Tuesday, June 7, 2011

เอกชนแฉกลวิธี 'คอร์รัปชัน'

เอกชนแฉกลวิธี 'คอร์รัปชัน'

เอกชนเคลื่อนไหวแฉกลวิธีคอร์รัปชัน ยอมรับทำธุรกิจเจอ "รีด"ทุกรูปแบบ แต่ไม่กล้าออกมาพูด เพราะจะมีผลลบมากกว่าผลบวกต่อธุรกิจของตัวเอง ชื่นชม "ดุสิต นนทะนาคร" บิ๊กหอการค้า เป็นผู้นำภาคเอกชนอย่างแท้จริง

จากการที่เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน 21 องค์กร นำโดยนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ออกมาประกาศต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายที่เคยอยู่ในมุมมืดเพราะทำธุรกิจประสบปัญหาถูก "รีด" ทุกรูปแบบได้ออกมาเปิดเผยกลวิธีและยอมรับว่ามีผลให้ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น แต่พวกเขายังไม่กล้าที่จะเปิดเผยชื่อและธุรกิจของตัวเอง เพราะยังหวั่นความไม่ปลอดภัยและกระทบธุรกิจ

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจ ได้ออกมาให้ข้อมูลกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงปัญหาคอร์รัปชันว่าบริษัทของเขาได้มีการขยายกิจการลงทุนเพิ่มและได้ดำเนินการขอวงเงินสินเชื่อเพื่อการลงทุนกับธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี 2554 กระทั่งถึงบัดนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ แต่ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ ซึ่งคนที่ติดต่อมานั้น สามารถบอกรายละเอียดได้อย่างถูกต้องว่าบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการขอสินเชื่อกับธนาคารใด วงเงินเท่าใด โดยคนที่ติดต่อมาแจ้งว่าหากต้องการให้ธนาคารอนุมัติสินเชื่อให้เร็ว บริษัทต้องจ่าย 5% ของวงเงินสินเชื่อที่ขอไว้ และต้องมาวางเงิน 5% ก่อนจึงจะได้รับอนุมัติ

"ผมไม่ทราบว่าคนที่ติดต่อมาทางโทรศัพท์นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือเป็นใคร แต่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผมและบริษัทของผมเรื่องที่ผมอยู่ระหว่างดำเนินการได้ทั้งหมด แต่ผมไม่ได้ดำเนินการใดๆ กลับไป เพราะเสียเวลาทำธุรกิจ ที่สำคัญผมยังไม่ยอมจ่าย ถ้าผมยอมจ่ายผมก็ติดต่อไปที่สถาบันการเงินที่ผมขอวงเงินสินเชื่อไว้ แต่ตอนนี้ผมดำเนินการตามกระบวนการปกติ เพราะถ้าจ่าย 5% ของวงเงินสินเชื่อ ผมว่ามากเกินไป มันเป็นต้นทุนธุรกิจ" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

เท่าที่ได้ปรึกษาหารือกับเพื่อนๆในวงการธุรกิจ ก็ประสบปัญหาเดียวกัน และก็ไม่ได้ติดต่อกลับไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อมา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าคนที่ติดต่อมาต้องการอะไร และปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ประสบปัญหากับธนาคารของรัฐ เพราะผู้บริหารต้องนำเงินส่งนักการเมืองที่กำกับธนาคาร

แหล่งข่าวกล่าวว่าหลังจากที่นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน 21 องค์กร ออกมาประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่านับจากนี้ต่อไปภาคเอกชนจะร่วมกันต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ มีความรู้สึกสบายใจขึ้นมาก ที่ภาคเอกชนมีแกนนำอย่างนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยอมรับว่าเป็นผู้นำของภาคเอกชนอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมานักธุรกิจทุกคนประสบปัญหาดังกล่าวและนับวันจะรุนแรงขึ้น แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดที่สำคัญปัญหาการคอร์รัปชันยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจอีกด้วย จะเห็นได้จากที่ผ่านมาหลายธุรกิจหลายบริษัทรุ่งเรืองในยุคที่พรรคการเมืองที่ตนเองใกล้ชิดเป็นฝ่ายรัฐบาล แต่หลังจากที่พรรคการเมืองนั้นหมดอำนาจบริษัทนั้นๆ ก็หมดขีดแข่งขันลงไปด้วยเช่นเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,641 5-8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สุ่มตรวจไทยเข้มแข็งรอบ 2 พบถนนไร้ฝุ่น-ฝาย30%แย่

สุ่มตรวจไทยเข้มแข็งรอบ 2 พบถนนไร้ฝุ่น-ฝาย30%แย่

ผู้ตรวจสำนักนายกฯ สุ่มตรวจไทยเข้มแข็ง ชี้โครงการถนนไร้ฝุ่น-แหล่งน้ำขนาดเล็กพบ 30% มีปัญหาไร้ประสิทธิภาพ ระบุ บางพื้นที่ถนนทรุด-ขวางทางไหลของน้ำ ขณะที่โครงการแหล่งน้ำบางพื้นที่ไม่มีน้ำกักเก็บ สร้างฝายซ้อน เผยผลตรวจสอบรอบแรก มีปัญหากว่า 20%

นพ.มารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) รับทราบผลการติดตามการประเมินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 โดยได้สุ่มตรวจโครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น 45 โครงการ และโครงการจัดหาแหล่งน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 30 โครงการ รวม 75 โครงการ พบว่ามี 22 โครงการ หรือคิดเป็น 29.3% เป็นโครงการที่มีปัญหาและสมควรได้รับการแก้ไขในระดับทั้งพื้นที่หรือจากส่วน กลาง

ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการรายงานว่า การตรวจติดตามและประเมินผลโครงการถนนไร้ฝุ่น 45 โครงการ พบว่า มีโครงการที่มีสภาพถนนที่ไม่มีปัญหาทางกายภาพ และใช้ประโยชน์ได้ดี 35 โครงการ หรือคิดเป็น 77.78%

