Tuesday, September 21, 2010

เปิดหลักฐานเครือข่ายกลุ่มวังน้ำยมเร่งสะสมทุน กินรวบประมูลข้าว -มันเส้นมูลค่า15,000 ล้าน

เปิดหลักฐานเครือข่ายกลุ่มวังน้ำยมเร่งสะสมทุน กินรวบประมูลข้าว -มันเส้นมูลค่า15,000 ล้าน

กลุ่มวังน้ำยมที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน (อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพราะคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งการยุบพรรค) เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกับกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ จัดตั้งพรรคภูมิใจไทยในช่วงที่มีการพลิกขั้วเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปลายปี 2551


อย่างไรก็ตามทั้งกลุ่มนายเนวิน และกลุ่มนายสมศักดิ์ ได้ขีดเส้นแบ่งอาณาจักรในการครอบครองอำนาจกันอย่างชัดเจน

กลุ่มนายเนวินนั้นยึดหัวหาดที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม


ขณะที่กลุ่มวังน้ำยมของนายสมศักดิ์ยึดกระทรวงพาณิชย์เป็นฐานที่มั่น และส่งนางพรทิวา นาคาสัย เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวง


แน่นอนว่า กระทรวงพาณิชย์อุดมด้วยผลประโยชน์มากมายโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่อยู่ในมือของรัฐจำนวนมหาศาลอันเกิดจากรับซื้อตามโครงการแทรกแซงราคาพืชผลสารพัดโครงการ


เมื่อเป็นเช่นนี้ มีหรือที่นักการเมืองมือเก๋าและรู้เส้นทางทำกินเป็นอย่างดีจะปล่อยให้โอกาสหลุดลอย จึงมีข่าวอื้อฉาวในกระทรวงนี้เป็นระยะๆ


ล่าสุดพบว่า การขายข้าวของรัฐที่ฝากไว้กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 1.5 ล้านตันมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 และการประมูลมันเส้นในสต็อกของรัฐบาลกว่า 250,251 ตัน มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาทตามนโยบายการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/52 เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 เครือข่ายกลุ่มวังน้ำยมต้นสังกัดของนางพรทิวา นาคาสัย เป็นผู้ชนะการประมูลแบบชนิดกินรวบ!!


หนึ่ง ในการขายข้าวของรัฐที่ฝากไว้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 1.5 ล้านตัน มูลค่า ประมาณ 20,000 ปรากฎว่า คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ซึ่งมีนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้พิจารณาคัดเลือกผู้เสนอซื้อ 4 ราย ได้แก่ บริษัท ไชยพร บริษัท นครหลวงค้าข้าว และบริษัท เอเชียโกลเด้นท์ไรซ์ บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ซึ่งเสนอซื้อข่าวในราคาตันละ 12,000-16,085 บาท ทั้งนี้ 3 บริษัทแรก เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่และเป็นที่รู้จักในวงการค้าข้าวเป็นอย่างดี ได้ข้าวไปเพียง 4 แสนตัน


ขณะที่ บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ซึ่งเป็นบริษัทโนเนมระบุตามบริคนห์สนธิว่ามีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท จัดตั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2551ได้รับข้าวไปถึง 1.1 ล้านตัน ซึ่งมีการอ้างว่า คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ซึ่งมีนายมนัส สร้อยพลอยได้เสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบแล้ว


แต่ผู้อำนวยการ อ.ต.ก.ยังไม่ยอมลงนามในสัญญาเนื่องจากมีผู้ส่งออก 2 รายร้องเรียนมาที่ อ.ต.ก.กล่าวหาว่า การอนุมัติขายครั้งนี้ไม่โปร่งใส และมีการทำผิดขั้นตอนการระบายข้าว คือไม่มีการเผยแพร่หรือแจ้งผู้ประกอบการว่า รัฐจะมีการระบายข้าว แต่หากมีการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจการอนุมัติก็จะเรียกเอกชนมาทำสัญญาทันที" นายมนูญรัตน์กล่าว


จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด เป็นใครมาจากไหน

หากให้บริษัทในลักษณะเช่นนี้กวาดข้าวในสต็อกของรัฐไปอยู่ในมือทั้งหมดจะเกิดการผูกขาดและการทุจริตเช่นเดียวกับบริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้งกวาดข้าวในสต็อกของรัฐไปถึง 2 ล้านตัน ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร(ขณะที่ข้าวในสต็อกของรัฐที่ยังอยู่ในมือองค์การคลังสินค้าหรืออคส. อีกกว่า 4 ล้านตัน)


จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ประกอบธุรกิจ ค้าปุ๋ย ค้าข้าว พืชผลทางการเกษตร และปรับปรุงคุณภาพข้าว มีนายจุ้ง เชียง เฉิน นางสุพรรณี เฉินและ น.ส.ภาวินี จารุมนต์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552


กุญแจสำคัญของกรณีนี้อยู่ที่ น.ส.ภาวินี จารุมนต์ ซึ่งนอกจากจะเป็นกรรมการบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรดแล้ว ยังเป็นกรรมการในบริษัท เม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วย


"มติชนออนไลน์"ตรวจสอบข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้าพบว่า น.ส.ภาวินี จารุมนต์และครอบครัว"จารุมนต์"เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทในกลุ่มของครอบครัว"เทพสุทิน"ของนายสมศักดิ์ เทพสุทินหลายบริษัท เช่น


