Tuesday, June 8, 2010

"บีทีเอส-เซ็นทรัล-คิง เพาเวอร์" เอี่ยวมาตรการเยียวยาพิษม็อบการเมือง ยืดอายุสัมปทาน-ชดเชยรายได้

"บีทีเอส-เซ็นทรัล-คิง เพาเวอร์" เอี่ยวมาตรการเยียวยาพิษม็อบการเมือง ยืดอายุสัมปทาน-ชดเชยรายได้

การชุมนุมทางการเมืองที่บานปลายจนเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงเทพมหานครช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจาก จะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้แล้ว ยังส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วประเทศ เนื่องจากธุรกิจหลากหลายสาขาได้รับ ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาทั้งกับผู้ประกอบการ รายใหญ่และผู้ค้ารายย่อย อาทิ การอนุมัติวงเงินชดเชยรายได้แก่พนักงาน ลูกจ้าง การจ่ายเงินสนับสนุนนายจ้าง การให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดหาพื้นที่ค้าขายใหม่ การสนับสนุนวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนผันการชำระภาษี มาตรการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

ที่น่าจับตามองคือ การที่กลุ่มทุนธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจโดยได้รับสัมปทานจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจฉวยจังหวะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐพิจารณาหาทางช่วยเหลือกิจการที่ได้รับสัมปทาน

เริ่มจาก "กลุ่มเซ็นทรัล" ของตระกูล "จิราธิวัฒน์" ยื่นข้อเสนอขอต่ออายุสัญญาเช่าที่ดิน 47 ไร่ บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน ทำเลที่ตั้งของห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ออกไปอีก 1 ปี จากสัญญาเช่า 20 ปี เป็น 21 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดสัญญาเช่าปี 2571 เลื่อนเป็น 2572 พร้อมกับขอเลื่อนการรีโนเวตอาคารออกไป เพื่อนำพื้นที่ห้างมาเปิดรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ประเด็นนี้แม้บิ๊กกระทรวงคมนาคมทั้ง "โสภณ ซารัมย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" ปลัดกระทรวงคมนาคม และ "ยุทธนา ทัพเจริญ" ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะผนึกกำลังกันรุมค้าน จึงต้องรอลุ้นว่าสุดท้ายจะได้รับส้มหล่นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมาหรือไม่

ขณะเดียวกันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ซึ่งได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เคลื่อนไหว เรียกร้องขอชดเชยรายได้จากที่ได้รับผลกระทบจากม็อบการเมือง โดยยื่นเรื่องผ่านผู้บริหาร กทม.เช่นเดียวกัน โดย "ธีระชน มโนมัยพิบูลย์" รองผู้ว่าฯ ระบุว่า ได้รับแจ้งจากบีทีเอสว่า ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมารายได้ลดลง 20% และ 50% ตามลำดับ โดยเฉลี่ยได้รับความเสียหายวันละ 12 ล้านบาท จึงต้องการของบฯเยียวยาจากภาครัฐกว่า 100 ล้านบาท

เจาะลึกลงไปไม่เฉพาะพิษม็อบคนเสื้อแดง เพราะ 2 ปีก่อนหน้านี้ช่วงที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือม็อบคนเสื้อเหลืองบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ แม้จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นเผาเมือง แต่กรณีดังกล่าวก็ส่งผลกระทบทั้งกับผู้ได้รับสัมปทานและผู้เช่าพื้นที่ในสนามบิน ซึ่งล่าสุดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "ทอท." ก็ได้ออกมาตรการเยียวยาโดยให้ยืดอายุสัมปทานเช่นเดียวกัน

"ปิยะพันธุ์ จัมปาสุต" ประธานคณะกรรมการ "ทอท." เผยว่า มติที่ประชุมบอร์ดเดือนมิถุนายน 2553 เห็นชอบแผนเยียวยาผู้ประกอบการซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและสนามบินที่อยู่ในความดูแลของ ทอท.ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง โดยให้ขยายสัญญาสัมปทานให้กับกลุ่มธุรกิจทั้งรายเล็ก รายกลาง และ รายใหญ่ รวมกว่า 150 สัญญา ดังนี้

กลุ่ม 1 อายุสัญญา 10 ปีขึ้นไป ขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 2 ปี 26 สัญญา แบ่งเป็น 21 สัญญาที่ไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชน เข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ในจำนวนนี้มีกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บมจ.การบินไทย บจ.บางกอก ไฟลต์ เซอร์วิสเซส ของบางกอกแอร์เวย์สรวมอยู่ด้วย ส่วนรายอื่น 6 สัญญา เข้าร่วม พ.ร.บ.ร่วมทุนต้องเสนอ ครม.อีกครั้ง

กลุ่ม 2 อายุสัญญา 8 ปีขึ้นไป ได้ต่ออีก 1 ปี 8 เดือน กลุ่ม 3 อายุสัญญา 5 ปีขึ้นไป ได้ต่ออีก 1 ปี กลุ่ม 4 อายุสัญญา 3 ปีขึ้นไป ได้ต่ออีก 8 เดือน และกลุ่ม 5 อายุสัญญา 3 ปี ได้ต่ออีก 6 เดือน

เป็นการยืดอายุสัมปทานให้โดยที่ผู้ประกอบการเองไม่ได้เรียกร้อง จนถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต

"วิชัย รักศรีอักษร" ประธานกรรมการบริหาร คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เรื่องนี้เอกชนไม่ได้ขอขยายสัญญาเพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นนโยบายของภาครัฐที่เร่งปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ เร็วไป เพราะสถานการณ์ตอนนี้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นคิง เพาเวอร์ ทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าให้รอดก่อน เรื่องรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากร

พร้อมกับย้ำว่า ตั้งแต่สุวรรณภูมิเปิดบริการ คิง เพาเวอร์ฯเจอมรสุมลูกใหญ่ถล่มอย่างต่อเนื่อง จากยุคคณะมนตรีความมั่นคงเข้ามาตรวจสอบและสั่งระงับการขายสินค้าชั่วคราวโดยอ้างว่า ผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ปิดสนามบิน 9 วัน เหตุการณ์สงกรานต์เลือดเดือนเมษายน 2552 และม็อบราชประสงค์ 2553

"บริษัทหารายได้มาใช้หนี้แต่ละเดือนยังไม่พอ ถึงวันนี้เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเมืองไทยยังจะเป็นสถานที่น่าลงทุนอย่างมีอนาคต ต่อไปหรือไม่ ดังนั้นการขยายสัญญาเผื่ออนาคตอีกหลายปีข้างหน้าซึ่งไม่มีใคร คาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกนั้น จึงไม่ได้ทำให้บริษัทร่ำรวยขึ้นมาทันทีได้" วิชัยกล่าว

ไม่รวม "ดอนเมืองโทลล์เวย" ที่ส้มหล่นจากที่กรมทางหลวงต่ออายุสัมปทานให้ 11 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดสัญญาปี 2564 เป็นปี 2577 แลกกับการที่บริษัทยกเลิกการฟ้องร้องจากที่บริษัทระบุว่า ภาครัฐผิดสัญญา

ถือเป็นคนละเคส คนละเหตุการณ์ แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการต่ออายุสัมปทาน หรือไม่ก็ชดเชยรายได้คล้ายๆ กัน

ประชาชาติธุรกิจ, 07 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4216

No comments:

Post a Comment