ส่วนโครงการที่มีปัญหาด้านกายภาพ เช่น ถนนชำรุด ทรุด มีรอยแตกแยก และจุดเชื่อมระหว่างถนนไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้การใช้ถนนไม่ปลอดภัย 7 โครงการ แต่สภาพปัญหาไม่รุนแรงและแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ได้ โดยโครงการถนนปลอดฝุ่นที่ทรุดตัวนั้น เนื่องจากรถที่ใช้เส้นทางมีการบรรทุกสินค้าพืชผลเกษตรหนักเกินกำหนด ถนนบางสายมีการเสียหาย เนื่องจากสภาพถนนเป็นพื้นที่ต่ำและขวางทางไหลของน้ำ รวมทั้งถนนมีรอยแยกเนื่องจากสภาพพื้นที่มีน้ำใต้ถนน ทำให้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

ชี้3โครงการต้องเร่งแก้ไข

ขณะที่โครงการถนนไร้ฝุ่นที่มีปัญหาและสมควร ต้องแจ้งให้ส่วนกลางเข้าไปแก้ไขมี 3 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างถนนที่ไม่มีไหล่ทางและท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจก่อปัญหาในอนาคตได้ โดยเฉพาะการระบายน้ำเสียและน้ำฝน อีกทั้งมีถนนทรุดตัวตามแนวลำคลอง ทำให้กรมทางหลวงชนบทต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมากในการซ่อมแซมแต่ละปี เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่นสายทางหลวง 305ะ เลียบคลองสิบสองฝั่งตะวันตก จ.ปทุมธานี ถนนทรุดตัวตามแนวคลองชลประทาน

นอกจากนี้ โครงการถนนไร้ฝุ่นสายทางหมายเลข 9ะ บ้านกำนันจิตร (ตอน 2) จ.นนทบุรี ถนนก่อสร้างไม่มีไหล่ทางและท่อระบายน้ำ ทำให้มีปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะการระบายน้ำเสียและน้ำฝน

แหล่งน้ำ 30% ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่

นพ.มารุต ระบุว่า ส่วนโครงการจัดหาแหล่งน้ำฯ ที่มีการตรวจติดตามและประเมินผล 30 โครงการ พบว่ามีโครงการที่ไม่มีปัญหาทางกายภาพ 18 โครงการ หรือคิดเป็น 60% ส่วนอีก 9 โครงการ หรือคิดเป็น 30% ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เนื่องจากน้ำในฝายค่อนข้างน้อย ลำคลองมีความตื้นเขิน มีน้ำต้นทุนจำนวนน้อย ไม่มีน้ำซับ จึงไม่มีน้ำกักเก็บไว้เพื่อทำการเกษตร บริเวณผนังฝายมีรอยแตกร้าว เนื่องจากการทรุดตัวของดิน และบางแห่งประตูน้ำปิดไม่สนิท มีน้ำไหลตลอดเวลาจึงใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่

พร้อมทั้งพบว่า ในบางพื้นที่มีการก่อสร้างฝายในลำห้วยเดียวกัน 2 จุดใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่เหมาะสมและเป็นการซ้ำซ้อน และจากการสอบถามเกษตรกรในพื้นที่มีการแจ้งว่า มีเกษตรกรใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกน้อยราย ขณะที่เหนือฝายขึ้นไป 100 เมตร ไม่มีน้ำในลำห้วย ทำให้ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ก่อสร้าง โดยโครงการลักษณะนี้มี 3 โครงการหรือคิดเป็น 10%

3 โครงการไม่คุ้มค่าเงินลงทุน

3 โครงการไม่คุ้มค่าเงินลงทุน ได้แก่ โครงการก่อสร้างฝายบ้านหนองแรด จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำในฝายน้อย เพราะสภาพลำคลองตื้นเขินและบริเวณฝายมีการแตกร้าว เนื่องจากดินทรุดตัว โครงการชลประทานขนาดเล็กอาคารบังคับพร้อมขุดลอก กองบินที่ 5 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อสร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะไม่มีน้ำกักเก็บ โครงการฝายลานห้วยเดื่อ 3 จ.ตาก ประตูระบายน้ำปิดไม่สนิท ทำให้มีน้ำไหลตลอดเวลา โครงการฝายห้วยหนองโรง จ.สุพรรณบุรี ไม่มีน้ำซับ ทำให้ไม่มีน้ำกักเก็บ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการฝายห้วยลวก จ.สุพรรณบุรี ที่เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ก่อสร้าง พบว่ามีการก่อสร้างฝายในห้วยเดียวกัน 2 จุด ใกล้กันประมาณ 15 เมตร เมื่อสอบถามเกษตรกรในพื้นที่ได้รับแจ้งว่า มีเกษตรกรใช้น้ำเพื่อปลูกอ้อย 2 ราย และเหนือฝายขึ้นไป 100 เมตรไม่มีน้ำในลำห้วย จึงไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ลงทุนไป ขณะที่ฝายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการ

เผยสุ่มรอบแรกมีปัญหา 20%

ในการตรวจสอบโครงการถนนไร้ฝุ่น และโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานหรือโครงการชลประทานขนาด เล็ก รอบที่ 1 (ม.ค-ก.พ. 2554) จำนวน 155 โครงการ แบ่งเป็นโครงการถนนไร้ฝุ่น 92 โครงการ มีโครงการที่ไม่มีปัญหาทางกายภาพ 73 โครงการ เป็นโครงการที่มีปัญหา 19 โครงการ หรือคิดเป็น 20.66% ส่วนโครงการชลประทานขนาดเล็ก 63 โครงการ พบว่ามีโครงการที่ไม่มีปัญหาทางกายภาพ 52 โครงการ แต่เป็นโครงการที่มีปัญหาทางกายภาพ 11 โครงการ หรือ 17.46%

สำหรับโครงการถนนปลอดฝุ่นที่มีปัญหา เช่น โครงการถนนสายทางแยก ทล 3255ะ แยก ทล 3259 (ตอนที่ 1 และที่ 2) จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าพื้นผิวบริเวณที่วางท่อมีการทรุดตัว มีการนำยางมาปะ ซึ่งการทรุดตัวของถนนเป็นเพราะมีการใช้เส้นทางเพื่อการขนส่งพืชผลการเกษตร ที่มีน้ำหนักมาก โครงการถนนสายทางแยก ทล 2138 บ้านหนองผำ จ.เลย ถนนเสียหาย เนื่องจากมีรถขนแร่ใช้เป็นเส้นทางลัด และมีรถขนอ้อยวิ่งผ่านจำนวนมาก และโครงการสายบ้านหนองห้าง-บ้านชัยพัฒนา จ.พิษณุโลก ที่ถนนเสียหายเพราะมีการบรรทุกพืชผลการเกษตรเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนด

ถนนหลายเส้นชำรุด-ทรุด

ส่วนโครงการถนนสายเข้าโรงเรียนปริยัติธรรม วัดจรูญเวศ จ.นครนายก ถนนชำรุด เนื่องจากถนนลาดยางบาง โครงการถนนสายแยก ทล 4156 -บ.โคกคา (ตอนที่ 1) จ.กระบี่ ผิวถนนแตกชำรุดเสียหายทั้งเส้นทาง เนื่องจากมีการใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน โครงการสายแยก ทล 4156 -บ.โคกคา (ตอนที่ 2) จ.กระบี่ และโครงการสายทางแยก ทช.สร. 3010ะ บ้านสลักได จ.สุรินทร์ มีการถมถนนสูงและไม่มีการอัดดินให้แน่น ส่งผลให้มีการชำรุดตรงคอสะพาน และผิวจราจรเสียหาย

โครงการสายทาง ชร.1022 แยก ทล. 1 -บ้านหัวดอย จ.เชียงราย มีปัญหาการทรุดตัวของถนน เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีน้ำป่าไหลลงจากภูเขามากัดเซาะใต้ถนน ประชาชนไม่ยอมสละที่ดินเพื่อทำทางระบายน้ำข้างถนนเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะ และผู้รับเหมาไม่ได้ย้ายเสาไฟฟ้าที่เคลื่อนย้ายไประหว่างก่อสร้างกลับคืนที่ เดิม โครงการสายทางแยก ทล รบ 4011ะ หนองปากดง จ.ราชบุรี ต้องมีการซ่อมแซมถนนเป็นแนวยาวตลอดทั้งเส้นทาง เนื่องจากถนนมีการชำรุด

โครงการถนนสายแยก ทล 218ะ บ้านโนนสมบูรณ์ จ.บุรีรัมย์ ผิวจราจรทรุดตัว เนื่องจากการบีบอัดฐานรากของถนนบริเวณฝังท่อลอดเพื่อการระบายน้ำไม่ได้ มาตรฐาน โครงการถนนสายทางแยก ทล 1113ะ บ้านสระบัว จ.สุโขทัย ผิดถนนชำรุด มีหลุมขนาดใหญ่และเล็กเป็นระยะ ถนนด้านติดริมคลองมีรอยแตกตลอดเส้นทาง และโครงการถนนสายแยก ทล 3425ะ ดอนทอง จ.พระนครศรีอยุธยา มีคันทางทรุดตัวในวงกว้างหลายจุด เนื่องจากปริมาณน้ำในคลองชลประทานลดระดับลง เป็นต้น

ฝายหลายแห่งขาดน้ำกักเก็บ

ส่วนโครงการชลประทานขนาดเล็กที่มีปัญหา เช่น โครงการฝายบ้านหนองร่าเริง จ.ลพบุรี โครงการระบบส่งน้ำฝายสระบัวทอง จ.สุพรรณบุรี ใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากน้ำที่เติมในฝายมีไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน ไม่มีน้ำให้กักเก็บและหน้าฝายตื้นเขินไม่มีน้ำ โครงการฝายลำห้วยประทุนพร้อมขุดลอก จ.ชัยนาท น้ำในฝายมีไม่มาก เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน สันฝายต่ำเกินไป ทำให้กักเก็บน้ำได้ไม่มาก โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านดงยาง จ.อุดรธานี ที่สร้างเสร็จมาแล้ว 6 เดือน แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจาก อบต.บ้านแดง ไม่ได้จัดงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการโครงการฝายบ้านป่าใหญ่ 2 จ.อุทัยธานี น้ำในฝายมีน้อย และไม่มีการตั้งกลุ่มใช้น้ำเพื่อบริการจัดการน้ำ พบกองดินในฝาย ทำให้ฝายตื้นเขิน โครงการฝายทดน้ำยายเล็ก 4 จ.ราชบุรี พบดินทรุดใต้ดาษคอนกรีต

นอกจากนี้ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งบ้านหนองหอย จ.กาญจนบุรี พบว่าจุดที่ตั้งสถานีสูบน้ำไม่มีน้ำให้สูบตลอดเวลา ขณะที่การสูบน้ำจะทำได้ก็ต่อเมื่อเขื่อนปล่อยน้ำออกมา แต่ปกติเขื่อนจะปล่อยน้ำเวลากลางคืน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการใช้น้ำของเกษตรกรและเกษตรกรก็ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ

กรุงเทพธุรกิจ - วันพุธ 8 มิถุนายน 2554

Thursday, February 24, 2011

ใครสวาปาล์ม 3 เดือน 5,000 ล้าน 3 ล็อตใหญ่ ใคร หนอ"พุงกาง"?

ใครสวาปาล์ม 3 เดือน 5,000 ล้าน 3 ล็อตใหญ่ ใคร หนอ"พุงกาง"?


ที่สุดรัฐบาลก็ออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน

ด้วยการให้กระทรวงพลังงานนำน้ำมันปาล์มดิบ 15,000 ตัน มากลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวดขายลิตรละ 47 บาท โดยรัฐบาลอุดหนุนราคาให้ลิตรละ 9.50 บาท

นอกจากนั้น ยังให้สมาคมโรงกลั่นนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไขจำนวน 30,000 ตัน โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ควบคุมการนำเข้ามาภายใน 15 วัน ส่วนนี้รัฐบาลชดเชยให้ลิตรละ 5 บาท

รวมๆ รัฐบาลต้องชดเชยให้ 200 ล้านบาท

นี่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการแก้ไขปัญหาหลังจากประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก และเป็นการแก้ไขหลังจากที่ "แก๊งสวาปาล์ม" อิ่มหนำสำราญกับน้ำตาของชาวบ้านไปเรียบร้อยแล้ว

ทำให้เกิดคำถามว่า ปัญหาส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ทำไมไม่ใช้สมองส่วนหน้าในการแก้ไขปัญหา ปล่อยให้ปัญหาเรื้อรัง

เริ่มจากคำถามที่ว่า ทำไมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ที่มีรองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน จึงปล่อยให้ปาล์มดิบหมดไปจากสต๊อคโดยไม่คิดแก้ไข

