานและผู้เช่าพื้นที่ในสนามบิน ซึ่งล่าสุดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "ทอท." ก็ได้ออกมาตรการเยียวยาโดยให้ยืดอายุสัมปทานเช่นเดียวกัน

"ปิยะพันธุ์ จัมปาสุต" ประธานคณะกรรมการ "ทอท." เผยว่า มติที่ประชุมบอร์ดเดือนมิถุนายน 2553 เห็นชอบแผนเยียวยาผู้ประกอบการซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและสนามบินที่อยู่ในความดูแลของ ทอท.ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง โดยให้ขยายสัญญาสัมปทานให้กับกลุ่มธุรกิจทั้งรายเล็ก รายกลาง และ รายใหญ่ รวมกว่า 150 สัญญา ดังนี้

กลุ่ม 1 อายุสัญญา 10 ปีขึ้นไป ขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 2 ปี 26 สัญญา แบ่งเป็น 21 สัญญาที่ไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชน เข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ในจำนวนนี้มีกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บมจ.การบินไทย บจ.บางกอก ไฟลต์ เซอร์วิสเซส ของบางกอกแอร์เวย์สรวมอยู่ด้วย ส่วนรายอื่น 6 สัญญา เข้าร่วม พ.ร.บ.ร่วมทุนต้องเสนอ ครม.อีกครั้ง

กลุ่ม 2 อายุสัญญา 8 ปีขึ้นไป ได้ต่ออีก 1 ปี 8 เดือน กลุ่ม 3 อายุสัญญา 5 ปีขึ้นไป ได้ต่ออีก 1 ปี กลุ่ม 4 อายุสัญญา 3 ปีขึ้นไป ได้ต่ออีก 8 เดือน และกลุ่ม 5 อายุสัญญา 3 ปี ได้ต่ออีก 6 เดือน

เป็นการยืดอายุสัมปทานให้โดยที่ผู้ประกอบการเองไม่ได้เรียกร้อง จนถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต

"วิชัย รักศรีอักษร" ประธานกรรมการบริหาร คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เรื่องนี้เอกชนไม่ได้ขอขยายสัญญาเพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นนโยบายของภาครัฐที่เร่งปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ เร็วไป เพราะสถานการณ์ตอนนี้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นคิง เพาเวอร์ ทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าให้รอดก่อน เรื่องรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากร

พร้อมกับย้ำว่า ตั้งแต่สุวรรณภูมิเปิดบริการ คิง เพาเวอร์ฯเจอมรสุมลูกใหญ่ถล่มอย่างต่อเนื่อง จากยุคคณะมนตรีความมั่นคงเข้ามาตรวจสอบและสั่งระงับการขายสินค้าชั่วคราวโดยอ้างว่า ผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ปิดสนามบิน 9 วัน เหตุการณ์สงกรานต์เลือดเดือนเมษายน 2552 และม็อบราชประสงค์ 2553

"บริษัทหารายได้มาใช้หนี้แต่ละเดือนยังไม่พอ ถึงวันนี้เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเมืองไทยยังจะเป็นสถานที่น่าลงทุนอย่างมีอนาคต ต่อไปหรือไม่ ดังนั้นการขยายสัญญาเผื่ออนาคตอีกหลายปีข้างหน้าซึ่งไม่มีใคร คาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกนั้น จึงไม่ได้ทำให้บริษัทร่ำรวยขึ้นมาทันทีได้" วิชัยกล่าว

ไม่รวม "ดอนเมืองโทลล์เวย" ที่ส้มหล่นจากที่กรมทางหลวงต่ออายุสัมปทานให้ 11 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดสัญญาปี 2564 เป็นปี 2577 แลกกับการที่บริษัทยกเลิกการฟ้องร้องจากที่บริษัทระบุว่า ภาครัฐผิดสัญญา

ถือเป็นคนละเคส คนละเหตุการณ์ แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการต่ออายุสัมปทาน หรือไม่ก็ชดเชยรายได้คล้ายๆ กัน

ประชาชาติธุรกิจ, 07 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4216