Saturday, August 8, 2009

ทุจริตชุมชนพอเพียงลามทั่วประเทศ

ทุจริตชุมชนพอเพียงลามทั่วประเทศ

ข้อมูลทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงปูดอีกหลายพื้นที่ เผย 3 บริษัทขายอุปกรณ์พลังงานทดแทนเจ้าปัญหา โผล่ชักจูงชาวบ้านที่จังหวัดน่าน ขณะที่อำนาจเจริญแฉข้าราชการ-ลูกน้องนักการเมืองใหญ่มีเอี่ยว ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ป้อง "กอร์ปศักดิ์" พร้อมส่งเรื่องให้ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางเงินบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอำนาจเจริญ ว่า มีขบวนการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยรูปแบบ คือ มีเจ้าหน้าที่จากบริษัทเอกชนติดต่อกับคนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นนายหน้าช่วยขายเครื่องผลิตปุ๋ยให้กับชุมชนต่างๆ ที่ต้องการของบประมาณจากโครงการชุมชนพอเพียง โดยอ้างว่าหากซื้อสินค้าจากบริษัทดังกล่าว จะได้รับอนุมัติโครงการอย่างรวดเร็ว ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด รวมทั้งมีข้าราชการท้องถิ่นคอยเรียกเก็บค่าหัวคิวโครงการ และล่าสุด มีผู้อ้างตัวเป็นลูกน้องนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน คอยชักส่วนแบ่งจากบรรดานายหน้าด้วย

ชาวบ้านท่ายางชุม หมู่ 8 ต.หัวตะพาน อ.หัวตะพาน เล่าว่า ชุมชนได้ตกลงกันขอทำโครงการจุดผลิตปุ๋ยชีวภาพในชุมชน แต่เมื่อส่งเรื่องไปยังหน่วยงานท้องถิ่นปรากฏว่าต้องนำกลับมาแก้ไขหลายครั้ง และเจ้าหน้าที่ยังแสดงอาการไม่พอใจ โดยเมื่อสอบถามชุมชนอื่น ซึ่งตกลงซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยคนละบริษัทกัน กลับพบว่าเอกสารผ่านอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ เครื่องผลิตปุ๋ยมีการผลิตจากโรงงานในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียงหลายแห่ง ทำให้มีการแข่งขันกันเสนอราคาให้กับชุมชน และยังมีการเสนอผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากขบวนการเบิกจ่ายเงินไม่ได้อยู่ที่ชุมชน แต่อยู่ที่ส่วนราชการ

แหล่งข่าวในพื้นที่ กล่าวว่า ชุมชนได้ของบประมาณซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยตามกรอบวงเงิน 2 แสนบาท โดยพ่อค้าที่มาติดต่อบอกว่าราคาเครื่องจริงๆ อยู่ที่ 1.5 แสนบาท ดังนั้น จะคืนเงินให้กับชุมชน 5 หมื่นบาท แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่าคืนเงินเพียงไม่กี่พันบาท โดยพ่อค้าอ้างว่าจะต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ นายหน้า รวมทั้งกรรมการชุมชนบางคน รวมแล้วเครื่องละ 3-4 หมื่นบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการที่พ่อค้าออกใบเสร็จและที่เป็นใบส่งของให้กับชุมชน ประกอบด้วย

1.จานปั้นเม็ดขนาด 1.50 เมตร ราคา 6.5 หมื่นบาท
2.เครื่องบดวัตถุดิบมอเตอร์ 3 แรง ราคา 3.7 หมื่นบาท
3.เครื่องผสมวัตถุดิบมอเตอร์ 5 แรง 4.5 หมื่นบาท
4.เครื่องพ่นจุลินทรีย์แบบอัตโนมัติ 1.5 หมื่นบาท
5.จักรเย็บกระสอบ ราคา 1.15 หมื่นบาท
6.ถังหมักจุลินทรีย์ขนาด 200 ลิตร 1,000 บาท
7.พลั่วพร้อมรถเข็น 3,500 บาท 8. ถาดรอง 1,500 บาท
และอื่นๆ รวมกันเป็นเงิน 2 แสนบาท

บริษัทเจ้าปัญหาบุกเมืองน่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดน่าน ว่า จังหวัดน่านมีการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงในลักษณะใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้น ในเขตกรุงเทพฯ โดยจากการตรวจสอบพบว่า ชุมชนในอำเภอเมืองน่านได้เสนอโครงการซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ ตลอดจนเครื่องผลิตน้ำหยอดเหรียญ และแผงโซลาร์เซลล์ จากบริษัทเดียวกันกับที่เป็นข่าวในกรุงเทพฯ

