Monday, December 28, 2009

สอบไทยเข้มแข็ง 8 ข้าราชการ 4 นักการเมืองทุจริต

สอบไทยเข้มแข็ง 8 ข้าราชการ 4 นักการเมืองทุจริต

"หมอบรรลุ"เผยผล สอบไทยเข้มแข็งมี 8 ข้าราชการประจำ 4 นักการเมือง เกี่ยวปัญหาส่อทุจริต แนะนายกรัฐมนตรีรื้อไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข

นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะกรรมการ ได้แถลงข่าวผลสรุปการตรวจสอบหลังจากได้เข้ารายงานต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ พร้อมมอบพยานหลักฐานจำนวน 4,733 หน้า โดย นพ.บรรลุ กล่าวว่า ผลการสอบสวนโดยรวม พบว่า การจัดตั้งงบประมาณดังกล่าว มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง เช่น การขอตั้งงบประมาณทั้งสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาล มีความผิดพลาดมากมาย การกระจายตัวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และราคาที่ตั้งไว้สูงเกินสมควร โดยหลายรายการตั้งราคาไว้สูงมาก และมีพฤติกรรมบางประการที่ส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หากไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แทนที่จะทำให้ไทยเข้มแข็งสมเจตนารมณ์ จะกลับทำให้ประเทศชาติอ่อนแอล

นพ.บรรลุ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหา คือ

1.งบประมาณสิ่งก่อสร้างเป็นการมุ่งเน้นการสร้างความเจริญในตัวจังหวัด แทนที่จะกระจายสู่อำเภอรอบนอก ทำให้ช่องว่างของคุณภาพบริการสาธารณสุขระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอรอบนอกถ่าง กว่างขึ้น ประชาชนต้องรั่วไหลเข้าไปรับบริการในตัวจังหวัดมากขึ้น สร้างทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเพิ่มความเสี่ยงระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะกรณีป่วยหนัก

2.งบประมาณสิ่งก่อสร้างมีความกระจุกตัวในบางจังหวัดในลักษณะมือใครสาวได้สาวเอา เช่น จังหวัดราชบุรี ที่มีโรงพยาบาลระดับจังหวัดอยู่แล้วถึง 3 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง ทั้งที่จังหวัดหนึ่งจะมีโรงพยาบาลจังหวัดเพียงแห่เดียวขณะที่บางจังหวัดซึ่ง ขาดแคลนกับได้รับการจัดสรรน้อย

3.งบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์มีการจัดซื้อ สิ่งไม่จำเป็นและราคาแพงจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว ยังเป็นภาระในการบำรุงรักษาในอนาคต นอกจากนี้ครุภัณฑ์บางอย่างหน่วยงานไม่ได้ต้องการหรือขอมา แต่กลับจัดสรรให้โดยส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนั้นครุภัณฑ์การแพทย์เหล่านี้ล้วนแต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

และ 4.งบประมาณส่วนใหญ่ มุ่งเน้นที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การแพทย์ โดยงบประมาณสำหรับการสร้างและพัฒนาบุคลากรไม่ได้สัดส่วน ทำให้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เงินจำนวนมากจัดซื้อจัดจ้างไว้ ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า


นพ.บรรลุ กล่าวต่อว่า ส่วนเหตุของความบกพร่องผิดพลาดที่ส่อไปในทางจะทำให้เกิดการทุจริตนั้น คณะกรรมาการฯ ได้สรุปสาระใหญ่ๆ ได้ 2 ประการ ได้แก่ 1.ข้าราชการประจำอ่อนแอ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายขาดความรับผิดชอบ ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เท่าที่ควร ซึ่งโครงการใหญ่ขนาดนี้ปลัดกระทรวงควรลงไปดูแลเอง และควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ รวมทั้งควรมีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การพิจารณา แต่กลับปล่อยปละละเลยให้รองปลัดฝ่ายบริหารที่ได้รับมอบหมายที่อ่อนต่อ ประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ รวมทั้งไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่เท่าที่ควร โดยปล่อยให้เป็นภาระของสำนักบริหารสาธารณสุขส่วนภูมิภาค (สบภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใน มีผู้ปฏิบัติงานเพียง 53 คน มีแพทย์คนเดียวแต่ต้องรับผิดชอบงานโครงการใหญ่ ในขณะที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบการกำกับดูแลของรองปลัดฝ่ายบริหาร มีข้าราชการปฏิบัติงานทั้งสิ้น 283 คน กลับปัดความรับผิดชอบ อ้างว่ามีหน้าที่เพียงตรวจสอบยอดและหมาดเงินให้ตรงตามที่ได้รับการจัดสรร เท่านั้น

การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ลงมารับผิดชอบโดยตรง งานจึงไม่มีระบบ ใครจะขออย่างไรก็ขอ จะเปลี่ยนอย่างไรก็เปลี่ยน ตามใจของผู้มีอำนาจ นอกจากแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบแล้ว ยังส่อเจตนาไม่สุจริต เอื้อให้มีการกระทำตามใจชอบ และเปิดทางให้มีการทุจริตด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาทั้งหมดเห็นว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ในความบกพร่องที่เกิดขึ้น ส่อเจตนาไม่สุจริตเช่นกัน และยังเป็นการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ได้ ส่วนนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง และไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ตนเอง รวมทั้งน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาลด้วย

นพ.บรรลุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากผลสรุปสอบดังกล่าวแล้ว ทางคณะกรรมการฯ ยังมีข้อเสนอต่อนากยกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจากนี้ คือ ควรให้มีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ และรถพยาบาล ทั้งในส่วนสำนักปลัด กรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากรที่ต้องได้สัดส่วนเหมาะสมเพื่อให้ความเข้มแข็ง ต่อประเทศ ไม่ใช่ทำให้เกิดปัญหาระยะยาวตามมา และปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง มีหลักเกณฑ์วิธีการอย่างเหมาะสม โปร่งใส และต้องมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่ยังรับราชการและเกษียณอายุไปแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป และควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะข้อ 2 เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด และข้อ 9 ที่ระบุว่า ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย

ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวว่า รายงานสอบสวนนี้ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ส่วนจะส่งไปยัง ปปช.หรือไม่นั้น อาจมีบางเรื่องที่ต้องส่งไป แต่ทั้งนี้ก็ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี สำหรับรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโครงการไทยเข้มแข็งนี้ในส่วนข้า ราชการประจำมี 8 คน คือ 1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2. พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3. นายกษิณ วิเศษสิทธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน 4.นพ.สุชาติ เลาหบริพัตร อดีต ผอ.สำนักบริหารสาธารณสุขส่วนภูมิ 5.นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 6. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และ 7.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสด์ อดีตผู้ตรวจราชการเขต 6 สำหรับในส่วนข้าราชการการเมืองนั้น มี 4คน ได้แก่ 1.นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข 2.นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข 3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู และ 4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารมว.สธ.

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการระบุว่า นายมานิต ส่อว่าจะมีการฮั้วรถพยาบาลมีหลักฐานอย่างไร นพ.บรรลุ กล่าวว่า กรณีการจัดซื้อรถพยาบาลผู้สื่อข่าวได้นำเสนอปัญหาการฮั้วก่อน และจากการสอบสวนของคณะกรรมการพบว่า มีข้อเท็จจริง คือมีการหารือร่วมกันระหว่างผู้จัดสรรรถพยาบาล บริษัทจำหน่ายและล็อบบี้ยิส และยังพบว่าในการหารือดังกล่าวมีนายมานิตและนางศิริวรรณอยู่ในวงการหารือ จึงเชื่อว่ามีการฮั้วรถพยาบาล ทั้งนี้จึงต้องเข้าใจว่า การสอบสวนเป็นเรื่องยากเพราะยังไม่มีการทุจริต เป็นเพียงแต่ส่อทุจริต จึงต้องใช้เวลาสอบสวน

กรุงเทพธุรกิจ, 28 ธันวาคม 2552

No comments:

Post a Comment