เพราะก่อนหน้านี้มีการกำหนดสต๊อคไว้คร่าวๆ ว่าต้องมีอย่างน้อยราวๆ 200,000 ตัน เพื่อรักษาสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ

หากดูตัวเลขสต๊อคน้ำมันปาล์มในเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ 209,659 ตัน ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

แต่ในเดือนกันยายน ตุลาคม สต๊อคลดลงเรื่อยๆ จนเหลือล่าสุด 98,015 ตัน ในเดือนพฤศจิกายน 2553

ห้วงนั้น มีเสียงติงไปยังคณะกรรมการนโยบายปาล์ม ว่าให้นำเข้าเพื่อมาเสริมสต๊อค เพราะอดีตการนำเข้า 10,000-20,000 ตัน ก็เคยมีการนำเข้ามาแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ

แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการนโยบายปาล์มที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ไม่มีการดำเนินการใดๆ ปล่อยให้สต๊อคน้ำมันปาล์มหมดลงไม่เหลือแม้แต่ตันเดียว ในเดือนธันวาคม 2553

นี่คือ "คำถาม" ว่าทำไม รองนายกฯสุเทพถึงปล่อยให้ปาล์มดิบหมดสต๊อค

คำถามต่อมาคือ เมื่อรู้ว่าหมด ทำไมไม่เร่งนำเข้าเพื่อเติมสต๊อคให้เต็ม แต่กลับมีการอนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำมันปาล์มจากราคาลิตรละ 36.50 เป็น 47 บาท

พ่อค้ากินส่วนต่างจากการกักตุนทันที ลิตรหรือขวดละ 10 บาท

นั่นคือ "ผลประโยชน์" ล็อตแรกที่แก๊งสวาปาล์มได้รับ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2553 มีการรับซื้อปาล์มจากเกษตรกรในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศ

กล่าวคือรัฐบาลประกาศราคาขายที่กิโลกรัมละ 11 บาท แต่โรงหีบกลับรับซื้อในราคาแค่ 6 บาท มีส่วนต่างกิโลกรัมละ 5 บาท

เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตต่างๆ ราคาที่โรงหีบอยู่ที่ลิตรละ 37.28 บาท แต่เมื่อส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมันพืชต้นทุนอยู่ที่ 50 บาท เพราะคิดตามราคาที่รัฐบาลประกาศคือ 11 บาท ไม่ใช่ราคารรับซื้อจริงจากเกษตรกรคือ 6 บาท

เมื่อรวมค่ากลั่น 15 บาท ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ต่ำสุด จะอยู่ที่ลิตรละ 65 บาท

ตรงนี้ ว่ากันว่าโรงหีบได้ค่าส่วนต่างมากถึง 12.72-24 บาทต่อลิตร

โรงหีบสำคัญๆ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ สุราษฏร์ธานี ชุมพร กระบี่ เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัดมีผลผลิตต่อปีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีโรงหีบ 65-67 แห่ง

ปรากฏว่าโรงหีบเหล่านี้ มีเจ้าของที่ใส่ชื่อไขว้กันไปมาแค่ 10 คนเท่านั้น ซึ่งล้วนเป็นนักการเมือง หรือไม่ก็หัวคะแนนของพรรคการเมืองใหญ่

คำนวณกันคร่าวๆ ในช่วงเดือน 2 เดือน ก่อนจะมีการนำเข้าปาล์มในกลางเดือนมกราคม 2554 จำนวน 30,000 ตัน ผลประโยชน์จาก "ค่าส่วนต่าง" ตรงนี้อยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท

เป็นผลประโยชน์ "ล็อตสอง" ที่แก๊งสวาปาล์มได้รับ

คำถามต่อมาก็คือ เมื่อรู้แนวโน้มว่าปาล์มจะขาดแคลน ทำไมยังปล่อยให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มช่วงปลายปี 2553 มากจนผิดปกติ

แล้วทำไมเอาปาล์มไปผลิตไบโอดีเซลมากถึง 400,000 ตัน ทั้งที่การผลิตไบโอดีเซลมีแต่ขาดทุน และรัฐบาลต้องอุดหนุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท

อีกทั้ง หากดูตัวเลขผลผลิตของปาล์มสดที่ออกมา ในปี 2553 พบว่ามากถึง 8,223,135 ตัน มากกว่าปี 2552 ถึง 60,432 ตัน

ตรงนี้ จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะมาบอกว่าทำให้ผลปาล์มดิบขาดตลาด อันเนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัยใหญ่
จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกตั้งคำถามว่า เป็นการ "จงใจ" ทำให้ปาล์มขาดตลาด เพื่อให้

เพื่อนพ้องน้องพี่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์เข้าประเป๋า เพื่อใช้ในการกิจกรรมการเมืองหรือไม่

เป็นการตั้งคำถาม อันเนื่องมาจากสงสัย สงสัยในความจริงใจของรัฐบาลที่มีฐานเสียงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรชาวสวนปาล์มมากที่สุด

ส่วนการนำเข้า 30,000 ตัน หรือการนำเข้าล็อตใหม่ เป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของรัฐบาล

ถามว่า คนอย่างนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนอย่างรองนายกฯสุเทพ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ และเจ้าของสวนปาล์ม คนอย่างอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่คุ้นเคยกับเกษตรกรชาวสวนปาล์มมาทั้งชีวิต

รวมทั้งพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีสวนปาล์มเป็นหมื่นๆ ไร่ จะไม่รู้แนวทางการแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายในฐานะคนประชาธิปัตย์เลยหรือ

นี่คือ "คำถาม" ที่ทิ้งท้ายไว้เพื่อรอ "คำตอบ"

มติชน, 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Friday, February 4, 2011

เปิดบ้านหลังงาม"บิ๊กบัง" ในค่ายทหาร เผย"ศัตรูถาวร 3 อย่าง ที่ต้องระวัง!!

สนธิ บุญยรัตกลิน


สนธิ บุญยรัตกลิน
สนธิ บุญยรัตกลิน
สนธิ บุญยรัตกลิน
สนธิ บุญยรัตกลิน
สนธิ บุญยรัตกลิน

เปิดบ้านหลังงาม"บิ๊กบัง" ในค่ายทหาร เผย"ศัตรูถาวร 3 อย่าง ที่ต้องระวัง!!