จากการตรวจสอบพบว่า ใน อ.เมืองน่าน มีหมู่บ้านที่นำเสนอโครงการเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพไม่ต่ำกว่า 10-20 หมู่บ้าน อาทิเช่น

1.บ้านผาขวาง ม.4 ต.บ่อ อ.เมืองน่าน 2.บ้านฟ้าใหม่ ม.9 ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน 3.บ้านนาท่อเด่น ม.4 ต.ถืมตอง อ.เมืองน่าน 4.บ้านกิ่งป่าห้า ม.5 ต.ถืมตอง อ.เมืองน่าน 5.บ้านศรีนาป่าน ม.1 ต.เรือง อ.เมืองน่าน 6.บ้านดอนเฟือง ม.2 ต.เรือง อ.เมืองน่าน 7.บ้านเรือง ม.3 ต.เรือง อ.เมืองน่าน 8.บ้านนางาม ม.5 ต.เรือง อ.เมืองน่าน 9.บ้านนาซาว ม.1 ต.นาซาว อ.เมืองน่าน 10.บ้านก๊อด ม.4 ต.นาซาว อ.เมืองน่าน 11.บ้านดู่เหนือ ม.1 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 12.บ้านเชียงราย ม.8 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 13.บ้านคอวัง ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 14.บ้านดู่เหนือพัฒนา ม.13 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 15.บ้านดอนมูลพัฒนา ม.13 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 16.บ้านธงใหม่พัฒนา ม.14 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน 17.บ้านธงหลวง ม.1 ต.กองควาย อ.เมืองน่าน 18.บ้านครกใหม่ ม.4 ต.กองควาย อ.เมืองน่าน 19.บ้านดอนเจริญ ม.6 ต.กองควาย อ.เมืองน่าน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหมู่บ้านใน ต.สวก ต.สะเนียบ ของ อ.เมืองน่าน อีก 4-5 แห่ง ทั้งนี้ ทุกชุมชนได้ทำโครงการจัดซื้อจากบริษัท คาร์เทล เทคโนโลยี จำกัด

ชาวบ้านแฉขบวนการล็อบบี้

นายปรีชา ผาแก้ว ผู้ใหญ่บ้านผาขวาง ม.4 ต.บ่อ อ.เมืองน่าน จ.น่าน และประธานโครงการชุมชนพอเพียงบ้านผาขวาง ให้ข้อมูลว่า มีเอกชนนำข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ มาพร้อมหนังสือจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งแนบมากับแบบฟอร์มของโครงการชุมชนพอเพียง ให้ชุมชนดำเนินการจัดซื้อ ตามงบประมาณ 2.5 แสนบาท แต่สุดท้ายชุมชนปฏิเสธ

ผู้นำชุมชนรายหนึ่งใน อ.เมืองน่าน บอกว่า เชื่อว่ามีขบวนการพยายามหาผลประโยชน์จากโครงการ ซึ่งเห็นได้จากมีการนำเสนอโบรชัวร์มาพร้อมกับใบจัดซื้อจัดจ้างและใบโครงการ ตามแบบที่ทางการกำหนด และยังมีการโน้มน้าวให้ชาวบ้านขอโครงการตามที่กำหนดด้วย โดยอ้างว่าหากซื้อสินค้าดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติอย่างแน่นอน

สำหรับโบรชัวร์ที่แจกจ่ายให้กับชุมชนต่างๆ ในจังหวัดน่าน ได้แก่

1.โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ Solarbank ราคา 5 หมื่นบาท ของบริษัท เอนเนอร์ยี่ โปร เทคโนโลยี จำกัด (EPT)
2.เครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ GAS มี 3 ราคา 2 แสนบาท 2.5 แสนบาท และ 2.99 แสนบาท ยี่ห้อ Cartel ของบริษัท คาร์เทล เทคโนโลยี จำกัด
3.ระบบผลิตไบโอดีเซลรุ่น ECO-Premium ราคา 3 แสน และ 4.5 แสนบาท ยี่ห้อ EASY LINE ของบริษัท ฮีซี่ ไลน์ จำกัด
4.เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ รุ่น W-50F1 ราคา 2.5 แสนบาท แถมพัดลมไอน้ำ Cool Bank ฟรี 1 ชุด
5.เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ รุ่น W-50F2 ราคา 3 แสนบาท แถมเครื่องทำลมเย็น 2 ชุด ซึ่งเป็นของบริษัท เอนเนอร์ยี่ โปร เทคโนโลยี จำกัด
6.เตาเผาขยะประสิทธิภาพสูง ขนาด 70 กก. ราคา 1 แสนบาท
7.ตู้เก็บความเย็น Cool Bank เพื่อเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร เป็นของบริษัท เอนเนอร์ยี่ โปร เทคโนโลยี จำกัด เช่นกัน

