Saturday, October 3, 2009

ปมร้อน "จัดซื้อจัดจ้างไทยเข้มแข็ง" สอบเครื่องมือแพทย์เกินราคา

ปมร้อน "จัดซื้อจัดจ้างไทยเข้มแข็ง" สอบเครื่องมือแพทย์เกินราคา

เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ตัดสินใจกู้เงินเพื่อดำเนินการ "โครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2) หรือ "SP 2" หวังกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อพลิกชีวิตคนไทยด้วยการอัดเม็ดเงินนับแสนล้านบาท

การตัดสินใจแค่เริ่มต้นด้วยการกระจายงบประมาณไป ยังกระทรวงต่างๆ เพื่อจัดทำแผนใช้จ่าย หากดูเผินๆ ก็เหมือนจะราบรื่น แต่ยังไม่ถึง 3 เดือนดี ใบปลิวเปิดโปงแผนหาผลประโยชน์บนกองเงินภาษีของประชาชนก็เริ่มว่อน โดยเฉพาะที่กระทรวงสาธารณสุข

แพทย์กลุ่มเดิม (ชมรมแพทย์ชนบท) ที่เคยเปิดโปงโครงการทุจริตยา จนทำให้อดีต รมว.สาธารณสุข ต้องเข้าไปนอนในเรือนจำมาแล้ว ได้ออกมากระหน่ำด้วยการแฉข้อมูลการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์มูลค่านับหมื่นล้านบาท โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เริ่มต้นชี้ชัดที่การสอดไส้จัดซื้อ "เครื่องฆ่าเชื้อโรคแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิดยูวี-แฟน" ที่มีการจัดซื้อมากถึง 800 เครื่อง ด้วยงบประมาณ 32 ล้านบาท ตกเครื่องละ 40,000 บาท เป็นราคาที่สูงเกินจริง เพราะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องที่ผลิตโดยฝีมือแพทย์สถาบันโรคทรวงอก ตกอยู่ที่เครื่องละ 6,000 บาทเท่านั้น

กระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง ร้อนถึงหูนายกรัฐมนตรีเจ้าของโปรเจค ต้องเรียกเจ้ากระทรวง นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ชี้แจงด่วน !!!

ยังไม่ถึงสัปดาห์ดีแพทย์ชนบทออกมากระหน่ำซ้ำอีก ทั้งเครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจชีวเคมีในเลือด ลามไปถึงรถพยาบาลที่มีการกินหัวคิวถึงคันละ 100,000 บาท โดยผู้ที่มีอักษรย่อตัว ต. ที่เป็นนักการเมืองในกระทรวง พร้อมท้าด้วยว่า หากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึง 30,000 ล้านบาท

"ผมไม่ได้เสนอให้ล้มโครงการ เพียงแต่ขอให้ทบทวนให้ดี เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดประหยัดงบประมาณได้ และหากทำให้ดีเชื่อว่าจะประหยัดงบประมาณได้ถึง 30% ซึ่งจะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ ยังได้กล่าวถึง การจัดสรรงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งด้วยว่า เป็นการจัดสรรที่สวนทางนโยบายการวางระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยงบประมาณส่วนใหญ่ทุ่มไปที่การก่อสร้างที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป แต่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งสถานีอนามัยกลับจัดสรรน้อยมาก ดังนั้น ควรมีการปรับในส่วนนี้อย่างน้อยก็ควรได้ 50% ของงบประมาณ

ข้อมูลร้อนที่ออกมาทุกวัน ทำให้เจ้ากระทรวงอย่าง นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เต้นแก้ปัญหา สั่งด่วน ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อ พิจารณาความเหมาะสมและแก้ไขปัญหาโครงการไทยเข้มแข็ง และสอบสวนหาข้อเท็จจริง ที่ไม่แค่หวังแก้สถานการณ์สร้างความโปร่งใสให้โครงการดำเนินต่อไปได้เท่า นั้น แต่ยังเป็นการยืนยันภาพลักษณ์นักการเมืองน้ำดี เมืองนครศรีฯ

ขณะที่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรเองก็นั่งไม่ติดเก้าอี้ ต้องเชิญชมรมแพทย์ชนบท มาร่วมให้ข้อมูล โดย นพ.เกรียงศักดิ์ ออกมาเปิดเผยอักษรย่อเพิ่มอีกหลายตัว ทั้ง ม. ป. ล. และ ส. ซึ่งล้วนเป็นคนใกล้ชิดนักการเมืองในกระทรวงหมอทั้งสิ้น

ทั้งยังให้เพิ่มประเด็นร้อนขึ้นอีกประเด็นที่ น่าสนใจ เพราะนอกจากครุภัณฑ์ทางการแพทย์แล้ว ในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลชุมชน ปรากฏ "เสาธง" สเปคราคาต้นละเกือบ 5 แสนบาท ที่มีการถามหาถึงความจำเป็น แถมด้วยการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่กำหนดราคาต่อตารางเมตรกว่า 1,000 บาท

