Sunday, August 16, 2009

ทุจริต พอเพียง กอร์ปศักดิ์-รัฐบาล"ติดเชื้อ" สัญญาณปรับ ครม.

ทุจริต พอเพียง กอร์ปศักดิ์-รัฐบาล"ติดเชื้อ" สัญญาณปรับ ครม.

อย่าคิดตื้นๆ ว่า หาก "สุมิท แช่มประสิทธิ์" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) แสดงความรับผิดชอบด้วยการ "ลาออก" จากตำแหน่ง จริงตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์

เรื่องทุกอย่างจะราบรื่นเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

เพราะการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เป็นเพียงแค่ "สปิริต" ไม่ใช่เกิดจากการกระทำ "ความผิด"

หากแต่โครงการชุมชนพอเพียง ได้เกิด "ผลแห่งการทุจริต" ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว

การลาออกของ "สุมิท" จะเท่ากับกลายเป็น "แรงบีบอัด" ที่ซัดเข้าใส่ "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" อย่างมากมายทวีคูณ

เพราะ "กอร์ปศักดิ์" เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่กำกับดูแลโครงการชุมชนพอเพียง

เพราะ "กอร์ปศักดิ์" เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง

เพราะ "กอร์ปศักดิ์" เป็นคณะอนุกรรมการอำนาจการโครงการชุมชนพอเพียง ที่เซ็นคำสั่งตั้ง "ตัวเอง" เลขที่ 1/2552 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552

ภาพชัดเจนว่า "อำนาจหน้าที่" ของรองนายกฯกอร์ปศักดิ์ จะทำตั้งแต่ "ภาคนโยบาย" ลงมาถึง "ภาคปฏิบัติ"

เพราะหากดูตามเอกสารลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการโครงการชุมชนพอเพียง มีการเขียนอำนาจหน้าที่ไว้หลายข้อที่สำคัญ

เป็นอำนาจหน้าที่ของ "ระดับปฏิบัติ" อาทิ

ข้อ 3 ประสานงานและกลั่นกรองและอนุมัติการจัดสรรงบประมาณ และรายงานต่อคณะกรรมการบริหารโครงการให้รับทราบ

ข้อ 4 กำกับดูแล และประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนแทนคณะกรรมการ

จริง อยู่ ในทางปฏิบัติทั้ง "กอร์ปศักดิ์" และ "สุมิท" จะพยายามเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของ สพช.หลายคน ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต

นัยหนึ่ง เพื่อกันตัวเอง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โปร่งใส ไม่มีนอกมีใน

แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้ "ภาพลักษณ์" ของทั้งหน่วยงานและตัวบุคคล ที่ถูกลาก ถูกโยง เข้ามาเกี่ยวพัน ถูกกันออกจากคำว่า "ทุจริต" ได้เลย

และยิ่งสาวลึก ยิ่งเห็นไส้ เห็นพุง

โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับ "บริษัทเอกชน" ที่รับผิดชอบนำสินค้าไปขายให้ชุมชนในลักษณะ "แพงเกินจริง"

ถามว่า คนในพรรคประชาธิปัตย์รู้จัก "ผู้บริหาร" ในบริษัทเอกชนรายดังกล่าวหรือไม่..?

คงต้องบอกว่า "รู้"

เพราะ สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน บริษัทดังกล่าวเคยถูกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.ประชาธิปัตย์นั่งเป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อบัลลาสต์ ประหยัดไฟที่แพงเกินจริงมาแล้ว

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 สมัย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็น รมว.พลังงาน มี บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นเลขานุการ รมว.พลังงาน ซึ่งเป็นโครงการที่นำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ที่มีการจัดเก็บจำนวน 4 สตางค์ต่อลิตร ที่ประชาชนเติมน้ำมันมาใช้

มูลค่าโครงการครั้งนั้นราว 1,500 ล้านบาท

แต่ปรากฏว่า โครงการดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับโครงการชุมชนพอเพียง คือ "ราคาที่แพงเกินจริง-ของไม่มีคุณภาพ"

เมื่อมีการร้องเรียนจากประชาชน กระทรวงจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเพื่อหาคนผิด

แต่สุดท้ายคนที่รับผิดชอบคือ "ข้าราชการ"

ส่วน "บริษัท" ก็ลอยตัว เพราะมี "ผู้ใหญ่" ในพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งรับหน้าที่ "เคลียร์ใจ" ในทางการเมืองกับ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ให้

ความสัมพันธ์ครั้งนั้น...ลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้

จับอาการของคนในพรรคประชาธิปัตย์ ต้องบอกว่า "หวาดหวั่น" ว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ ส.ป.ก.4-01 ที่เป็น "ตราบาป" มาจนถึงวันนี้

โดย เฉพาะ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดชัดว่าโครงการดังกล่าวได้เกิดการทุจริตขึ้นแล้ว ที่สำคัญโครงการดังกล่าวเป็นชื่อ "พระราชทาน"

พร้อมประกาศไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคประชาธิปัตย์จะปกป้องคนผิด แม้จะเป็นคนในพรรคเดียวกัน

ดูเหมือนว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์จะไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก นอกจากจะต้องหาตัวคนผิด "ตัวจริง" มาลงโทษ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ยังอาจต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย

เวลานี้เริ่มมีเสียงออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ถึงอนาคตของ "กอร์ปศักดิ์" ในตำแหน่งรองนายกฯ ดังขึ้นมาเรื่อยๆ

เป็นไปได้ว่าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจจะมาเร็วกว่าที่ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" รองนายกฯ ประกาศไว้ว่าจะไม่ปรับ ครม.จนกว่าจะสิ้นปี 2552

โดย จะอาศัยเหตุการณ์ที่รุมเร้าทางการเมืองหลายๆ เรื่อง ทั้งคดีเขาพระวิหาร ที่ ป.ป.ช.เตรียมจะสรุปในอีก 1-2 เดือนนี้ หรือคดี 44 ส.ส.ถือหุ้น เป็นโจทย์ในการปรับ ครม.ไปพร้อมๆ กันเลย

"กอร์ปศักดิ์" อาจเป็นโจทก์หนึ่ง แต่คงไม่ถึงขั้นกับ "ปรับออก" จากตำแหน่ง เพราะถ้าทำเช่นนั้น เท่ากับยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น

อาจแค่ "ปรับเปลี่ยน" ไปอยู่ในตำแหน่งอื่นเท่านั้น

มติชนรายวัน วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11482

No comments:

Post a Comment