Saturday, August 8, 2009

สอบเส้นทางทุจริต 'ชุมชนพอเพียง' จากปากคำประธานชุมชน "เทพเทวี"

สอบเส้นทางทุจริต 'ชุมชนพอเพียง' จากปากคำประธานชุมชน "เทพเทวี"

โครงการ เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) หรือโครงการชุมชนพอเพียง ที่รัฐบาลมุ่งหวังกระจายเงินสู่ชุมชน เพื่อเป็นทุนต่อยอดให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ กลายเป็นชนวนสำคัญที่สั่นคลอนสถานภาพของรัฐบาล เมื่อพรรคฝ่ายค้านตรวจสอบโครงการนี้อย่างจริงจัง โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย มีผู้เกี่ยวข้องดำเนินการเป็นขบวนการ ทั้งผู้มีอำนาจในรัฐบาล นักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล ข้าราชการ และบริษัทเอกชน

"กรุงเทพธุรกิจ" ได้ลงพื้นที่ชุมชนเทพเทวี แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่มีการร้องเรียนจากชุมชน ว่า ถูกขบวนการทุจริตในโครงการชุมชนพอเพียงเข้าไปหลอกลวง และเบียดบังงบประมาณที่ทางชุมชนควรได้ไปอย่างไม่เป็นธรรม

นางมยุรี เชิดสูงเนิน ประธานชุมชนเทพเทวี กล่าวว่า เมื่อประมาณต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีนักการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) คนหนึ่งเข้าไปบอกว่า ได้งบประมาณมาจากกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ซื้อเครื่องมือประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน โดยนำโบรชัวร์สินค้ามาให้เลือก ประกอบด้วย ตู้น้ำหยอดเหรียญ เครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ เตาเผาขยะ และเครื่องผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ พร้อมบอกว่าหากชุมชนไม่เอา งบประมาณจะถูกโยกไปให้ชุมชนอื่นแทน

"ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าเป็นงบให้ฟรี ไม่รู้ว่าเป็นงบโครงการชุมชนพอเพียง จึงไม่ได้ถามรายละเอียดอะไรเลย รวมทั้งราคาสินค้า และสุดท้ายก็ตกลงเลือกเครื่องผลิตปุ๋ยกับโซลาร์เซลล์"

ยื่นเอกสาร ศพช.ให้ชาวบ้านกรอก

นอกจากนี้ ส.ข.คนดังกล่าว ยังนำเอกสารที่ด้านบนมีอักษร ศพช. 01 ซึ่งเป็นเอกสารหนังสือรายงานการประชุมประชาคม เพื่อของบประมาณจากโครงการชุมชนพอเพียง โดยเอกสารนั้นได้มีการกำหนดเครื่องหมายกำหนดให้กรอกเพียงบางข้อเท่านั้น อาทิเช่น ชื่อชุมชน จำนวนครัวเรือนและประชากร กรรมการ 9 คน คณะผู้รับผิดชอบในการเบิกจ่ายจัดทำบัญชี เป็นต้น โดยตำแหน่งที่ให้ระบุวันที่กำหนดให้ปล่อยว่างไว้

นางมยุรี กล่าวต่อว่า ขณะนั้น ไม่ได้คิดอะไร นอกจากต้องการได้อุปกรณ์มาใช้ในชุมชน เพราะคิดว่าเป็นเงินฟรีจากรัฐบาล พร้อมทั้งพยายามล่ารายชื่อลูกบ้านมาเซ็นรับรอง โดย ส.ข.คนนั้นบอกว่าแค่ 10-20 คนก็พอ เมื่อเสร็จก็ส่งเอกสารให้ไป โดยเขาบอกว่าจะไปดำเนินการให้

ชาวบ้านเปิดบัญชีแต่ไม่ได้เงิน

หลังจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ มีคนโทรศัพท์มาบอกว่าดีใจด้วยโครงการผ่านแล้ว ให้ประธานชุมชนนำกรรมการที่เป็นเหรัญญิก และกรรมการผู้รับผิดชอบโครงการไปที่ธนาคารออมสินสาขาบางกะปิ เมื่อไปถึงก็พบ ส.ข.คนดังกล่าวรออยู่พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้กรอกเอกสาร เปิดบัญชี ซึ่งจากการสังเกตเชื่อว่าคงไม่ใช่เจ้าหน้าที่ธนาคาร เพราะแค่กำกับให้ชาวบ้านกรอกเอกสารแล้วเข้าคิวยื่นเรื่องตามปกติ

