Thursday, February 24, 2011

ใครสวาปาล์ม 3 เดือน 5,000 ล้าน 3 ล็อตใหญ่ ใคร หนอ"พุงกาง"?

ใครสวาปาล์ม 3 เดือน 5,000 ล้าน 3 ล็อตใหญ่ ใคร หนอ"พุงกาง"?


ที่สุดรัฐบาลก็ออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน

ด้วยการให้กระทรวงพลังงานนำน้ำมันปาล์มดิบ 15,000 ตัน มากลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวดขายลิตรละ 47 บาท โดยรัฐบาลอุดหนุนราคาให้ลิตรละ 9.50 บาท

นอกจากนั้น ยังให้สมาคมโรงกลั่นนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไขจำนวน 30,000 ตัน โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ควบคุมการนำเข้ามาภายใน 15 วัน ส่วนนี้รัฐบาลชดเชยให้ลิตรละ 5 บาท

รวมๆ รัฐบาลต้องชดเชยให้ 200 ล้านบาท

นี่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการแก้ไขปัญหาหลังจากประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก และเป็นการแก้ไขหลังจากที่ "แก๊งสวาปาล์ม" อิ่มหนำสำราญกับน้ำตาของชาวบ้านไปเรียบร้อยแล้ว

ทำให้เกิดคำถามว่า ปัญหาส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ทำไมไม่ใช้สมองส่วนหน้าในการแก้ไขปัญหา ปล่อยให้ปัญหาเรื้อรัง

เริ่มจากคำถามที่ว่า ทำไมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ที่มีรองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน จึงปล่อยให้ปาล์มดิบหมดไปจากสต๊อคโดยไม่คิดแก้ไข

เพราะก่อนหน้านี้มีการกำหนดสต๊อคไว้คร่าวๆ ว่าต้องมีอย่างน้อยราวๆ 200,000 ตัน เพื่อรักษาสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ

หากดูตัวเลขสต๊อคน้ำมันปาล์มในเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ 209,659 ตัน ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

แต่ในเดือนกันยายน ตุลาคม สต๊อคลดลงเรื่อยๆ จนเหลือล่าสุด 98,015 ตัน ในเดือนพฤศจิกายน 2553

ห้วงนั้น มีเสียงติงไปยังคณะกรรมการนโยบายปาล์ม ว่าให้นำเข้าเพื่อมาเสริมสต๊อค เพราะอดีตการนำเข้า 10,000-20,000 ตัน ก็เคยมีการนำเข้ามาแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ

แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการนโยบายปาล์มที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ไม่มีการดำเนินการใดๆ ปล่อยให้สต๊อคน้ำมันปาล์มหมดลงไม่เหลือแม้แต่ตันเดียว ในเดือนธันวาคม 2553

นี่คือ "คำถาม" ว่าทำไม รองนายกฯสุเทพถึงปล่อยให้ปาล์มดิบหมดสต๊อค

คำถามต่อมาคือ เมื่อรู้ว่าหมด ทำไมไม่เร่งนำเข้าเพื่อเติมสต๊อคให้เต็ม แต่กลับมีการอนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำมันปาล์มจากราคาลิตรละ 36.50 เป็น 47 บาท

พ่อค้ากินส่วนต่างจากการกักตุนทันที ลิตรหรือขวดละ 10 บาท

นั่นคือ "ผลประโยชน์" ล็อตแรกที่แก๊งสวาปาล์มได้รับ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2553 มีการรับซื้อปาล์มจากเกษตรกรในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศ

กล่าวคือรัฐบาลประกาศราคาขายที่กิโลกรัมละ 11 บาท แต่โรงหีบกลับรับซื้อในราคาแค่ 6 บาท มีส่วนต่างกิโลกรัมละ 5 บาท

เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตต่างๆ ราคาที่โรงหีบอยู่ที่ลิตรละ 37.28 บาท แต่เมื่อส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมันพืชต้นทุนอยู่ที่ 50 บาท เพราะคิดตามราคาที่รัฐบาลประกาศคือ 11 บาท ไม่ใช่ราคารรับซื้อจริงจากเกษตรกรคือ 6 บาท

