Friday, August 21, 2009

ลับ ลวง แพะ ชุมชนพอเพียง ปชป.เล่นกล "การเมือง"

ลับ ลวง แพะ ชุมชนพอเพียง ปชป.เล่นกล "การเมือง"

ถามว่าการลาออกของ รองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ จากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน และประธานอนุกรรมการอำนวยการโครงการกลางคัน พร้อมหลีกทางให้ มีชัย วีระไวทยะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการและเครือข่ายองค์ความรู้ของโครงการ เจ้าของฉายา "ถุงยางมีชัย" ให้ขึ้นมานั่งแทน

เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีทุจริต "โครงการชุมชนพอเพียง" หรือไม่

มองเผินๆ ก็อาจจะใช่

"กอร์ปศักดิ์" ให้เหตุผลถึงการลุกออกจากเก้าอี้ว่า เป็นเพราะถูกการเมืองเล่นงาน หากเขายังอยู่ในตำแหน่งต่อไป ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หรือฝ่ายที่มองการเมืองต่างกันออกไป ก็จะพยายามทำทุกวิถีทางให้กระทบกระเทือนกับโครงการนี้ ซึ่งตนยอมไม่ได้

"วันนี้ผมจึงยอมเดินออกไป เพื่อผลประโยชน์ของโครงการ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของผม"

ส่วนการตรวจสอบการทุจริต เขาให้น้ำหนักกับการทำงานของกองปราบปราม รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อุตส่าห์เดินเข้าไปขอให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.ส่งทีมงานเข้ามาตรวจสอบด้วยตัวเอง

ภาพที่ออกตามสื่อ หลัง "กอร์ปศักดิ์" ทิ้งเก้าอี้ จึงดูดี มีความรับผิดชอบสูงส่งตามมาตรฐาน "ประชาธิปัตย์" แต่ใครจะรู้ว่า "หลังฉาก" มีการวางหมากไว้ 2-3 ชั้น ตามสไตล์การเล่นการเมืองของคน ปชป.ที่ไม่เคยคิดอะไรเพียง "ชั้นเดียว"

อย่าลืมว่า โครงการชุมชนพอเพียงเริ่มส่งกลิ่นตุๆ ออกมาราวต้นเดือนกรกฎาคม หลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทยเปิดเผยถึงความผิดปกติการใช้งบประมาณจัดซื้อ "ตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์" ในหลายๆ ชุมชนทั่ว กทม. ทั้งราคาแพงเกินจริง สินค้าด้อยคุณภาพ ที่สำคัญมีนักการเมืองท้องถิ่นของ "พรรคการเมืองเก่าแก่" เข้าไปชี้นำให้ซื้อสินค้าบางประเภท ในลักษณะ "ล็อคสเปค"

เวลานั้น "กอร์ปศักดิ์" ต้องออกมาชี้แจงเป็นพัลวัน ทั้งความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับ ชุมชน (สพช.) บางคน กับบางบริษัทเอกชน

รวมถึงกรณี "น้องชาย" ที่อุตส่าห์ดึงมาช่วยงาน รับเงินเดือนเพียง 4 หมื่นบาท ทั้งที่เคยเป็นทั้ง ส.ว. และ ส.ส. จากข้อกล่าวหาว่า พาญาติพี่น้องเข้ามา "กอบโกย" เพื่อ "ผลประโยชน์" ของตัวเอง เช่นเดียวกับเจ้าตัวเคยตั้งเป็นข้อหาทิ่มแทง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี สมัยยังเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อการตรวจสอบจากฝ่ายตรงข้ามเข้มข้นขึ้น รัฐบาลก็พยายามแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการทุจริตชุมชนพอเพียง ให้ เจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน

จากนั้น "กอร์ปศักดิ์" ก็มอบหมายให้ สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผอ.สพช.ไปแจ้งความต่อกองปราบปราม ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่อาวุโส สพช. 3 ราย ที่สงสัยว่าไปมีส่วนกับการทุจริต ก่อนที่เจ้าตัวเดินเข้าไปขอให้ สตง.ตรวจสอบ พร้อมแถลงข่าววางมือจากโครงการ ในที่สุด

บทที่แกนนำรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์บางคนวางเอาไว้ เกือบจะ "สมบูรณ์แบบ"

หากไม่มีคนไปแอบเห็นว่า ข้อมูลที่ไปแจ้งให้ "กองปราบฯ-สตง." เข้ามาตรวจสอบ ไม่เกี่ยวข้องกับ "ตู้น้ำโซลาร์เซลล์" หรือสินค้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ถูกตรวจสอบอย่างหนัก


และไม่เกี่ยวข้องกับ "บริษัทเอกชน" บางบริษัท ที่มี "สัมพันธ์พิเศษ" กับ "บิ๊กเบิ้ม" บางคนในรัฐบาล แม้แต่น้อย

แต่เป็นเรื่อง "โครงการจัดซื้อปุ๋ยชีวภาพ" ซึ่งสมาชิก ปชป.พยายามชี้เป้าว่า มีอดีตนายใหญ่ใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรีบางคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และกล่าวหาว่า มีการทุจริตใน 11 จังหวัดทั่วภาคเหนือและภาคอีสาน ล้วนๆ!!!

รัฐบาลแทบทุกยุคทุกสมัย มีวิธีการที่ "ง่ายที่สุด" ในการ "ตอบโต้" การตรวจสอบจากฝ่ายตรงข้าม ด้วยการ "ดิสเครดิต" ตัวผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล

ซึ่งครั้งนี้ไม่เพียงฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบางฝ่ายที่ออกมาร่วมตรวจสอบการทุจริตไป "ตามหน้าที่" แต่กลับถูกมือมืดไปปล่อยข่าวใน ปชป.ว่า

"ออกมาตีรัฐบาล เพราะเสียผลประโยชน์"

ที่ผ่านมา ความไม่ชอบมาพากลในโครงการชุมชนพอเพียงมีการร้องเรียนเข้ามากว่า 200 ชุมชน จากทั้งหมด 8.8 หมื่นชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ อนุมัติไปแล้ว 2.1 หมื่นโครงการ โอนเงินไปแล้ว 5,000 ล้านบาท เบิกจ่ายจริงราวๆ 2,000 ล้านบาท

คำถามคือ หากต้องการสร้างภาพว่าตัวเอง "สะอาด" เหตุใด "กอร์ปศักดิ์" จึงไม่ให้หน่วยงานอื่นเข้ามาสอบโครงการที่ตนถูกกล่าวหาก่อน

อย่าอ้างว่า รอผลสอบของคณะกรรม การชุด "เจริญ" ที่จะสรุปในวันที่ 21 ส.ค.นี้ เพราะใครก็รู้ว่า ฟันแค่นักการเมืองตัวเล็กๆ เท่านั้น

ไม่แตะ "ตู้น้ำ" แต่ไปไล่บี้กับ "ปุ๋ยชีวภาพ"

ไม่รู้ว่าใครบางคนคิดอะไร จึงออกมาเหน็บแนมฝ่ายที่ออกมาตรวจสอบการโกงกินภาษีประชาชน ว่า "เขียนกันสนุก"

"คุณชายสะอาด" ต้องอยู่เหนือการตรวจสอบ??

มติชนรายวัน วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11486

No comments:

Post a Comment