"หลังจากยื่นเอกสารครั้งแรกแล้ว ก็ออกมายืนพูดคุยกับ ส.ข.คนเดิม รออยู่ระยะหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็เอาเอกสารมาให้เซ็นอีก ซึ่งไม่ได้สังเกตว่าเป็นเอกสารอะไร จากนั้น ส.ข.ก็บอกให้กลับบ้านไปก่อนแล้วจะฝากสมุดบัญชีกับคนอื่นไปให้ ฉันก็กลับเพราะวันนั้นมีประชุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในชุมชนต่อ แต่พอได้รับสมุดบัญชีก็งง เพราะเห็นตัวเลขเงินเข้าบัญชี 5 แสนบาท แต่ก็ถูกถอนไป 5 แสนบาทเหมือนกัน เท่ากับไม่มีเงินในบัญชีแม้แต่บาทเดียว" นางมยุรี กล่าวพร้อมกับหยิบสมุดบัญชีธนาคารออมสินมาให้ผู้สื่อข่าวดู

ทั้งนี้ สมุดบัญชีดังกล่าว ระบุว่า มีเงินเข้าบัญชีในวันที่ 30/4/52 จำนวนเงิน 500,000 บาท และถอนออกในวันเดียวกัน 500,000 บาท เช่นกัน

เครื่องจักรใช้งานไม่ได้

นางมยุรี กล่าวว่า ขณะนั้น เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลแล้ว ประกอบกับมีข่าวเกิดขึ้นในภาคอีสานเกี่ยวกับการทุจริตในรูปแบบเดียวกัน จึงมีการพูดคุยเรื่องนี้ในหมู่สมาชิก แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร กระทั่งราวต้นเดือนมิถุนายน ก็มีเจ้าหน้าที่มาติดตั้งเครื่องโซลาร์เซลล์ ที่ศูนย์ชุมชน ประกอบด้วย แผงโซลาร์เซลล์ ตู้ควบคุม และแบตเตอรี่ ใช้เวลาเพียงแค่ราว 30 นาทีเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกถึงวิธีใช้ให้เลย จนถึงวันนี้ เครื่องดังกล่าวก็ไม่ได้ใช้งาน เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้

หลังจากนั้นไม่กี่วัน เครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพก็มาส่ง โดยเชื่อว่าเป็นเพียงบริษัทรับจัดส่งสินค้าเท่านั้น เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่มาชี้แจงวิธีใช้อะไร กระทั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน มีเจ้าหน้าที่บริษัทเครื่องผลิตปุ๋ยดังกล่าวมาอธิบายวิธีใช้งาน แต่กลับพบว่าไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ ส.ข. ผู้ชักจูงให้ซื้อบอกไว้ว่า สามารถผลิตปุ๋ยเป็นเม็ดได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ที่สำคัญ เครื่องดังกล่าวต้องใช้แรงงานคนหมุน แต่ปรากฏว่าเครื่องฝืดมากคนหมุนไม่ได้

นางมยุรี ได้นำผู้สื่อข่าวไปดูเครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าศูนย์ชุมชน ปรากฏว่าเป็นเครื่องจักรขนาดไม่ใหญ่นัก สูงประมาณ 1.80 ยาวประมาณ 2 เมตรกว่า มีท่อและวาล์วต่อจากตัวเครื่อง เมื่อทดลองหมุนถังหมักปรากฏว่าหนักและฝืด แม้ว่าจะไม่ได้ใส่เศษอาหารเหลือใช้ลงไป ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งอยู่บนหลังคาศูนย์ประชุม 3 แผง และมีตู้ควบคุมอยู่ภายในอาคาร สายไฟระโยงระยางไม่ได้ต่อกับอุปกรณ์ใดๆ

