Tuesday, September 15, 2009

น.ร.ม.กับ ผบ.ตร.

น.ร.ม.กับ ผบ.ตร.

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วยปลายเดือนสิงหาคมกับต้นเดือนกันยายนคงไม่มีข่าวใด ครองเนื้อที่ข่าวเป็นเวลานานกว่าข่าวการดำเนินการของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. กับการปฏิบัติต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่

ตำรวจไทยนั้นอยู่ในฐานะที่น่าเห็นใจ งานในภาระหน้าที่ก็หนัก เงินเดือนก็น้อย บางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ก็เสี่ยงกับอันตรายจากพวกมิจฉาชีพ ที่น่าเห็นใจและน่าน้อยใจแทนตำรวจก็ตรงที่มักจะถูกสังคมกล่าวหาว่าเป็น ผู้ร้ายเสียเองอยู่เสมอ

ตำรวจทั้งประเทศมีจำนวนมากมายกว่า 2 แสนคน ย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีเป็นของธรรมดา แต่ที่เคยคบหาสมาคมด้วยก็เห็นว่าเป็นคนดีเป็นส่วนใหญ่ คนไม่ดีนั้นมีจำนวนไม่มาก

การปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อ ผบ.ตร. จนเป็นข่าวเกรียวกราวย่อมกระทบกระเทือนต่อ"เกียรติภูมิ" ของตำรวจทั้งประเทศ ย่อมทำให้เกิดความเศร้าใจแก่ผู้ที่มีอาชีพรับราชการเป็นตำรวจจนไปถึงครอบ ครัวและญาติพี่น้องเป็นของธรรมดา ถ้าข้าราชการตำรวจทั้งประเทศมี 2 แสนคน รวมลูกเมียของตำรวจเข้าไปด้วยก็คงทำให้เกิดความสะเทือนใจแก่ตำรวจ ลูกเมีย ญาติพี่น้อง จำนวนไม่ต่ำกว่าล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย

น่าจะมีวิธีที่ปฏิบัติต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจดีกว่านี้ วิธีที่กำลังปฏิบัติต่อ ผบ.ตร. ในขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เริ่มต้นด้วยการออกข่าวว่าให้ ผบ.ตร.ลาราชการไปต่างประเทศ พร้อมทั้งให้ลาต่อไปจนถึงวันเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน เพื่อจะได้ไม่สามารถเข้าประชุมคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติได้ จู่ๆ ก็ปรากฏว่า ผบ.ตร.เดินทางกลับจากประเทศจีนในวันที่ 10 สิงหาคม เพื่อมาให้ทันวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เมื่อ ผบ.ตร.เดินทางกลับเข้าประเทศด้วยเหตุผลและภารกิจที่ต้องเดินทางไปประเทศจีน เสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำ ตามหน้าที่และวินัยก็ต้องกลับมาทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม เมื่อ ผบ.ตร.กลับมา รักษาการ ผบ.ตร.ที่ได้รับการแต่งตั้งก็พ้นไป

ต่อมา ผบ.ตร.ก็ได้รับคำสั่งให้ไปราชการภาคใต้ แล้วก็มีการแต่งตั้งรักษาราชการแทน ซึ่งสร้างความมึนงงสงสัยให้กับผู้คนจำนวนมากว่า การเดินทางไปราชการต่างจังหวัดนั้นต้องตั้งรักษาการแทนด้วยหรือ เพราะเจ้าตัวยังอยู่ในราชอาณาจักร เมื่อนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลถามว่า ถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต้องเดินทางไปราชการต่างจังหวัดจะต้องตั้งรักษา ราชการแทนด้วยหรือไม่ ก็ไม่ได้รับคำตอบ แต่ข่าวที่ออกไปก็คงกระทบต่อขวัญและกำลังใจของตำรวจอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อมีการประชุมใน ก.ต.ช. ผบ.ตร.ก็กลับมาจากต่างจังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วย เมื่อประธานเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทน ผบ.ตร.ที่จะเกษียณไปเพียงชื่อเดียว ปรากฏว่ามีกรรมการ ก.ต.ช. ผู้หนึ่งติงว่าไม่ควรเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว ในที่สุดต้องมีการลงมติ ผู้ที่ท้วงติงเสนอให้คงคะแนนลับ ประธานไม่ยอมให้ลงคะแนนลับ ให้ลงโดยเปิดเผย ผลปรากฏว่าข้อเสนอของประธานไม่ผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 ไม่ออกเสียง 2 ท่าน คือ กรรมการผู้ท้วงติงกับตัวประธานเอง

