Sunday, October 31, 2010

เปิดจะๆ ค่าตอบแทน"บริวาร-องคาพยพ"ศาลรธน.ปีละกว่า 20ล้าน แต่งตั้ง"เครือญาติ พวกพ้อง คนรู้ใจ?

ถ้าไม่มีกรณี นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไปยุ่มย่ามในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

จนทำให้ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีคำสั่งปลดฟ้าผ่า นายพสิษฐ์ ออกจากตำแหน่ง เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร

คนทั่วไป คงไม่รู้ว่า บริวารและองคาพยพในศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยใครบ้าง ?

ปัจจุบันคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อีก 8 คนประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายนุรักษ์ มาประณีต นายบุญส่ง กุลบุปผา นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯ ฉบับแก้ไขล่าสุด

เงินเดือนประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 64,000 บาท บวก เงินประจำตำแหน่งอีก 50,000 บาท

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 62,000 บาท บวก เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท

รวมเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ทั้งประธานและตุลาการอีก 8 คน ตกเดือนละ 9.5 แสนบาท ปีหนึ่งก็ตกประมาณ 11.4 ล้านบาท ตัวเลขนี้ยังไม่รวมสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกหลายรายการ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยังมีบริวารและองคาพยพของประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการอีก 8 คน อีกหลายรายการดังนี้

ทั้งนี้ ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งบุคลากรประธานศาลรัฐธรรมนูญและ ตุลาการฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันล้วนลงนามประกาศโดย นายชัช ชลวร กำหนดให้ตุลาการฯ 9 คน มีสิทธิแต่งตั้งบุคลากรมาช่วยงานดังต่อไปนี้

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 1 คน เงินเดือนรวม 69,910 บาท เลขานุการ 1 คน เงินเดือน 47,100 บาท ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน เงินเดือน 30,000 บาท ผู้ช่วยเลขานุการ 1 คน เงินเดือนตามวุฒิการศึกษาตั้งแต่ 16,000-22,000 บาท คนขับรถ 1 คน เงินเดือน 11,300 บาท เป็นต้น

คำนวณแล้ว จะต้องจ่ายเงินเดือน ให้แก่ ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยเลขานุการ คนขับรถ ประจำประธานศาลรัฐธรรมนูญ เดือนกว่า 229,000 บาท/ เดือน

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 1 คน เงินเดือนรวม 55,000 บาท เลขานุการ 1 คน ผู้เชี่ยวชาญไม่เกิน 2 คน ผู้ช่วยเลขานุการ 1 คน คนขับรถ 1 คน โดยใช้อัตราเงินเดือนเช่นเดียวกับบุคลากรประจำประธานศาลรัฐธรรมนูญ

คำนวนเงินเดือนของบรรดา ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยเลขานุการ คนขับรถ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละคนเกือบ 2 แสนบาท รวม 8 คน ก็ตกเดือนละ 1.5 ล้าน

เบ็ดเสร็จแล้ว ต้องจ่ายเป็นค่าบริวารให้แก่ ประธานและตุลาการ รวม 9 คน รวมกว่า 1 ล้าน 7 แสนบาท ปีหนึ่งก็จ่าย 20. 4 ล้าน

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตที่ปรึกษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา การคัดสรรคนเข้ามารับตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นเลขานุการหรือที่ปรึกษานั้น เท่าที่ทราบก็คือไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว เป็นดุลพินิจของผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละคนที่จะตั้งใครมาก็ได้

"ผมเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งในช่วงของ การบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ทำให้ทราบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่คนที่ตั้ง "นักวิชาการ" เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลืองานด้านวิชาการและให้คำปรึกษาทางวิชาการ ส่วนคนอื่นตั้งใครมาก็ไม่ทราบ ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมาก่อน

แต่จากข้อมูลที่ได้รับทราบ คนเหล่านั้นมีบางคนที่เป็น "เครือญาติ" บางคนก็มีความสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ เมื่อตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งก็มีเงินค่าตอบแทน บางคนเอาลูกหลานตัวเองมาเป็นเลขานุการก็เคยมีมาแล้ว" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

เมื่อพิจารณาผ่าน ผลงานสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ คำวินิจฉัย จะพบว่า ปี 2551 เขียนคำวินิจฉัย 26 เรื่อง ปี 2552 เขียนคำวินิจฉัย 20 เรื่อง ปี 2553 จนถึงปัจจุบันเขียนคำวินิจฉัย เพียง 7 เรื่อง ต้นทุนต่อคำวินิจฉัย 1 ฉบับ จึงสูงมาก

แต่ปัญหาไม่ใช่ ถูกหรือแพง หรือ วัดกันที่ปริมาณคำวินิจฉัย ประเด็นคือ คุณค่าของคำวินิจฉัยต่างหาก !!!

ตามหลักการแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ดี จะต้องกอรปด้วยหลักกฎหมาย หลักวิชาการ และข้อเท็จจริง ครบถ้วน ถ้าตุลาการไม่มีเวลาศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบก็ต้องมีที่ปรึกษาและผู้เชี่ยว ชาญที่มีความรู้ความสามารถ ครบเครื่อง

เหลียวดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย้อนหลังไปถึงปี 2541 อาจได้คำตอบว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยยังต้องการเวลาพัฒนา อีกหลายทศวรรษ

มติชน, วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เปิดรสนิยม"รถตำแหน่ง"ก.ก.5 องค์กรอิสระกว่า100ล.3ยี่ห้อดังยอดฮิต-3แห่งซื้อจากบ.เดียวกัน

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย กรณีรถประจำตำแหน่งของกรรมการองค์การอิสระ

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ยี่ห้ออะไรได้รับความนิยมมากสุด?

"มติชนออนไลน์" รวบรวมมานำเสนอดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญ 13 คัน แบ่งเป็น

ครั้งแรกประจำตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและรถประจำตำแหน่งตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คัน ในราคา 9.5 ล้านบาท จากห้างหุ้นส่วนจำกัด พันทวี ออโต้ มาสเตอร์ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2548

ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2548 ประจำตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (รถยนต์LEXURES300) จำนวน 10 คัน ราคา 30 ล้านบาท จากบริษัท เล็กซ์ซัส กรุงเทพ จำกัด

ยังมีรถตู้ยี่ห้อ Volkswagen รุ่น Caravelle 2.5 TDI แบบ 11 ที่นั่ง สีบรอนซ์เงิน (8E8E) จำนวน 3 คัน โดย 2 คันแรก ราคา 5,980,000 บาท เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2549 จาก บริษัท ยนตรกิจอินเตอร์เซลส์ จำกัด (ตระกูลลีนุตพงษ์ เจ้าของ) และ ซื้อเพิ่มอีก 1 คัน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2549 ราคา 2,990,000 บาท จากบริษัทเดียวกัน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากการตรวจสอบพบว่า จัดซื้อยี่ห้อ Mercedes Benz 5 คัน แบ่งเป็น

จัดซื้อเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2552 1 คัน ราคา 3,690,000 บาท จากบริษัท เบนซ์ บีเคเค วิภาวดี จำกัด

จัดซื้อเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2552 จำนวน 4 คัน ราคา 13,198,000 บาท (ข้อมูลจากการชี้แจงของกรรมการสิทธิมนุษยชน) จาก บริษัท เบนซ์ บีเคเค กรุ๊ป จำกัด

อีก 2 คัน ยี่ห้อ BMW ราคา 3,250,000 บาท จากบริษัท มิลเลนเนียม จำกัด เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2552 และ ยี่ห้อ Toyota Vellire 2.4 ราคา 3,299,500 บาท จาก บริษัท TSL Auto Corporatiom จำกัด (ที เอส แอล ออโต้ คอร์ปอเรชั่น) เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2552
รวม 7 คัน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในช่วงปี 2547 มีการจัดซื้อ 3 คัน เป็นรถตู้ ยี่ห้อ VOLKSWAGEN CARAVELLE 5 ราคารวม 9,570,000 บาทจาก บริษัท ยนตรกิจอินเตอร์เซลส์ จำกัด เมื่อ 30 ก.ค. 2547

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดซื้อในช่วงเดียวกัน จำนวน 2 คัน ราคารวม 7,300,000 บาท จาก บริษัท เบนซ์ บีเคเค กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2547

สำหรับ ศาลปกครอง ยี่ห้อ Mercedes - Benz จำนวน 2 คัน ราคารวม 5,880,000 บาท จาก บริษัท เบนซ์ บีเคเค วิภาวดี จำกัด เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2549