ส.ส.ปชป.ออกโรงอุ้ม "กอร์ปศักดิ์"

ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีทุจริตโครงเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (โครงการชุมชนพอเพียง) ของพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อกระจายอำนาจสู่ชุมชน จึงเป็นเรื่องของชุมชนดำเนินการ รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการตรวจรับโครงการ ก็เป็นหน้าที่ของชุมชน

"กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่ชุมชนวัดไผ่ตัน เขตพญาไท และแฟลตทหารบก เขตสามเสน โครงการจัดซื้อตู้น้ำดื่มพลังแสงอาทิตย์ และเสาไฟฟ้า เกิดจากความไม่เข้าใจของประชาชนเอง จึงไม่เกี่ยวกับ นายกอร์ปศักดิ์ (สภาวสุ)"

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า นายกอร์ปศักดิ์ ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ เพราะตามโครงสร้างแล้ว เป็นเรื่องของชุมชนที่ต้องรับผิดชอบกันเอง ต้องให้ความเป็นธรรมกับนายกอร์ปศักดิ์ด้วย พร้อมทั้งปฏิเสธว่าการดำเนินการของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เป็นการตัดตอน เพื่อไม่ให้โยงมาถึงรัฐบาล

ส่งเรื่อง ปปง.สอบเส้นทางเงินเอกชน

นอกจากนี้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์จะรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด ยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ รวมทั้งประสานไปยังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อสั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าที่นำเสนอให้ ชุมชน

"อยากเรียกร้องให้ฝ่ายค้านช่วยค้นหาผู้ที่เข้า ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ในการหลอกลวงประชาชน หรือข่มขู่ให้เซ็นรับของ โดยอ้างว่าถ้าไม่ทำครั้งต่อไปอาจจะไม่ได้รับงบประมาณ ออกมาให้ได้รับทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันหาตัวคนผิด"

พท.นำชาวบ้านแจ้งความ


น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ถอดนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารโครงการชุมชนพอเพียงอีก 2 คนออกจากตำแหน่งในโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบทุจริต ขณะนี้ ยังไม่มีการตอบรับใดๆ จึงเกรงว่าจะมีความพยายามตัดตอน ปกปิดหลักฐาน

"จากข่าวที่ระบุว่า มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบโครงการชุมชนพอเพียง 3 คน ที่ลงไปตรวจสอบในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่า เป็นไปด้วยความโปร่งใสหรือไม่ เหตุใดจึงสั่งให้ยุติการทำงาน หรือเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบพบว่าเกี่ยวข้องกับตัวเอง"

นอกจากนี้ ข่าวที่ระบุว่า มีผู้บริหารในโครงการชุมชนพอเพียง แจ้งความที่กองปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คน ตนได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า ผู้บริหารคนดังกล่าวเพียงนำหลักฐานไปปรึกษากับตำรวจเท่านั้น ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่า เป็นข่าวที่ออกมาเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องการทุจริตหรือไม่

ด้านนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตที่ออกมามากมายขณะนี้ ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐไปข่มขู่ผู้ที่ให้ข้อมูลจากชุมชนต่างๆ ซึ่งในวันที่ 9 ส.ค. (วันนี้) จะนำผู้ที่ถูกข่มขู่ไปแจ้งความไว้ที่ สน.ลาดพร้าว เพื่อลงบันทึกประจำวัน ป้องกันการถูกข่มขู่ รวมทั้งแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการดังกล่าว เพราะเกรงว่าท้ายที่สุด จะถูกใส่ร้ายว่ามีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

บุญจง ยังภท.ไม่เกี่ยวทุจริต


ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึง การตรวจสอบโครงการชุมชนพอเพียงของรัฐบาล ว่า โครงการนี้มีจุดประสงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และถ้าพบการทุจริตก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องตรวจสอบความไม่ถูกต้อง

ส่วนกรณีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่างจังหวัด อาจจะหาผลประโยชน์ในโครงการดังกล่าว โดยการโน้มน้าวชาวบ้านให้ซื้อสินค้าของบริษัทเอกชนที่เสนอผลประโยชน์ให้นั้น ตนเชื่อว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแต่มีไม่มาก ดังนั้น นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ต้องเข้าไปดูโครงการนี้

"ผมยืนยันว่า ไม่มีคนของพรรคภูมิใจไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการนี้แน่นอน เพราะถ้ามี ส.ส.ในพื้นที่ต้องรายงานกลับมา และถ้าโครงการนี้พบว่ามีการทุจริตต้องมีการรับผิดชอบ"

กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2552

No comments:

Post a Comment