เมื่อรวมค่ากลั่น 15 บาท ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ต่ำสุด จะอยู่ที่ลิตรละ 65 บาท

ตรงนี้ ว่ากันว่าโรงหีบได้ค่าส่วนต่างมากถึง 12.72-24 บาทต่อลิตร

โรงหีบสำคัญๆ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ สุราษฏร์ธานี ชุมพร กระบี่ เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัดมีผลผลิตต่อปีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีโรงหีบ 65-67 แห่ง

ปรากฏว่าโรงหีบเหล่านี้ มีเจ้าของที่ใส่ชื่อไขว้กันไปมาแค่ 10 คนเท่านั้น ซึ่งล้วนเป็นนักการเมือง หรือไม่ก็หัวคะแนนของพรรคการเมืองใหญ่

คำนวณกันคร่าวๆ ในช่วงเดือน 2 เดือน ก่อนจะมีการนำเข้าปาล์มในกลางเดือนมกราคม 2554 จำนวน 30,000 ตัน ผลประโยชน์จาก "ค่าส่วนต่าง" ตรงนี้อยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท

เป็นผลประโยชน์ "ล็อตสอง" ที่แก๊งสวาปาล์มได้รับ

คำถามต่อมาก็คือ เมื่อรู้แนวโน้มว่าปาล์มจะขาดแคลน ทำไมยังปล่อยให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มช่วงปลายปี 2553 มากจนผิดปกติ

แล้วทำไมเอาปาล์มไปผลิตไบโอดีเซลมากถึง 400,000 ตัน ทั้งที่การผลิตไบโอดีเซลมีแต่ขาดทุน และรัฐบาลต้องอุดหนุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท

อีกทั้ง หากดูตัวเลขผลผลิตของปาล์มสดที่ออกมา ในปี 2553 พบว่ามากถึง 8,223,135 ตัน มากกว่าปี 2552 ถึง 60,432 ตัน

ตรงนี้ จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะมาบอกว่าทำให้ผลปาล์มดิบขาดตลาด อันเนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัยใหญ่
จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกตั้งคำถามว่า เป็นการ "จงใจ" ทำให้ปาล์มขาดตลาด เพื่อให้

เพื่อนพ้องน้องพี่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์เข้าประเป๋า เพื่อใช้ในการกิจกรรมการเมืองหรือไม่

เป็นการตั้งคำถาม อันเนื่องมาจากสงสัย สงสัยในความจริงใจของรัฐบาลที่มีฐานเสียงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรชาวสวนปาล์มมากที่สุด

ส่วนการนำเข้า 30,000 ตัน หรือการนำเข้าล็อตใหม่ เป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของรัฐบาล

ถามว่า คนอย่างนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนอย่างรองนายกฯสุเทพ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ และเจ้าของสวนปาล์ม คนอย่างอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่คุ้นเคยกับเกษตรกรชาวสวนปาล์มมาทั้งชีวิต

รวมทั้งพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีสวนปาล์มเป็นหมื่นๆ ไร่ จะไม่รู้แนวทางการแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายในฐานะคนประชาธิปัตย์เลยหรือ

นี่คือ "คำถาม" ที่ทิ้งท้ายไว้เพื่อรอ "คำตอบ"

มติชน, 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Friday, February 4, 2011

เปิดบ้านหลังงาม"บิ๊กบัง" ในค่ายทหาร เผย"ศัตรูถาวร 3 อย่าง ที่ต้องระวัง!!

สนธิ บุญยรัตกลิน


สนธิ บุญยรัตกลิน
สนธิ บุญยรัตกลิน
สนธิ บุญยรัตกลิน
สนธิ บุญยรัตกลิน
สนธิ บุญยรัตกลิน

เปิดบ้านหลังงาม"บิ๊กบัง" ในค่ายทหาร เผย"ศัตรูถาวร 3 อย่าง ที่ต้องระวัง!!