นอกจากนี้ยังซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่งในระดับราคาลรองลงมาอีก 7 คัน ได้แก่ ยี่ห้อVOLKSWAGEN รุ่นพาสสาทโฮลายน์ จำนวน 1 คัน เป็นเงิน 1,450,000 บาท จากบริษัท ยนตรกิจอินเตอร์เซลส์ จำกัด เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2544

รถยนต์ประจำตำแหน่ง ยี่ห้อนิสสันเซฟิโร่ รุ่น 2.0L (EXE) จำนวน 3 คัน ราคา 3,294,000 บาท จากบริษัท สยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2544, ยี่ห้อ โตโยต้า camry 2.oe จำนวน 2 คัน ราคา 2,310,000 บาท จาก บริษัท เจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2546 และยี่ห้อนิสสัน เซฟิโร่ ราคา 1,200,000 บาท จาก บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2546

จากข้อมูลเท่ากับ เลกซ์ซัส , Mercedes Benz และ Volkswagen ได้รับความนิยมมากสุด

ดีลเลอร์ที่ได้รับการจัดซื้อมากสุดคือ บริษัท เบนซ์ บีเคเค วิภาวดี จำกัด จากศาลปกครอง , กกต. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

รวม 5 องค์กรกว่า 100 ล้านบาท

มติชน, 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เปิดข้อมูลละเอียดยิบ"งบฯทัวร์นอก"สนง.ศาลยุติธรรม ปีเดียวเที่ยว17ครั้ง-เกือบครึ่งพึ่งบริการบ.เดียว

นอกจากการจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่งนับร้อยล้านบาทขององค์กรอิสระที่กลาย เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นการนำผู้เข้าอบอรมไปทัวร์ต่างประเทศของสำนักงานศาลยุติธรรมก็ที่น่าสนใจเช่นกัน

"มติชนออนไลน์"ตรวจสอบพบว่าตั้งแต่ปี เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาจนถึงเดือนกันยายน (สิ้นปีงบประมาณ 2553) สำนักงานศาลยุติธรรมนำผู้เข้าอบรมไปดูงานต่างประเทศถึง17ครั้ง รวมเป็นเงิน 37.5 ล้านบาท ผ่านตัวแทน 9 บริษัท

บริษัทที่ได้รับการว่าจ้างมากสุดคือ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด จำนวน 7 ครั้ง เป็นเงิน 14.7 ล้านบาท

รองลงมาเป็นบริษัท รอยัล ฮอลิเดย์ จำกัด 2 ครั้ง วงเงิน 3,190,550 บาท

สกาเดีย แอร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด จำกัด 2 ครั้ง 3,877,790 บาท

บริษัท ศรัทธาทัวร์ จำกัด 1 ครั้ง จำนวน 1,754,800 บาท

บริษัท ไพรม์ แวลู ทัวร์ จำกัด (ประเทศไทย) 1 ครั้ง จำนวน 2,502,000 บาท

บริษัท ยูนิตี้ 2000 ทัวร์ จำกัด 1 ครั้ง วงเงิน 4,463,750 บาท

บริษัท ยู.อี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 1 ครั้ง วงเงิน 3,516,570 บาท

บริษัท มิสเตอร์ ฮอลิเดย์ จำกัด 1ครั้ง วงเงิน 2,068,000 บาท

และ บริษัท ยูนิไทย แทรเวิล จำกัด 1 ครั้ง วงเงิน 1,380,000 บาท

การพาผู้อบรมไปดูงานต่างประเทศมีรายละเอียดดังนี้

1.บริการนำผู้เข้ารับการอบรมโงาน บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 2,515,500 บาท 26 ก.พ. 2553

2.บริการนำผู้เข้าอบรมศึกษาดูงาน บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 2,483,000 บาท 5 มี.ค. 2553

3.บริการนำผู้รับการอบรมศึกษาดูงาน บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวลกรุ๊ป จำกัด 3,377,500 บาท 9 มี.ค.2553

4.บริการนำผู้รับการอบรมศึกษาดูงาน บริษัท รอยัล ฮอลิเดย์ จำกัด 1,637,000 บาท 19 มี.ค. 2553