การที่ผลออกมาเป็นเช่นนี้ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากทั้งกับประธาน ก.ต.ช. ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในแง่ประธาน ก.ต.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลก็เสียหาย เพราะเท่ากับทำงานไม่รอบคอบ ปกติประธานก็น่าจะทราบมาก่อนประชุมแล้วว่าข้อเสนอของตนจะได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการหรือไม่ ไม่ใช่มาทราบเพราะต้องมีการลงมติกัน อาจจะเป็นไปได้ว่าประธาน ก.ต.ช. ก็ทราบมาก่อนการประชุมแต่ต้องการให้เป็นข่าวเช่นนี้

ในแง่ตำรวจก็เท่ากับหัวหน้าตำรวจกับหัวหน้ารัฐบาลมีปัญหากันอย่างรุนแรง เพราะปกติแล้วตำรวจคงจะไม่ทำอย่างนั้นกับผู้บังคับบัญชา ทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลเสียหาย หมดความน่าเชื่อถือ เหตุการณ์ทรุดลงไปอีกเมื่อสื่อมวลชนโดยเฉพาะนักข่าวได้ไปตั้งคำถามกับผู้นำ พรรคภูมิใจไทยและได้รับคำตอบว่า ให้ไปถามเลขาธิการนายกรัฐมนตรีคือคุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงคือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ทั้งสองท่านมิได้ตอบว่าอย่างไร ไม่ว่านักข่าวจะไปถามแกนนำพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือบุตรชาย หรือผู้นำพรรคที่อยู่ข้างนอก ต่างก็ยืนยันว่าให้ไปถามรองนายกรัฐมนตรีกับเลขาธิการนายกฯ

การให้ข่าวเช่นนี้จึงทำให้เกิดข่าวลือไปต่างๆนานา ต่อมาเมื่อนักข่าวไปถามประธาน ก.ต.ช.ก็ได้รับคำตอบว่า ประธาน ก.ต.ช.ยังจะเสนอชื่อเดิมเพียงชื่อเดียว เพราะพวกที่ลงมติไม่เห็นชอบนั้นมีข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่มีข้อมูลรอบด้าน กลายเป็นการตอบโต้กันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี สร้างความงุนงงกับตำรวจทั้งประเทศ

เมื่อนายกรัฐมนตรีตอบผู้สื่อข่าวอย่างนี้เรื่องก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ ผู้คนพากันคาดเดาไปต่างๆ นานา

ความจริงแล้วนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ต.ช.น่าจะชี้แจงได้ว่า ในบรรดาตำรวจที่ดำรงตำแหน่งชั้นยศพลตำรวจเอกนั้น ผู้ที่นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาคัดเลือกแล้วนำชื่อมาเสนอนี้มีความเหมาะสมกว่า ผู้อื่นอย่างไร ทั้งในแง่ผลงาน ประวัติการทำงาน มนุษยสัมพันธ์ บารมีและการยอมรับ รวมทั้งอาวุโสในตำแหน่งที่ดำรงอยู่เมื่อเทียบกับ พล.ต.อ.คนอื่นๆ

แต่ก็ดูเหมือนว่าสื่อมวลชน และสังคมก็มิได้ติดใจสอบถามอย่างจริงจัง แม้ว่านายกรัฐมนตรีถ้าจำไม่ผิดจะได้ชี้แจงไปบ้างแล้วก็ตาม

