Tuesday, April 20, 2010

ฉาวไม่เลิก อุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวเขื่อน 40 ล้าน สตง. สอบพบพิรุธอื้อซ่า ร้องป.ป.ช. ตรวจสอบด่วน

ฉาวไม่เลิก อุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวเขื่อน 40 ล้าน สตง. สอบพบพิรุธอื้อซ่า ร้องป.ป.ช. ตรวจสอบด่วน

ฉาวอีกแล้ว อุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวสำหรับเขื่อน กรมชลประทาน มูลค่า 40 ล้านบาท ร้องเรียนป.ป.ช. สอบ ส่อล็อกสเปกเอื้อบริษัทเอกชน แถมพบพฤติกรรมปลอมเอกสาร เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ฮั้ว แฉเคยร้องไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ แต่เรื่องเงียบ ก่อนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบ พบพิรุธอื้อ

ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ผู้บริหาร บริษัท จีโนแมทซ์ จำกัด ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีอุปกรณ์ตรวจแผ่นดินไหวสำหรับเขื่อนของกรมชลประทาน กระทรวงเกตรฯ มูลค่า 40 ล้านมีพฤติกรรมล็อกสเปก ผิดพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)

หนังสือร้องเรียนระบุว่ากรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศเรื่อง ประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จ้างจัดหาอุปกรณ์ตรวจวัดพฤติกรรมแผ่นดินไหว สำหรับเขื่อนที่มีความเสี่ยงสูง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552 โดยกำหนดรับฟังคำชี้แจงในวันที่ 4 มกราคม 2553 ยื่นเอกสารประกวดราคาจ้างฯ ในวันที่ 15 มกราคม 2553 และกำหนดเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 28 มกราคม 2553

ทั้งนี้โครงการจัดหาอุปกรณ์ตรวจวัดพฤติกรรมแผ่นดินไหวดังกล่าว มีความสำคัญและใช้เงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากถึง 40 ล้านบาท แต่มีการดำเนินการส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ไม่เปิดโอกาสให้มีการเสนอราคาแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเฉพาะรายให้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีรายละเอียดแห่งการกระทำที่เชื่อว่าเป็นความผิด

พฤติกรรมที่ส่อถึงความไม่โปร่งใส ได้แก่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 กรมชลประทานได้ประกาศประกวดราคาจ้างฯ กำหนดเงื่อนไขเฉพาะและข้อกำหนดทางเทคนิคของอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมแผ่นดินไหวโดยผู้เสนอราคาต้องมีจอแสดงผลแบบ LCD สี แบบตัวเลข ซึ่งจอแสดงผลดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ของยี่ห้อ Nanomatric มีเพียงรายเดียวที่มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ประกอบกับผลิตภัณฑ์ LCD สีของยี่ห้อ Nanomatric ได้ถูกผูกขาดการเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยบริษัท นีโอ ไดแด็กติก จำกัด จึงไม่อาจจำหน่ายให้กับผู้เสนอราคารายอื่นได้อีก

ดังนั้น การกำหนดอุปกรณ์เครื่องมือเป็นจอแสดงผล LCD สี จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีพฤติกรรมเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าเสนอราคาเฉพาะราย ถือว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 10, ข้อ 15 และเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 11, 12 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว ส่งรายงานการสอบสวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 14, 15

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 บริษัท เอ็ม จี เอส อิควิพเม้นท์ จำกัด ได้ยื่นเอกสารประกวดราคาฯต่อคณะกรรมการประกวดราคา โดยปลอมเอกสารและยื่นเอกสารอันเป็นเท็จ กล่าวคือ ปลอมแปลงหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายของบริษัท ES&S จำกัด ซึ่งบริษัท ES&S จำกัด ได้ยืนยันว่าไม่เคยแต่งตั้งให้บริษัท เอ็ม จี เอส อิควิพเม้นท์ จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Grulap และ Kelunji และได้ปลอมแปลงเอกสารแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งบริษัทมีเฉพาะจอ LCD ขาวดำ ให้เป็นจอแสดงผล LCD สี โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางส่วนในแคตตาล็อก จึงได้มีการร้องขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริง

กรณีดังกล่าว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่ามีการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวจริง
ทั้งนี้ การปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อให้มีผู้ยื่นเอกสารประกวดราคาที่มีคุณสมบัติครบมากกว่า 1 ราย เพราะหากมีผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติครบเพียงรายเดียว การประกวดราคาก็จะถูกยกเลิกไป

ดังนั้น จึงเป็นการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท นีโอ ไดแด็กติก จำกัด ซึ่งต่อมาบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ชนะการประกวดราคา (มีผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคาเพียง 2 ราย คือ บริษัท นีโอ ไดแด็กติก จำกัด และบริษัท เอ็ม จี เอส อิควิพเม้นท์ จำกัด)กรณีดังกล่าว ได้ถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐ (สตง.) และพบว่ามีมูล จึงน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง

การปลอมแปลงหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายและปลอมแปลงเอกสารแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ของบริษัท ES&S จำกัด เป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจตัดรายชื่อผู้เสนอราคาออกจากประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคาและดำเนินการให้เป็นผู้ทิ้งงาน บทลงโทษดังกล่าวมีผลไปถึงกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย

และยังเป็นการใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 และเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่เจ้าพนักงานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด อีกด้วย

กรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล ให้ถือว่า กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนานดำเนินงานของนิติบุคคล เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วยตามมาตรา 9 และขอให้ดำเนินการสอบสวนผู้บริหารของบริษัททั้งสอง

จาก พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เสนอราคาซึ่งเป็นนิติบุคคลและผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจดำเนินงานของนิติบุคคลดังกล่าว มีพฤติการณ์น่าเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญา จึงขอร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิด เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษและป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก อันจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและประหยัดเงินภาษีของประชาชนเป็นประโยชน์สูงสุดของทางราชการต่อไป

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

No comments:

Post a Comment