ตั้งข้อสังเกตเงินผ่านกระเป๋าใคร

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการของชุมชนเทพเทวี ไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ตามที่กำหนดไว้ โดยนางมยุรี อธิบายว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่มาบอกกล่าวถึงรายละเอียดโครงการ และช่วงที่ตกลงกรอกเอกสารยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นโครงการชุมชนพอเพียง นอกจากนี้ เงินที่โอนมาจากสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) ไปยังธนาคาร มีข้อสงสัยว่า บุคคลหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ถอนออก และเส้นทางเงินจากนั้นจ่ายไปยังที่ใด เพราะชุมชนหรือชาวบ้านมีแต่สมุดบัญชีที่ไม่มีตัวเงินอยู่

ก่อนหน้านี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาระบุว่า ขบวนการทุจริตดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับนักการเมืองท้องถิ่น เชื่อมโยงกับบริษัทเอกชน ที่มีความสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงใน สพช. ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล

ทั้งนี้ เส้นทางเงินที่เบิกจ่ายจาก สพช.ไปยังธนาคารยังเป็นปริศนา ว่า ใครเป็นผู้เบิกจ่าย และนำเงินออกไปจ่ายยังที่ใดบ้าง ซึ่งเส้นทางเงินนี้สามารถสาวไปถึงตัวการที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตครั้งนี้ ได้อย่างแน่นอน

.................................................

ผลสอบสพช.เจอ"ตอ"ตัวเอง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (สพช.) ตรวจสอบโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน เป็นการภายใน หลังมีปัญหาถูกชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนผ่านสื่อ กระทั่งนำมาสู่การแจ้งความกองปราบปรามร้องทุกข์ พนักงาน 3 คน เป็นลูกจ้าง 2 คน ข้าราชการ 1 คน

ผลการตรวจสอบในเบื้องต้นของ สพช.เอง ได้พบพฤติกรรมส่อทุจริตของผู้เกี่ยวข้อง แยกเป็น 2 ส่วน คือ

1.เจ้าหน้าที่ใน สพช.ที่เคยทำโครงการเอสเอ็มแอลมาก่อน รวมทั้งหมด 5 คน แต่ไม่พบว่าทั้งหมดเป็นขบวนการเดียวกัน และประเมินว่ายังไม่ถึงขั้นกระทำทุจริต แค่ "ส่อเค้า" จึงให้ทั้งหมดออกจากโครงการ และ 3 ใน 5 คนนั้น เป็นคนที่นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผอ.สพช.ได้ร้องทุกข์ ให้กองปราบเข้ามาตรวจสอบขบวนการที่ลึกลับซับซ้อนกว่านี้

2. นักการเมืองท้องถิ่น ระดับ ส.ก.และ ส.ข.ของ กทม.ที่ถูกระบุว่า อยู่ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนนี้ทางพรรค ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน แยกออกไปจาก สพช.

นอกจาก 2 ส่วนดังกล่าว การตรวจสอบก็ยังรวมไปถึงตัว "สุมิท แช่มประสิทธิ์" ที่มีข้อสงสัยถึงธุรกิจในอดีตที่ไปผูกพันกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่ถูกชาว บ้านร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งที่ประชุมบอร์ดได้ให้ นายสุมิท ชี้แจงข้อกล่าวหา และหลังจากนี้ ก็จะมีการ "ดับเบิลเช็ค" ว่าจริงอย่างที่รายงานหรือไม่

สำหรับประเด็นปัญหาที่พบเบื้องต้นมี 3 วิธีการที่ส่อทุจริต คือ

1. สวมโครงการชาวบ้าน โดยชาวบ้านส่งโครงการจริงเข้ามายังคณะกรรมการ ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ทำโครงการปลอม เตรียมไว้สวมแทน เมื่อโครงการจริงได้รับการอนุมัติตามปกติ ก็จะมีการสอดไส้เปลี่ยนโครงการของชาวบ้าน เมื่อถึงเวลาไปเบิกเงิน เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถเบิกได้ตามที่เสนอมา แต่ต้องเบิกตามโครงการปลอม ชาวบ้านจึงแจ้งกลับมาทาง สพช.