5.บริการนำผู้เข้ารับการศึกษาอรมศึกษาดูงาน บริษัท รอยัล ฮอลิเดย์ จำกัด 1,553,550 บาท 19 มี.ค. 2553

6.บริการนำผู้รับการอบรมศึกษาดูงาน บริษัท ศรัทธาทัวร์ จำกัด 1,754,800 บาท 25 มี.ค. 2553

7.บริการนำผู้ช่วยฯศึกษาดูงาน บริษัท ไพรม์ แวลู ทัวร์ จำกัด (ประเทศไทย) 2,502,000 บาท 25 มี.ค. 2553

8.บริการนำผู้อบรมดูงาน บริษัท สกาเดีย แอร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด 1,085,000 บาท 22 เม.ย. 2553

9.บริการนำผู้เข้าอบรมดูงาน บริษัท สกาเดีย แอร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด 2,792,790 บาท 22 เม.ย. 2553

10.บริการนำผู้เข้ารับอบรมศึกษาดูงาน บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 2,535,000 บาท 12 เม.ย.2553

11.บริการนำเข้าอบรมศึกษาต่างประเทศ บริษัท ยูนิตี้ 2000 ทัวร์ จำกัด 4,463,750 บาท 27 พ.ค. 2553

12.นำผู้เข้าอบรมศึกษาดูงานต่างประเทศ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 1,459,350 บาท 27 พ.ค. 2553

13.บริการนำผู้อบรมดูงานต่างประเทศ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป 1,428,300 บาท 27 พ.ค. 2553

14.นำผู้เข้าอบรมดูงานต่างประเทศ บริษัท ยู.อี อินเตอร์เนชั่นแนล 3,516,570 บาท 22 มิ.ย. 2553

15.บริการนำผุ้เข้าอบรมศึกษาดูงานต่างประเทศ บริษัท มิสเตอร์ ฮอลิเดย์ จำกัด 2,068,000 บาท 12 ก.ค. 2553

16.บริการนำเข้าผู้เข้าอบรมศึกษาดูงานต่างประเทศ บริษัท ยูนิไทย แทรเวิล จำกัด 1,380,000 บาท 11 ส.ค. 2553

17.ศึกษาดูงานต่างประเทศฯ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด 974,840 บาท 3 ก.ย. 2553

ทั้งนี้ บริษัท เอฟวีนิว อินเตอร์ แทรเวิล กรุ๊ป จำกัด ก่อตั้งวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ที่ตั้ง 253 อาคารออริเฟรมอโศกทาวเวอร์ ( ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ นายอรรถวุฒิ์ และ นางศิริฐา สุทธาศวิน เป็นเจ้าของ

บริษัท รอยัล ฮอลิเดย์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 10 กันยายน 2547 ทุน 2,500,000 บาท ที่ตั้ง 48/5-6 ชั้น 3 ซอยรุ่งเรือง ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ นางสาวนพมาศ ยืนยง นายราฆพ บัณฑิตย์ นางกณภา ปรักกมะกุล ถือหุ้นใหญ่

บริษัท ยูนิตี้ 2000 ทัวร์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 19 มกราคม 2537 ทุน 5,000,000 บาทที่ตั้งเลขที่ 365 ซอยอาคารสงเคราะห์ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ นายภมร ภมรรัตนกุล นายพัลลภ สนั่นวัฒนานนท์ นางพิกุล ภมรรัตนกุล นางสาวดวงใจ คงธนะรุ่ง นางสาวศรีสมร อิ่มสุขสันต์ ถือหุ้นใหญ่

บริษัท สกาเดีย แอร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด ที่จดทะเบียนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 ทุน 5,000,000 บาท ที่ตั้ง 9/9 หมู่ที่ 10 ถนนราชพฤกษ์ แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ มีนายไมตรี โสภะ นางณฐพร บุญยิ่ง นางทิพยาภรณ์ ล่าฟ้าเริงรณ เป็นกรรมการ

ส่วนบริษัท ยู.อี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 ทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท ที่ตั้ง 113/8 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ วิโมกข์เจริญสุข นางสาวสุนิดา วิโมกข์เจริญสุข นางสาวสมลักษณ์ เต็มภูวภัทร ถือหุ้นใหญ่

มติชน, 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Saturday, October 2, 2010