4 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้นำ คมช. และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ช่อง"ทีวีไทย" เมื่อค่ำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ยืนยันว่า รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้...ต้องทำ

บิ๊กบัง ฟันธงว่า การเมืองไทย เสียหาย เพราะ"คน" ไม่ใช่"ระบบ"

การรัฐประหาร 19 กันยายน ส่งผลดีต่อการเมืองไทยมากกว่าผลเสีย

นี่คือ ความเชื่อมั่นจนถึงวันนี้ของผู้กระทำการรัฐประหาร

แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี .... ไม่เชื่อเช่นนั้น

ผู้ถูกรัฐประหาร ออกมาแฉว่า การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน คนไทยไม่ได้อะไรเลย นอกจากได้เศรษฐีใหม่ส่วนใหญ่เป็นยศพลเอกและได้ทหารที่เข้มแข็งมีอาวุธมากขึ้น

ต่อมา พรรคเพื่อไทย รับลูกยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบความมั่งคั่งของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เครือญาติ

"มติชนออนไลน์" เปิดดู กรุสมบัติของอดีตผู้นำ คมช.ที่ยื่นแสดงต่อ ป.ป.ช. ตอนรับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พบข้อมูลที่น่าสนใจ

"บิ๊กบัง" รวมภรรยา 2 คน ไม่ได้ทำธุรกิจ และ บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 1 คน รวม 4 คน มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 90 ล้านบาท ไม่รวมบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว 4 คน

ย้อนไปเมื่อ วันที่ 5 ต.ค. 2550 ตอนรับตำแหน่งรองนายกฯ พล.อ.สนธิแจ้งว่ามีทรัพย์สิน 38.7 ล้านบาท นางสุกัลยา คู่สมรส คนที่หนึ่ง 14 ล้านบาท นางปิยะดา คู่สมรส คนที่สอง 36.9 ล้านบาท น.ส.ศศินภา บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 3 แสนบาทเศษ รวม พล.อ.สนธิ นางสุกัลยา และน.ส.ศศินภา 53.1 ล้านบาท แต่ถ้ารวมนางปิยะด้วยเท่ากับ 90.1 ล้านบาท

ต่อมา วันที่ 6 ก.พ.2551 ตอนพ้นตำแหน่ง ทรัพย์สินของ พล.อ.สนธิ นางสุกัลยา และน.ส.ศศินภา เพิ่มเป็น 60.1 ล้านบาท

กระทั่งพ้นตำแหน่งครบ 1 ปีวันที่ 5 ก.พ. 2552 ทรัพย์สินของพล.อ.สนธิ นางสุกัลยา และน.ส.ศศินภา เพิ่มเป็น 62.2 ล้านบาท น่าสังเกตว่าการยื่นบัญชีฯ 2 ครั้งหลัง พล.อ.สนธิ มิได้แจ้งทรัพย์สินของภรรยาคนที่สอง แต่อย่างใด

หากเปรียบเทียบครั้งแรก กับ ครั้งหลัง ช่วงเวลาเพียงปีเศษ เพิ่มประมาณ 9 ล้านบาท ถือว่า"ไม่น้อย"

เมื่อเจาะลึกพบว่า พล.อ.สนธิมีเงินลงทุน ได้แก่ หุ้นการบินไทย ,กองทุนเปิดทหารไทยพันธบัตร และ หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ นสค. รวม 11.2 ล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลง แต่รายการที่เพิ่มขึ้นคือ "ที่ดิน " และ "เงินฝาก"

เงินฝาก ตอนรับตำแหน่ง พล.อ.สนธิแจ้งว่ามี 23.5 ล้านบาท นางสุกัลยา 3.9 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่งพล.อ.สนธิมี 29.3 ล้านบาท นางสุกัลยาลดลงเหลือ 1.3 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่ง 1 ปี พล.อ.สนธิมี 26.6 ล้านบาท นางสุกัลยาเพิ่มเป็น 1.6 ล้านบาท

ส่วนที่ดิน ตอนรับตำแหน่ง พล.อ.สนธิแจ้งว่าไม่มี นางสุกัลยามี 1 แปลง 1.3 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่ง พล.อ.สนธิ มี 1 แปลง มูลค่า 3.3 ล้านบาท นางสุกัลยา 4 แปลง 5.2 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่ง 1 ปี พล.อ.สนธิมีที่ดิน 6 แปลง 6.3 ล้านบาท ส่วนนางสุกัลยามี 4 แปลง เบ็ดเสร็จที่ดินของคนทั้งสองเพิ่มขึ้นประมาณ 9 แปลง

ขณะที่ พรรคมาตุภูมิ ที่พลเอกสนธิ นั่งเป็นหัวหน้าพรรค ในรอบปี 2553 มีเงินบริจาคเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย แม้จะไม่ก้อนโตเท่าพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคเพื่อไทย แต่ก็มากกว่าอีกหลายพรรค

ผู้บริจาครายใหญ่ในช่วงปี 2553 ได้แก่ นายศุภกาญจนะ หิรัญญะเวช บริจาค 1.22 ล้านบาท นายกมลศักด์ สีวาเมาะ บริจาค 2 แสนบาท นายอภิชาติ สุดแสวง 2 80,000 บาท นายอนุมัติ ชูสารอ 280,000 บาท และนางอัมพร อิ่มสกุล บริจาค กว่า 1.2 ล้านบาท

แต่ใครจะเชื่อว่า พลเอกสนธิ เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพียงคนเดียว ที่มีบ้านพักหลังงามตั้งอยู่ในค่ายทหาร !!!

