Sunday, October 4, 2009

แพทย์ชนบทปูด 4 ข้อส่อทุจริต ซื้อเครื่องมือแพทย์ไทยเข้มแข็ง

แพทย์ชนบทปูด 4 ข้อส่อทุจริต ซื้อเครื่องมือแพทย์ไทยเข้มแข็ง

"แพทย์ชนบท" ออกโรงแฉไทยเข้มแข็งซ้ำ 4 ประเด็นส่อเค้าทุจริต เสนอรื้อโครงการใหม่ เชื่อประหยัดงบได้หมื่นล้าน ปูดค่าหัวคิวซื้อรถหวอ 1,000 คันๆ ละ 1 แสนบาท ราคากลางก่อสร้างเพิ่ม 20-50% ชี้ "ยูวี-แฟน" ตัวแทนจำหน่ายสนิทเมียนักการเมืองชื่อดัง ด้าน "วิทยา" รายงานโครงการไทยเข้มแข็งส่งกลิ่นให้ นายกฯ ทราบแล้ว ยันยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รายงานนายกรัฐมนตรีเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบมาพากลโครงการภาย ใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2) หรือ "SP2" มูลค่า 86,685.61 ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลต (UV-FAN) ว่า เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีเข้าใจว่ามีการประมูลจัดซื้อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้อธิบายข้อเท็จจริงว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการทุจริตตนก็ทราบจากนักข่าว ไม่มีใครร้องเรียนมายังตนโดยตรง ซึ่งนายกฯก็รับทราบ แต่ก็ไม่ได้ให้คำแนะนำใดๆ

แต่ยืนยันว่า การติดตามการทุจริตยังมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คอยตรวจสอบอยู่แล้ว ส่วนกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ก็ได้ตั้งคณะกรรมการอีก 1 ชุด ในการพิจารณาการจัดซื้อ โดยมีตัวแทนจาก รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน สสจ. ตัวแทนผู้ตรวจกระทรวง ร่วมดำเนินการทบทวนเพื่อความโปร่งใส และเรื่องนี้อาจให้คณะกรรมการตรวจสอบดูก่อน ก่อนที่จะดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตที่มีรายชื่อบริษัท จำหน่ายในเอกสารแนบท้าย เรื่องนี้จะจริงหรือเปล่ายังไม่รู้ ต้องตามดูว่าออกมาจากจังหวัดใด ว่าเป็นแบบใด มีใครเอาชื่อไปใส่หรือเปล่า ต้องไปตามข้อมูลจากผู้ที่นำมาเผยแพร่ เพราะหากไปแกล้งคนดีๆ ก็จะเสียหาย ตนไม่อยากใครเป็นเหยื่อ คนดีๆ ต้องได้รับการปกป้อง

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ควรมีการทบทวนดังนี้

1.ราคาการก่อสร้างอาคาร ซึ่งมีราคากลางสูงเพิ่มขึ้น 30-50% จากราคาการก่อสร้างในปี 2551
ดังนั้นน่าจะมีการรื้อและทบทวนโครงการใหม่ หากทำได้จะประหยัดงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท เช่น อาคารหอพักพยาบาลที่สเปคเดียวกันจากเดิมราคากลาง 6.67 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 9.57 ล้านบาท

2.มีการร้องเรียนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เข้าไปวิ่งเต้นโครงการใหญ่ 700-800 ล้านบาท ที่ จ.พิษณุโลกและนครสวรรค์
เพราะมีโควตาบางบริษัทที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองจองไว้แล้ว กรณีนี้เป็นโจรร้องโจรทำให้ทราบข้อมูล


3. รถพยาบาล มีข้อมูลว่ามีฝ่ายการเมืองไปเจรจากับผู้จัดการศูนย์รถยนต์ที่เซ็นทรัล บางนา เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ถึงขั้นเสนอราคาให้คันละ 100,000 บาท
ทำให้ราคาจัดซื้อรถพยาบาล 1 คัน ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์สำคัญ 2 รายการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องกระตุกหัวใจ ที่เคยซื้อได้ 1.7 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1.8 ล้านบาท


4.เครื่องช่วยหายใจ หรือเครื่องดมยาสลบ ที่มีบางบริษัทให้ข้อมูลว่า มีการเปลี่ยนแปลงราคา จากเดิมราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท แต่กลับมีการตั้งราคาถึง 1.5 ล้านบาท
ซึ่งตนเกรงว่าในบางพื้นที่ไม่รู้และมีการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจที่ราคา 5-6 แสนบาท แต่ไปซื้อถึง 1.5 ล้านบาท จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์


"ถ้านายวิทยาจริงใจต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ สวนเพื่อดูรายละเอียดโครงการทั้งหมด โดยเฉพาะรายการที่ไม่ได้ขอไป แต่กลับจะให้มีการซื้อแบบปูพรมเต็มพื้นที่ว่าใครเป็นคนทำ ซึ่งหากยกเลิกได้ก็ยกเลิก" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว และว่า ควรเลือกประธานที่มาตรวจสอบเรื่องนี้ เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือไม่ควรเลือกผู้ตรวจราชการ

จี้ทบทวนจัดสรรงบใหม่

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่เสนอให้มีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งใหม่ เนื่องจากมีการจัดสรรที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ที่เห็นได้ชัดคืองบที่จัดสรรให้โรงพยาบาลศูนย์ 94 แห่ง เป็นเงินกว่า 40,000 ล้านบาท แต่งบที่จัดสรรให้โรงพยาบาลชุมชน 800 แห่ง ได้เพียงแค่ 8-9 พันล้านบาท ดังนั้นเรื่องนี้ต้องทบทวนให้กระจ่าง ไม่ใช่จัดสรรแบบสะเปะสะปะ และ ครม.ต้องกล้าตัดสินใจชะลอโครงการ เรื่องนี้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ตนจะชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภา

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลต ว่า เป็นเรื่องที่มีการสอดไส้ลงไปทั้งที่ไม่มีการร้องขอจากพื้นที่ ซึ่งตนเห็นว่าในท้ายที่สุดก็คงมีการยกเลิกโครงการนี้ไป จากการตรวจสอบบริษัทที่นำเข้าพบว่า ไม่ใช่บริษัทที่ไปเสนอราคาขายให้โรงพยาบาลตามที่เป็นข่าว แต่บริษัทที่ไปเสนอขายเป็นแค่ตัวแทน จำหน่ายเท่านั้น เท่าที่ทราบมีสายสัมพันธ์กับเมียนักการเมืองชื่อดัง

สธ.ชี้ 46 รายการแค่เสนอ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สธ. กล่าวว่า สถานีอนามัยได้งบประมาณกว่า 1.35 ล้านบาท โดย 5 แสนบาทเป็นงบปรับปรุงสถานีอนามัย ส่วนอีก 8.5 แสนบาท เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์ เดิมมีเพียง 20 กว่ารายการเท่านั้น แต่ได้เพิ่มเป็น 46 รายการ ในการทำเรื่องเสนอของงบฯนั้น หากให้ทางสถานีอนามัยกว่า 9,000 แห่งเสนอมานั้นจะต้องคีย์ข้อมูลกว่าเป็นแสนๆ รายการ ใครจะทำ ทั้งยังมีเวลาที่จำกัด

ดังนั้นจึงได้เชิญตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องมา หารือเพื่อกำหนดครุภัณฑ์ที่ควรมีการจัดซื้อ โดยพิจารณาเฉพาะรายการใหญ่ๆ ส่วนรายการครุภัณฑ์ยิบย่อยนั้นสถานีอนามัยสามารถใช้งบลงทุน สปสช. จัดซื้ออยู่แล้ว ซึ่งไม่กระทบ โดยทั้งหมดนี้จะต้องเสนอสำนักงบประมาณในกลางเดือนตุลาคมนี้ ส่วนอีก 46 รายการนั้น ไม่ให้สธ.ซื้อทั้งหมด เป็นแค่รายการให้เลือกเท่านั้น ซึ่งบางรายการยังระบุด้วยว่า ให้จัดซื้อในกรณีที่มีแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้นในการใช้เครื่องมือดังกล่าว เพราะหากจัดซื้อทั้งหมดจะต้องใช้งบหลายล้านบาท ไม่ใช่แค่หลักแสน

นพ.คำรณ ไชยสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 กล่าวว่า เหตุผลที่กำหนดราคาเครื่องยูวี-แฟน ที่ 40,000 บาท เนื่องจากไปดูราคาการจัดซื้อเมื่อปีก่อน ซึ่งมีโรงพยาบาลบางแห่งในภาคอีสานจัดซื้อ เมื่อมีการวิจารณ์ขึ้นก็ต้องบอกว่าราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคากลาง แต่เป็นราคาที่ตั้งงบฯไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับครุภัณฑ์ 46 รายการ เช่น ชุดยูนิตทำฟัน 438,000 บาท เครื่องอัลตร้าซาวด์ 5 แสนบาท เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติ ชนิด 12 ลีด พร้อมอ่านแปลผล 1.2 แสนบาท รถบรรทุกดีเซลขนาด 1 ตัน แบบมีช่องว่าด้านหลังคนขับ พร้อมหลังคาไฟเบอร์กลาส ราคา 5.6 แสนบาท ชุดอุปกรณ์ให้การรักษาทันตกรรม 1 แสนบาท ชุดกายภาพบำบัด 138,500 บาท หม้อต้มแผ่นให้ความร้อน 107,000 บาท เป็นต้น

เพื่อไทยเผยสั่งเพิ่มรายการครุภัณฑ์

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยสธ.ได้กำหนดรายการครุภัณฑ์ส่งให้สถานีอนามัย 20 รายการ ในเย็นวันศุกร์ พร้อมกำชับให้ส่งความต้องการว่าต้องการครุภัณฑ์อะไร ใน20 รายการนี้ ภายใต้วงเงินสนับสนุน 8.5 แสนบาท และให้ส่งกลับมายังสาธารณสุขจังหวัดภายในวันจันทร์ จึงเกิดการทักท้วงโดยฝ่ายค้านและข้าราชการ ระบุว่าไม่ได้สำรวจความต้องการของแพทย์สาธารณสุขโดยตรง จึงมีการระงับโครงการไป แล้วเรียกประชุม แต่ก็ไม่ได้รับฟังความเห็นจากคนที่ต้องใช้ครุภัณฑ์เหล่านี้เท่าใดนัก แล้วจึงกำหนดรายการเพิ่มเป็น 46 รายการ แล้วส่งไปยังสถานีอนามัยใหม่ แต่ 20 รายการเดิมก็ยังคงอยู่

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อดีต รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า เคยเตือนในสภาในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 2553 วาระ2 และ3 ให้ระวังการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา มีการอ้างว่า นำไปให้โรงพยาบาลในโครงการส่งเสริมสุขภาพตำบล 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งแพทย์และศูนย์สุขภาพตำบลอยากได้งบ แต่ปรากฏว่าไปยัดเยียดอุปกรณ์ให้ไม่ตรงกับความต้องการ

กรุงเทพธุรกิจ, วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

No comments:

Post a Comment