'ไตรรงค์'เซ็นขายข้าวล้านตัน 'เอ็มที'ขยับเลื่อนเวลาส่งมอบ

'ไตรรงค์'เซ็นขายข้าวล้านตัน 'เอ็มที'ขยับเลื่อนเวลาส่งมอบ

"ไตรรงค์" เซ็นขายข้าวล้านตันให้บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรดแล้ว ก่อนบินเปิดแน่บไปไนจีเรีย-เซเนกัล หลังถ่วงเวลาให้บริษัทหาแบงก์ค้ำประกันนานกว่าครึ่งเดือน วงการค้าข้าวหึ่ง "มร.เฉิน" ปล่อยข้าวเหนียว 10% ลอตแรกที่คลังสกลนครให้ผู้ซื้อภายในประเทศแล้ว ขณะที่ มร.เฉินออกมายอมรับ 60 วันขนข้าวไม่ทัน อ้างให้รัฐวิสาหกิจจีนคู่สัญญาทำหนังสือขอขยายเวลารับมอบข้าวออกไปอีก

นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กขช. ได้เซ็น "อนุมัติ" ให้จำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ตามที่คณะอนุกรรมการระบายข้าวที่มีนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอไป โดยการเซ็นอนุมัติครั้งนี้เป็นการเซ็นก่อนที่นาย ไตรรงค์จะนำคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปเจรจาขายข้าวให้กับรัฐบาลไนจีเรีย-เซเนกัล มีกำหนดจะเดินทางกลับประเทศในวันที่ 5 ตุลาคม 2553

ส่วนกรณีที่ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมากกว่า 1 ล้านตันให้กับบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด โดยไม่มีการเปิดประมูลท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า บริษัทเอ็มทีฯเป็นใคร เนื่องจากไม่มีใครรู้จักในวงการค้าข้าวมาก่อนนั้น นายมนัสกล่าวว่า บริษัทเอ็มทีฯเป็นผู้ซื้อข้าวรายหนึ่งที่เข้ามาดำเนินการตามขั้นตอน มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมายืนยัน ทั้งจากจีน-สิงคโปร์-บรูไน

ทางคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารก็ได้สอบถึงที่มาของออร์เดอร์นั้นพบว่า "น่าเชื่อถือ" แต่คงไม่ถึงขั้นตรวจสอบไปยังสถานทูตเพราะบริษัทผู้ซื้อข้าวไม่ใช่คู่สัญญาของรัฐบาลโดยตรง ส่วนกรณีที่บริษัทเม้งไต๋ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทเอ็มทีฯมีคดีฟ้องร้องกับธนาคารนั้น "ผมไม่ทราบ ไม่ได้ลงตรวจสอบละเอียดขนาดนั้น แต่บริษัทเม้งไต๋ไม่ได้เกี่ยวกับซื้อข้าวครั้งนี้" แต่ตามหลักเกณฑ์การขายข้าวบริษัทจะต้องนำหลักทรัพย์มาวางค้ำประกัน 5% ของมูลค่าข้าว หากซื้อทั้งข้าวจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ก็ต้องทำสัญญาวางค้ำประกัน 2 ฉบับ

"บริษัทเอ็มทีฯจะดำเนินการทำสัญญาซื้อข้าวใน 10 วัน หลังจากได้รับแจ้งจาก กรมการค้าต่างประเทศ แต่นี่ผมยังไม่ได้แจ้งบริษัทไหนเลย เพราะท่านไตรรงค์เพิ่งอนุมัติวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 กันยายน) หลังจากนั้นไม่จำเป็นต้องมาทำพร้อมกันทั้งหมด อาจจะทยอยมาก็ได้ แต่ต้องแจ้งเจตนามาว่า จะทำสัญญาก่อน ถ้าไม่มาก็โดนหยึดหลักทรัพย์ แล้วเราจะเอาข้าวไปขายต่อ โดยราคาที่ขายให้เป็นราคา Ex Warehouse ไม่รวมค่าปรับปรุง ค่าขนส่ง" นายมนัสกล่าว