ต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นิตยสาร WHO ? นำเสนอบทสัมภาษณ์"บิ๊กบัง"ใน บ้านพักหลังงามย่านพหลโยธิน

สิ่งที่น่าตื่นใจคือ ในโรงรถและรอบบ้าน มีรถหรูจอดอยู่หลายคัน ...บางคันยังป้ายแดง

จริง ๆ แล้ว บ้านพักหลังงามหลังนี้จะมิใช่ กรรมสิทธิ์ของ พล.อ.สนธิ แต่เขาก็พำนักมาแล้วร่วม 3 ปี ด้วยเป็นหนึ่งในบ้านพักของ 5 เสือ ทบ. (ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 2 นาย เสนาธิการทหารบก) ซึ่งสร้างเสร็จไปแล้ว 4 หลัง

บ้านแต่ละหลังจะมีภาพสนามกอล์ฟกว้างสุดลูกหูลูกตาเป็น "หลังบ้าน" ซึ่ง พล.อ.สนธิชี้ชวนชม พลางว่า หากเป็นยามเช้าด้วยแล้วมักจะต้องหยิบกล้องคู่ใจขึ้นมาบันทึกภาพไว้ไม่ขาด จากนั้นก็จะใช้เป็นฉากหลังสำหรับกาแฟถ้วยโปรดและหนังสือพิมพ์ในมือทุกเช้า

"ผมถึงได้บอกกับทุกๆคนว่า อย่าไปเอาความทุกข์มาใส่ตัว ผมเองไม่เคยมีความทุกข์ ปล่อยวางได้ แม้จะผ่านเรื่องราวอึมครึมมาก็ไม่เคยมีความทุกข์ ใครเห็นผมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 49 (วันที่ทำรัฐประหาร) ผมยังหัวเราะ ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม จะไปซีเรียสทำไม อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด "

" ทุกวันนี้กิจวัตรที่ผมต้องทำคือการเรียนหนังสือปริญญาเอก ยิ่งตอนนี้เรียนหนักมาก ถ้ากลางคืนไม่มีงานอะไรก็ต้องดูหนังสือ แล้ววิถีชีวิตประจำวันของผมเป็นคนตื่นเช้า จะนั่งดื่มกาแฟแก้วหนึ่ง พร้อมกับอ่านหนังสือพิมพ์ ส่วนอินเทอร์เน็ตตอนนี้ไม่ค่อยได้เล่นเท่าไร เพราะต้องทุ่มเวลาให้กับการเรียน "

"ที่ผ่านมาอาจมีคนกลั่นแกล้งกันบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องระวังไม่ให้เกิด ส่วนศัตรูที่เป็นศัตรูถาวร 3 อย่าง จะต้องไม่ให้เกิดเด็ดขาด คือ 1.เรื่องผู้หญิง 2.เรื่องอำนาจ 3.เรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องผู้หญิงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่สอนผมมา การขัดแย้งเรื่องผู้หญิงคือศัตรูถาวร เช่น เรากับเพื่อนชอบผู้หญิงคนเดียวกัน เราตัดปัญหาอย่างไปแย่งเขา(ซี) เพราะถ้าแย่งเรื่องผู้หญิงก็จะเป็นศัตรูถาวร เขาว่าถ้าเป็นศัตรูที่เกิดจากความอิจฉาจะเป็นศัตรูชั่วคราว ผมมีภาษิตไว้ท่องขึ้นใจคือ จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย ไม่มีใคร อยากเห็น เราเด่นเกิน"

สำหรับนโยบายของพรรคมาตุภูมิ พลเอกสนธิ แจกแจงผ่าน นิตยสาร WHO ? ว่า "การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการเสนอตั้งทบวงการบริหารกิจการชายแดนภาคใต้ โดยมีรัฐมนตรีทบวงนั้นเป็นผู้ดูแล "

"นโยบายของพรรคเราคือหยิบเงื่อนไขของประเทศในเวลานี้มากำหนดตัวนโยบาย เช่น ตอนนี้ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางสังคม หลักที่ 1 เราต้องสร้างความรักและความผูกพัน ความสมานฉันท์ ความปรองดองในชาติ ปัญหาที่เป็นวิกฤต ในขณะนี้คือ ประชานิยมเรื่องความเหลี่ยมล้ำทางสังคม นโยบายของเราก็คือถ้าเราต้องการที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตย อย่างแรกเราต้องทำให้สังคมมีความเสมอภาคกัน จะทำยังไงให้คนจน-คนรวย ลงมาหากันได้ง่ายขึ้น ผมยืนยัน เรื่องพวกนี้ถ้าเราทำให้ประชาชนได้มีความเข้าใจ มันก็จะทำได้เร็ว "

ผมขอยกตัวอย่าง ประเทศไทยเราประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ถ้าเกษตรกรมีนา 1 ไร่ สมมติว่าผลิตข้าวได้ 50 ถัง ทำนามาเป็น 20 ปีก็ยังได้แค่ 50 ถัง เราจะทำอย่างไรให้เขามีความรู้มากขึ้น ลงทุนน้อยลง แต่ได้ข้าว 80 ถัง นโยบายของเราทำยังไงให้มีคนรวยมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น เมื่อคนมีความรู้มากขึ้น ความฉลาดของคนก็จะเพิ่มสูงขึ้น จะได้นำความรู้ไปพัฒนาอาชีพของเขาได้มากขึ้น"

พรรคการเมืองมักจะมาควบคู่กับเงินที่ต้องใช้ ต้องทุ่ม "บิ๊กบัง" คิดอย่างไร

"ผมขอเรียกเงินตรงนี้ว่างบประมาณ ซึ่งในระเบียบของ กกต. คนหนึ่งก็ใช้เงินได้ไม่มาก แต่มันมีวิธี การที่เรามีเงินน้อย กับที่เราทำให้คนมาเลือกเรามากๆ ได้นั้นมีหลายวิธี เราต้องอธิบายให้กับคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ให้มองให้เห็นว่าคนที่มีเงินมากกว่านั้นมีผลดี ผลเสียอย่างไร แต่เรามีแต่อุดมการณ์ มีความคิดที่จะแก้ปัญหาชาติ ต้นทุนก็จะลดลง และความรัก ความสงสารกับเราก็จะมีมากขึ้น"

" ผมไม่เกี่ยวกับการทำงานข้ามกลุ่ม ข้ามสี หากแต่เป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ"

" ใครอยู่ใกล้ก็ต้องรักผม" พลเอกสนธิ ยืนยัน

(ภาพและบทสัมภาษณ์ บางส่วนจาก นิตยสาร WHO ? เดือนกุมภาพันธ์ 2554 )

มติชน, 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Sunday, January 16, 2011