4 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้นำ คมช. และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ช่อง"ทีวีไทย" เมื่อค่ำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ยืนยันว่า รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้...ต้องทำ

บิ๊กบัง ฟันธงว่า การเมืองไทย เสียหาย เพราะ"คน" ไม่ใช่"ระบบ"

การรัฐประหาร 19 กันยายน ส่งผลดีต่อการเมืองไทยมากกว่าผลเสีย

นี่คือ ความเชื่อมั่นจนถึงวันนี้ของผู้กระทำการรัฐประหาร

แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี .... ไม่เชื่อเช่นนั้น

ผู้ถูกรัฐประหาร ออกมาแฉว่า การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน คนไทยไม่ได้อะไรเลย นอกจากได้เศรษฐีใหม่ส่วนใหญ่เป็นยศพลเอกและได้ทหารที่เข้มแข็งมีอาวุธมากขึ้น

ต่อมา พรรคเพื่อไทย รับลูกยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบความมั่งคั่งของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เครือญาติ

"มติชนออนไลน์" เปิดดู กรุสมบัติของอดีตผู้นำ คมช.ที่ยื่นแสดงต่อ ป.ป.ช. ตอนรับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พบข้อมูลที่น่าสนใจ

"บิ๊กบัง" รวมภรรยา 2 คน ไม่ได้ทำธุรกิจ และ บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 1 คน รวม 4 คน มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 90 ล้านบาท ไม่รวมบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว 4 คน

ย้อนไปเมื่อ วันที่ 5 ต.ค. 2550 ตอนรับตำแหน่งรองนายกฯ พล.อ.สนธิแจ้งว่ามีทรัพย์สิน 38.7 ล้านบาท นางสุกัลยา คู่สมรส คนที่หนึ่ง 14 ล้านบาท นางปิยะดา คู่สมรส คนที่สอง 36.9 ล้านบาท น.ส.ศศินภา บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 3 แสนบาทเศษ รวม พล.อ.สนธิ นางสุกัลยา และน.ส.ศศินภา 53.1 ล้านบาท แต่ถ้ารวมนางปิยะด้วยเท่ากับ 90.1 ล้านบาท

ต่อมา วันที่ 6 ก.พ.2551 ตอนพ้นตำแหน่ง ทรัพย์สินของ พล.อ.สนธิ นางสุกัลยา และน.ส.ศศินภา เพิ่มเป็น 60.1 ล้านบาท

กระทั่งพ้นตำแหน่งครบ 1 ปีวันที่ 5 ก.พ. 2552 ทรัพย์สินของพล.อ.สนธิ นางสุกัลยา และน.ส.ศศินภา เพิ่มเป็น 62.2 ล้านบาท น่าสังเกตว่าการยื่นบัญชีฯ 2 ครั้งหลัง พล.อ.สนธิ มิได้แจ้งทรัพย์สินของภรรยาคนที่สอง แต่อย่างใด

หากเปรียบเทียบครั้งแรก กับ ครั้งหลัง ช่วงเวลาเพียงปีเศษ เพิ่มประมาณ 9 ล้านบาท ถือว่า"ไม่น้อย"

เมื่อเจาะลึกพบว่า พล.อ.สนธิมีเงินลงทุน ได้แก่ หุ้นการบินไทย ,กองทุนเปิดทหารไทยพันธบัตร และ หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ นสค. รวม 11.2 ล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลง แต่รายการที่เพิ่มขึ้นคือ "ที่ดิน " และ "เงินฝาก"

เงินฝาก ตอนรับตำแหน่ง พล.อ.สนธิแจ้งว่ามี 23.5 ล้านบาท นางสุกัลยา 3.9 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่งพล.อ.สนธิมี 29.3 ล้านบาท นางสุกัลยาลดลงเหลือ 1.3 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่ง 1 ปี พล.อ.สนธิมี 26.6 ล้านบาท นางสุกัลยาเพิ่มเป็น 1.6 ล้านบาท