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตจากวงการค้าข้าวว่า การขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมากกว่า 1 ล้านตันให้กับบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรดนั้น ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นการขายเพื่อการส่งออก แต่บริษัทเอ็มทีฯโดยมิสเตอร์เฉิน หรือนายจุ้งเชียง เฉิน กรรมการผู้จัดการบริษัท กลับเปิดตัวทั้งกับโรงสีข้าว-ผู้ส่งออกเสนอที่จะขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจำนวนมากกว่า 2 ล้านตันให้ ซึ่งถือเป็นการผิดเงื่อนไขการซื้อขายข้าว พร้อมกันนี้ยังมีรายงานข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาว่า บริษัทเม้งไต๋ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (99.99%) ในบริษัทเอ็มทีฯมีคดีความฟ้องร้องในเรื่องการโกงข้าวกับธนาคารอยู่ด้วย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากจังหวัดสกลนครเข้ามาว่า ในวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาโรงสีข้าวในท้องที่ที่ติดต่อซื้อข้าวเหนียว 10% จาก "มิสเตอร์เฉิน" ได้นำรถไปรับข้าวที่คลังศรีสกล จนถึงเวลา 17.00 น. มีการส่ง Fax เอกสารจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ให้เปิดคลัง ซึ่งบรรจุข้าวสารเหนียว 10% ปริมาณ 85,000 กระสอบ โดยขายกระสอบละ 2,450 บาท จากราคาที่ซื้อมาจากรัฐบาล 2,000 บาท เท่ากับกำไร 450 บาท/กระสอบ รวมปริมาณ 38 ล้านบาท โดยผู้ซื้อจะทยอยรับมอบข้าวไปจนครบ 85,000 กระสอบ ภายใน 1 เดือน ไม่จำเป็นต้องขนส่งไปในคราวเดียว สามารถแบ่งจ่ายข้าวในแต่ละครั้งเป็นงวด ๆ ได้

"การเปิดคลังขายข้าวเหนียว 10% ครั้งนี้น่าสงสัยมาก เพราะบริษัทเอ็มทีฯคงไม่สามารถทำสัญญาซื้อข้าวกับ อคส.ทันภายใน 2 วัน ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ และท่านไตรรงค์ก็เพิ่งเซ็นอนุมัติให้ขายข้าวได้ในวันที่ 24 กันยายน เข้าใจว่าบริษัทเอ็มทีฯคงจะหมุนเงินก่อน ด้วยการเลือกขายข้าวเหนียวที่ราคาดี เพราะคนซื้อข้าวขาว 5% กับข้าวปทุมธานียังไม่ได้รับการติดต่อให้ไปขนข้าวในคลัง อ.ต.ก./อคส.จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทเอ็มทีฯอาจจะขอรับมอบข้าวก่อนทำสัญญาหรือไม่เพราะไม่สามารถหาหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันข้าวมากกว่า 1 ล้านตันคราวเดียวกันได้หมด นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อมือขวาของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯในอดีตออกมาช่วยขายข้าวให้ด้วย"

ล่าสุดผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ติดต่อไปยังนายจุ้งเซียง เฉิน กรรมการบริหาร บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด และบริษัทเม้งไต๋ จำกัด แจ้งว่า วันนี้ (28 กันยายน) กำลังเข้าพบกับผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) เพื่อขอเลขที่สัญญา ซึ่งจะนำไปขอหนังสือหลักทรัพย์ค้ำประกัน (L/G) จากสถาบันการเงินหลายแห่ง แต่ว่าทางกระทรวงพาณิชย์เกรงว่าจะกระทบต่อราคาตลาดจึงให้ดำเนินการอย่างเงียบ ๆ และเป็นความลับ

"หลังจากได้เลขสัญญาเพื่อออก L/G แล้วก็ยังต้องรอก่อน ผมขนข้าวทันทีไม่ได้ ต้องรอให้รัฐวิสาหกิจจีนทำหนังสือมาถึงรัฐบาลไทยขอให้ขยายระยะเวลารับมอบข้าวเพราะขนไม่ทัน ผมซื้อข้าว 1.1 ล้านตัน ก็ต้องขน 60 วัน จะซื้อ 1.6 ล้านตัน ก็ต้องขน 60 วัน ทางรัฐวิสาหกิจจีนออร์เดอร์มา ผมทำหน้าที่แค่ซื้อหน้าคลัง ส่งของลงเรือก็จบแล้ว เป็นคนกลางเท่านั้น ส่วนเรื่องแบล็กลิสต์กับธนาคารไทยพาณิชย์เป็นความลับของธนาคารกับลูกค้า" นายเฉินกล่าว

ประชาชาติธุรกิจ, 30 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4249