บริษัท ดี แลนด์ เพอร์เฟคที่ นายเทิดไท-น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน บุตรชายและบุตรสาวของนายสมศักดิ์ เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท(ประกอบธุรกิจโรงแรม บาร์ คาราโอเกะ) โดย มีน.ส.ภาวินี จารุมนต์ และนายทรงยศ สำรวยแสง (ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ซิลเวอร์สยาม ร่วมกับครอบครัวจารุมนต์) ถือหุ้นรายละ 1%

บริษัท เมก้า แลนด์ ประกอบธุรกิจค้าทอง มีนายเทิดไท เทพสุทินและ นายภเชศ จารุมนต์ เป็นกรรมการผู้อำนาจของบริษัท ทั้งนี้ ยังมี นายเทิดไท เทพสุทิน น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน นางพร เทพสุทิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ น.ส.ธราพัน จารุมนต์ และนายภเชศ จารมนต์ เป็นผู้ถือหุ้น


ขณะเดียวกัน ครอบครัว"เทพสุทิน" ยังจัดตั้ง หจก.เทิดไทฟาร์มซึ่งมี นายเทิดไท-น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน เป็นหุ้นส่วนใหญ่ะทุนจดทะเบียนกว่า 10 ล้านบาท

ธุรกิจที่รู้จักกันดีคือ สนามกีฬาไก่ชนเทิดไท อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสนามชนไก่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


สนามกีฬาแห่งนี้ มีนาย สุนทร จารุมนต์ ซึ่งว่ากันว่า เป็นสามีน.ส.ภาวินี เป็นกรรมการบริหาร

ในช่วงที่มีการจัด"มหกรรมพัฒนาไก่ชนไทย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 มีการนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นประธานเปิดงาน


นอกจากนั้นยังมี นายเนวิน ชิดชอบ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายอนุทิน ชาญวีรกูล มาร่วมงานอย่างพร้อมเพียง


จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เห็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นระหว่าง .ส.ภาวินี จารมนต์ กรรมการผู้อำนาจนามของบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรดได้รับสิทธิการซื้อข้าวถึง 1.1 ล้านตัน มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท(ผ่านคณะทำงานนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน)กับครอบครัว"เทพสุทิน"ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม

สอง การประมูลมันเส้นในสต็อกของรัฐบาลกว่า 250,251 ตัน มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาทก่อน


เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 บริษัท กาญจนาพันธ์ ฟาร์ม หนองลังกาฟาร์ม และ ไพรสะเดาฟาร์ม (ในเครือของบริษัท กาญจนาฟาร์ม จำกัด มีนายวิวัฒน์ -นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่) เข้าร่วมประมูล มันเส้นล็อตใหญ่กว่า 250,251 ตัน มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท จากโกดังของรัฐบาลซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/52


ปรากฏว่า บริษัททั้ง 3 ราย((จากผู้ยื่นประมูล 7 ราย)ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานดำเนินการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่มีนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานคณะทำงาน


จากนั้นเสนอเรื่องให้นางพรทิวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการตลาดมันสำปะหลังอนุมัติและนำเสนอ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง


จนกระทั่งมีการนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติเมื่อวันที่ 24 สิหงาคม 2553 ที่ผ่านมา

สำหรับความเป็นมาของ นางบุญยิ่ง นิติกาญจนานั้น คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2553 มีมติแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานางพรทิวา นาคาสัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นางบุญยิ่ง มีสามีชื่อนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จ.ราชบุรีเขต 2 สังกัดกลุ่มวังน้ำยมที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นหัวหน้ากลุ่ม

เมื่อนายสมศักดิ์แยกออกมาตั้งพรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้ให้นายวิวัฒน์ เป็นรองหัวหน้าพรรค(เนื่องจากนายสมศักดิ์ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพราะคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งการยุบพรรคไทยรักไทย) มีนางพรทิวา เป็นเลขาธิการพรรค

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นางบุญยิ่ง ภรรยานายวิวัฒน์(ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย)ได้รับแต่งตั้งเป็นกุนซือของนางพรทิวา

(ดู "แกะรอยประมูลมันเส้นฉาว "กาญจนาฟาร์ม & กาญจนพันธ์ฯ" ยึดหัวหาด กวาดเรียบ 2.5 แสนตั" ในมติชน, 13 กันยายน 2553 หรือ มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1284370023&grpid=01&catid=00)

จากพฤติการณ์ทั้ง 2 กรณี ชัดเจนว่า มีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งแม้จะยังไม่มีกฎหมายหรือข้อห้ามเป็นความผิดชัดเจน เว้นแต่จะมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือพิสูจน์ได้ว่า ผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติมีส่วนรู้เห็น สนับสนุนหรือ บงการในทั้งสองกรณี

แต่ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า พฤติการณ์ดังกล่าวาเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เพราะการที่ผู้เข้าประมูลและชนะการประมูลเป็นบริษัทในเครือของของที่ปรึกษารัฐมนตรีและบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับต้นสังกัดของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ทำให้อาจมีการ"ฮั้ว" สมยอมราคาหรือตกลงราคากัน หรือมีการใช้อิทธิพลแทรกแซงการตัดสินของคณะทำงานที่เป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ได้


นอกจากนั้น ยังเห็นชัดว่า ผู้มีอำนาจทั้งในกระทรวงพาณิชย์และในรัฐบาลพยายามปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ

จนกระทั่งสื่อมวลชนขุดคุ้ยและนำความจริงมาเปิดเผย จึงเห็นสายสัมพันธ์ของบริษัทที่เข้าประมูลกับผู้มีอำนาจทางการเมืองอย่างล่อนจ้อน


มติชนออนไลน์, 20 กันยายน พ.ศ. 2553

No comments:

Post a Comment