ส่วนที่ดิน ตอนรับตำแหน่ง พล.อ.สนธิแจ้งว่าไม่มี นางสุกัลยามี 1 แปลง 1.3 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่ง พล.อ.สนธิ มี 1 แปลง มูลค่า 3.3 ล้านบาท นางสุกัลยา 4 แปลง 5.2 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่ง 1 ปี พล.อ.สนธิมีที่ดิน 6 แปลง 6.3 ล้านบาท ส่วนนางสุกัลยามี 4 แปลง เบ็ดเสร็จที่ดินของคนทั้งสองเพิ่มขึ้นประมาณ 9 แปลง

ขณะที่ พรรคมาตุภูมิ ที่พลเอกสนธิ นั่งเป็นหัวหน้าพรรค ในรอบปี 2553 มีเงินบริจาคเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย แม้จะไม่ก้อนโตเท่าพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคเพื่อไทย แต่ก็มากกว่าอีกหลายพรรค

ผู้บริจาครายใหญ่ในช่วงปี 2553 ได้แก่ นายศุภกาญจนะ หิรัญญะเวช บริจาค 1.22 ล้านบาท นายกมลศักด์ สีวาเมาะ บริจาค 2 แสนบาท นายอภิชาติ สุดแสวง 2 80,000 บาท นายอนุมัติ ชูสารอ 280,000 บาท และนางอัมพร อิ่มสกุล บริจาค กว่า 1.2 ล้านบาท

แต่ใครจะเชื่อว่า พลเอกสนธิ เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพียงคนเดียว ที่มีบ้านพักหลังงามตั้งอยู่ในค่ายทหาร !!!

ต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นิตยสาร WHO ? นำเสนอบทสัมภาษณ์"บิ๊กบัง"ใน บ้านพักหลังงามย่านพหลโยธิน

สิ่งที่น่าตื่นใจคือ ในโรงรถและรอบบ้าน มีรถหรูจอดอยู่หลายคัน ...บางคันยังป้ายแดง

จริง ๆ แล้ว บ้านพักหลังงามหลังนี้จะมิใช่ กรรมสิทธิ์ของ พล.อ.สนธิ แต่เขาก็พำนักมาแล้วร่วม 3 ปี ด้วยเป็นหนึ่งในบ้านพักของ 5 เสือ ทบ. (ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 2 นาย เสนาธิการทหารบก) ซึ่งสร้างเสร็จไปแล้ว 4 หลัง

บ้านแต่ละหลังจะมีภาพสนามกอล์ฟกว้างสุดลูกหูลูกตาเป็น "หลังบ้าน" ซึ่ง พล.อ.สนธิชี้ชวนชม พลางว่า หากเป็นยามเช้าด้วยแล้วมักจะต้องหยิบกล้องคู่ใจขึ้นมาบันทึกภาพไว้ไม่ขาด จากนั้นก็จะใช้เป็นฉากหลังสำหรับกาแฟถ้วยโปรดและหนังสือพิมพ์ในมือทุกเช้า

"ผมถึงได้บอกกับทุกๆคนว่า อย่าไปเอาความทุกข์มาใส่ตัว ผมเองไม่เคยมีความทุกข์ ปล่อยวางได้ แม้จะผ่านเรื่องราวอึมครึมมาก็ไม่เคยมีความทุกข์ ใครเห็นผมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 49 (วันที่ทำรัฐประหาร) ผมยังหัวเราะ ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม จะไปซีเรียสทำไม อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด "

" ทุกวันนี้กิจวัตรที่ผมต้องทำคือการเรียนหนังสือปริญญาเอก ยิ่งตอนนี้เรียนหนักมาก ถ้ากลางคืนไม่มีงานอะไรก็ต้องดูหนังสือ แล้ววิถีชีวิตประจำวันของผมเป็นคนตื่นเช้า จะนั่งดื่มกาแฟแก้วหนึ่ง พร้อมกับอ่านหนังสือพิมพ์ ส่วนอินเทอร์เน็ตตอนนี้ไม่ค่อยได้เล่นเท่าไร เพราะต้องทุ่มเวลาให้กับการเรียน "