2. นักการเมืองท้องถิ่นชี้นำ โดยรู้กันกับบุคคลภายใน สพช. แล้วให้นำเสนอโครงการเข้ามา ที่พบ คือ การเสนอซื้อโคมไฟพลังงานทดแทน แต่โครงการนี้ยังไม่ได้มีการเบิกงบประมาณ

3. เขียนโครงการเหมือนกัน 11 จังหวัด โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อปุ๋ย กว่า 80 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทปุ๋ยของ ของอดีตบิ๊กทหาร ที่พบว่ามีการตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว และปุ๋ยถูกเก็บในโกดังรอไว้ แต่โครงการยังไม่ได้อนุมัติ

สำหรับความเสียหายในขณะนี้ สพช.สรุปว่า โครงการที่มีปัญหาทั้งหมดขณะนี้ คือ 66 โครงการ คือ การจัดซื้อตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับการอนุมัติ และจ่ายเงินไปแล้ว

"โครงการที่อนุมัติทั้งหมดแล้ว 3 หมื่นโครงการ ที่มีปัญหาเสียหายจริง เป็นโครงการที่ขอเรื่องน้ำดื่ม 1,216 ชุมชน ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 99 ชุมชน และโคมไฟที่ใช้โซลาร์เซลล์ เสนอมาทั้งหมด 174 แห่ง มีเพียง 71 ชุมชน จากโครงการทั้งหมด 8-9 หมื่นโครงการ ซึ่งเสียหายไม่ถึง 1%" บอร์ด สพช.ผู้หนึ่งระบุ

นอกจากนี้ กรณี บริษัท บีเอ็นบี อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ที่ตกเป็นจำเลยสังคม และถูกขุดคุ้ยถึงรูปแบบการทำธุรกิจ และตัวบุคคลที่เกี่ยวโยงกับฝ่ายบริหารโครงการและฝ่ายการเมืองนั้น สพช.พบว่า บริษัทนี้ไม่ได้เป็น "โบรกเกอร์" ตามที่ข่าวระบุ แต่เป็น "บริษัทผู้ผลิต" และมีตัวแทนจำหน่ายหรือเอเย่นต์หลายบริษัทวิ่งเข้ามาเอาของไปขาย เพื่อทำรายได้จากเปอร์เซ็นต์การขาย เมื่อเอเย่นต์ กระจายกันเข้าไปขายสินค้าให้ชุมชนต่างๆ บริษัทผู้ผลิตสินค้าก็ยิ่งได้รับประโยชน์มาก และเท่ากับเป็นการ "ผูกขาด" การขายอยู่รายเดียว

และในส่วนที่บริษัทเอเย่นต์ ให้ติดต่อหลังการขายหมายเลขโทรศัพท์เดียวกัน ก็ตรวจพบว่า เป็นหมายเลขติดต่อศูนย์บริการหลังการขาย ที่บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในส่วนนี้

ดังนั้น เมื่อรู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ บอร์ด สพช.จึงมีมติให้ยกเลิกสินค้าตู้น้ำโซลาร์เซลล์ ที่บริษัทบีเอ็นบีเป็นผู้ผลิตทันที รวมทั้งยกเลิกโครงการที่ต้องซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานทดแทนทั้งหมด เพื่อตัดปัญหา

ขณะที่ท่าทีของ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ในฐานะประธานบอร์ดสพช.ยอมรับข้อบกพร่องและความผิดพลาด พร้อมทั้งประกาศ "กวาดบ้านตัวเอง" รวมทั้งลุยตรวจสอบ "คนใน" ที่เกี่ยวข้องกับเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ธุรกิจทางอ้อมอย่างไร

อีกทั้งบอร์ด สพช.ยังหารือกันวิธีการแก้ปัญหาจากกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าที่เสียหายไปแล้ว รวมทั้งหาทางป้องกันความเสียหายโครงการอื่นๆ ที่อนุมัติโครงการแต่ยังไม่อนุมัติเงิน รวมทั้งโครงการที่ยังรอพิจารณา ไว้หลายแนวทาง แต่เห็นว่ายังจำเป็นต้องกำหนดกรอบโครงการให้จัดซื้ออุปกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียง และต้องเกิดประโยชน์จริงๆ

นอกจากนี้ สิ่งที่ สพช.ได้ดำเนินการเพิ่มเติม คือ ขอให้สำนักงบประมาณตรวจสอบว่าราคาอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการเสนอโครงการเข้ามา เพื่อส่งไปให้ทุกชุมชนรับรู้ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ ป้องกันปัญหาถูกหลอกขายสินค้าราคาแพงเกินจริง

กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2552

No comments:

Post a Comment