แม้ นพ.ดร.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จะออกมายืนยันว่า การก่อสร้างอาคาร รพ.ชุมชน ในโครงการไทยเข้มแข็ง ที่มีการสร้างเสาธงมูลค่า 4.95 แสนบาทต่อแห่งนั้น จากการสอบถามกองแบบแผนได้รับการชี้แจง ว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีเสาธงกว่า 10 แบบ ที่มีราคาแตกต่างกันตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป

สำหรับแบบล่าสุดที่เป็นประเด็นในขณะนี้นั้น ได้รับการชี้แจงว่ามีราคา 3.57 แสนบาท โดยเป็นเหล็กขนาด 20 เมตร เคลือบด้วยสารกันสนิมกัลวาไนท์ นอกจากนี้ ยังมีฐานสูงที่ต้องวางเสาเข็ม พื้นเป็นหินทรายขัด ทำให้มีราคาสูง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ปลัด สธ.คนใหม่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ได้รับคำสั่งจาก รมว.สาธารณสุข เรียกประชุมคณะกรรมการโครงการไทยเข้มแข็ง พร้อมสั่งชะลอจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์เจ้าปัญหา 6 รายการ ได้แก่ เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบยูวีหรือยูวีแฟน เครื่องช่วยหายใจ เครื่องดมยาสลบ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ หรือเซ็นทรัลโมนิเตอร์ เครื่องตรวจสารเคมีในเลือด และรถพยาบาล พร้อมส่งหนังสือเวียนแจ้งไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และแต่งตั้งให้ นพ.เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการเขต 7 เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อครุภัณฑ์เหล่านี้ กำหนดกรอบเวลา 2 สัปดาห์ รู้ผล

นอกจากนี้ ยังให้ทบทวนโครงการไทยเข้มแข็งทั้งหมด โดยให้คณะกรรมการที่มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเร่งดำเนินการ (ยังไม่แต่งตั้ง) ทบทวนการจัดซื้อครุภัณฑ์ 7,000 รายการ รวมทั้งการก่อสร้างอาคารที่ถูกระบุว่า ใช้งบประมาณสูงกว่าราคากลางถึง 30-50% ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายรู้สึกโล่งอก เพราะโชคยังดีที่ยังเป็นแค่การเตรียมจัดซื้อ เพราะงบประมาณที่จะนำมาใช้ยังติดอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภา แม้ว่าจะมีบางพื้นที่ได้มีการประกาศประกวดราคาและจัดซื้อครุภัณฑ์บางรายการ ไปแล้ว แต่ก็ไม่มาก ไม่เช่นนั้น คงก่อให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่

ความดีครั้งนี้ต้องยกให้กับคนที่ออกมาเปิดเผย ข้อมูล เพราะแค่นี้เริ่มต้นก็ส่งกลิ่นขนาดนี้ หากปล่อยให้ประมูลโดยไม่ตรวจสอบจะฉาวขนาดไหน เพราะที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเคยอื้อฉาวการจัดซื้อมาหลายครั้ง ทั้งกรณีทุจริตยา คอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท และรถพยาบาลฉาว 232 คัน

ช่องโหว่ทำให้เกิดการยัดไส้การจัดซื้อครั้งนี้ สอบถามผู้จัดทำโครงการทราบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากสำนักงบประมาณที่ต้องการเร่งรีบดำเนินโครงการ โดยเฉพาะในส่วนการจัดซื้อครุภัณฑ์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ให้เวลา แค่ 3 วัน ในการสรุปรายการจัดซื้อทั้งหมด จึงต้องจำกัดครุภัณฑ์ 46 รายการ เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการในเวลาที่จำกัด ล่าสุดได้มีการปลดล็อกนี้แล้ว หลังเป็นข่าวส่อแววความไม่ชอบมาพากล

แต่สิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้ คือ การแต่งตั้งและโยกย้ายอธิบดีแต่ละกรม รวมถึงรองปลัดกระทรวงที่ว่างลงหลายตำแหน่งจากการเกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่ากระทรวงใดย่อมมีการแต่งตั้งที่สายใครเป็นสายใครขึ้นมา โดยมีการพยากรณ์ว่า หากอังคารนี้โผตำแหน่งลงตัว ต่างฝ่ายต่างพอใจ ปัญหาการจัดซื้อครั้งนี้ก็จะจบลงได้สวย แต่หากไม่ใช่เชื่อว่าคงมีเรื่องปวดหัวที่เป็นประเด็นร้อนฉ่าออกมาอีกหลาย ระลอก

ดวงกมล สจิรวัฒนากุล

กรุงเทพธุรกิจ, วันอาทิตย์ที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2552

No comments:

Post a Comment