"ที่ผ่านมาอาจมีคนกลั่นแกล้งกันบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องระวังไม่ให้เกิด ส่วนศัตรูที่เป็นศัตรูถาวร 3 อย่าง จะต้องไม่ให้เกิดเด็ดขาด คือ 1.เรื่องผู้หญิง 2.เรื่องอำนาจ 3.เรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องผู้หญิงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่สอนผมมา การขัดแย้งเรื่องผู้หญิงคือศัตรูถาวร เช่น เรากับเพื่อนชอบผู้หญิงคนเดียวกัน เราตัดปัญหาอย่างไปแย่งเขา(ซี) เพราะถ้าแย่งเรื่องผู้หญิงก็จะเป็นศัตรูถาวร เขาว่าถ้าเป็นศัตรูที่เกิดจากความอิจฉาจะเป็นศัตรูชั่วคราว ผมมีภาษิตไว้ท่องขึ้นใจคือ จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย ไม่มีใคร อยากเห็น เราเด่นเกิน"

สำหรับนโยบายของพรรคมาตุภูมิ พลเอกสนธิ แจกแจงผ่าน นิตยสาร WHO ? ว่า "การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการเสนอตั้งทบวงการบริหารกิจการชายแดนภาคใต้ โดยมีรัฐมนตรีทบวงนั้นเป็นผู้ดูแล "

"นโยบายของพรรคเราคือหยิบเงื่อนไขของประเทศในเวลานี้มากำหนดตัวนโยบาย เช่น ตอนนี้ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางสังคม หลักที่ 1 เราต้องสร้างความรักและความผูกพัน ความสมานฉันท์ ความปรองดองในชาติ ปัญหาที่เป็นวิกฤต ในขณะนี้คือ ประชานิยมเรื่องความเหลี่ยมล้ำทางสังคม นโยบายของเราก็คือถ้าเราต้องการที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตย อย่างแรกเราต้องทำให้สังคมมีความเสมอภาคกัน จะทำยังไงให้คนจน-คนรวย ลงมาหากันได้ง่ายขึ้น ผมยืนยัน เรื่องพวกนี้ถ้าเราทำให้ประชาชนได้มีความเข้าใจ มันก็จะทำได้เร็ว "

ผมขอยกตัวอย่าง ประเทศไทยเราประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ถ้าเกษตรกรมีนา 1 ไร่ สมมติว่าผลิตข้าวได้ 50 ถัง ทำนามาเป็น 20 ปีก็ยังได้แค่ 50 ถัง เราจะทำอย่างไรให้เขามีความรู้มากขึ้น ลงทุนน้อยลง แต่ได้ข้าว 80 ถัง นโยบายของเราทำยังไงให้มีคนรวยมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น เมื่อคนมีความรู้มากขึ้น ความฉลาดของคนก็จะเพิ่มสูงขึ้น จะได้นำความรู้ไปพัฒนาอาชีพของเขาได้มากขึ้น"

พรรคการเมืองมักจะมาควบคู่กับเงินที่ต้องใช้ ต้องทุ่ม "บิ๊กบัง" คิดอย่างไร

"ผมขอเรียกเงินตรงนี้ว่างบประมาณ ซึ่งในระเบียบของ กกต. คนหนึ่งก็ใช้เงินได้ไม่มาก แต่มันมีวิธี การที่เรามีเงินน้อย กับที่เราทำให้คนมาเลือกเรามากๆ ได้นั้นมีหลายวิธี เราต้องอธิบายให้กับคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ให้มองให้เห็นว่าคนที่มีเงินมากกว่านั้นมีผลดี ผลเสียอย่างไร แต่เรามีแต่อุดมการณ์ มีความคิดที่จะแก้ปัญหาชาติ ต้นทุนก็จะลดลง และความรัก ความสงสารกับเราก็จะมีมากขึ้น"

" ผมไม่เกี่ยวกับการทำงานข้ามกลุ่ม ข้ามสี หากแต่เป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ"

" ใครอยู่ใกล้ก็ต้องรักผม" พลเอกสนธิ ยืนยัน

(ภาพและบทสัมภาษณ์ บางส่วนจาก นิตยสาร WHO ? เดือนกุมภาพันธ์ 2554 )

มติชน, 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554