การให้ข่าวอย่างคลุมเครืออย่างนี้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะเป็นเหตุให้ผู้คนคิดไปต่างๆ นานา

ขณะเดียวกันก็มีการตั้งกรรมการสอบสวนกรณีการใช้จ่ายเงิน 18 ล้านบาท ในงบฯการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในเวลาไล่เลี่ยกันคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีมติชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัย กับ ผบ.ตร. ในกรณีการสลายการชุมนุมที่มาล้อมอาคารรัฐสภา

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่อาจจะรู้ได้ นอกจากข้อมูลสาธารณะจากหนังสือพิมพ์

แต่รูปการและห้วงเวลาที่เรื่องต่างๆ ออกมาเป็นชุดๆ ติดๆ กันอย่างนี้ ไม่น่าจะเป็นผลดีกับฝ่ายใดเลย ทำให้สังคมมีการคาดเดา มีการวิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา

ที่สำคัญทำให้กระทบกระเทือน กับขวัญและกำลังใจของตำรวจเป็นอย่างมาก ที่ดูเหมือนกับว่าเพียงเพื่อไม่ให้ ผบ.ตร.มาประชุม ก.ต.ช.ได้เท่านั้นก็เลยมีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นกับ ผบ.ตร. ซึ่งความจริงอีกเพียง 2 สัปดาห์ก็จะเกษียณอายุแล้ว ทำไมเรื่องต่างๆ ถึงได้มาเสร็จและเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

พอมีข่าวเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งเคยเป็นประเด็นถกกันว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์หรือไม่ เรื่องนี้จะไปเกี่ยวข้องกับนายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว ความที่สังคมให้ความสำคัญกับความขัดแย้งระหว่างกรรมการ ก.ต.ช. 5-6 ท่านกับประธาน ก.ต.ช. สื่อมวลชนก็เลยเหมาเอาว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบว่ามีเหตุผลใดแต่ก็น่าสนใจว่าทำไมกรณีที่ดินที่นำเอาไปสร้าง บ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟอัลไพน์จึงได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา

ทันทีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติกล่าวโทษ ผบ.ตร. ทั้งทางอาญาและทางวินัย ผบ.ตร.ก็กล่าวกับนักข่าวว่าจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าหนังสือของ ป.ป.ช.จะมีมาถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คงหมายความว่าถ้ามีการประชุม ก.ต.ช. ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม ผบ.ตร.ก็คงจะไปประชุมซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจของนายกรัฐมนตรี

ความจริงแล้วน่าจะพิจารณาดูว่า กฎหมายที่กำหนดกระบวนการแต่งตั้ง ผบ.ตร.นั้นถูกต้อง เป็นไปตามธรรมชาติหรือไม่ เช่น นายกรัฐมนตรีควรจะลงมานั่งเป็นประธาน ก.ต.ช.เองหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล เมื่อเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้น ก็เท่ากับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล ไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้

นายกรัฐมนตรีนั้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่ควรมาเป็นผู้เสนอแต่งตั้งข้าราชการประจำ สำหรับกระทรวงอื่นๆ ก็มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเป็นผู้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีสามารถจะทักท้วงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นคนสุดท้ายได้

ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นทั้งผู้เสนอและแต่งตั้งกรรมการระดับชาติอย่างนี้แล้ว เกิดที่ประชุมไม่ผ่านให้ก็มีปัญหาในการบริหารประเทศ แต่ถ้ากรรมการต้องลงมติผ่านให้ทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีเสนอก็เท่ากับเป็นคณะ กรรมการตรายางหรือไม่ ประโยชน์ของคณะกรรมการอยู่ที่ตรงไหน

จึงน่าคิดว่าระบบที่ว่านี้เป็นระบบที่ถูกต้องหรือไม่

ประชาชาติธุรกิจ, วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4140

http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02edi05140952&sectionid=0212&day=2009-09-14

No comments:

Post a Comment