สูญ2พันล้านซื้อยุทโธปกรณ์ชำรุด เรือเหาะ"เหี่ยว"-บอมบ์สูทล่องหน

สูญ2พันล้านซื้อยุทโธปกรณ์ชำรุด เรือเหาะ"เหี่ยว"-บอมบ์สูทล่องหน

สำรวจขุมทรัพย์จัดซื้อยุทโธปกรณ์ดับไฟ ใต้ 2 พันล้าน ส่วนใหญ่ได้ของ "ชำรุด-ด้อยคุณภาพ" เรือเหาะตรวจการณ์ยังบินไม่ขึ้น กลายเป็น "เรือเหี่ยว" ต้องเคลมผ้าใบบอลลูนผืนใหม่ "จีที 200" เป็นตำนาน "ไม้ล้างป่าช้า" ขณะที่ตำรวจตั้งงบ 330 ล้านซื้อ "บอมบ์สูท" ตั้งแต่ปี 2551-2552 ป่านนี้ยังส่งมอบไม่ได้ ปล่อยกำลังพลสังเวยชุดหมดอายุ

เหตุระเบิดต้อนรับปี 2554 ที่ ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ซึ่งทำให้ ด.ต.กิตติ มิ่งสุข เจ้าหน้าที่เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี สังกัดกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 447 ต้องเสียชีวิตคาชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิด หรือ “บอมบ์สูท” กระทั่งมีการเปิดโปงในเวลาต่อมาว่า "บอมบ์สูท" ที่เจ้าหน้าที่ใช้นั้น เป็นชุดที่หมดอายุการใช้งานแล้ว สะท้อนถึงปัญหาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติใน ภารกิจดับไฟใต้ได้เป็นอย่างดี

ล่าสุดจากการตรวจสอบเอกสารงบประมาณของ "กรุงเทพธุรกิจ" ย้อนหลังไปถึงปีงบประมาณ 2551 และ 2552 พบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งงบประมาณจัดซื้อ "บอมบ์สูท" ล็อตใหม่เอาไว้เมื่อปี 2551 จำนวน 118 ล้านบาท สำหรับบอมบ์สูท 9 ชุด แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการส่งมอบ

ถัดจากนั้นในปีงบประมาณ 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังตั้งงบประมาณเพื่อซื้อบอมบ์สูทเพิ่มเติมอีก 14 ชุด จำนวน 214 ล้านบาท แต่ผ่านมาถึงปีงบประมาณ 2554 แล้ว ยังไม่มีการจัดซื้อตามงบประมาณที่ตั้งไว้แม้แต่ชุดเดียว

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณภาค ใต้ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ได้เรียกตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทางตำรวจอ้างว่าความล่าช้าเกิดจากการประมูลมีปัญหา ต้องยกเลิกการประกวดราคาไปถึง 2 ครั้ง ประกอบกับต้องการกำหนดสเปคใหม่ ทำให้ยังจัดซื้อบอมบ์สูทล็อตใหม่ไม่ได้

"ถือเป็นคำชี้แจงที่ฟังไม่ขึ้น เพราะการตั้งงบพร้อมกำหนดจำนวนบอมบ์สูทที่จะจัดซื้อ แสดงว่ามีการกำหนดสเปคเอาไว้เรียบร้อย การพยายามเปลี่ยนแปลงสเปคในภายหลัง ไม่ทราบว่ามีการวิ่งเต้นหรือมีนอกมีในอะไรหรือไม่ ที่สำคัญงบประมาณก้อนนี้รวม 2 ปีงบประมาณสูงถึงกว่า 330 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้กำลังพลในพื้นที่ยังไม่ได้รับบอมบ์สูทล็อตใหม่ จึงต้องใช้บอมบ์สูทที่หมดอายุแล้ว จนเกิดความสูญเสียตามที่เป็นข่าว" แหล่งข่าวระบุ

ปิกอัพหุ้มเกราะ750ล้านยังฝุ่นตลบ

โครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์อีกล็อตหนึ่งสำหรับ ภารกิจดับไฟใต้ที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในช่วงการพิจารณางบประมาณราย จ่ายประจำปี 2554 คืองบที่กระทรวงกลาโหมขอแปรญัตติเพิ่มจำนวน 750 ล้านบาท จากงบปกติที่ได้รับแล้วถึง 1.7 แสนล้านบาทเศษ สำหรับจัดหายุทโธปกรณ์สนับสนุนหน่วยที่ปฏิบัติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ กำลังพลได้รับความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งก็คือ "รถยุทธวิธีกันกระสุน" จำนวน 300 คัน ราคาคันละ 2.5 ล้านบาท

สเปคของรถยุทธวิธีกันกระสุน ซึ่งเรียกกันว่า "รถปิกอัพหุ้มเกราะ" เป็นรถปิกอัพแบบดับเบิลแค็บ (สี่ประตู) เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ เสริมเหล็กขนาดความหนา 1-1.30 เซนติเมตร รอบตัวรถ หลังคารถ และพื้นที่ใต้ท้องรถ พร้อมติดกระจกกันกระสุนขนาดความหนาประมาณ 2 เซนติเมตร รอบคัน

แม้งบประมาณก้อนนี้ที่กระทรวงกลาโหมขอแปรญัตติ เพิ่มจะได้รับอนุมัติจากสภาไปแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันกระบวนการจัดซื้อยังมีปัญหา โดยแหล่งข่าวจากวงการค้ายุทโธปกรณ์ เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สาเหตุของความล่าช้ามาจากคุณภาพของรถต้นแบบที่กระทรวงกลาโหมสั่งผลิตไม่ผ่าน การทดสอบ

"จริงๆ แล้วรถปิกอัพหุ้มเกราะราคาอยู่ที่เกือบๆ ล้าน หรือ 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น หลายบริษัทในประเทศไทยก็ผลิตได้ ซ้ำยังคุณภาพดีกว่าบริษัทที่กระทรวงกลาโหมสั่งผลิตรถต้นแบบด้วย แต่เป็นที่รู้กันในวงการว่าผู้บริหารของบริษัทผลิตรถต้นแบบมีสายสัมพันธ์ที่ ดีกับผู้ใหญ่ในกองทัพ ทำให้ได้รับเลือก แต่เมื่อคุณภาพของรถยังไม่ผ่านการทดสอบ จึงยังไม่รู้ว่าโครงการนี้จะจบลงอย่างไร" แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ รถปิกอัพหุ้มเกราะล็อตเก่าที่ใช้ปฏิบัติการในพื้นที่ เป็นรถกระบะยี่ห้อดังสี่ประตู ราคาคันละ 8 แสนบาท มีค่ากระจกกันกระสุนเพิ่ม 5 แสนบาท รวมราคารถคันละ 1.3 ล้านบาท

"เรือเหาะ-เรือเหี่ยว"ปีกว่ายังบินไม่ขึ้น

ยุทโธปกรณ์อีกตัวหนึ่ง ที่เรียกเสียงฮือฮาข้ามปีคือ "บอลลูนตรวจการณ์" หรือเรือเหาะ "สกายดรากอน" ที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษโดยใช้งบประมาณถึง 350 ล้านบาท ด้วยหวังจะให้เป็น "ดวงตาบนฟากฟ้า" ป้องปรามและไล่ล่ากลุ่มก่อความไม่สงบด้วยศักยภาพของกล้องอินฟราเรดสุดทันสมัย มูลค่าเฉพาะตัวกล้องนับร้อยล้านบาท

หลังจากจัดซื้อเมื่อกลางปี 2552 เรือเหาะลำนี้ต้องเลื่อนกำหนดปล่อยขึ้นปฏิบัติการมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน มีเพียงการทดสอบขึ้นบินในระยะความสูงเพียง 1,000 เมตร ทั้งๆ ที่ตามสเปคจริงต้องบินสูงถึง 3,000 เมตร เพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากภาคพื้น ปัจจุบันเรือเหาะลำนี้จึงถูกเก็บอยู่ในโรงจอดภายในกองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ต่อมาเมื่อราวปลายปี 2553 มีการเปิดโปงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่า สาเหตุที่เรือเหาะขึ้นปฏิบัติการไม่ได้ เนื่องจากพบรอยรั่วจำนวนมากบริเวณผืนผ้าใบ ซึ่งข้อกล่าวหานี้ฝ่ายกองทัพยังไม่สามารถชี้แจงเพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่ สาธารณชนได้

แหล่งข่าวในวงการทหาร เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ก่อนหน้านี้มีการตั้งงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อซ่อมแซมเรือเหาะ เป็นงบประมาณจัดซื้อผ้าใบเพิ่มเติมเพื่อนำมาปะบริเวณรอยรั่ว แต่ถึงที่สุดก็ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เพราะรอยรั่วมีหลายจุดมากเกินไป ทำให้ทางกองทัพต้องขอเปลี่ยนสินค้าจากบริษัทผู้ผลิต ล่าสุดทางบริษัทได้ส่งบอลลูนผ้าใบผืนใหม่มาให้แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณสำหรับเติมก๊าซฮีเลียม ซึ่งต้องใช้งบมากถึง 4 ล้านบาท

"จีที 200" ตำนานไม้ล้างป่าช้า

ยุทโธปกรณ์ที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากที่ สุดตลอดปี 2553 คือ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 GT200 หลังจากแสดงผลผิดพลาดอย่างน้อย 2 ครั้ง จนเกิดระเบิดคาร์บอมบ์ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2552 และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ตลาดพิมลชัยกลางเมืองยะลา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ปีเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ความผิดพลาดที่นำไปสู่ความสูญเสีย ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่อง จีที 200 GT200 จากองค์กรภาคประชาสังคม นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนออนไลน์ กระทั่งสำนักข่าวบีบีซี เสนอสกู๊ปข่าวการ “ผ่าเครื่อง” ที่มีลักษณะคล้าย จีที 200 GT200 แต่ใช้ชื่อทางการค้าว่า ADE 651 ผลปรากฏว่าเป็นเครื่องลวงโลก เพราะภายในไม่มีกลไกอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ และไร้ประสิทธิภาพในการตรวจหาระเบิดอย่างสิ้นเชิง

จากข้อมูลและกระแสเรียกร้องดังกล่าว ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องมีคำสั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ ในการพิสูจน์ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจีที 200 GT200 ด้วยวิธีการที่ทุกฝ่ายยอมรับ ผลปรากฏว่าการทำงานของเครื่องมีความแม่นยำต่ำกว่าการเดาสุ่ม ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำจนไม่อาจยอมรับได้ หลายคนจึงขนานนาม จีที 200 GT200 ว่าเป็น "ไม้ล้างป่าช้า"

จีที 200 กลายเป็นเรื่อง "น้ำลดตอผุด" เมื่อมีการตรวจสอบราคาที่หน่วยงานต่างๆ จัดซื้อตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่าราคามีความแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ 4 แสนบาทไปจนถึง 1.2 ล้านบาท ส่วนราคาขายในต่างประเทศอยู่ที่ 2 แสนบาทเท่านั้น หนำซ้ำยังมีสื่อบางสำนักขุดคุ้ยไปถึงต้นทุนการผลิตที่แท้จริง พบว่าราคาอยู่แค่หลักพัน

เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 มีใช้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 541 เครื่อง ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1 ล้านบาท (เพราะใช้การ์ดตรวจหาสารประกอบระเบิดและดินปืนสูงสุดถึง 18 ใบ) คิดเป็นเงินงบประมาณที่ต้องสูญเสียมากถึง 541 ล้านบาท

รวมมิตรยุทโธปกรณ์ชำรุด-สูญ2พันล้าน

การจัดงบประมาณเพื่อซื้อยุทโธปกรณ์ที่มีปัญหา เหล่านี้ รวมมูลค่าแล้วเกือบๆ 2 พันล้านบาท ประกอบด้วยบอมบ์สูทที่ยังไม่ได้ส่งมอบ 330 ล้านบาท รถปิกอัพหุ้มเกราะ 750 ล้านบาท เรือเหาะตรวจการณ์ 350 ล้านบาท และจีที 200 ซึ่งปัจจุบันระงับการใช้งานไปแล้วอีก 541 ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่ามกลางปัญหาและความไม่โปร่งใสดังกล่าวนี้ กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพต่างๆ ยังคงได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปีงบประมาณ 2554 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 170,285 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 16,253 ล้านบาท ขณะที่กองทัพบกเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุดของกระทรวงกลาโหม กล่าวคือได้รับงบประมาณจำนวน 83,508.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,644.6 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 2553

ส่วน กอ.รมน. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 8,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2553 จำนวน 552 ล้านบาท เป็นงบในภารกิจดับไฟใต้มากถึง 8,019 ล้านบาท

กรุงเทพธุรกิจ, 17 มกราคม 2554